เมืองศรีเทพ


โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : เมืองอภัยสาลี

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ตำบล : ศรีเทพ

อำเภอ : ศรีเทพ

จังหวัด : เพชรบูรณ์

พิกัด DD : 15.466254 N, 101.145329 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, ลพบุรี

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเหียง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102 สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันเมืองศรีเทพอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร

เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5679 9466, 0 5655 6555

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2475

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองศรีเทพ ประกอบด้วยเมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองในมีลักษณะเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น มีสระน้ำและหนองน้ำอยู่ทั่วไป ส่วนเมืองนอกเป็นที่ลาดเชิงเขาจากทิศตะวันออกมาทิศตะวันตก

ปัจจุบันโบราณสถานในเขตเมืองในได้รับการขุดแต่งและบูรณะเกือบหมดแล้ว และภายในเมืองในไม่มีประชาชนตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย
ส่วนเมืองนอกมีส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ ยังประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่รอบเมืองศรีเทพเดิมเป็นป่าโปร่งแต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

50 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร และลำน้ำเหียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก อยู่ทางตอนใต้ของเมืองศรีเทพประมาณ 8 กิโลเมตร

สภาพธรณีวิทยา

เมืองโบราณศรีเทพ อยู่ในเขตที่สูงภาคกลาง ลักษณะทั่วไปมีเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ สระบุรี และทางใต้ของนครราชสีมา  มีเนินเขาต่อเนื่องคล้ายลูกคลื่นสลับกับเขาสูง เทือกเขาสำคัญได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก, สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

ราว 2000 ปีมาแล้ว – พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงสำรวจเมืองศรีเทพและทรงลงความเห็นว่าเมืองศรีเทพคงเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : Quaritch Wales

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478, พ.ศ.2479, พ.ศ.2480

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

ดอกเตอร์ ควอริทช์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) เขียนถึงเมืองศรีเทพในบทความเรื่อง The Exploration of Sri Deva an ancient city in Indochina หนังสือ Indian art and letter vol.X No.11

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย ทำการสำรวจขุดแต่งทำผังและประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบางแห่ง และสำรวจถ้ำถมอรัตน์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย สำรวจสภาพตัวเมืองและนำโบราณวัตถุ เช่น ศิวลึงค์ ระฆังหิน และเสาประดับกรอบประตูบางชิ้นไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนำคณะนักศึกษาคณะโบราณคดี ขุดค้นที่บ้านพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี และทรงนำนักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินทางไปเมืองศรีเทพและได้พบเศียรพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก และนำมาต่อกับส่วนองค์ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาเมื่อ พ.ศ.2447 และทรงพบพระพุทธรูปทวารวดีมีจารึกคาถาเยธมมา เป็นภาษาบาลี กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 11-12 และยังพบประติมากรรมมีรูปแบบศิลปะแบบเขมรสมัยบายน

ชื่อผู้ศึกษา : ฌอง บวสเซอลีเย่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเย่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพว่าได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย และเขมร ซึ่งเป็นแนวทางให้เกิดเป็นสกุลช่างลพบุรี และให้ความเห็นว่าโบราณสถานเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย ดำเนินการขุดหลุมทดสอบบริเวณเขาคลังใน 1 หลุม และบริเวณสระปรางค์ 1 หลุม

ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอข้อคิดเห็นใน “การกำหนดอายุปรางค์ที่เมืองศรีเทพ” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 กำหนดอายุปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องในพุทธศตวรรษที่ 17 และมีเทคนิคการก่อสร้างแบบสกุลช่างเขมร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรคิดจะจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดีระหว่างสระปรางค์กับเขาคลังใน สรุปผลการดำเนินงานว่า เมืองศรีเทพเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 และเขาคลังในมีอายุเก่าแก่กว่าปรางค์ศรีเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : กุลวดี ศรศรี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

กุลวดี ศรศรี ทำสารนิพนธ์เสนอคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง การวิเคราะห์ลักษณะเมืองศรีเทพ ชี้ให้เห็นว่าผังเมืองศรีเทพมีความสัมพันธ์กับเมืองลพบุรีในแง่ภูมิศาสตร์ อายุสมัย และการเป็นเมืองภายใต้วัฒนธรรมเขมร

ชื่อผู้ศึกษา : อรนุช แสงจารึก

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, จารึก

ผลการศึกษา :

อรนุช แสงจารึก ทำสารนิพนธ์เสนอคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องคติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ เสนอว่าการแพร่หลายของไศวนิกายที่เมืองศรีเทพคงเกิดจากการขยายดินแดนของเจนละ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528, พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2527-2529 กรมศิลปากรจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และดำเนินการขุดแต่งปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพด้านทิศตะวันออก

ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอว่าวิธีการก่อสร้างและขนาดของวัสดุของศาสนสถานที่เมืองศรีเทพไม่ใช่วิธีแบบเขมร แต่เป็นเทคนิควิธีการแบบเดียวกับของทวารวดีภาคกลาง ในบทความเรื่อง “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการ อนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537, พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542, พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ขุดตรวจ, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2530-2543 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจัดทำแผนแม่บทเมืองศรีเทพ และดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานขนาดเล็กในเมืองและนอกเมืองรวม 40 แห่ง สระน้ำ 19 สระ และขุดลอกคูเมืองโดยรอบ บูรณะปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : วิชัย ตันกิตติกร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : จารึก

ผลการศึกษา :

วิชัย ตันกิตติกร เผยแพร่หนังสือเรื่อง จารึกที่เมืองศรีเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เผยแพร่หนังสือเรื่อง ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ : ผลจากการขุดค้นในปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534

ชื่อผู้ศึกษา : วิชัย ตันกิติกร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน

ผลการศึกษา :

วิชัย ตันกิติกร เขียนบทความเรื่อง กำแพงเมืองสมัยทวารวดีที่เมืองศรีเทพ ลงวารสารโลกประวัติศาสตร์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544, พ.ศ.2545, พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2544-2546 ขุดตรวจบริเวณฐานและบูรณะเสริมความมั่นคงปรางค์ศรีเทพ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2546 ขุดตรวจโบราณสถานภายในวัดบึงศรีเทพรัตนาราม

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547, พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2547-2548 ขุดทดสอบกลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้วที่อยู่นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ และขุดทดสอบบริเวณประตูเมืองและฝายโบราณทางทิศใต้

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ขุดแต่งโบราณสถานในเขตเมืองนอก 10 แห่ง ด้านทิศใต้ของสระขวัญ พบกลุ่มอาคารขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ รวบรวมและสรุปข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาที่ผ่านมา

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

สภาพทั่วไปและผังเมือง เมืองศรีเทพ เป็นเมืองโบราณที่ถูกค้นพบโดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสันนิษฐานชื่อเมืองศรีเทพ โดยมีหลักฐานจากเอกสารพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา (วิชัย ตันกิตติกร 2535 : 110 ; สุรพล ดำริห์กุล 2528 : 57) เป็นเมืองขนาดใหญ่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีพื้นที่ราว 2,889 ไร่ ลักษณะเป็นเมืองแฝดซ้อนกันสองเมือง เรียกว่าเมืองในกับเมืองนอก

โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ รูปร่างกลม โบราณสถานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เขาคลังใน และมีโบราณสถานเล็กๆกระจัดกระจายอีกราว 45 แห่ง มีสระน้ำและหนองน้ำราว 70 สระ ที่สำคัญคือสระปรางค์ อยู่ทางทิศเหนือติดกับปรางค์ศรีเทพ ส่วนเมืองนอกอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีพื้นที่ราว 1,589 ไร่ มีโบราณสถานขนาดเล็กประมาณ 54 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ

นอกจากนี้ที่นอกเมืองศรีเทพยังมีโบราณสถานกระจายตัวอยู่อีกราว 50 แห่ง ที่สำคัญคือโบราณสถานเขาคลังนอก ปรางค์ฤาษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังเกาะแก้ว และโบราณสถานที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขา (กรมศิลปากร 2550 : 18-19)

พัฒนาการเมืองศรีเทพ บริเวณเมืองโบราณศรีเทพพบหลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างหนาแน่น บ่งชี้ว่ามีชุมชนตั้งอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-7 หรือประมาณ 2000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล็ก มีประเพณีการฝังศพ สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่พบในกลุ่มลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก (สุรพล ดำริห์กุล, 2528, 56-58 ; ธิดา สาระยา 2532 : 23-30)

ต่อเนื่องจนราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 มีการพัฒนาจากชุมชนขนาดเล็กระดับหมู่บ้านเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการสร้างเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ซึ่งได้แก่เมืองในที่มีผังรูปวงกลม หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าเป็นสมัยที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรรุ่นแรกหรือเจนละ (โดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงใช้หลักฐานจากจารึกหมายเลข k.979 อ้างใน อรนุช แสงจารึก 2527 : 14) และวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งได้ผสมผสานกันจนเกิดลักษณะศิลปกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว

จนถึงพุทธศตวรรษที่ 16-18 ชุมชนที่เมืองศรีเทพก็รับเอาวัฒนธรรมเขมรแทนที่วัฒนธรรมทวารวดีที่เสื่อมลง การขยายเมืองออกเป็นเมืองนอกคงเกิดในระยะนี้ มีโบราณสถานสร้างในช่วงนี้ที่สำคัญกำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 16 คือปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งมีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงเทวาลัยในศาสนาฮินดูทั้งสองแห่งนี้ให้เป็นวัดพุทธในพุทธศาสนามหายานในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต่อมาไม่นานสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพได้ถูกทิ้งร้างลงจากโรคระบาดเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในชั้นดินหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา (กรมศิลปากร 2550 : 38-47 ; สุรพล ดำริห์กุล 2528 : 58)

ศาสนาและความเชื่อ

จากหลักฐานต่างๆที่พบที่เมืองศรีเทพ สันนิษฐานว่า ทั้งพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดูไศวนิกาย ไวษณพนิกายเป็นที่ยอมรับนับถือของกลุ่มคนที่เมืองศรีเทพ (วิชัย ตันกิตติกร 2535 : 111)

ศาสนาพุทธ พบหลักฐานที่เมืองศรีเทพตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ได้แก่ พระพุทธรูปอินเดียแบบคุปตะที่โบราณสถานเขาคลังใน จารึกคาถาเยธมมา และโบราณสถานสมัยทวารวดีหลายแห่ง (กรมศิลปากร 2550 : 53)

หลักฐานที่เขาคลังในอาจสะท้อนให้เห็นว่าราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 พุทธศาสนามหายานคงรุ่งเรืองแทนที่พุทธศาสนาเถรวาทเดิม โดยหลักฐานพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตรไตรย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 (วิชัย ตันกิตติกร 2535 : 119)

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16-17 คงมีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับศาสนาฮินดูซึ่งมีหลักฐานว่ามีการนับถืออย่างเด่นชัดในระยะนี้ คือพบพระพุทธรูปปูนปั้นรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวนที่เขาคลังใน และในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองศรีเทพระยะนี้คงนับถือพุทธศาสนามหายานแบบที่นิยมในเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แทนที่ศาสนาฮินดู เนื่องจากพบร่องรอยการฝังรูปเคารพในศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดู พบหลักฐานการนับถือศาสนาฮินดูอย่างแพร่หลายที่เมืองศรีเทพในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยได้พบศิลาจารึกอักษรขอมภาษาสันสกฤต และภาษาขอม หลักฐานโบราณสถานที่สำคัญได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์ฤาษี (กรมศิลปากร 2550 : 56)

โบราณสถานสำคัญ

เขาคลังใน

ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์ศรีเทพ

เขาคลังนอก ตั้งอยู่นอกเมือง ที่บ้านสระปรือ ห่างออกไปจากเมืองในทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร

เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันแต่เดิม เพราะมีรูปร่างคล้ายเนินเขาสูงใหญ่ เชื่อว่ามีทรัพย์สมบัติและอาวุธอยู่ภายใน อีกทั้งในเขตเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานลักษณะคล้ายภูเขาเรียกว่า”เขาคลังใน” 

โบราณสถานเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาประเภทสถูป ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยแลง ขนาดกว้างด้านละ 64 เมตร สูงจากฐานถึงยอดประมาณ 20 เมตร ด้านบนก่อด้วยอิฐ สภาพชำรุดกำหนดอายุการสร้างราวสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ถือเป็นโบราณสถานศิลปะทวารวดีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ จากการขุดแต่งปี พ.ศ. 2551 พบโบราณวัตถุสำคัญคือ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี หินทรายประทับยืนปางแสดงธรรม (วิตรรกะ) ขนาดกว้าง 16 เซนติเมตร สูง 57 เซนติเมตร กว้าง 16 เซนติเมตร

ปรางค์ฤาษี ตั้งอยู่ภายในวัดป่าสระแก้ว นอกกำแพงเมืองศรีเทพด้านทิศเหนือ  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมปรางค์ประธานแบบศิลปะขอม ก่ออิฐไม่สอปูน คล้ายคลึงกับเทวสถานปรางค์แขก อำเภอเมืองลพบุรี สันนิษฐานการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันองค์ปรางค์ประธานได้รับการบูรณะดัดแปลงจนผิดรูปแบบเดิมเนื่องจากเคยถูกจับจองเป็นสำนักวิปัสสนา

กรมศิลปากรขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.2551 พบแนวฐานกำแพงแก้ว กลุ่มอาคารศิลาแลงทางด้านหน้าและด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน พบชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมทับหลังหินทรายมีจารึกอักษรขอม จำนวน 8 บรรทัด ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการอ่านและแปลโดยกรมศิลปากร และพบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น ประติมากรรมรูปศิวลึงค์ โคนนทิ ฯลฯ

สระน้ำสำคัญ

สระปรางค์ เป็นสระน้ำที่มีความสำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบสระกรุด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ภายในเมืองศรีเทพ ทางด้านทิศเหนือของปรางค์ศรีเทพ

สระขวัญ เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่กลางเมืองค่อนไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองนอก ขอบสระเป็นคันดินสูง

หนองสองห้อง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองนอก เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยม

สระแก้ว อยู่ทางด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมืองนอก ก่อขอบคันดินสูงคล้ายกับสระขวัญ ด้านบนคันดินปรับเป็นที่ราบ (กรมศิลปากร 2550 : 76)

จารึกที่เมืองศรีเทพ

บริเวณเมืองศรีเทพได้พบจารึกทั้งที่เป็นอักษรปัลลวะและหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 อักษรขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 และอักษรจีน

จารึกเมืองศรีเทพที่อ่านและแปลแล้วทั้ง 10 หลัก ได้แก่ จารึกเมืองศรีเทพ (K499) จารึกบ้านวังไผ่ จารึกเยธมมา เมืองศรีเทพ จารึกบนฐานประติมากรรม จารึกโบราณสถานหมายเลข 0996 จารึกบนพระพิมพ์ จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาบ้านหนองสรวง จารึกบ้านหนองไม้สอ จารึกปรางค์สองพี่น้อง 1 และ 2 (กรมศิลปากร 2550 : 129-143)

โดยจากจารึกเมืองศรีเทพ (K499) กล่าวถึงผู้นำพวก “ฤาษี” และผู้มีอำนาจทางการเมืองว่า “ผู้เป็นใหญ่ในปาลวะทั้งสอง” และจารึกบ้านวังไผ่ ชี้ชัดว่ามีระบบกษัตริย์ขึ้นแล้วที่เมืองศรีเทพ และอาจมีความสัมพันธ์กับอินเดียจากภายนอก โดยมีพระนามของกษัตริย์ลงท้ายด้วย “วรมัน” เช่นเดียวกับกษัตริย์ของเจนละสมัยนั้น (ธิดา สาระยา 2532 : 33-34)

หลักฐานจารึกพบที่เมืองศรีเทพ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองศรีเทพในสมัยโบราณที่ได้รับการถ่ายทอดจากแหล่งอารยธรรมภายนอกเป็นช่วงๆนับตั้งแต่กลุ่มวัฒนธรรมอินเดียโบราณ กลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี เจนละ จนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (สุรพล ดำริห์กุล 2528 : 11)

สำหรับจารึกบนพระพิมพ์ ด้านหน้าใช้อักษรปัลลวะ ด้านหลังใช้อักษรจีน ซึ่งเป็นการพบจารึกอักษรจีนในวัฒนธรรมทวารวดีครั้งแรก แต่อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์เป็นสิ่งเคลื่อนย้ายได้ จึงอาจไม่ใช่ของที่ทำขึ้นที่เมืองศรีเทพ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้จากพระพิมพ์ชิ้นนี้คือการเป็นชุมทางของนักบวชหรือนักเดินทางของเมืองศรีเทพ (ธิดา สาระยา 2532 : 37)

โบราณวัตถุ

โบราณวัตถุในศาสนาฮินดู ได้แก่ เทวรูปหินทรายพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก รูปกฤษณะโควรรธนะ กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 11-12 เทวรูปพระอาทิตย์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งพบมากที่เมืองศรีเทพ จึงสันนิษฐานว่าที่เมืองศรีเทพมีลัทธิบูชาพระอาทิตย์ โดยพระวิษณุบางองค์มีลักษณะพิเศษคือ สวมหมวกแปดเหลี่ยม นุ่งโจงกระเบนสั้น ไม่มีเครื่องยึดระหว่างพระกรและพระเศียร ซึ่งอาจเรียกว่าแบบสกุลช่างศรีเทพ เนื่องจากได้นำลักษณะเทวรูปแบบศิลปะต่างๆมาผสมกันจนเกิดเป็นลักษณะของตนเอง (กนกวลี สุริยะธรรม 2541 : 20) นอกจากนี้ยังพบศิวลึงค์หลายองค์มีขนาดหลากหลาย ส่วนใหญ่พบที่ปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพ ซึ่งกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นเดียวกับฐานโยนิ และยังได้พบประติมากรรมรูปทวารบาล โคนนทิ ทับหลังซึ่งชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดพบที่ปรางค์สองพี่น้อง เป็นรูปอุมามเหศวร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันอยู่ที่ปรางค์องค์เล็ก ปรางค์สองพี่น้อง ส่วนชิ้นที่ไม่สมบูรณ์อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตรงกับศิลปะคลัง

โบราณวัตถุในศาสนาพุทธ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปดินเผา พระพุทธรูปหิน สำริด และพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ได้จากโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานขนาดเล็กอีกหลายแห่ง กำหนดอายุในศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16 นอกจากนี้ยังพบพระโพธิสัตว์สำริดและปูนปั้นหลายองค์ที่โบราณสถานเขาคลังใน ภาพสลักบนผนังถ้ำถมอรัตน์สลักภาพพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ธรรมจักรศิลา สมัยทวารวดีขนาดใหญ่วางอยู่ด้านหน้าเขาคลังในไม่ทราบตำแหน่งเดิมแน่ชัด แต่มีผู้เล่าว่านำไปจากโบราณสถานเขาคลังนอก (กรมศิลปากร 2550 : 162) สำหรับภาพปูนปั้นที่โบราณสถานเขาคลังในเป็นภาพปูนปั้นรูปบุคคล รูปสัตว์และรูปพันธุ์พฤกษา กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 14 สร้างขึ้นภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2532 : 41-48)

โบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ ภาชนะดินเผา ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด กำไลหิน-ดินเผา ลูกปัดหิน-แก้ว ตราประทับ อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้โลหะกำหนดอายุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ส่วนใหญ่พบร่วมกับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งฝังศพ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง แหล่งโบราณคดีบ้านกุดตาแร้ว ริมแม่น้ำป่าสักในเขตอำเภอศรีเทพ และภายในเมืองโบราณศรีเทพ (กรมศิลปากร 2550 : 168-173)

 

นอกจากนี้มีการอ้างอิงเรื่องแรงงานการบริโภคและผลผลิตของคนในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำชีตอนบน ตีความได้ว่า เมืองศรีเทพมีประชากรอยู่อาศัย 2687 คน ใช้เวลาประมาณ 531 วันในการขุดคูเมืองในและใช้เวลาประมาณ 413 วันในการขุดคูเมืองเมืองนอก ประชากรศรีเทพมีการบริโภคข้าวรวม 489054 กิโลกรัม ซึ่งเมืองศรีเทพสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 259078 กิโลกรัม ดังนั้นยังมีความต้องการข้าวในการบริโภคภายในเมืองอีกราว 229976 กิโลกรัม ซึ่งคงได้จากพื้นที่นอกเมืองโบราณศรีเทพ เช่นทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำสาขา หรือทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ซึ่งมีการทำนาในปัจจุบันก็เป็นได้ (“ข้อมูลใหม่จากศรีเทพ” 2532 : 27-28)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กนกวลี สุริยะธรรม. “ร่องรอยหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ที่พบบริเวณชุมชนเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.

กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.

กุลวดี ศรศรี. การวิเคราะห์ลักษณะผังเมืองศรีเทพ” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี), มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526

“ข้อมูลใหม่จากศรีเทพ.” เมืองโบราณ 5, 1 (มกราคม – มีนาคม 2532) : 21-30.

ธิดา สาระยา.  “ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ. ปีที่ 15, ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2532) : 32-40.

พงศ์ธันว์ บรรทม, ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี, และจิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์. "เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง ศรีเทพ : ความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียง" สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535. 

วิชัย ตันกิตติกร. “กำแพงเมืองสมัยทวารวดีที่เมืองศรีเทพ” โลกประวัติศาสตร์. 2, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2539) : 13-17.

วิชัย ตันกิตติกร. จารึกที่เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534.

วิชัย ตันกิตติกร. ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพ : ผลจากการขุดค้นในปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534

วิชัย ตันกิตติกร. “มหายานที่เมืองศรีเทพ” ศิลปากร. 35, 4 (2535) : หน้า 109-121

วิชัย ตันกิตติกร และคนอื่นๆ. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, 2538.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, มจ. “โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ. ปีที่ 6, ฉบับที่ 1 (ต.ค.-พ.ย. 2522) : 41-50.

สุรพล ดำริห์กุล. “ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2528) : 56-58.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. “เขาคลังใน : ภาพปูนปั้นเครื่องตกแต่งศาสนสถาน” เมืองโบราณ 15, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2532) : 41-48.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2533.

อรนุช แสงจารึก. “คติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลิทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. "โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการอนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น" เมืองโบราณ 13, 1 (ม.ค. - มี.ค. 2530) : 10-19.