วัดพระอุด


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพระอุด(ร้าง)

ที่ตั้ง : ม.5

ตำบล : หนองผึ้ง

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.731867 N, 99.029583 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระอุดตั้งอยู่ริมถนนรอบเมืองเชียงใหม่ หากมาจากเมืองเชียงใหม่ ให้ใช้ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ลงมาทิศใต้ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ตรงไปประมาณ 800 เมตร วัดพระอุดจะอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพระอุดเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพระอุดเป็นโบราณสถานร้างทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงกุมกาม ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร เดิมมีสภาพเป็นเนินดิน ปัจจุบันได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ตั้งอยู่ริมถนนรอบเมืองเชียงใหม่ (ทางหลวงหมายเลข 121) พื้นที่โดยรอบเป็นถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ทุ่งนา และเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

300 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สมาชิกอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

จากการสำรวจพบเนินโบราณสถานบริเวณวัดพระอุด 1 แห่ง และเนินดินที่คาดว่าจะมีโบราณสถานอีก 3 แห่ง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

ปรากฏสภาพส่วนฐานของวิหารและฐานเจดีย์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอีก 4 แห่ง ในบริเวณใกล้เคียงกันและคงเหลือเฉพาะส่วนฐานเท่านั้น

ชื่อผู้ศึกษา : นาคฑันต์ก่อสร้าง (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด นาคฑันต์ก่อสร้าง (ผู้รับจ้าง) บูรณะโบราณสถานวัดพระอุด ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 - 20 กันยายน 2545

ชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 (ผู้รับจ้าง) บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดพระอุด ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 11 เมษายน 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระอุด เป็นโบราณสถานร้างที่ถูกรบกวนและถูกทำลายเป็นอย่างมาก ไม่มีข้อมูลปรากฏในเอกสารใดๆ สภาพโดยรวมคงเหลือแต่เพียงส่วนฐานเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถระบุรูปแบบที่ชัดเจนของโบราณสถานได้

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานวัดพระอุด รวมถึงขุดตรวจเนินโบราณสถานในบริเวณเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2542 (กรมศิลปากร 2548 : 90) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดพระอุดประกอบด้วย วิหาร และเจดีย์ นอกจากนี้ยังปรากฏโบราณสถานอีก 4 แห่ง ในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งเหลือเฉพาะส่วนฐานเท่านั้น

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ยกเก็จด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ตอน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าวิหาร ภายในประกอบด้วยฐานเสาจำนวน 2 คู่ โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ รูปแบบของวิหารเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 22

2. เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร เหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับชั้นหน้ากระดาน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ มีการปูอิฐเป็นลานรอบองค์เจดีย์

โบราณวัตถุที่พบ

พบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น และภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

การกำหนดอายุสมัย

เนื่องจากโบราณสถานวัดพระอุด เป็นโบราณสถานที่ถูกรบกวนและถูกทำลายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถระบุรูปแบบที่ชัดเจนของโบราณสถานได้ ดังนั้นในการกำหนดอายุจึงต้องอาศัยหลักฐานโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นและขุดตรวจ ทั้งในปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2542

จากข้อมูลโบราณวัตถุ คือ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น และภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาล้านนาอันกำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 และจากรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับโบราณสถานหลายแห่งในเวียงกุมกาม ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 – 22  โบราณสถานวัดพระอุดจึงน่าจะมีอายุการสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี