วัดปทุมคงคา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เมืองโบราณบ้านเมืองบัว, เมืองบัว, บ้านเมืองบัว

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย

ตำบล : เมืองบัว

อำเภอ : เกษตรวิสัย

จังหวัด : ร้อยเอ็ด

พิกัด DD : 15.607525 N, 103.598084 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำเสียวใหญ่

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำเตา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ออกเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (ร้อยเอ็ด-จตุรพักตร์พิมาน-เกษตรวิสัย) เป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอเกษตรวิสัย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (อำเภอเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ) เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา (ไปทางทิศใต้ของอำเภอเกษตรวิสัย) ไปตามทาง ร.พ.ช. (เกษตรวิสัย-สาหร่าย) ประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมาถึงบ้านเมืองบัว วัดปทุมคงคาตั้งอยู่เกือบใจกลางเมือง 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดปทุมคงคาเป็นวัดสำคัญของเมืองบัว ศาสนสถาน-ศาสนวัตถุภายในวัดเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดปทุมคงคา, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดปทุมคงคาเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณเมืองบัว สภาพแวดล้อมโดยรอบมีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

133 เมตร

ทางน้ำ

ลำเสียว, ลำเตา

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตั้งอยู่บนชุดดิน สันป่าตอง (Sanpatong series : SP) จัดอยู่ใน coarse-loamy, mixed, Oxic Paleustults (USDA) เกิดจากตะกอนลำน้ำเก่าที่พัดพามาทับถมบนลานตะพักลำน้ำระดับกลาง (middle terrace) สภาพพื้นที่ที่พบจะมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบจนถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความชัน 2-4 % ดินชุดนี้เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำดี  คาดว่ามีความสามารถให้น้ำซึมผ่านได้ปานกลางถึงเร็ว มีการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินปานกลาง ตามปกติแล้ว ระดับน้ำใต้ดินจะลึกมากกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 11)

หินฐานเป็นหินโคลนในหมวดหินภูทอก (Kpt) กลุ่มหินโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

ราว พ.ศ.2440 - 2460

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

นำปูนซีเมนต์มาฉาบผนังส่วนที่ชำรุดและเปลี่ยนหลังคาจากเป็นเกล็ดเป็นสังกะสี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามประวัติวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาระบุว่า วัดปทุมคงคาเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2350 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2524 โบราณสถานสำคัญของวัดได้แก่ สิม (อุโบสถ) ก่ออิฐถือปูน ก่อผนังทึบทั้ง 4 ด้านยกเว้นช่องประตูและหน้าต่าง ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความยาว 3 ห้อง (กว้าง 8 เมตร ยาว 10.10 เมตร สูง 7.2 เมตร) ปรากฏช่องหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง (ห้องหลังสุดไม่มีหน้าต่าง) และมีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว มีเสารับปีกนกโดยรอบ มีมุขด้านหน้ายื่นออกมาคลุมบันได ฐานแอวขันธ์ (ฐานปัทม์) มีลักษณะพิเศษคือ ที่มุมของฐานตกแต่งด้วยการก่ออิฐเป็นเสาติดผนัง ล้อกับเส้นลวดบัวของฐาน ลักษณะเช่นนี้คงเป็นฝีมือของช่างญวน (สุกัญญา เบาเนิด และ ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2553 : 63) แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมโดยรวมเป็นแบบไท-อีสาน

ส่วนหลังคาปัจจุบันมุงด้วยสังกะสีสองชั้นเพื่อระบายอากาศ รอบชายคามีเสาปีกนก ปัจจุบันมีการต่อเติมหลังคายื่นออกมาคลุมบันไดทางขึ้น หน้าบันฉาบปูนเรียบไม่มีการตกแต่งลวดลาย ภายในสิมมีฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานและพระพุทธรูปไม้จำนวนหนึ่ง

สิมหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 - 2460 โดยชาวบ้านเมืองบัวได้รวมเงินกันจ้างชาวญวน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า แกวปากกวาก (ปากแหว่ง) มาเป็นช่างอำนวยการสร้าง เพราะถือกันว่าชาวญวนจะมีความชำนาญเรื่องปูนมากกว่าชาวอีสาน (สุกัญญา เบาเนิด และ ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2553 : 63) จากการสอบถามประวัติการสร้างในยุคแรกน่าจะสร้างด้วยอิฐฉาบซี (ปูนหมัก) หมายถึง เป็นส่วนผสมระหว่างยางไม้ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย (ซากฟอสซิล) เผาแล้วบดละเอียด นอกจากนี้ยังมีฟางบด แกลบ และมะขามเปียกผสมอีกด้วย ต่อมา พ.ศ.2505 ได้มีการซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง โดยการนำปูนซีเมนต์มาฉาบผนังส่วนที่ชำรุดและเปลี่ยนหลังคาจากเป็นเกล็ดเป็นสังกะสี (กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ 2542 : 4 ; สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 97 ; สุกัญญา เบาเนิด และชินณวุฒิ วิลยาลัย 2553 : 63 ; สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 13)

ประวัติบ้านเมืองบัว (กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ 2542 : 5)

ชาวเมืองบัวในปัจจุบันน่าจะมีการอยู่อาศัยในที่แห่งนี้มาประมาณ 200 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการอพยพโยกย้ายผู้คนมาจากเมืองเวียงจันทน์ ชาวเมืองบัวทุกคนทราบว่าหมู่บ้านของตนเป็นเมืองเก่า และมีความเชื่อว่าเป็นเมืองขอม คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีต เมืองบัวมีชื่อว่า เมืองเท เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองสาเกตุนคร (ชื่อเดิมของเมืองเกษตรวิสัย)  เมื่อมีการตั้งเมืองเกษตรวิสัยราว พ.ศ.2415 แล้ว เมืองเทก็ถูกลดอำนาจลงตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเจ้าเกษตรวิไชย (อุปราชเหง้า) บ้านดอนสำโรง ต่อมาเมืองเทได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบัว โดยตั้งตามที่มีหนองน้ำทั่วไปในบริเวณนี้ มีดอกบัวหลายชนิดนั่นเอง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “บ้านเมืองบัว.” “กู่เมืองบัว.” และ “วัดประทุมคงคา.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ. “การศึกษาการแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด : กรณีศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาและประเพณีการฝังศพที่พบจากการขุดตรวจหลุม PK.TP.1 และการขุดกู้โบราณวัตถุ.” เอกสารประกอบการสัมมนาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2542.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ชาคริต สิทธิฤทธิ์. “การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

ประพิศ พงษ์มาศ. “การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว และแหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.

พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล. “ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษา : แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเงิน ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

เวียงคำ ชวนอุดม. “การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี.” วิทยานิพนธ์

ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร, 2545.

สิทธิชัย พูดดี. “การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว : หลุมขุดค้นที่ 2.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

สุกัญญา เบาเนิด. ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2543.

สุกัญญา เบาเนิด. “แคปซูลใส่ศพ.” ศิลปากร. 13, 3 (มีนาคม 2543) : 14-18.

สุกัญญา เบาเนิด, กิตติพงษ์ สนเล็ก และจักรินรัฐ นิยมค้า. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2544.

สุกัญญา เบาเนิด. “ประเพณีการฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ (ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี).” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.

สุกัญญา เบาเนิด. โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี กรมศิลปากร, 2553.

สุกัญญา เบาเนิด และชินณวุฒิ วิลยาลัย. โบราณคดีหลากสาระในดินแดนอีสาน-ล้านนา. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชานี กรมศิลปากร, 2553.

สุภาวดี อินทรประเสริฐ. “การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี