ผาเสด็จพัก


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : ถ้ำผาเสด็จ, ผาเสด็จ

ที่ตั้ง : ม.5 บ้านเขาเกตุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

ตำบล : ทับกวาง

อำเภอ : แก่งคอย

จังหวัด : สระบุรี

พิกัด DD : 14.644738 N, 101.095507 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสามแยกมิตรภาพในตัวจังหวัดสระบุรี ใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2) มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 25 กิโลเมตร (ระหว่าง กม.ที่ 132-133) จะพบโรงเรียนบ้านซับบอนทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าใช้ซอยหรือถนนขนาดเล็กข้างโรงเรียน (ถนนอยู่ระหว่างโรงเรียนบ้านซับบอนกับ บมจ.ทีพีไอโพลีน มีป้ายบอกทางสู่ผาเสด็จที่ปากทาง) ไปตามถนนประมาณ 2.5 กิโลเมตร ถึงผาเสด็จพัก (เลยสถานีรถไฟผาเสด็จไปประมาณ 550 เมตร) หรือสามารถเดินทางมาได้โดยรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงรถไฟที่สถานีผาเสด็จ (รถไฟชั้น 3 เท่านั้น) แล้วเดินเท้าต่อไปยังผาเสด็จพัก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ผาเสด็จพักเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดสระบุรี มีประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และการรถไฟไทย ปัจจุบันได้รับการบูรณะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ และดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนอยู่ในสภาพสะอาดและสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนท่องเที่ยวค่อนข้างครบถ้วน ทั้งลานจอดรถ ห้องน้ำ ทางเดินเท้า ป้ายบรรยายให้ข้อมูล รั้วกั้นริมทางรถไฟ ศาลาพักผ่อน เป็นต้น บริเวณโดยรอบผาเสด็จพักยังมีสภาพเป็นภูเขา ป่าไม้ และช่องเขา มีทิวทัศน์สวยงาม  เหมาะแก่การท่องเที่ยวเยี่ยมชม สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและหลวงพ่อผาเสด็จ หลวงพ่อกายสิทธิ์ หรือหลวงพ่อผาดำ โดยสามารถเดินทางมาได้ทั้งโดยรถยนต์และรถไฟ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

จังหวัดสระบุรี, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน), การรถไฟแห่งประเทศไทย, กรมศิลปากร, เทศบาลเมืองทับกวาง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ผาเสด็จพักได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3701 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (ผาเสด็จพัก)

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

หลักฐานสำคัญของโบราณสถานหรือแหล่งประวัติศาสตร์ “ผาเสด็จพัก” คือจารึกบนก้อนหินขนาดใหญ่ริมทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟมาบกะเบากับสถานีรถไฟผาเสด็จ ในตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยหากเดินทางจากกรุงเทพ ผาเสด็จพักจะอยู่ถัดไปจากสถานีมาบกะเบาประมาณ 4 กิโลเมตรตามเส้นทางรถไฟ และอยู่ก่อนสถานีรถไฟผาเสด็จ (สถานีรถไฟชั้น 3) ประมาณ 600 เมตรตามเส้นทางรถไฟ และอยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพประมาณ 138 กิโลเมตรตามเส้นทางรถไฟ

ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงนี้ตัดผ่านภูมิประเทศแบบภูเขาและเทือกเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนทางตะวันออกของจังหวัดสระบุรี สภาพพื้นที่รอบๆ ผาเสด็จพักจึงมีลักษณะเนินเขาสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันและป่าไม้ ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร เป็นที่ตั้งของเหมืองหิน

ก้อนหินที่ประดิษฐานจารึกตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของทางรถไฟ รูปทรงของหินโดยรวมเป็นรูปสามเหลี่ยม ยื่นส่วนแหลมด้านหนึ่งออกไปทางทิศตะวันออกหรือยื่นไปทางทางรถไฟ ใต้หินก้อนนี้มีหินอีกก้อนหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าหนุนอยู่

จารึกอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร โดยจารึกอยู่ที่ผิวหน้าของก้อนหินด้านทิศใต้ ซึ่งมีพื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบ จารึกด้วยตัวอักษรไทย “จปร” “สผ” “๑๑๕” และ “ผาเสด็จพัก”

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

149 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก

สภาพธรณีวิทยา

เป็นภูเขาและเทือกเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนทางตะวันออกของจังหวัดสระบุรี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2439

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, จารึก

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ผาเสด็จพักเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสระบุรี มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประวัติการคมนาคมไทย โดยเฉพาะกิจการการรถไฟ เป็นเส้นทางผ่านของทางรถไฟสายแรกของไทยที่มุ่งสู่อีสาน คือทางรถไฟสายพระมหานคร-นครราชสีมา ก่อสร้างโดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟขึ้นในสยามประเทศ หลังจากหลังจากนั้น พ.ศ. 2434 ได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพถึงอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2439 ดำเนินก่อสร้างเส้นทางรถไฟต่อไปยังนครราชสีมา ซึ่งต้องผ่านสระบุรี

วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2439 (ร.ศ.115) เวลาบ่าย 3 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถไฟพระที่งนั่งจากที่ประทับแรมเข้าในดงถึงที่สุดทางรถไฟในเวลานั้น (ตำบลหินลับ) เวลาบ่าย 5 โมงเย็น เสด็จลงจากรถไฟพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินต่อไปทางตามทางที่ยังไม่ได้วางเหล็กรางข้ามห้วย 2 แห่ง ถึงศิลาใหญ่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” ของพระองค์ และพระนามาภิไธยย่อ “ส.ผ.” ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และเลข “๑๑๕” หมายถึงปีที่เสด็จพระราชดำเนินถึง ทั้งยังพระราชทานศิลาตำบลนี้ว่า “ผาเสด็จพัก” พอเวลาจวนค่ำจึงเสด็จขึ้นรถไฟพระที่นั่งกลับยังพลับพลาที่ประทับเวลาทุ่มเศษ

เมื่อประชาชนทราบข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาถึงผาแห่งนี้ก็พากันชื่นชม และผู้คนต่างพากันเรียกเงื้อมผาแห่งนี้ในเวลาต่อมาว่า “ผาเสด็จ” ซึ่งประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะพนักงานรถไฟได้ให้ความเคารพบูชาเป็นอย่างสูงตลอดมาถึงทุกวันนี้

นอกเหนือจากประวัติดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีตำนานที่กล่าวถึงผาเสด็จพัก ดังนี้ ในสมัยก่อนที่เส้นทางจากสระบุรีไปอำเภอแก่งคอยต้องใช้เวลานานมากเพราะถนนหนทางยังไม่มี มีเพียงเส้นทางโบราณที่เป็นถนนลูกรังคดเคี้ยว เป็นหลุมเป็นบ่อแทบ ระยะทางถนน 16 กิโลเมตร ทั้งที่ระยะทางจริงในทางตรงประมาณ 12 กิโลเมตร

ส่วนเส้นทางคมนาคมอีกสายหนึ่งคือทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายแก่งคอย-มวกเหล็ก ที่การก่อสร้างทางรถไฟจำเป็นต้องตัดผ่านเข้าดงพญาเย็นเพื่อไปทะลุทางภาคอีสานนั้น มีเทือกเขาขวางอยู่หลายแห่ง รวมถึงภูเขาแห่งหนึ่งที่มีเงื้อมชะโงกหินยื่นออกมาเป็นก้อนโตมหึมา ความจริงจะตัดหรือระเบิดอ้อมไปด้านข้างเคียงก็พอจะทำได้ แต่เส้นทางจะคดเคี้ยว จึงจำเป็นต้องระเบิดภูเขาแห่งนั้น วิศวกรชาวฝรั่งเศสพยายามจะระเบิดทำลายเพื่อทำทางรถไฟอยู่หลายครั้งแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ สร้างความหนักใจให้กับบรรดานายช่างเป็นอย่างยิ่ง เกือบจะพากันหมดอาลัยล้มเลิกความตั้งใจเสียแล้ว จึงปรึกษากันว่าควรทำอย่างไรดี ขณะนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำในทางไสยศาสตร์ว่าสถานที่แห่งนี้คงมีผีเจ้าป่าหรือเจ้าที่เจ้าทาง ควรทำบัตรพลีเซ่นสรวงบนบานศาลกล่าวให้องค์เทพารักษ์อนุญาตตามประเพณีไทยแต่โบราณ แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเพราะนายช่างเป็นคนหัวสมัยใหม่

การระเบิดภูเขายังคงไม่ประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านในแถบนั้นจึงบอกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เคยแสดงมหิทธิฤทธิ์ปรากฏแก่ชาวบ้านและพรานให้เห็นมาแล้วหลายครั้ง เช่น ถ้ามีคนตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้นหรือปัสสาวะบริเวณโคนไม้ใหญ่ ก็จะมีอันเป็นไป ล้มป่วย เจ็บเนื้อเจ็บตัว ปวดหัว เป็นไข้ หรือเป็นลมชักน้ำลายฟูมปาก ตาเหลือก ต้องหาคนไปทำกระทงบัตรพลีเซ่นสรวงขอขมา ถ้าใครไม่เชื่อล้มเจ็บถึงตายก็มี

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) พระองค์จึงโปรดให้นำตราแผ่นดินไปประทับตรงโคนต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นเป็นการเอาเคล็ด เล่ากันว่าพอต้นไม้ใหญ่แห่งนั้นถูกตราแผ่นดินพระราชทานตีประทับลงที่โคนแล้ว ก็ให้มีอันกิ่งใบแห้งเหี่ยวยืนต้นตายไป และมีพระราชกระแสรับสั่งให้นายช่างระเบิดหินต่อไป แต่ก็มีการเล่ากันว่าชาวบ้านบางคนกลัวไม่กล้าระเบิดต่อ เนื่องจากมีนายช่างและคนงานบางคนเป็นไข้ป่าเจ็บหนักจนถึงเสียชีวิต พระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดเกล้าให้สร้างศาลเพียงตาขึ้นที่ใกล้เงื้อมผา การระเบิดทำทางรถไฟ จึงดำเนินต่อไปโดยไร้อุปสรรค

หลักฐานสำคัญของโบราณสถานหรือแหล่งประวัติศาสตร์ “ผาเสด็จพัก” คือจารึกบนก้อนหินขนาดใหญ่ริมทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟมาบกะเบากับสถานีรถไฟผาเสด็จ ในตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยหากเดินทางจากกรุงเทพ ผาเสด็จพักจะอยู่ถัดไปจากสถานีมาบกะเบาประมาณ 4 กิโลเมตรตามเส้นทางรถไฟ และอยู่ก่อนสถานีรถไฟผาเสด็จ (สถานีรถไฟชั้น 3) ประมาณ 600 เมตรตามเส้นทางรถไฟ และอยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพประมาณ 138 กิโลเมตรตามเส้นทางรถไฟ

ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงนี้ตัดผ่านภูมิประเทศแบบภูเขาและเทือกเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนทางตะวันออกของจังหวัดสระบุรี สภาพพื้นที่รอบๆ ผาเสด็จพักจึงมีลักษณะเนินเขาสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันและป่าไม้ ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร เป็นที่ตั้งของเหมืองหิน

ก้อนหินที่ประดิษฐานจารึกตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของทางรถไฟ รูปทรงของหินโดยรวมเป็นรูปสามเหลี่ยม ยื่นส่วนแหลมด้านหนึ่งออกไปทางทิศตะวันออกหรือยื่นไปทางทางรถไฟ ใต้หินก้อนนี้มีหินอีกก้อนหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าหนุนอยู่

จารึกอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร โดยจารึกอยู่ที่ผิวหน้าของก้อนหินด้านทิศใต้ ซึ่งมีพื้นผิวที่ค่อนข้างเรียบ จารึกด้วยตัวอักษรไทย “จปร” “สผ” “๑๑๕” และ “ผาเสด็จพัก”

ทั้งนี้ จารึกอาจแบ่งออกเป็น 2 แถวตามแนวตั้ง จารึกแถวด้านขวาเป็นตัวอักษร “จปร” (พระปรมาภิไธยย่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประดิษฐานอยู่เหนือจารึกอักษร “สผ” (พระนามาภิไธยย่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) ถัดลงไปจากจารึก สผ เป็นตัวเลขไทย “๑๑๕” (ปี ร.ศ. ที่ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จฯ ยังสถานที่แห่งนี้) ส่วนจารึกแถวด้านซ้ายเป็นตัวอักษร “ผาเสด็จพัก” ซึ่งเป็นชื่อของสถานที่แห่งนี้

บริเวณโดยรอบก้อนหินที่ประดิษฐานจารึกนั้นได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และเทศบาลเมืองทับกวาง มีการตกแต่งและดูแลพื้นที่ให้สวยงามและสะอาด เช่น ทำทางเดินเท้า ปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ  

ทางทิศใต้ของจารึกมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานอยู่ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ปูด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาว ทางผู้ดูแลพื้นที่ไม่อนุญาตให้ถวายเครื่องสักการะอื่นเว้นแต่ธูปและดอกไม้

ใต้ก้อนหินที่ประดิษฐานจารึกมีศาลพระภูมิขนาดเล็กตั้งอยู่ศาลหนึ่ง ด้านทิศเหนือของจารึกมีศาลตั้งอยู่ 1 ศาล ป้ายด้านหน้าระบุว่าเป็นที่ประทับของหลวงพ่อผาเสด็จ หลวงพ่อกายสิทธิ์ หรือหลวงพ่อผาดำ ด้านหน้าศาลมีตุ๊กตารูปทหารซึ่งเป็นเครื่องสักการะหรือเครื่องเซ่นตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก มีบางส่วนเป็นรูปปั้นม้า

ถัดไปทางทิศเหนือของศาลเป็นที่ตั้งของ “ศาลาราชภักดี” เป็นอาคารโปร่ง ไม่มีผนัง ก่ออิฐถือปูน ภายในเป็นห้องโล่ง ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้ายด้านบนระบุว่า “ศาลาราชภักดี ดูแลโดย บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) คุณประชัย คุณไพลิน เลี่ยวไพรัตน์”

ฝั่งตรงข้ามทางรถไฟของจารึกเป็นป้ายก่ออิฐถือปูน จำลองเป็นรูปขบวนรถไฟ ให้ข้อมูลประวัติและตำนานผาเสด็จพัก สองข้างทางรถไฟบริเวณผาเสด็จพักบางส่วนมีการติดตั้งรั้วสแตนเลสกั้นเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี