เนินประวัติศาสตร์


โพสต์เมื่อ 5 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : เนินประวัติศาสตร์ (บริเวณอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5)

ที่ตั้ง : ถ.ลุวัง เทศบาลเมืองระนอง ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง

ตำบล : เขานิเวศน์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 9.966632 N, 98.635924 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : กระบุรี, ทะเลอันดามัน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เนินประวัติศาสตร์ (บริเวณอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5) ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนลุวัง กลางเมืองระนอง (ในเขตเทศบาลเมืองระนอง) ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดระนองหลังเก่า ตรงข้ามพระราชวัง (พระที่นั่ง) รัตนรังสรรค์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เนินประวัติศาสตร์นับได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง อีกทั้งในปัจจุบันยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมีถนนลาดยาง 2 ช่องทางขึ้นสู่เนินได้จากถนนลุวัง

พระบรมราชานุสาวรีย์ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แผ่นหินที่มีจารึกมีการทำลูกกรงอลูมิเนียมป้องกันการกระทบกระเทือน อีกทั้งพื้นที่โดยรอบยังได้รับการดูแลและจัดการภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงามเงียบสงบ สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้ รอบเนินยังมีสถานที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว นั่นคือหอพระ 9 เกจิอาจารย์ และพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ (องค์ใหม่) ที่อยู่เชิงเนินเขาบริเวณทางขึ้นสู่เนินประวัติศาสตร์

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

จังหวัดระนอง, เทศบาลเมืองระนอง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 119ง วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2545

ภูมิประเทศ

เนินเขา

สภาพทั่วไป

เนินประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของศาลากลางจังหวัดระนองหลังเก่า บน “เขานิเวศน์” กลางเมืองระนอง มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดประมาณ 50x30 เมตร สูงกว่าพื้นบริเวณศาลากลางประมาณ 2 เมตร อยู่สูงกว่าถนนลุวังประมาณ 10 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

55 เมตร

ทางน้ำ

คลองโรงหัด, คลองหาดส้มแป้น, คลองสะพานยูง, คลองด่าน, แม่น้ำกระบุรี, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในพื้นที่เทศบาลเมืองระนองเกิดขึ้นจากการทับถมของตะกอนที่ลุ่มป่าชายเลน รวมทั้งตะกอนเศษหินเชิงเขาและตะกอนผุพังอยู่กับที่ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2433

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, พระราชวัง/วัง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เนินประวัติศาสตร์เป็นบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2433 และรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.2507 เพื่อก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่

ส่วนบริเวณที่เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ได้เคยทรงปลูกต้นมะขามคู่ไว้เมื่อปี พ.ศ.2433 คราวเสด็จประพาสเมืองระนอง 

การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ มีนายสันติ ภิรมย์ภักษ์ และครอบครัว เป็นผู้บริจาคเงินทุนก่อสร้าง 600,000 บาท นายสมพร กุลวนิช ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2534 นายจำนง เฉลิมฉัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดคนต่อมาเป็นประธานเททอง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2535 และได้อัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2537

บนเนินดินประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนฐานปูนสี่เหลี่ยมสูงที่ตกแต่งผิวนอกด้วยแผ่นหิน ด้านหน้าฐานติดป้ายโลหะจารึกพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชานุสาวรีย์หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นโดยรอบปูด้วยแผ่นกระเบื้อง เบื้องหน้าทั้งด้านซ้ายและขวา มีต้นมะขามใหญ่ 2 ต้น (ฝั่งละ 1 ต้น ไม่มีข้อมูลว่าเป็นต้นไม้ที่ทรงปลูกหรือไม่) ด้านหน้าต้นมะขามมีป้ายหินแกรนิตสลักตัวอักษรไทย จีน และอังกฤษ ที่สลักเรื่องราวเกี่ยวกับต้นมะขามที่ทรงปลูกอยู่อีกด้านละ 1 แผ่น ด้านข้างแผ่นหินมีปืนใหญ่วางอยู่บนฐานปูน ด้านละ 1 กระบอก

ถัดออกไปด้านหน้า (ด้านตะวันออกเฉียงใต้) เป็นบันไดปูอิฐ 5 บันไดที่ขึ้นสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ กล่าวกันว่าเป็นซากบันไดเก่าตั้งแต่คราวสร้างพระที่นั่ง (ด้านหลังยังมีบันไดสมัยปัจจุบันขึ้นสู่พระบรมราชานุสาวรีย์มีอีก 1 บันได)

ถัดลงไปจากบันไดที่ด้านหน้าสุดยังมีแผ่นหินแกรนิตปักอยู่ตรงกลางอีก 1 แผ่น ด้านหน้าสลักเป็นลวดลายกระถางต้นไม้และพันธุ์พฤกษาแบบลวดลายจีน ด้านหลังสลักลายช้างที่ด้านบน และตัวอักษรไทย จีน และอังกฤษ ที่ด้านล่าง

พื้นที่โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม ส่วนสภาพพื้นที่โดยทั่วไปบนเนินเขาส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี