พระบาทหลังเต่า


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : พระพุทธบาทหลังเต่า, วัดพระพุทธบาทหลังเต่า

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านเมืองพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ

ตำบล : เมืองพาน

อำเภอ : บ้านผือ

จังหวัด : อุดรธานี

พิกัด DD : 17.705291 N, 102.357501 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง, ห้วยโมง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย  เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก  67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

รอยพระบาทหลังเต่าตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า

อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

พระบาทหลังเต่าอยู่ในกลุ่มโบราณสถานพระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ในเขตบ้านเมืองพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ราบสันเขาทางตอนใต้ของภูพระบาท โบราณสถานสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ พระพุทธบาทหลังเต่า เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 1 เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 2 เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 3 และถ้ำเกิ้งหรือถ้ำกวาง

พระบาทหลังเต่าเป็นรอยพระพุทธบาทเป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ได้รับการตกแต่ง โดยประดิษฐานอยู่บนลานหินบริเวณสันเขาทางทิศใต้ของภูพระบาท โดยเป็นลานหินกว้าง 5.5 เมตร ยาว 23 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 191)

ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร

สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย

ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

271 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)

ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทศตวรรษที่ 23-24

อายุทางตำนาน

สมัยพุทธกาล

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : เมธา วิจักขณะ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บทความ “รอยอดีตบนภูพระบาท” กล่าวถึงร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีบนภูพระบาท รวมถึงพระพุทธบาทหลังเต่า (กองโบราณคดี 2535 : 21)

ชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

รอยพระบาทหลังเต่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนลานหินบริเวณสันเขาทางทิศใต้ของภูพระบาท โดยเป็นลานหินกว้าง 5.5 เมตร ยาว 23 เมตร ส่วนที่มาของชื่อพระพุทธบาทหลังเต่านั้น มาจากก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ที่มีลักษณะด้านบนโค้งและมีลวดลายคล้ายหลังเต่า ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธบาทที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า” (184)

พระพุทธบาทหลังเต่า มีลักษณะเป็นแอ่งหินรูปคล้ายฝ่าเท้า หันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเป็นรอบพระพุทธบาทรูปทรงวงรีที่ก่อด้วยปูน ตรงกลางฝ่าพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัวบานกลีบแหลมซ้อนกันนูนขึ้นมา โดยรอบพระพุทธบาทมีขนาดกว้าง 0.71 เมตร ยาว 1.68 เมตร ก่อล้อมรอบด้วยศิลาแลง แต่ในปัจจุบันได้มีการบูรณะและนำศิลาแลงดังกล่าวออกไปแล้ว และรอยพระพุทธบาทก็มีความเสียหายมาก กล่าวคือ เหลือเพียงปูนในส่วนของบริเวณฝ่าพระบาทเท่านั้น (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 185)

นอกจากนี้ บริเวณลานหินด้านหน้าและบนก้อนหินขนาดใหญ่ด้านข้างพระพุทธบาทหลังเต่ายังมีการสกัดให้เป็นหลุมเรียงกันเป็นแนวยาว 15 เมตร กว้าง 12 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 186)

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของแผนผังพระพุทธบาทหลังเต่าแล้ว พบว่าพระพุทธบาทหลังเต่านี้ประกอบไปด้วยอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างครอบรอบพระพุทธบาท โดยมีอาคารที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชั้น (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 186) คือ

ชั้นที่ 1 เป็นห้องขนาดเล็กที่ครอบรอยพระพุทธบาทคล้ายอุปโมงค์แบบวัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง)

ชั้นที่ 2 มีลักษณะเป็นโถงอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างครอบคลุมทั้งพระพุทธบาทหลังเต่าและลานหินโดยรอบ ซึ่งคงจะเป็นอาคารเปิดโล่งที่มีโครงสร้างเป็นไม้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเสมือนศาลาหรืออาคารใหญ่ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากที่มาประกอบพิธีกรรมหรือสักการะรอยพระพุทธบาทได้ และยังมีความเกี่ยวเรื่องกับอาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกุฏิหรือที่อยู่อาศัยบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทหลังเต่าอีกด้วย

ทั้งพระพุทธบาทหลังเต่าและพระพุทธบาทบัวบานน่าจะมีรูปแบบไม่แตกต่างกันมากนัก จากลักษณะของรอยพระพุทธบาทหลังเต่า ประกอบกับเครื่องถ้วยที่พบในการขุดแต่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 (กองโบราณคดี 2535 : 21) และสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 24

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

พระพุทธบาทหลังเต่า ปรากฏเรื่องราวในตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีใจความว่า ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์โลก และได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ ดอยทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง พระพุทธองค์ได้เสด็จมายังภูพระบาทแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยชองพญานาคผู้มีนิสัยพาลเกเร คือ พญานาคกุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ทรงปราบพญานาคทั้งสองจนยอมจำนน และมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มิลินทนาคได้กราบทูลขอรอยพระพุทธบาทสักการบูชา พระพุทธองค์จึงได้โปรดประทานรอยพระบาทขวาผินปลายพระบาทสู่เยื้องทิศอุดร แล้วเสด็จต่อไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต รอยพระบาทจึงปรากฏมานับแต่บัดนั้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.

กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำในอีสาน กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532ข.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.

ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.

บังอร กรโกวิท. “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

พัชรี สาริกบุตร. “เพิงหินใกล้วัดพระพุทธบาทหลังเต่า.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html

พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สถาพร ขวัญยืน และคณะ. ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.

สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี