เจดีย์ภูธาตุ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว ซ.วัดหนองยาวใต้ ถ.พหลโยธิน ต.หนองยาว อ.เมืองสระบุรี

ตำบล : หนองยาว

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สระบุรี

พิกัด DD : 14.465227 N, 100.90532 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหนองแซง, คลองหนองเขื่อนช้าง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) มุ่งหน้าจังหวัดสระบุรี เมื่อผ่านตำบลหนองขมิ้น อำเภอหนองแค จะเข้าสู่ตำบลหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี เมื่อผ่านบริเวณแยกยกระดับถนนบายพาสสระบุรีฝั่งตะวันออก (แยกไปนครราชสีมา) ไปประมาณ 600 เมตร จะพบซอยเข้าสู่วัดหยองยาวใต้และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาวทางซ้ายมือ (ซอยติดกับโชว์รูมรถยนต์เชฟโรเลต) เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปประมาณ 90 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาตรงตามทางขึ้นเนินไปประมาณ 180 เมตร จะพบเจดีย์ภูธาตุทางขวามือ และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาวทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์ภูธาตุเป็นเจดีย์ร้างที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์จากรมศิลปากรแล้ว ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว บริเวณเจดีย์ยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อขุนทองดำ” ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่สถิตอยู่ ณ เจดีย์แห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านหนองยาวและชุมชนใกล้เคียง กรมศิลปากรและท้องถิ่นให้การดูแลและทำนุบำรุงโบราณสถานเป็นอย่างดี มีการติดตั้งป้ายแสดงข้อมูลโบราณสถาน และตกแต่งภูมิทัศน์รอบเจดีย์ให้สวยงาม

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเจดีย์ภูธาตุได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

เจดีย์ภูธาตุได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 33ง วันที่ 9 เมษายน 2544 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (โบราณสถานเจดีย์ภูธาตุ)

ภูมิประเทศ

ภูเขา, เนินเขา

สภาพทั่วไป

เจดีย์ภูธาตุเป็นเจดีย์ร้างที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ตั้งอยู่ในสนามหญ้าด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของอาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว ได้รับการดูแลและทำนุบำรุงเป็นอย่างดีจากท้องถิ่น

สภาพพื้นที่เป็นเนินเขาลูกโดดเล็กๆ สูงกว่าพื้นที่โดยรอบที่เป็นที่ราบประมาณ 10 เมตร ห่างจากแม่น้ำป่าสักมาทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร และห่างจากคลองหนองแซงหรือคลองหนองเขื่อนช้างมาทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

26 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก, คลองหนองแซง, คลองหนองเขื่อนช้าง

สภาพธรณีวิทยา

ชนิดของหินของเนินเขาลูกนี้เป็นหินชุดเดียวกับเทือกเขาด้านทิศตะวันออกของจังหวัดสระบุรีต่อเนื่องกับจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งเทือกเขาบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่นที่อยู่ใกล้กับเนินเขาลูกนี้ทางทิศตะวันออก คือเป็นหินอัคนีประเภทหินภูเขาไฟ ยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก อายุประมาณ 260-220 ล้านปี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 24

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เจดีย์ภูธาตุ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง แต่จากการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์ของกรมศิลปากร ได้พบแผ่นอิฐมีจารึกอักษรไทย แม้จะไม่สามารถอ่านแปลเนื้อความที่สมบูรณ์ได้ แต่จากรูปแบบของตัวอักษรที่จารึกนั้น สามารถกำหนดอายุได้อยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังนั้นเจดีย์ภูธาตุจึงเป็นหลักฐานสำคัญของท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนในตำบลหนองยาวมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

โบราณสถานมีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ 1 องค์ ก่อด้วยอิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละประมาณ 5 เมตร ส่วนฐานที่หลงเหลือเป็นฐานเขียง 2 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนล่างของฐานปัทม์

การก่อสร้างมีการใช้อิฐ 2 ขนาด จากสภาพที่พังทลายทำให้เห็นโครงสร้างภายในโดยมีเทคนิคในการก่อสร้างโดยทำเป็นห้องในช่องว่างของแต่ละห้องจะใช้หินก้อนเล็กและดินอัดเอาไว้

ด้านข้างหรือด้านทิศใต้ของเจดีย์ มี “ศาลเจ้าพ่อขุนทองดำ” ตั้งอยู่ (ศาลปัจจุบันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2552) เป็นที่นับถือของชาวหนองยาวและผู้ที่ทำงานใน อบต.หนองยาว เป็นอย่างมาก ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์มีโต๊ะวางเครื่องสักการะตั้งอยู่ พร้อมทั้งชุดขาวที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย

เจดีย์ภูธาตุในอดีตน่าจะมีความสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินเขาที่สูงโดดเด่นท่ามกลางที่ราบล้อมรอบ ทำให้สามารถมองเห็นเจดีย์ได้จากทุกทิศทุกทาง อาจเป็นหนึ่งในจุดสังเกตสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี