กู่บ้านหัวสระ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านหัวสระ ต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์

ตำบล : หัวทะเล

อำเภอ : บำเหน็จณรงค์

จังหวัด : ชัยภูมิ

พิกัด DD : 15.43884 N, 101.736531 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยสี่มุม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอบำเหน็จณรงค์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2069 มุ่งหน้าลงทิศใต้สู่ถนนสุรนารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข 205) ประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงถนนสุรนารายณ์ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 4.1 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวามุ่งสู่ตำบลหัวทะเล ประมาณ 1.2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนประมาณ 1.9 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 550 เมตร โบราณสถานกู่บ้านหัวสระอยู่ทางซ้ายมือ ภายในบ้านเลขที่ 104/1

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันกู่บ้านหัวสระอยู่ภายในเขตบ้านเลขที่ 104/1 เจ้าบ้านคือนายทวี ทวีลาภ ซึ่งสมาชิกในบ้านได้พยายามดูแลรักษาโบราณสถานแห่งนี้ไว้ในเบื้องต้นโดยการล้อมรั้วอิฐ ทำความสะอาดพื้นที่ และไม่เคลื่อนย้ายชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงได้สักการะซากโบราณสถานแห่งนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้เข้ามาทำการอนุรักษ์ดูแลแต่อย่างใด

การเข้าเยี่ยมชมกู่บ้านหัวสระจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

นายทวี ทวีลาภ, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กู่บ้านหัวสระได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจจานุเบกษา เรื่องการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 53 หน้า 902 วันที่ 2 สิงหาคม 2479

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

กู่บ้านหัวสระตั้งอยู่บนเนินดินที่เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านหัวสระในปัจจุบัน เนินดินดังกล่าวมีรูปร่างยาว ขนาดกว้างประมาณ 400 เมตร ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และยาวประมาณ 1,000 เมตร ตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความสูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว) ประมาณ 6-7 เมตร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีห้วยสี่มุมซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านด้านทิศเหนือติดกับเนินดินที่เป็นที่ตั้งของชุมชน หรือห่างออกไปจากกู่บ้านหัวสระไปทางทิศเหนือประมาณ 250 เมตร ลำน้ำสายนี้จะไหลออกสู่บึงละหานที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 23 กิโลเมตร นอกจากนี้บ้านหัวสระยังตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำชีมาทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร

โบราณสถานกู่บ้านหัวสระตั้งอยู่ภายในรั้วบ้านของนายทวี ทวีลาภ บ้านเลขที่ 104/1 ม.2 บ้านหัวสระ ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีลักษณะเป็นซากอาคารที่พังทลาย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

262 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยสี่มุม, แม่น้ำชี

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นหินเกลือในหมวดหินมหาสารคาม (Mahasarakham Formation – KTms) ยุคครีเทเชียส

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานกู่บ้านหัวสระตั้งอยู่ภายในรั้วบ้านของนายทวี ทวีลาภ บ้านเลขที่ 104/1 ม.2 บ้านหัวสระ ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีลักษณะเป็นซากอาคารที่พังทลาย โดยเป็นกลุ่มของเป็นก้อนหินทราย (สีชมพูและสีเทา) และศิลาแลง (ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีชมพู) ที่เป็นชิ้นส่วนของอาคารกองอยู่ในพื้นที่เดียวกันภายในรั้วอิฐเตี้ยๆ ที่เจ้าของบ้านได้สร้างขึ้น ภายในรั้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีการตั้งศาลพระภูมิและมีต้นมะขามขนาดใหญ่ขึ้นอยู่จนส่วนลำต้นได้ขยายคลุมชิ้นส่วนอาคารบางชิ้น ด้านนอกรั้วเป็นพื้นที่ใช้งานของเจ้าของบ้าน คือเป็นลานจอดรถ ตั้งศาลพระภูมิ ตั้งเก้าอี้นั่งพักผ่อน 

ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นหินทรายบางชิ้นมีการสลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น กลีบดอกไม้ ลายพันธุ์พฤกษา ลายประคำ ลายกระหนก เป็นต้น โดยเฉพาะส่วนฐานหรือส่วนล่างของตัวอาคาร นอกจากนี้ยังมีส่วนเสาประดับกรอบประตู ธรณีประตู และกรอบประตู (เฉพาะส่วนธรณีประตูและกรอบประตูที่เป็นหินทรายสีเทา) เป็นต้น

จากหลักฐานต่างๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นอาคารแบบปราสาทหินขนาดเล็กหรือกู่ในวัฒนธรรมเขมร ก่อขึ้นด้วยศิลาแลงและหินทราย (ส่วนฐานอาจเป็นศิลาแลง) หันด้านหน้าอาคารไปทางทิศตะวันออก 

จากการสัมภาษณ์สมาชิกภายในบ้านทำให้ได้ข้อมูลว่า สมาชิกในบ้านทุกคนให้ความเคารพนับถือโบราณสถานแห่งนี้มาก มีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่บริเวณโบราณสถานและทำการสักการะอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อราว 40 ปีก่อน มีบุคคลภายนอกเดินทางมานำโบราณวัตถุชิ้นส่วนปราสาทบางชิ้นไป ส่วนปัจจุบันยังมีผู้สนใจเดินทางมาเที่ยวชมโบราณสถานแห่งนี้อยู่เป็นระยะ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี