วัดตึกมหาชยาราม


โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : วัดคงคาราม, วัดตึก

ที่ตั้ง : เลขที่ 58 ถ.ธรรมคุณากร

ตำบล : มหาชัย

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.543758 N, 100.277679 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองมหาชัย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนพระราม 2 ใช้เส้นทางเข้าเมืองสมุทรสาคร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนทางไปโรงพยาบาล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3242 แล้วเลี้ยวขวาข้ามคลองมหาชัย ถนนทางหลวงหมายเลข 3432  เลี้ยวขวาตรงเชิงสะพานโดยใช้ถนนเจษฎาวิถี ขับตรงไประยะทางประมาณ 800 เมตร วัดตึกมหาชยารามจะตั้งอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดตึกมหาชยาราม

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองมหาชัย ทิศใต้ติดกับที่ชุมชนและโรงเรียนเทศบาลวัดตึกมหาชยาราม ทิศตะวันออกติดถนนเจษฎาวิถี ทิศตะวันตกติดที่ชุมชนและแม่น้ำท่าจีน มีเนื้อที่ตั้งวัด 23 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์มีเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา  

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำท่าจีน, คลองมหาชัย

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2230, พ.ศ.2300

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดตึกมหาชยาราม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่พบหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2230 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดคงคาราม” ต่อมามีนายอากรชาวจีน ชื่อ “ตั๋วตี๋” ได้อพยพครอบครัวมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อแสวงหาภูมิลำเนาใหม่ในการประกอบอาชีพ ได้เดินทางมาทางเรือและแวะเข้ามาพักที่บริเวณหน้าวัดนี้ในระหว่างเดินทางเกิดนิมิตว่า พระประธานในพระอุโบสถแนะนำให้ไปตั้งภูมิลำเนาแถบแม่น้ำสมุทรปราการจะมีโชคใหญ่ ครั้นไปตั้งภูมิลำเนาตามที่นิมิต ปรากฏว่าต่อมาร่ำรวยมากขึ้น จึงเกิดความเลื่อมใสได้มาทำนุบำรุงวัดนี้ขึ้น โดยสร้างกุฏิเป็นตึกแบบจีน 2 หลัง วิหาร 1 หลัง กับศาลาตึก 1 หลัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อวัดย่อๆ ว่า “วัดตึก” (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 100-101)  จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2468 พระธรรมสิริชัย (ชิต ชิตวิปุโล) มาดำรงเจ้าอาวาส ได้เริ่มให้มีการศึกษาสอนบาลี และมีพระภิกษุสอบได้มหาเปรียญเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการต่อนามวัดเป็น “วัดตึกมหาชยาราม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2400 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 21)

อาคารเสนาสนะที่สำคัญมีดังนี้ คือ

พระอุโบสถ  เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นมุขลดด้านละ 1 ห้อง ด้านข้างต่อชายคาปีกนกมีเสาไม้กลมรองรับโครงหลังคา หน้าบ้านทำเป็นรูปครุฑยุดนาคล้อมรอบด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก มีประตูทางเข้าด้าน 2 ประตู บานประตูไม้แกะสลักลายกนกเปลวเพลิงทาสีทอง ผนังอาคารทาสีทอง ทำเป็นช่องหน้าต่างด้านละ 6 บาน ภายนอกรอบพระอุโบสถ มีซุ้มใบเสมาภายในมีเสมาหินทรายแดงตั้งอยู่ภายใน

วิหาร  ลักษณะเป็นเก๋งจีน ก่ออิฐถือปูนหลังเล็กๆ หลังคามุงกระเบื้องดินเผามีปูนปั้นเป็นสันตามแนวยาวแบบจีน สันหลังคาประดับลวดลายปูนปั้น มีประตูทางเข้าด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลังทึบ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป

เจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถจำนวน 3 องค์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 2 องค์ อีกองค์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลม รอบองค์เจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมยกสูงขึ้นมีระเบียงล้อมรอบ ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวกลมถัดขึ้นไปเป็นชุดมาลัยเถา องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเป็นบังลังก์สี่เหลี่ยม มีเสาหานโดยรอบรองรับปล้องไฉนและปลียอด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 21)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี