เจดีย์เก่าวัดเก๋งโรงพยาบาลระยอง(วัดจันทอุดม)


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : เจดีย์วัดเก๋ง, วัดเก๋ง, วัดจันทอุดม, วัดจันฑอุดม, เจดีย์โรงพยาบาลระยอง

ที่ตั้ง : : โรงพยาบาลระยอง เลขที่ 138 ถ.สุขุมวิท ต.ท่าประดู่ (เทศบาลนครระยอง) อ.เมืองระยอง

ตำบล : ท่าประดู่

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระยอง

พิกัด DD : 12.682539 N, 101.277066 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : อ่าวไทย, ระยอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เจดีย์เก่าวัดเก๋งตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลระยอง ริมถนนสุขุมวิท ในตัวจังหวัดระยองหรือในตัวเทศบาลนครระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของโรงพยาบาลและด้านตะวันออกของอาคารอำนวยการ ติดกับโรงครัว

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์เก่าวัดเก๋งตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลระยอง เป็นที่เคารพสักการะของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ที่มักจะมาบนบานศาลกล่าวให้หายเจ็บไข้ นอกจากนี้เจดีย์องค์นี้ยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตระกูลยมจินดา

ปัจจุบันมีอาคารแวดล้อมในระยะค่อนข้างประชิด มีรั้วสายโซ่เตี้ยๆ มีเครื่องสักการะและแก้บนวางอยู่โดยรอบองค์เจดีย์ ปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก-กลางอยู่โดยรอบเจดีย์ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เป็นถนนภายในโรงพยาบาล มีนั่งร้านหรือโครงไม้ไผ่ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งเจดีย์

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

โรงพยาบาลระยอง, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

เจดีย์เก่าวัดเก๋งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 39ง วันที่ 6 ตุลาคม 2538 (โบราณสถานเจดีย์เก่าวัดเก๋ง)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โรงพยาบาลระยองมีเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ของวัดจันทอุดมหรือวัดเก๋ง ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดป่าประดู่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายฝั่ง ห่างจากแม่น้ำระยองไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร ห่างจากทะเลอ่าวไทยไปทางทิศเหนือราว 2.8 กิโลเมตร

เจดีย์เก่าวัดเก๋งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของโรงพยาบาลและด้านตะวันออกของอาคารอำนวยการ เจดีย์อยู่ติดกับโรงครัว

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

13 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำระยอง, อ่าวไทย

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ทับถมจากตะกอนที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึงและสันทรายเก่า บริเวณแหล่งโบราณคดีทับถมจากตะกอนน้ำพาจากอิทธิพลของแม่น้ำระยอง ในยุคควอเทอร์นารี

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : จักรพันธุ์ ยมจินดา


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากประวัติระบุว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ของวัดโบราณชื่อ “วัดจันทอุดม” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก๋ง” เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดเก๋งเป็นพระอารามแห่งแรกที่จัดการศึกษาเทียบเท่าระดับมัธยมขึ้นในจังหวัดระยอง เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ

ต่อมาวัดเก๋งได้ร้างลง ท่านเจ้าคณะจังหวัดระยองในขณะนั้นจึงได้มอบที่ดินเพื่อสร้างโรงพยาบาลระยอง เมื่อครั้งสร้างโรงพยาบาล (เริ่มก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลราว พ.ศ.2492) ยังคงปรากฏสิ่งก่อสร้างของวัด โดยเฉพาะอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลาจึงได้ถูกรื้อถอนไป คงเหลือเฉพาะเจดีย์เท่านั้น รวมถึงชื่อถนนจันทอุดมที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลทางทิศตะวันตก

ตามประวัติระบุว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองระยอง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ทรงระฆัง ฐานเจดีย์ชั้นแรกเป็นฐานสูง (สูงจากพื้นปัจจุบันประมาณ 1.6 เมตร) ผังแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13.5 เมตร แต่ละด้านมีความยาวด้านละประมาณ 5.4 เมตร ที่ส่วนหน้ากระดานก่อเป็นช่องโค้งแหลมด้านละ 2 ช่อง มีบันไดขึ้นบนฐานชั้นนี้ทางทิศเหนือและใต้ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวกลมรองรับชุดมาลัยเถา 3 ชั้น มีบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังกลม ส่วนยอดมีบัลลังก์ 8 แปด และเสาหานรองรับปล้องไฉน ส่วนปลียอดชำรุดหักหาย

ข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่า ฐานกลมของเจดีย์ห่างจากริมฐานแปดเหลี่ยมประมาณ 2.15 เมตร ฐานแปดเหลี่ยมและองค์เจดีย์มีความสูงประมาณ 12 เมตร

ปัจจุบันมีอาคารแวดล้อมในระยะค่อนข้างประชิด มีรั้วสายโซ่เตี้ยๆ มีเครื่องสักการะและแก้บนวางอยู่โดยรอบองค์เจดีย์ ปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก-กลางอยู่โดยรอบเจดีย์ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เป็นถนนภายในโรงพยาบาล มีนั่งร้านหรือโครงไม้ไผ่ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งเจดีย์ ส่วนฐานแปดเหลี่ยมด้านทิศตะวันออกหรือด้านที่หันออกถนนมีการติดตั้งป้ายแผ่นหินแสดงผังตระกูลยมจินดา และป้ายแสดงข้อความการบูรณปฏิสังขรณ์ “บูรณะเมื่อ 14 ธันวาคม 2537 งบประมาณ 200,000 บาท โดย สส.จักรพันธ์ ยมจินดา”

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี