กู่เมืองบัว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เมืองโบราณบ้านเมืองบัว, เมืองบัว, บ้านเมืองบัว

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย

ตำบล : เมืองบัว

อำเภอ : เกษตรวิสัย

จังหวัด : ร้อยเอ็ด

พิกัด DD : 15.603786 N, 103.595098 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำเสียวใหญ่

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำเตา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ออกเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (ร้อยเอ็ด-จตุรพักตร์พิมาน-เกษตรวิสัย) เป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอเกษตรวิสัย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (อำเภอเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ) เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา (ไปทางทิศใต้ของอำเภอเกษตรวิสัย) ไปตามทาง ร.พ.ช. (เกษตรวิสัย-สาหร่าย) ประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมาถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว กู่เมืองบัวตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของบ้านเมืองบัว ทางทิศตะวันออกของวัดศรีอริยวงศ์ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

โบราณสถานกู่เมืองบัวได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2540 หน้า 4 เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 9 ไร่ 91.43 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

กู่เมืองบัว ตั้งอยู่ในดงปู่ตา หรือชาวบ้านเรียกว่า “ดอนกู่” มีลักษณะเป็นเนินดินติดกับคูน้ำด้านใต้ของเมืองโบราณบ้านเมืองบัว โบราณสถานตั้งอยู่บนเนินดินขนาดประมาณ 200 x 250 เมตร สูงประมาณ 5 - 6 เมตรจากพื้นราบ

ทางน้ำสำคัญได้แก่ ลำเสียวใหญ่ อยู่ห่างออกไปจากด้านทิศเหนือของแหล่งโบราณคดีประมาณ 500 เมตร ลำเตา อยู่ห่างออกไปจากด้านทิศใต้ของแหล่งโบราณคดีประมาณ 2 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

133 เมตร

ทางน้ำ

ลำเสียว, ลำเตา

สภาพธรณีวิทยา

แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตั้งอยู่บนชุดดิน สันป่าตอง (Sanpatong series : SP) จัดอยู่ใน coarse-loamy, mixed, Oxic Paleustults (USDA) เกิดจากตะกอนลำน้ำเก่าที่พัดพามาทับถมบนลานตะพักลำน้ำระดับกลาง (middle terrace) สภาพพื้นที่ที่พบจะมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบจนถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความชัน 2-4 % ดินชุดนี้เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำดี  คาดว่ามีความสามารถให้น้ำซึมผ่านได้ปานกลางถึงเร็ว มีการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินปานกลาง ตามปกติแล้ว ระดับน้ำใต้ดินจะลึกมากกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 11)

หินฐานเป็นหินโคลนในหมวดหินภูทอก (Kpt) กลุ่มหินโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 17-18

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กู่เมืองบัวได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2540 หน้า 4 (โบราณสถานกู่เมืองบัว) เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 9 ไร่ 91.43 ตารางวา

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

กู่เมืองบัว ตั้งอยู่ในดงปู่ตา หรือชาวบ้านเรียกว่า “ดอนกู่” แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว มีลักษณะเป็นเนินดินติดกับคูน้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโบราณบ้านเมืองบัว โบราณสถานตั้งอยู่บนเนินดินขนาดประมาณ 200 x 250 เมตร สูงประมาณ 5 - 6 เมตรจากพื้นราบ ปรากฏร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนทางด้านทิศเหนือ

เนินโบราณสถานมีต้นไม้ยืนต้นปกคลุมค่อนข้างทึบ โบราณสถานถูกดัดแปลงเป็นเป็นศาลปู่ตาของหมู่บ้าน ตามพื้นเนินบริเวณด้านทิศตะวันออกของโบราณสถานปรากฏชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่เป็นหินทรายและศิลาแลงกระจายตกอยู่ทั่วไป ภายในปรากฏร่องรอยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ

ตัวโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง มีหินทรายประกอบบ้างในบางส่วนที่รองรับน้ำหนัก  ผนังก่อทึบทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศตะวันออกทำเป็นประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ที่เหลือทั้งสามด้านเป็นประตูหลอก (ซึ่งยังปรากฏให้เห็นทางด้านทิศใต้) โบราณสถานหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณปราสาทพบทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตกอยู่ 1 ชิ้น จากการสอบถามทราบว่าในอดีตเคยมีการขุดบริเวณด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน พบประติมากรรมรูปบุรุษและสตรี ที่เคยประดิษฐานอยู่บนฐานประติมากรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของปราสาทประธาน (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 :13; กรวลัย มองมะโรงสี และคณะ 2542 :4 ; สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 96) ปัจจุบันได้หายไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวพันกับตำนานพื้นบ้าน เรื่อง“สังข์ศิลป์ชัย” และ พบเทวรูปมีศีรษะเป็นช้างลำตัวเป็นมนุษย์ จากลักษณะดังกล่าวน่าจะหมายถึงพระคเณศ จากข้อมูลดังกล่าวสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า กลุ่มประติมากรรมรูปบุรุษและสตรีที่หายไปนั้น อาจเป็นรูปเคารพของพระศิวะและพระนางอุมา ซึ่งเป็นวงศ์ของพระคเณศและมักพบร่วมกันในโบราณสถานที่อุทิศถวายให้พระศิวะ (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 :13) ดังนั้นกู่เมืองบัวอาจจะเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายก็เป็นได้

โบราณสถานแห่งนี้อาจจะมีการดัดแปลงในพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ตามแบบโบราณสถานที่นิยมสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว หรืออาจจะนำวัสดุก่อสร้างประเภทหินทราย เช่น ทับหลังของสมัยก่อนหน้า (รูปแบบศิลปะบนทับหลังเป็นศิลปะเขมรแบบบาปวนอายุราว พุทธศตวรรษที่ 16) กลับมาใช้อีกในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก็เป็นได้ แต่เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้ชำรุดหักพังมาก และยังไม่มีการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี จึงไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ แต่สามารถที่จะสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า กู่บ้านเมืองบัวแห่งนี้น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18

ประวัติบ้านเมืองบัว (กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ 2542 : 5)

ชาวเมืองบัวในปัจจุบันน่าจะมีการอยู่อาศัยในที่แห่งนี้มาประมาณ 200 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการอพยพโยกย้ายผู้คนมาจากเมืองเวียงจันทน์ ชาวเมืองบัวทุกคนทราบว่าหมู่บ้านของตนเป็นเมืองเก่า และมีความเชื่อว่าเป็นเมืองขอม คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีต เมืองบัวมีชื่อว่า เมืองเท เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองสาเกตุนคร (ชื่อเดิมของเมืองเกษตรวิสัย)  เมื่อมีการตั้งเมืองเกษตรวิสัยราว พ.ศ.2415 แล้ว เมืองเทก็ถูกลดอำนาจลงตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเจ้าเกษตรวิไชย (อุปราชเหง้า) บ้านดอนสำโรง ต่อมาเมืองเทได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบัว โดยตั้งตามที่มีหนองน้ำทั่วไปในบริเวณนี้ มีดอกบัวหลายชนิดนั่นเอง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “บ้านเมืองบัว.” “กู่เมืองบัว.” และ “วัดประทุมคงคา.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ. “การศึกษาการแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด : กรณีศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาและประเพณีการฝังศพที่พบจากการขุดตรวจหลุม PK.TP.1 และการขุดกู้โบราณวัตถุ.” เอกสารประกอบการสัมมนาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2542.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ชาคริต สิทธิฤทธิ์. “การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

ประพิศ พงษ์มาศ. “การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว และแหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.

พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล. “ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษา : แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเงิน ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

เวียงคำ ชวนอุดม. “การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี.” วิทยานิพนธ์

ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร, 2545.

สิทธิชัย พูดดี. “การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว : หลุมขุดค้นที่ 2.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

สุกัญญา เบาเนิด. ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2543.

สุกัญญา เบาเนิด. “แคปซูลใส่ศพ.” ศิลปากร. 13, 3 (มีนาคม 2543) : 14-18.

สุกัญญา เบาเนิด, กิตติพงษ์ สนเล็ก และจักรินรัฐ นิยมค้า. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2544.

สุกัญญา เบาเนิด. “ประเพณีการฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ (ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี).” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.

สุกัญญา เบาเนิด. โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี กรมศิลปากร, 2553.

สุกัญญา เบาเนิด และชินณวุฒิ วิลยาลัย. โบราณคดีหลากสาระในดินแดนอีสาน-ล้านนา. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชานี กรมศิลปากร, 2553.

สุภาวดี อินทรประเสริฐ. “การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี