บ้านท้ายไร่


โพสต์เมื่อ 17 มิ.ย. 2022

ที่ตั้ง : บ้านท้ายไร่

ตำบล : วังกระแจะ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ตราด

พิกัด DD : 12.289374 N, 102.475212 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตราด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสามแยก ถ.สุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ตัดกับ ถ.เทศบาล (ทางหลวงหมายเลข 3148) ในตัวจังหวัดตราด ให้มุ่งขึ้นเหนือไปตาม ถ.สุขุมวิท ประมาณ 5.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยมุ่งหน้าบ้านท้ายไร่ ไปตามถนน (ถนนลูกรังสลับกับถนนลาดยาง) 900 เมตร จะพบเนินเขาที่เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่อยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่ปัจจุบันเป็นพื้นที่เพาะปลูกของนายเสมอ อิ่มทสาร โบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ โดยเฉพาะกลองมโหระทึก ถูกเก็บไว้ภายในศาลเพื่อเป็นที่สักการะของเจ้าของที่ดินและชาวบ้านในละแวกนั้น

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

นายเสมอ อิ่มทสาร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พื้นที่แหล่งโบราณคดีรวมถึงพื้นที่โดยรอบปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งทำนาปลูกข้าวและสวนผลไม้ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากถนนสุขุมวิทมาทางทิศตะวันตกประมาณ 800 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำตราดมาทางทิศตะวันตกประมาณ 4.5 กิโลเมตร และห่างจากทะเลอ่าวไทยมาทางทิศเหนือประมาณ 14 กิโลเมตร

เนินแหล่งโบราณคดีสูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นที่ลุ่มทำนาข้าวประมาณ 20 เมตร ทางทิศตะวันตกของเนินเขาติดกับคลองท้ายวัง พื้นที่เนินในส่วนที่ติดกับคลองท้ายวังนี้ได้ถูกขุดตักดินและหินไปขาย (โดยความยินยอมและตกลงกันของเจ้าของที่ คือนายเสมอ อิ่มทสาร กับผู้รับเหมา) จนมีระดับเท่ากับพื้นล่าง ปัจจุบันพื้นที่บนเนินเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ (เงาะ ทุเรียน) ของนายเสมอ อิ่มทสาร

จากการสำรวจในพื้นที่พบศาลาหรือศาลขนาดเล็ก ก่ออิฐบล็อก หลังคามุงสังกะสี ตั้งอยู่ที่ริมนินด้านทิศตะวันตก ใกล้กับคลองท้ายวัง ภายในศาลมีกองมโหระทึกสำริดในวัฒนธรรมดองซอนตั้งอยู่ 1 ใบ เป็นส่วนฐานและลำตัว (ไม่พบส่วนหน้ากลอง) มีพวงมาลัยพลาสติกและผ้าคล้องพันอยู่โดยรอบตัวกลอง ด้านหน้ากลองมีกระถางธูปและเทียนตั้งอยู่ นอกจากนั้น ที่ข้างกลองยังมีภาชนะดินเผาเนื้อดินและภาชนะดินเผาเคลือบสีขาวตั้งอยู่อีกอย่างละ 1 ใบ ซึ่งนายเสมอ อิ่มทสาร เจ้าของที่ดิน ให้ข้อมูลว่าเป็นภาชนะดินเผาที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดี  

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

0-50 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำตราด

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองตราด มีลักษณะเป็นเนินสูงหรือเป็นเนินเขาลูกหนึ่งในเขตพื้นที่ลอนลูกคลื่น ลักษณะทางธรณีวิทยาหินพื้นฐานเป็นหินตะกอน ประเภทหินทรายเนื้อภูเขาไฟ ระดับของพื้นที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกซึ่งเป็นเขตเทือกเขา (เขาระกำ) ไปยังทิศตะวันออกสู่แม่น้ำตราด 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยโลหะ, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

3,000-2,500 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

ผลการศึกษา :

ค้นพบกลองมโหระทึก 1 ใบ ที่ริมคลองบึงบอน ทางตะวันตกของแหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่ประมาณ 3 กิโลเมตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

ผลการศึกษา :

ค้นพบกลองมโหระทึกอีก 1 ใบ ที่ริมคลองบึงบอน ทางตะวันตกของแหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่ประมาณ 3 กิโลเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายเสมอ อิ่มทะสาร ชาวบ้านเลขที่ 25 หมู่ 6 ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด แจ้งการค้นพบโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเดินทางไปตรวจสอบแหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี จัดทำหนังสือ “รายงานการสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออก”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000-2,500 ปีมาแล้ว โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ กลองมโหระทึก แบบเฮกเกอร์ 1 ใบ เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลองประมาณ 71 เซนติเมตร ตัวกลองประมาณ 83 เซนติเมตร  ซึ่งการพบกลองมโหระทึกที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายของวัฒนธรรมดองซอนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆกำหนดอายุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ชิ้นส่วนกำไลสำริด ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน 15 ลูก เจียระไนเป็นรูปสี่เหลี่ยมตรงกลางป่อง ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเหล็กประเภทขวานมีบ้อง ง้าวมีบ้อง และเสียมมีบ้องพบอย่างละ 1 ชิ้น (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี, 2534, 88)

โดยพื้นที่ในตำบลวังกระแจะนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านสามง่าม ซึ่งได้พบกลองมโหระทึก 2 ใบ มีลวดลายแบบที่เก่าที่สุด คือลายซี่หวี ลายวงกลมที่เรียงต่อกันด้วยเส้นทแยง ลายระหว่างรัศมีเป็นรูปดาว (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี, 2534, 89)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี. รายงานการสำรวจศึกษาแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออก. เอกสารอัดสำเนา. 2541.

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม.ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2538.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี