วัดนาขวาง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดคูหาสวรรค์

ที่ตั้ง : ม.4 ถ.พระรามที่ 2 ต.กาหลง อ.เมืองสมุทรสาคร

ตำบล : กาหลง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.482736 N, 100.122372 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง, ท่าจีน, สุนัขหอน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองนาขวาง, คลองทุ่ง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนพระราม 2 (ธนบุรี - ปากท่อ) ข้ามสะพานข้ามคลองสุนัขหอน มุ่งหน้าลงใต้ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร วัดนาขวางตั้งอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดนาขวาง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นราบลุ่มริมชายฝั่งทะเล ด้านทิศเหนือของวัดติดถนนทางเข้าหมู่บ้านและที่เอกชน ด้านทิศใต้ติดคลองนาขวาง ด้านทิศตะวันออกติดถนนเข้าหมู่บ้านและที่เอกชน ด้านทิศตะวันตกติดถนนพระราม 2

คลองนาขวางเชื่อมต่อกับคลองสุนัขหอน ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดนาขวางประมาณ 1.5 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

คลองนาขวาง, คลองสุนัขหอน, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนปลาย?

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2315

อายุทางตำนาน

สมัยพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดนาขวาง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ทราบประวัติ และผู้สร้างที่ชัดเจน ในเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2465 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 9 เมตร ยาว 18.5 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 33) และในเอกสาร “ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด” ระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค ผ่านทางหมู่บ้านนาขวาง พบต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามริมคลองกิ่งทอดก่ายกันเกะกะมองดูเหมือนถ้ำ จึงทรงตั้งชื่อให้ว่า “วัดคูหาสวรรค์” และได้มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดคูหาสวรรค์มาเป็นชื่อ “วัดนาขวาง” ตามชื่อหมู่บ้านสมัยสุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรี ซึ่งได้แต่งนิราศเมืองเพชรซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกความเป็นมา

พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 3 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 3 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลัง ทำเป็นชายคายื่นลาดต่ำออกมา 1  มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น กลม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม และกนกเป็นลำตัวนาคและเศียรนาค  ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู ประตูไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลายแกะสลัก  ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง : เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค ผ่านทางหมู่บ้านนาขวาง พบต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามริมคลองกิ่งทอดก่ายกันเกะกะมองดูเหมือนถ้ำ จึงทรงตั้งชื่อให้ว่า “วัดคูหาสวรรค์”” และได้มีการเปลี่ยนชื่อจากวัดคูหาสวรรค์มาเป็นชื่อ “วัดนาขวาง”

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง