วัดชลอ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระอุโบสถวัดชลอ

ที่ตั้ง : ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ม.3 ต.วัดชลอ อ.บางกรวย

ตำบล : วัดชลอ

อำเภอ : บางกรวย

จังหวัด : นนทบุรี

พิกัด DD : 13.806366 N, 100.476235 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางกอกน้อย, คลองบางกรวย, คลองอ้อมนนท์

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดชลอตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยและถนนบางกรวย-ไทรน้อย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยตั้งอยู่ระหว่างซอยบางกรวย-ไทรน้อย 17/3 กับสะพานข้ามคลองบางกรวย โดยสามารถเข้าได้หลายทาง เช่น

-          จากสะพานพระนั่งเกล้า ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ถึงแยกบางพลู เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวยตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดชลอจะอยู่ขวามือ

-          จากสะพานพระราม 5 ตามถนนนครอินทร์ ถึงแยกบางสีทอง เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวยตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดชลอจะอยู่ขวามือ

-          จากสะพานพระราม 7 หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไปตามถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดชลอจะอยู่ซ้ายมือ

-          จากสะพานกรุงธน ตามถนนสิรินธร กลับรถ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรุ่งประชา เข้าถนนเทอดพระเกียรติ เข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดชลอจะอยู่ซ้ายมือ

-          จากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปตามถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้าและถนนบรมราชชนนี ผ่านห้างเซ็นทรัลพลาซ่าสาขาปิ่นเกล้า ถึงขนส่งสายใต้เก่า (ปิ่นเกล้า) กลับรถใต้สะพาน เพื่อเข้าถนนสิรินธร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรุ่งประชา เข้าถนนเทอดพระเกียรติ เข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย วัดชลอจะอยู่ซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันวัดชลอเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอบางกรวย ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี อุบศถที่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงสง่างาม แต่ภายในเริ่มมีการร่อนของสีเนื่องจากความชื้น มีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวัดและโบราณสถานติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในวัด

ทางวัดมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นประจำ ภายในวัดประดิษฐานรูปเคารพจากทั้งศาสนาพุทธเถรวาท ศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาฮินดู และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในท้องถิ่น

สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดชลอได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกับทางวัด

สำนักงานเจ้าอาวาสและมูลนิธินนทปัญญาวิมล 02-8839277

สำนักงานคณะกรรมการวัดชลอ 02-4466186

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดชลอ, กรมศิลปากร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

อุโบสถวัดชลอได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 96 ตอนที่ 97 วันที่ 16 มิถุนายน 2522 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (พระอุโบสถวัดชลอ)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดชลอเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนนบางกรวย-ไทรน้อย และริมคลองบางกอกน้อย (ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคลอง) ใกล้กับจุดบรรจบระหว่างคลองบางกอกน้อย คลองบางกรวย และคลองอ้อมนนท์ ที่ปัจจุบันอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือเพียง 60 เมตร อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดโพธิ์บางโอซึ่งเป็นวัดสมัยอุยธยามาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 400 เมตร

ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำเอ่อท่วมจากคลองทุกปี สภาพโดยทั่วไปเป็นชุมชนเมือง โดยรอบวัดมีชุมชนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น ทางทิศเหนือมีโรงเรียนวัดชลอตั้งอยู่ในพื้นที่วัด ด้านทิศตะวันตกเป็นคลองบางกอกน้อย ส่วนด้านอื่นๆ เป็นบ้านเรือนราษฎร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

6 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองบางกอกน้อย, คอลงอ้อมนนท์, คลองบางกรวย

สภาพธรณีวิทยา

เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 24

อายุทางตำนาน

สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยพระเจ้าอู่ทอง, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556, พ.ศ.2557

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดชลอปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย จากประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อ 13 พฤษภาคม 2528

ป้ายให้ข้อมูลของกรมศิลปากรที่ติดตั้งอยู่ภายในวัดระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ.2275 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนคำว่า “ชลอ” มาจากครั้งอดีตคลองบางกรวยและคลองบางกอกน้อยที่ไหลผ่านทางทิศเหนือและตะวันออกของวัดมีกระแสน้ำเชี่ยวรุนแรง เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงมีการเขียนป้ายว่า “ช้ารอ” ต่อมาเพี้ยนมาเป็น “ชลอ”

ข้อมูลของทางวัดเล่าถึงประวัติการสร้างวัดว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จทางชลมารคมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองนนทบุรีเรื่อยมาทางคลองลัด ที่ในปัจจุบันเรียกว่า “คลองบางกรวย” พระองค์ทรงเห็นว่าที่ตรงนี้น่าจะมีการสร้างวัดขึ้นมาสักวัดหนึ่ง แต่เนื่องจากบริเวณนั้นในอดีตเคยมีเรือสำเภาจากเมืองจีนล่มและจมลง มีลูกเรือล้มตายจำนวนมาก มีความเชื่อว่าเป็นที่อาถรรพ์ ในระหว่างการก่อสร้างก็มีอุปสรรคนานัปการ จึงทรงเสี่ยงสัตยาธิษฐานกับเทพยดาและมีพระสุบินนิมิตไปว่า ชายจีนชรามากราบทูลว่า ต้องสร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภาเพื่อการแก้เคล็ด จึงทรงสร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้พระราชทานนามวัดดังกล่าวว่า “วัดชลอ” วัดชลอถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามาโดยตลอด เพิ่งจะมีพระภิกษุมาจำพรรษาในรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4

ส่วนอีกตำนานหนึ่งระบุว่าเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้นและเกี่ยวข้องกับวัดกระโจมทองที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดชลอ เหล่าทหารและไพร่พลได้มาพักรอรับเสด็จ เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงก็ได้จัดสร้างกระโจมตั้งเสาเจาะใส่ทองไว้ในเสาที่ประทับในบริเวณที่เป็นวัดกระโจมทองในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นลานกว้างประมาณ 50 ไร่ อยู่ห่างจากวัดชลอไปทางตะวันออกประมาณ 700 เมตร ยังไม่มีสภาพเป็นวัด ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดฯ ให้ขุดคลองจากปากคลองบางสีทองผ่านวัดชลอ ไปสู่วัดเขมาภิรตาราม (วัดสลัก) เนื่องจากเส้นทางเดิมมีความคดเคี้ยวเป็นระยะทางไกล คลองดังกล่าวปัจจุบันคือคลองบางกรวย  

โบราณสถานสำคัญได้แก่ อุโบสถและเจดีย์ราย

อุโบสถ ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของวัด เกือบติดกับคลองบางกอกน้อย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (เฉียงไปทางใต้เล็กน้อย) ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 9.15 เมตร ยาว 19.7 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมล้อม

ที่ด้านหน้าอุโบสถมีอาคารโถงเป็นมุขหน้า เพดานเป็นไม้ทาสีแดง ประดับดาวเพดานสีทอง  มีบันไดทางขึ้นและช่องประตูเข้าสู่อาคารโถง 2 ข้างซ้าย-ขวา ส่วนตัวอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้าตรงกลาง 1 ประตู (ภายในจากอาคารโถง) ด้านหลัง 2 ประตู จั่วเหนือช่องประตูประดับปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ช่องหน้าต่างที่ด้านข้าง ด้านละ 2 บาน บานประตู-หน้าต่างเป็นไม้ ทาด้วยสีแดง

ชั้นหลังคาประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์  (ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นนาคลักษณะที่ปากคล้ายนก หรือที่เรียกว่า นกเจ่า) หน้าบันอุโบสถทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และหน้าบันของอาคารโถงด้านหน้า ต่างตกแต่งด้วยปูนปั้นลายปูนปั้นเป็นรูปแจกันและพันธุ์พฤกษา ฐานอุโบสถมีลักษณะแอ่นโค้งที่เรียกว่า “ทรงท้องเรือสำเภา” โดยรอบมีซุ้มเสมาทรงกูบอยู่ทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาทำจากหินทรายสีแดง ซุ้มเสมาตรงกลางด้านหน้าอยู่ภายในอาคารโถง

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธานบนฐานชุกชีท้ายอุโบสถ จากข้อมูลของทางวัดระบุว่าเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง (ลงรักปิดทอง?) ขนาดหน้าตัก 3 ศอก 9 นิ้ว ฝาผนังไม่มีภาพจิตรกรรม เพดานเป็นเครื่องไว้ทาสีแดงประดับดาวเพดานสีทอง

สันนิษฐานจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมได้ว่าอุโบสถหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณะเพิ่มเติมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากนั้นก็คงมีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ครั้งหลังสุดดำนเนินการโดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2556-2557 โดยเป็นการบูรณะตามรูปแบบเดิม

เจดีย์ราย ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ 2 องค์ เบื้องซ้ายและขวา ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัด อุโบสถเรือสุพรรณหงส์ (ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถหลังเดิมเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2526 โดยท่านพระครูนนทปัญญาวิมล (สุเทพ ณรงค์ฤทธิ์) หรือหลวงพ่อวัดชลอได้เล่าถึงนิมิตเห็นเรือหงส์ลอยมาอยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า (โบสถ์ที่มีลักษณะเหมือนเรือสำเภา) จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้าง

ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดมีกำแพงวัดก่ออิฐด้านบนลักษณะเป็นเสมา สันนิษฐานว่าเป็นส่วนของกำแพงวัดเก่า

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี