ลานหินวัดพ่อตา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ

ตำบล : เมืองพาน

อำเภอ : บ้านผือ

จังหวัด : อุดรธานี

พิกัด DD : 17.73326 N, 102.35314 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง, ห้วยโมง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย  เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก  67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า

อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

ลานหินวัดพ่อตาเป็นโบราณสถานในกลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานในพื้นที่ราบสันเขาทางตอนเหนือของภูพระบาท พื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นป่าไม้ ลักษณะทั่วไปเป็นลานหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพ่อตา และเป็นลานหินที่อยู่ตรงกลางระหว่างวัดพ่อตา ถ้ำพระ หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส และถ้ำช้าง โดยลานหินมีขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 10 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 87)

ภูพระบาทเป็นภูเขาหินทรายลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งในเทือกเขาภูพานหรือภูพานคำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 320-350 เมตร พื้นที่ทางทิศตะวันตกของภูมีลักษณะสูงชัน และลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก

ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร

สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย

ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

288 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)

ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยโลหะ, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเขมร, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

ประมาณ 3,000-2,500 ปีมาแล้ว, พุทธศตวรรษที่ 14-16, พุทธศตวรรษที่ 15-18, พุทธศตวรรษที่ 22-23

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร ขวัญยืน, โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สถาพร ขวัญยืน และคณะ ในโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร สำรวจเก็บข้อมูลโบราณสถานในกลุ่มวัดพ่อตา ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2527 (กองโบราณคดี 2532ก : 172-173)

ชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ลานหินวัดพ่อตาเป็นลานหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโบราณสถานวัดพ่อตา และเป็นลานหินที่อยู่ตรงกลางระหว่างวัดพ่อตา ถ้ำพระ หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส และถ้ำช้าง โดยลานหินมีขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 10 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 87) เอกสารกของกองโบราณคดี (2532ก : 173) ระบุว่าลานหินวัดพ่อตามีการเจาะเป็นหลุมกลม 67 หลุม

บริเวณกลางลานหินมีการสกัดพื้นให้เป็นหลุมเพื่อปักใบเสมา โดยเป็นการปักใบเสมาโดยรอบทั้ง 8 ทิศ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนรูปแบบการปักใบเสมานั้นเป็นการปักใบเสมาคู่ โดยกำหนดให้ใบเสมาหินขนาดใหญ่ปักวางอยู่ด้านในและใบเสมาขนาดเล็กปักวางอยู่ด้านนอก และใบเสมาที่ปักวางอยู่บริเวณมุมจะสกัดหลุมเป็นมุมฉาก (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 89)

นอกจากนี้บริเวณตรงกลางภายในลานหินที่มีการปักใบเสมาได้สกัดพื้นลานหินให้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่ตรงกับแกนทิศเหนือ-ใต้ แต่ในขณะที่การปักใบเสมาไม่ได้ปักตรงตามแกนทิศเหนือ-ใต้ (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 89)

พิทักษ์ชัย จัตุชัย (2553 : 89) สันนิษฐานว่า จากบริเวณตรงกลางภายในลานหินที่มีการปักใบเสมาซึ่งได้สลักพื้นหินให้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมที่ตรงกับแกนทิศเหนือ-ใต้ คงเป็นเจตนาที่ต้องการให้เป็นบริเวณที่ตั้งพระพุทธรูปหรือวางวัตถุที่นำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยวางให้ตรงตามแกนทิศเหนือ-ใต้

ในขณะที่ใบเสมาที่ตั้งปักอยู่โดยรอบลานหินเป็นการปักที่ไม่ได้อยู่ตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ สันนิษฐานว่าคงมีการปรับพื้นที่อุโบสถในการประกอบพิธีกรรมหลายสมัย สอดคล้องกับใบเสมาที่พบอยู่บริเวณใกล้เคียงกับลานหินในบริเวณวัดพ่อตา ถ้ำพระ และโบสถ์วัดพ่อตา ที่มีทั้งใบเสมาสมัยทวารวดีและสมัยล้านช้าง

นอกจากนี้ยังพบหลุมกลมที่พื้นลานหิน โดยเจาะเป็นหลุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-100 เซนติเมตร วางเรียงเป็นแนวอยู่โดยรอบนอกของแนวการปักใบเสมา ซึ่งอาจใช้เป็นที่วางประทีปหรือเทียนในการประกอบพิธีกรรม

ลานหินนี้ยังมีเพิงหินที่ตั้งอยู่โดยรอบซึ่งเป็นเพิงหินที่มีร่องรอยของภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นสถานที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือคติความเชื่อท้องถิ่นในยุคประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยเขมร และสมัยล้านช้าง (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 89)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 31 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.

ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.

พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี