บ้านก้านเหลือง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดบ้านก้านเหลือง

ที่ตั้ง : วัดบ้านก้านเหลือง ถ.เลี่ยงเมือง-ตระการ ม.3 บ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี

ตำบล : ขามใหญ่

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : อุบลราชธานี

พิกัด DD : 15.278368 N, 104.85533 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังนอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดก้านเหลืองตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลขามใหญ่ ทางตอนเหนือของตัวจังหวัดอุบลราชธานี โดยจากตัวบริเวณแยก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ในตัวจังหวัดและในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ใช้ถนนชยางกูร มุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือ ประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมือง เลี้ยวขวา (ใช้ถนนเลี่ยงเมือง หรือทางหลวงหมายเลข 231) แล้วตรงไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบวัดก้านเหลืองอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ในอดีตถูกขุดทำลายเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการตั้งถิ่นฐาน การสร้างหมู่บ้านจัดสรร การขยายตัวของชุมชนเมืองอุบลราชธานี และการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ มีเพียงพื้นที่ภายในวัดบ้านก้านเหลืองที่ยังไม่ถูกรบกวน กรมศิลปากรร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจึงได้ร่วมกันขุดค้นศึกษาและจัดแสดงหลุมขุดค้นเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสำหรับท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะวัดบ้านก้านเหลือง เทศบาลตำบลขามใหญ่ และกรมศิลปากร ได้ดูแล อนุรักษ์ และเสริมความมั่นคงหลักฐานทางโบราณคดีในหลุมขุดค้นจนอยู่ในสภาพดี แม้ว่าจะจัดแสดงมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม มีการสร้างอาคารคลุมหลุม ปรับภูมิทัศน์รอบหลุมขุดค้นให้เหมาะแก่การท่องเที่ยวเยี่ยมชม บริเวณหลุมขุดค้นมีการจัดนิทรรศการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่นิทรรศการจะมีสภาพค่อนข้างเก่า อย่างไรก็ตาม เทศบาลตำบลขามใหญ่ได้ก่อสร้างอาคารหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลืองหลังใหม่ที่ด้านข้างหลุมขุดค้น ปัจจุบันยังไม่มีการจัดแสดงใดๆ

ทางวัดได้ก่อสร้างอาคารถาวรต่างๆ บนเนินดิน โดยเฉพาะอาคารประดิษฐานพระพุทธรูป พระเกจิ รวมถึงรูปเคารพอื่นๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้สักการะ นอกจากนั้น เนินดินบางส่วน (ด้านทิศตะวันออก) ยังอยู่ในความครอบครองของเอกชน มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เพื่อการค้าและอยู่อาศัย การก่อสร้างอาคารดังกล่าว (ทั้งของวัดและเอกชน) อาจทำให้หลักฐานทางโบราณคดีใต้ดินเสียหายจากการตอกเสาเข็ม

ผู้สนใจสามาถเข้าเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในวัดบ้านก้านเหลืองได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดก้านเหลือง, เทศบาลตำบลขามใหญ่, กรมศิลปากร, เอกชน (เช่น หจก. ต.อะไหล่อุบล)

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเป็นที่ราบลูกคลื่นที่เกิดจากการทับถมของตะพักลำน้ำ

แหล่งโบราณคดีห่างจากหลุมขุดค้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 350 เมตร มีลำน้ำขนาดเล็กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของห้วยวังนองไหลผ่าน ส่วนห้วยวังวังนองไหลผ่านด้านทิศเหนือและตะวันออกของเนินดิน โดยห่างจากหลุมขุดค้นไปทางทิศเหนือประมาณ 1.1 กิโลเมตร และไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.7 กิโลเมตร ขณะที่แม่น้ำมูลอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร

เนินดินของแหล่งโบราณคดีมีขนาดใหญ่ สูงจากพื้นดินโดยรอบประมาณ 3-4 เมตร บนเนินดินในปัจจุบันนอกเหนือจากหลุมขุดค้นแล้ว ยังมีต้นไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป และเป็นที่ตั้งของหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลือง (เพิ่งสร้างแล้วเสร็จประมาณปีเศษ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐฉาบปูน ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น สร้างโดยเทศบาลตำบลขามใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีการจัดแสดง) หอพระบาตสวรรค์ (พระบาทสวรรค์ เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น ถัดจากหอพิพิธภัณฑ์วัดบ้านก้านเหลือง สร้างเมื่อ พ.ศ.2537-2538) กุฎิสงฆ์ (ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและตะวันออกของหลุมขุดค้น) ร้านขายอะไหล่รถยนต์ออโต้มาร์ท (หจก. ต.อะไหล่อุบล อยู่ถัดออกไปทางทิศตะวันออก นอกเขตวัด) พุทธสถานหลวงพ่อบุญมี โชติปาโล กุฏีพรหมวิหาร อาคารก่ออิฐฉาบปูนขนาดเล็กประดิษฐานรูปเคารพต่างๆ และห้องน้ำ (ตั้งอยู่ทางใต้ของหลุมขุดค้น) 

ส่วนด้านนอกเนินดินด้านทิศเหนือปัจจุบันเป็นสระน้ำ ด้านทิศตะวันออกเป็นกุฏิสงฆ์และที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้เป็นถนนเลี่ยงเมือง (ทางหลวงหมายเลข 231) ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นอาณาเขตของวัดบ้านก้านเหลือง (พื้นที่โล่ง)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

134 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยวังนอง, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

หมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก, สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

2,800-2,500 ปีมาแล้ว เป็นต้นมา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

การค้นพบโบราณวัตถุจากการขุดไถปรับพื้นที่เพื่อทำบ้านจัดสรร (หมู่บ้านอุบลการเคหะ) ในบริเวณบ้านก้านเหลือง และเมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปได้มีกลุ่มชาวบ้านพากันมาขุดหาโบราณวัตถุเพื่อไปขาย ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดทำโครงการเพื่อหางบประมาณมาสำรวจ ศึกษา และเก็บข้อมูลทางวิชาการไว้

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ขุดค้น

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย กองโบราณคดี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ในขณะนั้น ได้ทำการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานต่างๆ พร้อมกับจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี ในระยะแรกของการศึกษาสำรวจพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผาที่กระจัดกระจายอยู่อย่างหนาแน่นบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลือง อีกทั้งพื้นที่นี้ยังไม่เคยถูกขุดทำลายมาก่อน กรมศิลปากรจึงเลือกขุดค้นบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของบ้านก้านเหลืองแห่งนี้ 2 หลุม ขนาด 4x6 เมตร (Pit-I) และ 5x6 เมตร (Pit-II)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามรายงานของกรมศิลปากรระบุว่า แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองมีเนื้อที่ประมาณ 3 กิโลเมตร (?) โดยในอดีตบ้านก้านเหลืองเป็นมีดงต้น “ก้านเหลือง” ไม้ยืนต้นประเภทไม้เนื้อแข็ง แก่นของลำต้นมีสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

จากประวัติการค้นพบระบุว่าพื้นที่บ้านก้านเหลืองพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายจุด แต่ถูกขุดทำลายไปจากการตั้งถิ่นฐานของคนสมัยปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงได้เลือกขุดค้นที่เนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลืองจำนวน 2 หลุม ปัจจุบันได้จัดแสดงหลุมขุดค้นหนึ่งเป็นหลุมขุดค้นเปิด โดยมีการสร้างศาลาโปร่ง หลังคาสังกะสีคลุมหลุมขุดค้น รวมถึงการจัดนิทรรศการติดตั้งป้ายบรรยายให้ความรู้และภาพโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้น ภายในศาลา (ติดตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของหลุมขุดค้น) ปากหลุมมีการสร้างรั้วเหล็กบนฐานก่ออิฐล้อมรอบ เพื่อประโยชน์ในการเยี่ยมชมหลุมขุดค้น

ภายในหลุมขุดค้นมีภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ (ที่ในอดีตเคยบรรจุกระดูกมนุษย์) จำนวนอย่างน้อย 15 ใบ วางตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ขุดค้นพบ สภาพหลุมขุดค้นได้รับการดูแล อนุรักษ์และเสริมความมั่นคง จนอยู่ในสภาพดีและมั่นคงแข็งแรง

แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ มีหลักฐานการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ประมาณ 2,800-2,500 ปีมาแล้ว

ผลจากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2535 สรุปได้ว่าบริเวณบ้านก้านเหลืองมีประวัติการใช้พื้นที่ 2 สมัยใหญ่ๆ ดังนี้

ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,800-2,500 ปีมาแล้ว หลักฐานที่สำคัญคือ เศษสำริด เศษเหล็ก ตะกรันที่เหลือจากการถลุงโลหะ กระพรวนสำริด ลูกปัดแก้ว ดินเผาไฟ แท่งดินเผาไฟ แกลบข้าว ถ่านไม้ มีกิจกรรมการใช้ไฟ หินดุ เศษภาชนะดินเผาที่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างและซ้อนกันเป็นชั้นๆ พบว่าใต้เศษภาชนะดินเผาลงไปเป็นชั้นของภาชนะดินเผาใบใหญ่ที่น่าจะบรรจุกระดูกมนุษย์อยู่ภายใน พบจำนวน 11 ใบ 7 รูปแบบ โดยภาชนะในกลุ่มรูปทรงรีพบอยู่ในชั้นดินลึกที่สุด (เก่าที่สุด) ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปใช้ภาชนะรูปทรงกลมแทน เพราะพบอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่า (ใหม่กว่า) ภาชนะทั้ง 2 ทรง เป็นภาชนะที่มีฝาปิด 

แม้ในว่าในภาชนะขนาดใหญ่ดังกล่าวจะไม่พบชิ้นส่วนกระดูกอยู่ภายในก็ตาม แต่กรมศิลปากรได้นำตัวอย่างดินที่พบในภาชนะไปให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบว่าดินในภาชนะมีปริมาณของฟอสเฟตและแคลเซียมมากกว่าดินนอกภาชนะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการสลายตัวผุพังของกระดูกคน เนื่องจากกระดูกมีองค์ประกอบหลักทางเคมีคือฟอสเฟตและคาร์บอเนตของแคลเซียม

ประเพณีการปลงศพโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะดินเผาหรือการฝังศพครั้งที่ 2 ที่บ้านก้านเหลืองนี้ พบได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี

การดำรงชีวิตสมัยนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนเกษตรกรรมและมีช่างชำนาญเฉพาะทาง รู้จักการเพาะปลูกข้าว การถลุงโลหะ และการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเหล็กและสำริด รู้จักการปั้นภาชนะดินเผา

ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักฐานสำคัญได้แก่ พวยกาดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แวดินเผา เศษเหล็ก ตะกรันหรือขี้แร่ หินดุ แท่งดินเผา ลูกปัดดินเผา กระพรวนสำริด และขวานเหล็ก

ชั้นวัฒนธรรมที่ 3 เป็นการใช้พื้นที่ของคนปัจจุบัน

หลังจากการขุดค้นเสร็จสิ้นแล้ว กรมศิลปากรและท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งจัดทำอาคารคลุมหลุมและนิทรรศการชั่วคราวภายในอาคารดังที่ปรากฏในปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ทรรศนะ โดยอาษา. “บ้านก้านเหลือง แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย.”  ศิลปากร 35, 6 (2535) : 48-67.

สมชาย นิลอาธิ. “แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดอนดงเมือง บ้านก้านเหลือง - บ้านดงเมือง อุบลราชธานี.” เมืองโบราณ 16, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2533) : 10-13.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์. “ข้อมูลใหม่เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลำมูลล่าง : แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี.” ศิลปากร 34, 6 (2534) : 23-34.

เอกรินทร์ พึ่งประชา. “แอ่งอารยธรรมบ้านก้านเหลือเมืองอุบลฯ.” ศิลปวัฒนธรรม 13, 10 (ส.ค.2535) : 32-34.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี