วัดมหาธาตุ


โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021

ที่ตั้ง : เลขที่ 17 ถนนนิกรบำรุง

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เพชรบูรณ์

พิกัด DD : 16.420513 N, 101.154768 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ริมถนนนิกรบำรุง ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ติดกับตลาดสดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันวัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญคูบ้านคู่เมือง จ.เพชรบูรณ์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดมหาธาตุ, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ การคมนาคมสะดวก เป็นวัดที่มีความสำคัญโดยทางจังหวัดใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ถือว่าเป็นวัดคู่เมืองเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของประชาชนชาวเพชรบูรณ์

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก

สภาพธรณีวิทยา

วัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งจัดอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนกลาง มีภูมิประเทศแบบเชิงเขาตะวันออก ลักษณะพื้นที่แบบสูงๆต่ำๆที่เกิดจากการกัดกร่อนและการดันตัวของแผ่นดินในยุคหลังทำให้เกิดเขาเตี้ยๆและเขาโดดอยู่ทั่วไป บริเวณใกล้เขตทิวเขาเพชรบูรณ์ เขตลุ่มน้ำป่าสักประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นดินบางปะปนด้วยหินทราย หินปูน หินดินดาน หินกรวดมน และหินอัคนีดันแทรกขึ้นมาเป็นที่ราบเชิงเขาสลับลูกเนินเตี้ยๆไปจนจรดที่ลุ่มแม่น้ำ 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20-ปัจจุบัน

อายุทางตำนาน

สมัยธนบุรี

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีรับสั่งให้พระยาเพชรรัตน์ (เฟื่อง) เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ เกณฑ์คนมาบูรณะวัดมหาธาตุครั้งใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พบลานทอง 3 แผ่น จึงสันนิษฐานว่าวัดมหาธาตุเพชรบูรณ์ คงสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1926

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบูรณ์ สันนิษฐานจากจารึกลานทองที่ขุดพบจากกรุใต้เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งกรมศิลปากรขุดแต่งใน พ.ศ.2510 พบว่ามีจำนวน 3 แผ่น แผ่นหนึ่งกล่าวถึงการสร้างวัดมหาธาตุว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าเพชรบูรณ์ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ ใน พ.ศ.1926 โดยวัดนี้คงเป็นวัดสำคัญและคงได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้าเมืองเรื่อยมา มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อคราวยกทัพไปรบกับพม่าที่พิษณุโลก เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท) ได้นำไพร่พลมาทางเมืองเพชรบูรณ์และได้กระทำพิธีบวงสรวงเพื่อชัยชนะที่วัดมหาธาตุ และทางราชการยังเคยใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ประหารนักโทษด้วย นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีรับสั่งให้พระยาเพชรรัตน์ (เฟื้อง) เจ้าเมืองเพชรบูรณ์เกณฑ์ผู้คนมาบูรณะวัดมหาธาตุแห่งนี้คราวที่ประทับอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ใน พ.ศ.2447 ในพระราชพิธีราชาภิเษกพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ.2453 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้นำน้ำจากสระมน (ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว) วัดมหาธาตุไปร่วมพิธีด้วย

ภายในวัดมีสิ่งสำคัญต่างๆ ได้แก่ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ก่อด้วยอิฐ ส่วนบนตั้งแต่องค์ระฆังหักชำรุดไปหมดแล้ว บูรณะเมื่อ พ.ศ.2510 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิพระอรหันต์ พระพุทธรูปบูชา พระเครื่อง พระพิมพ์ และมีเจดีย์อิทธิพลศิลปะอยุธยา 2 องค์ ใบเสมาหินทรายจารึกด้วยอักษรขอมโบราณ (ปัจจุบันอยู่ที่ศาลหลักเมือง) มีพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย 2 องค์ องค์แรกชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่องาม" ด้วยเหตุที่งามด้วยพุทธลักษณะ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น แบบอู่ทองรุ่นที่ 3 หน้าตักกว้าง 36 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ ส่วนองค์ที่สองคือ "หลวงพ่อเพชรมีชัย" หน้าตักกว้าง 36 นิ้ว หลวงพ่อเพชรมีชัยเดิมชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อวัดมหาธาตุ สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับวัดใน พ.ศ.1926 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหลวงพ่อเพชรมีชัย เพราะถือเอาคำพูดของพระยาจักรีแม่ทัพที่ถืออาญาสิทธิ์มาขับไล่ทัพพม่าศึกอะแซวุ่นกื้ ซึ่งยกทัพมามาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี 

นอกจากนี้มีศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง กุฏิสงฆ์ อาคารเรียนพระปริยัติธรรมสองชั้น (กองพุทธศาสนา, 2525, 1022-1023; http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.asp?id=0004661#, 26 สิงหาคม 2555)

วัดมหาธาตุได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแต่เดิม โดยมีใบเสมาเก่าทำจากหินทราย ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2496 ผูกพัทธสีมาใหม่ใน พ.ศ.2497  วัดมหาธาตุได้รับการสถาปนาให้เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

 

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเพชรบูรณ์. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธ.ค. 2542.

กองพุทธศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 6. กรุงเทพฯ : กองพุทธศาสนา, 2525.

http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.asp?id=0004661#, 26 สิงหาคม 2555

ข่าวที่เกี่ยวข้อง