วัดสักน้อย (ร้าง)


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 20 ม.9 บ้านสักน้อย ต.วัดชลอ อ.บางกรวย

ตำบล : วัดชลอ

อำเภอ : บางกรวย

จังหวัด : นนทบุรี

พิกัด DD : 13.81145 N, 100.4705 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางกอกน้อย, คลองอ้อมนนท์, คลองวัดสัก (คลองวัดสักใหญ่)

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

หากมาจากวงเวียนตลาดอำเภอบางกรวย ถนนเทอดพระเกียรติ ให้ใช้ถนนบางกรวย-จงถนอม (ทางหลวงหมายเลข 3014) ประมาณ 1.1 กิโลเมตร จะพบซอยตาแหวนทางขวามือ (อยู่ติดกับบริษัท เอนกยูโรคาร์เซ็นเตอร์ จำกัด) เลี้ยวขวาเข้าซอยไปประมาณ 350 เมตร (ซอยมีขนาดเล็ก) พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปตามถนน (ถนนดิน) ประมาณ 150 เมตร จะพบวัดสักน้อยและป้ายวัดสักน้อยอยู่ในบริเวณบ้านพักอาศัยของชาวบ้าน 

นอกจากซอยตาแหวนแล้ว ยังสามารถเข้าได้จากซอยโปร่งจิต และซอยที่ติดกับซอยโปร่งจิต (ไม่มีชื่อ) แต่เนื่องจากเป็นซอยขนาดเล็ก รถยนต์เข้าได้ลำบาก

หากมาจากถนนราชพฤกษ์ สามารถใช้ถนนบ้านคลองวัดสัก-บ้านวัดโคนอน ต่อเนื่องมายังถนนบางกรวย-จงถนอมได้

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดสักน้อย (ร้าง) เป็นวัดร้าง ยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และเสริมความมั่นคง สภาพภายนอกค่อนข้างทรุดโทรม มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น บางส่วนมีรากไม้ชอนไชไปในผนัง ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวอาคารเป็นอย่างมาก

กรรมสิทธิ์ที่ดินของวัดสักน้อยในปัจจุบันเป็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีชาวบ้านได้เช่าอาศัยปลูกบ้านและทำกิน (ทำสวน) อยู่มานานหลายสิบปี

จากการสัมภาษณ์ทำให้ได้ข้อมูลว่าวัดสักน้อยเป็นหนึ่งในพุทธศาสนสถานของชุมชน ชาวบ้านในละแวกนี้ให้ความเคารพเป็นอย่างมาก ส่วนภายนอกชุมชนมีผู้มีจิตศรัทธาและผู้ที่ต้องการศึกษาเข้ามากราบสักการะบูชาพระพุทธรูปและเยี่ยมชมโบราณอยู่เป็นระยะ มีการรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาทำนุบำรุงวิหาร โดยการจัดสร้างหลังคาและทำพื้นภายใน

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมโบราณสถานได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่ควรติดต่อเจ้าของพื้นที่ก่อนการเดินชมโบราณสถาน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดโพธิ์บางโอ, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดสักน้อย (ร้าง) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 188 ตอนพิเศษ 127ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ (โบราณสถานวัดสักน้อย (ร้าง))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุบันวัดสักน้อยเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในอาณาเขตบ้านพักอาศัยของชาวบ้านที่เช่าที่ดินจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) บ้านเลขที่ 20 ม.9 บ้านสักน้อย ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี พื้นที่โดยรอบเป็นสวนและบ้านเรือนของเจ้าของสวน ตั้งอยู่ริมคลองวัดสักน้อย ที่เป็นสาขาของคลองอ้อมนนท์ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม 

โบราณสถานตั้งอยู่ห่างคลองอ้อมนนท์มาทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร ห่างจากคลองวัดสักหรือคลองวัดสักใหญ่มาทางทิศใต้ (คลองวัดสักเป็นลำน้ำสาขาของคลองอ้อมนนท์) ประมาณ 300 เมตรห่างจากจุดบรรจบระหว่างคลองบางกอกน้อย คลองบางกรวย และคลองอ้อมนนท์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 700 เมตร อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 3.4 กิโลเมตร ห่างจากวัดชลอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 800 เมตร ห่างจากวัดเพลง (ร้าง) มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร และห่างจากวัดโพธิ์บางโอซึ่งเป็นวัดสมัยอยุธยาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 200 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

8 เมตร

ทางน้ำ

คลองอ้อมนนท์, คลองวัดสัก (คลองวัดสักใหญ่), คลองบางกอกน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ไม่ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดสักน้อยที่แน่ชัด ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่าอาจมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยา พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงนิพนธ์ถึงวัดสักน้อยไว้ในนิราศพระประธม เมื่อ พ.ศ.2377 ดังนี้

                        ดลวัดสักน้อยน่งง               อนาถใจ

                        น้อยศักดิ์จึงโศกใน              อกอึ้ง

                        เจ็บรักจากจักไกล               กลอยเสน่ห์มาแน่

                        โศกไม่น้อยหนักตรึง            ตราตรึง ทรวงเสมอ

สันนิษฐานว่าวัดสักน้อยคงจะมีความสัมพันธ์กับวัดสักใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และอาจมีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน โบราณสถานสำคัญได้แก่ ซากวิหาร

สิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ วิหาร

วิหาร ลักษณะเป็นซากอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (เฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย) สภาพทรุดโทรม ไม่ปรากฏให้เห็นรูปแบบศิลปกรรม หลังคาผุพังทั้งหมด วิหารส่วนท้ายมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น รากไม้บางส่วนได้ชอนไชเข้าไปในผนังอาคาร ส่วนฐานอาคารผุกร่อนและมีดินปกคลุมบางส่วนปูนฉาบและปูนก่อเริ่มหลุดร่อนจากความชื้น มีคราบราและตะไคร่เกาะจับอยู่เกือบทั่วทั้งโบราณสถาน 

มีช่องประตูทางเข้าทางด้านหน้า 2 ช่อง ทางเบื้องซ้ายและขวา ช่องหน้าต่างที่ด้านข้างด้านละ 5 ช่อง ปรากฏชิ้นส่วนของกรอบประตูหน้าต่างที่ทำจากไม้

ภายในอาคารมีการดัดแปลงต่อเติมโดยคนในปัจจุบัน คือสร้างหลังคาจากโครงเหล็กและสังกะสีคลุมทั้งภายในตัววิหาร ติดหลอดไฟและพัดลมเพดาน พื้นวิหารทำเป็นพื้นปูนและปูเสื้อน้ำมันเต็มทั้งพื้นที่ โดยพื้นวิหารครึ่งด้านท้ายที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยกสูงกว่าพื้นด้านหน้า ปัจจุบันมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ 5 องค์ พระสาวก 2 องค์ โดยองค์ประธานมีขนาดใหญ่ (อาจเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นภายหลัง) นอกจากนี้ ยังมีเสาไม้เก่า ซึ่งเป็นเสาของวิหารทั้งวางนอนและปักตั้งอยู่ภายในวิหาร โดยเสาที่ปักตั้งมีผ้าแพรหลากสีผูกอยู่เกือบเต็มทั้งเสา

ด้านหน้าและภายในวิหาร ชาวบ้านได้ตั้งกล่องรับบริจาคเพื่อทำนุบำรุงโบราณสถาน และมีดอกไม้ธูปเทียนสำหรับบูชาพระพุทธรูป

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี