ธาตุ (วัดโพธิ์ธาตุ)


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เจดีย์ญาคูหงษ์, ธาตุญาคูหงษ์

ที่ตั้ง : วัดโพธิ์ธาตุ ถ.โพธิ์ธาตุ ม.1 บ้านชุมแพ (เทศบาลเมืองชุมแพ) ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ

ตำบล : ชุมแพ

อำเภอ : ชุมแพ

จังหวัด : ขอนแก่น

พิกัด DD : 16.538031 N, 102.096553 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังหูกวาง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดศรีนวลตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอชุมแพหรือภายในเทศบาลเมืองชุมแพ ริมถนนราษฎร์บำรุง ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ธาตุภายในวัดโพธิ์ธาตุเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นสถานที่ที่ได้รับการเคารพสักการะจากชาวชุมแพและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก มีประวัติการก่อสร้างเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของวัด

สภาพโดยทั่วไปของโบราณสถานเป็นซากของธาตุก่ออิฐขนาดเล็ก ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และศึกษาอย่างจริงจัง ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมและสักการะได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเช้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดโพธิ์ธาตุ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ธาตุโบราณภายในวัดได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเรื่องการกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 57 หน้า 2527 วันที่ 22 ตุลาคม 2483

ภูมิประเทศ

ลูกคลื่นลอนลาด

สภาพทั่วไป

วัดโพธิ์ธาตุตั้งอยู่กลางอำเภอชุมแพ ภายในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ ริมถนนราษฎร์บำรุง ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นลูกคลื่นลอนลาด ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึง มีลำน้ำสาขาของลำน้ำเชิญ (เซิน) หลายสายไหลผ่านตัวอำเภอชุมแพ เช่น ห้วยวังหูกวาง ห้วยโสกตาแดง ห้วยบั้งทิ้ง รวมทั้งมีสระน้ำหลายสระที่เกิดจากหลุมเกลือ วัดโพธิ์ธาตุอยู่ห่างจากหนองเลิงซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตก 50 เมตร ห่างจากห้วยวังหูกวางมาทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ห่างจากเมืองโบราณโนนเมืองมาทางทิศเหนือประมาณ 2.5 กิโลเมตร และห่างจากลำนำเชิญมาทางทิศเหนือประมาณ 4.2 กิโลเมตร ปัจจุบันรอบวัดโพธิ์ธาตุและภายในตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

220 เมตร

ทางน้ำ

ลำน้ำเชิญ, ห้วยหูกวาง

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดโพธิ์ธาตุ เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ.2221 มีท่านญาคูหงษ์ เป็นเจ้าวาสรูปแรก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2526 มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด คือ ธาตุ เสมา และพระพุทธรูป

วัดโพธิ์ธาตุมีประวัติเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือ เดิมบ้านชุมแพเป็นหมู่บ้านใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 คุ้ม คือ คุ้มใต้ คุ้มกลาง และคุ้มเหนือ

คุ้มใต้ มี “วัดใต้” เป็นวัดประจำคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กุดชุมแพ บริเวณที่ตั้งศาลปู่ขาว ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเป็นวัดร้างและได้รื้อถอนออกไปนานแล้ว ปัจจุบันคือเขตพื้นที่โรงเรียนบ้านชุมแพ (เดิมชื่อโรงเรียนวัดโพธิ์ธาตุ) และยังมีศาลปู่ขาว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมแพให้ความเคารพ กราบไหว้ และบวงสรวง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข

คุ้มเหนือ มี “วัดโพธิ์ศรี” เป็นวัดประจำคุ้ม ต่อมาเป็นวัดร้าง และได้รื้อถอนไปนานแล้ว ปัจจุบันคือเขตพื้นที่ตลาดเหนือและที่ว่าการอำเภอชุมแพ

คุ้มกลางมี “วัดกลาง” เป็นวัดประจำคุ้ม ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้านชุมแพ ใกล้หนองอีเลิง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพธิ์ธาตุ” เพราะบริเวณเดิมมีเจดีย์หรือธาตุ 3 องค์ และต้นโพธิ์ใหญ่ 3 ต้น

โบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนภายในวัดคือ ธาตุ ซึ่งชาวบ้านส่วหนึ่งเรียกว่า “เจดีย์ญาคูหงษ์” หรือ “ธาตุญาคูหงษ์” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ มีลักษณะเป็นซากโบราณสถานขนาดเล็กก่ออิฐ ปัจจุบันมีจอมปลวกและต้นไม้ 3 ต้นห่อหุ้มไว้ คือ ต้นตะโก ต้นมะเกลือ และต้นแจ้ง มองเห็นอิฐถือปูนบางส่วน รอบต้นไม้และธาตุมีการก่อรั้วอิฐมอญล้อมรอบไว้

ภายในรั้วอิฐรอบธาตุมีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ เสมาหินทราย 2 ใบที่ทางวัดได้นำมาจากเมืองโบราณโนนเมือง ใบหนึ่งเป็นเสมายอดสอบเหลี่ยม มีสันนูนสูงแนวตั้งตรงกลางแผ่น อีกใบหนึ่งเป็นชิ้นส่วนเสมาครึ่งใบ นอกจากนี้ ยังมีก้อนหินทรงรีที่ทางวัดได้นำมาจากโนนเมือง และพระพุทธรูปที่สลักจากหินทราย 2 องค์ ซึ่งน่าจะทำขึ้นในสมัยหลัง รวมทั้งชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้างต่างๆ สมัยปัจจุบัน และพระพุทธรูป 3 องค์จากอุโบสถหลังเดิมที่ได้รื้อไปแล้ว ทั้งนี้ อุโบสถหลังเดิมอยู่บริเวณข้างหอระฆัง ปัจจุบันเป็นลานโล่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถหลังใหม่ (ไม่ทราบแน่ชัดว่าอุโบสถหลังเดิมรื้อออกเมื่อใด แต่เริ่มมีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่เมื่อ พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2526 และมีงานฉลองสมโภชเมื่อ พ.ศ.2532)

ปูชนียวัตถุสำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัด คือ เจดีย์องค์เล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ ด้านหน้าศาลากาญจนาภิเษก เดิมเป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยทราย ส่วนองค์ปัจจุบันมีรูปแบบศิลปะเป็นแบบท้องถิ่น ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทขนาดเล็ก ยอดเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม ประดิษฐานพระพุทธรูปภายในซุ้มทั้ง 4 ด้าน โดยพระพุทธรูปประจำซุ้มด้านทิศตะวันออกและใต้ เป็นพระพุทธรูปโบราณของทางวัด (จากเจดีย์องค์เดิม) เป็นพระพุทธรูปหินปางนาคปรก เจดีย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2531 สมัยพระครูวิบูลสารนิวิฐ เป็นเจ้าอาวาส

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี