เมืองศรีสัชนาลัย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เมืองเชลียง, เมืองสวรรคโลก, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ที่ตั้ง : ต.ศรีสัชนาลัย ต.สารจิตร ต.หนองอ้อ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : ศรีสัชนาลัย

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.432042 N, 99.785728 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มาตามทางสาย 101 ที่ไปสวรรคโลก ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะตรงเข้าสู่อำเภอศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยสามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์และมรดกโลกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. และมีรถรางให้บริการนำชมทั่วอุทยานฯ

มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท(สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง 

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ภูเขา

สภาพทั่วไป

เมืองศรีสัชนาลัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานที่สำรวจค้นพบแล้วมากกว่า 200 แห่ง

เมืองโบราณศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ลักษณะการวางตัวของเมืองขนานไปกับลำน้ำยมตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเมืองถูกล้อมรอบด้วยแนวเทือกเขา ทำให้มีสภาพคล้ายเมืองในหุบเขา โดยแนวเทือกเขาพระศรีจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยเขาพระศรีและเขารังแร้ง ส่วนเทือกเขาพนมเพลิงจะวางตัวอยู่ในแนวทิศตะวันออกถึงตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยเขาแก้วและเขาใหญ่ โดยเขาสุวรรณคีรีและเขาพนมเพลิงจะอยู่ภายในตัวเมือง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของลำน้ำยม จะเป็นเทือกเขาพระบาทและเขาอินทร์ ซึ่งเป็นแนวเทือกเขาเดียวกันกับเทือกเขาพนมเพลิงแต่ถูกลำน้ำยมไหลตัดผ่าน

ด้านทิศเหนือของเมืองศรีสัชนาลัยมีร่องน้ำเก่าอยู่สายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า ร่องตาเต็ม มีน้ำไหลมาจากทิศตะวันตก ผ่านทางด้านทิศเหนือของเมืองและลงสู่แม่น้ำยม ร่องน้ำนี้มีน้ำขังในช่วงฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้ง

ทางตะวันออกของเมืองศรีสัชนาลัยมีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งรู้จักกันในชื่อว่า เมืองเชลียง ซึ่งสันนิษฐานว่าเมืองเชลียงคือเมืองที่เกิดก่อนการสร้างเมืองศรีสัชนาลัยบริเวณแก่งหลวง สภาพพื้นที่ลาดเอียงมาจากบริเวณเมืองศรีสัชนาลัยจึงทำให้พื้นที่เมืองเชลียงอยู่ระดับต่ำกว่าเมืองศรีสัชนาลัย

อำเภอศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจังหวัดสุโขทัย มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

            1. ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวังชิ้นและอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่)

            2. ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลับแลและอำเภอตรอน (จังหวัดอุตรดิตถ์)

            3. ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก และอำเภอทุ่งเสลี่ยม

            4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเถิน (จังหวัดลำปาง)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

75-100 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่ค่อนข้างเรียบถึงสภาพพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยและสภาพพื้นที่เนินเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเทจากด้านตะวันตกไปสู่ด้านตะวันออก ลักษณะของดินมีทั้งดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินดินดานและดินที่เกิดจากตะกอนของลำน้ำ เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง

กลุ่มเทือกเขาทางด้านตะวันตกเป็นกลุ่มหินราชบุรี จัดอยู่ในยุคคาร์บอนิฟอรัสและเพอร์เมียน กลุ่มเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มหินตะนาวศรี จัดอยู่ในยุคคาร์บอนิฟอรัส และ Silurian Devonian เมืองศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บริเวณที่เรียกกันทั่วไปว่า แก่งหลวง ซึ่งก็คือ แก่งหินในแม่น้ำยมที่เกิดจากการไหลผ่านแนวภูเขาที่เป็นผนังหินควอทซ์ วางตัวขวางแม่น้ำยม ของแม่น้ำยม 

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3701 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯ คือ พระราชวัง) แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : ธิดา สาระยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

อาจารย์ธิดา สาระยา ได้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเมืองศรีสัชนาลัยและเสนอมุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ที่ได้เน้นถึงคนและกลุ่มชนเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีชื่อเดิมคือเมืองเชลียง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณ ทั้งในตำนานที่เกี่ยวกับฤาษีหรือวีรบุรุษทางวัฒนธรรมเป็นผู้สร้างเมืองและเกี่ยวข้องกับ “พระร่วงเจ้ากษัตริย์องค์ประเสริฐ” แห่งสุโขทัย เมืองเชลียงเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยโลหะ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี และอาจเป็นชุมชนในเส้นทางการค้ามาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 17 และเติบโตเป็นเมืองในพุทธศตวรรษที่ 18-19 และเกิดชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นพร้อมๆกันหลายเมือง เช่น เชียงแสน พะเยา เชียงใหม่ อโยธยา ในส่วนของพัฒนาการเมืองศรีสัชนาลัยนั้น ร่องรอยของโบราณวัตถุสถานสมัยลพบุรีที่วัดพระบรมธาตุเชลียงและวัดเจ้าจันทร์ ช่วยยืนยันการเป็นบ้านเมืองของเชลียงเดิม เนื่องจากเมืองศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ตรงชัยภูมิที่ดี จึงเป็นเมืองรับศึกที่แข็งแรงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 เมืองนี้กลายเป็นสมรภูมิการรบครั้งสำคัญ และนอกจากนั้นยังเป็นแหล่งผลิตและค้าสังคโลกที่รุ่งเรืองของศรีสัชนาลัย จนกระทั่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 จึงได้เสื่อมถอยลงเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทั้งการค้าเครื่องถ้วยจีนที่ได้รับความนิยมมากกว่าและอำนาจทางการเมืองที่เสื่อมอำนาจลงไปด้วย

ชื่อผู้ศึกษา : สุรเดช วิชิตจารุกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สุรเดช วิชิตจารุกุล เสนอสารนิพนธ์ปปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี ต่อภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2537 เรื่อง “พัฒนาการเมืองเชลียง : การศึกษาจากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ และข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี”

ชื่อผู้ศึกษา : จุฬรักษ์ ดำริห์กุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : องค์การค้าของคุรุสภา

ผลการศึกษา :

องค์การค้าของคุรุสภาได้เล็งเห็นความสำคัญของแหล่งมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ว่าไม่ใช่เพียงแต่มีความสำคัญต่อคนในชาติ แต่ยังเป็นสมบัติและประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติทั่วโลก จึงได้จัดทำหนังสือชุดมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติในประเทศไทยขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจประวัติความเป็นมา ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองศรีสัชนาลัยและโบราณสถานภายในเมืองเก่า เมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองเชียงชื่น ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของริมฝั่งแม่น้ำยมบริเวณที่เรียกว่า แก่งหลวง เมืองศรีสัชนาลัยมีกำแพงเมืองล้อมรอบ 3 ชั้น ตามกำแพงเมืองชั้นในจะมีประตูเมืองอยู่ 7 แห่งและป้อม 3 แห่ง ภายในเมืองมีพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ มีโบราณสถานประมาณ 64 แห่ง กระจายอยู่ทั่วเมืองและบนภูเขา โบราณสถานที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของเมืองศรีสัชนาลัยจะตั้งอยู่เป็นกลุ่มใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาสุวรรณคีรีและเขาพนมเพลิง มีทั้งสิ้น 7 แห่ง ได้แก่ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หลักเมือง วัดเขาสุวรรณคีรี และวัดเขาพนมเพลิง

ชื่อผู้ศึกษา : วันวิสาข์ ธรรมานนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก, ศึกษาธรณีวิทยา/ปฐพีวิทยา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

วันวิสาข์ ธรรมานนท์ เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2543 เรื่อง “ปัจจัยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย”

ชื่อผู้ศึกษา : ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2543 เรื่อง “พัฒนาการของเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 22”

ชื่อผู้ศึกษา : มานะ ถนอมศรี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท พี พี เวิลด์ มีเดีย จำกัด

ผลการศึกษา :

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเมืองศรีสัชนาลัย เป็นหลักฐานที่บ่งบอกได้ถึงการเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะตั้งเมืองศรีสัชนาลัย มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาอย่างอยาวนานตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายมาจนถุงสมัยสุโขทัย ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของเมืองสุโขทัย เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกอีกทั้งยังมีวัดที่สำคัญต่างๆเกิดขึ้นภายในเมืองศรีสัชนาลัยแห่งนี้

ชื่อผู้ศึกษา : ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักพิมพ์แปลน รีดเดอร์ส

ผลการศึกษา :

รวบรวมข้อมูลโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยที่สำคัญ เพื่อเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์และศิลปะของสกุลช่างสุโขทัย เป็นการนำเสนอโดยใช้ภาพวาดประกอบการอธิบายลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สวยงาม

ชื่อผู้ศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ทำผัง, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2548 กรมศิลปากรได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ฉบับใหม่) โดยมีแนวคิดหลักของโครงการเป็นการวางแผนงานในเชิงบูรณาการที่พิจารณาโบราณสถานเป็นองค์ประกอบหลัก โดยกำหนดการวางแผนและผัง เพื่อพัฒนาให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดของแผนงาน ดังนี้ 1. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน 2. แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง 3. แผนจัดการชุมชน 4. แผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5. แผนพัฒนาภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม 6. แผนส่งเสริมรายได้และอาชีพ 7. แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

ชื่อผู้ศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอรายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ทำผัง, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร โดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ จัดทำและปรับปรุงแผนแม่บทแต่ละอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้กำหนดแผนงานเป็น 8 แผนงาน ดังนี้ 1. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน 2. แผนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์พื้นที่โบราณสถาน และการให้บริการนักท่องเที่ยว 3. แผนการจัดระเบียบชุมชนและการใช้ประโยชน์ที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ 4. แผนพัฒนาบริการทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 5. แผนพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ 6. แผนงานเศรษฐกิจและสังคม 7. แผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 8. แผนพัฒนาสำนักงานบุคลากรและบริหารจัดการ

ชื่อผู้ศึกษา : เอนก สีหามาตย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.253-?

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

ผลการศึกษา :

เอนก สีหามาตย์ได้เรียบเรียงหนังสือจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และเป็นมรดกของชาวไทย เมืองโบราณทั้ง 3 แห่งมีร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอารยธรรม มีลักษณะโดดเด่นของแต่ละเมือง โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญ ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำยม ปิง และน่าน ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาโดยมีเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองคู่แฝด ปรากฏชื่อทั้งสองเมืองในศิลาจารึกควบคู่กันอยู่เสมอ จนกระทั่งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองศรีสัชนาลัยก็ลดบทบาทลง ในช่วงปีพ.ศ.1900 จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 3 ปรากฏชื่อเมืองนครชุมเป็นเมืองสำคัญเกิดขึ้นมาอีกหนึ่งเมือง ต่อมาในสมัยอยุธยาไม่มีชื่อเมืองนครชุม แต่ปรากฏชื่อเมืองชากังราว ปัจจุบันคือกำแพงเพชรนั่นเอง โบราณสถานทั้ง 3 แห่งเป็นหลักฐานที่สำคัญที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และศาสนา โดยเฉพาะศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกของเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในคาบสมุทรอินโดจีน ปรากฏหลักฐานเครื่องสังคโลกที่ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

ชื่อผู้ศึกษา : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กรมศิลปากร

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนมาไม่น้อยกว่า 1,000 ปีมาแล้ว เนื่องจากมีการขุดค้นพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดีและสมัยลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.2536 จากหลักฐานพงศาวดารราชวงศ์ซุ้ง (พ.ศ.1503-1670) พงศาวดารโยนก (พ.ศ.1547) ได้กล่าวถึงชื่อเมืองเชลียง เมื่อในสมัยอยุธยาได้มีการกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรล้านนาหรือเมืองเชียงใหม่เรียกเมืองศรีสัชนาลัยว่า เมืองเชียงชื่น ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมลิลิตยวนพ่าย ที่กล่าวถึงการรบแย่งชิงเมืองเชียงชื่นกันระหว่างเมืองเชียงใหม่และอยุธยา นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย และสวรรคโลก คือเมืองเดียวกัน เพราะมีการบรรยายถึงลักษณะของเมืองที่สอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัย แต่เรียกชื่อแตกต่างกันตามช่วงสมัย ตามเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ความสำคัญของเมืองศรีสัชนาลัยยังปรากฏให้เห็นเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยเฉพาะแหล่งเตาเผาสังคโลกที่มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2558

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ขุดค้นคูเมือง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, ป้อมค่าย, แหล่งผลิต, ศาสนสถาน, แหล่งวัตถุดิบ, แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ข้อมูลจากกรมศิลปากร (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 72-77) ระบุว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและที่ลาดเชิงเขาพระศรี เขาใหญ่ เขาสุวรรณคีรี เขาพนมเพลิง เป็นพื้นที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากมีแม่น้ำและภูเขาเป็นปราการล้อมรอบ และยังมีความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำยมและคลองเล็กคลองน้อยที่ไหลเชื่อมในพื้นที่ จึงทำให้มีชุมชนก่อตัวขึ้นบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ เป็นต้นมา

สมัยหินใหม่

พบหลักฐานจากการสำรวจ เช่น ขวานหินขัด ที่ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร (ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยประมาณ 15 กิโลเมตร) และในตัวเมืองศรีสัชนาลัย พบขวานหินขัดและลูกปัดหินที่เขาแขน เขากา

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย-ก่อนสมัยสุโขทัย (เมืองเชลียง) (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 ; สุรเดช วิชิตจารุกุล 2537)

จากการขุดค้นของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2536-2537 เพื่อศึกษาชุมชนเชลียงบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น และปราสาทวัดเจ้าจันทร์ เมืองศรีสัชนาลัย ผลการขุดค้นพบร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา และได้พบโครงกระดูกจำนวน 12 โครง พร้อมลูกปัดแก้ว และแท่งดินรูปสี่เหลี่ยมปลายเรียวทั้ง 2 ข้าง กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12

ต่อมาพบหลักฐานการเป็นชุมชนร่วมสมัยทวารวดีในภาคกลาง พบหลักฐานโบราณสถานก่ออิฐขนาดใหญ่อยู่ 2 ช่วง ก่อนที่จะถึงชั้นสุโขทัย จากการกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ได้ค่าอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 ถัดจากชั้นนี้ขึ้นไปเป็นชั้นดินในวัฒนธรรมลพบุรีหรือเขมร ยังคงนิยมวัสดุก่อสร้างเป็นอิฐอยู่ โดยพบรวมกับกระเบื้องเชิงชายดินเผาทำเป็นรูปนางอัปสรและเทวดา กระเบื้องกาบู นิยมในศิลปะเขมรสมัยบายน หลักฐานที่พบเหล่านี้นาจะร่วมสมัยกับซุ้มประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งเป็นภาพสลักหินศิลาแลงและประดับปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 ด้าน รูปเทพธิดา และนางอัปสรกำลังร่ายรำ เทียบได้กับศิลปะเขมร สมัยบายน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18

ก่อนช่วงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะเป็นกษัตริย์ปกครองสุโขทัยนั้น มีเหตุการณ์ที่ปรากฏในจารึกและพงศาวดาร ยืนยันว่าปรากฏมีเมืองโบราณ 2 เมือง ในลุ่มน้ำยมอยู่ก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย 

หลักฐานเอกสารโบราณของจีนและไทยประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ได้กล่าวถึงชุมชนโบราณแห่งหนึ่ง ประมาณกันว่าอยู่ในท้องที่จังหวัดสุโขทัย โดยเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง เรียกว่า “เฉินเหลียง” พงศาวดารโยนก (ราว พ.ศ.1557) เรียกว่า “แดนเฉลี่ยง” ต่างเป็นที่ยอมรับว่าคือชื่อเดียวกับเมืองเชลียง ซึ่งภายหลังยังปรากฏในหลักฐานเอกสารทั้งของสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา สันนิษฐานว่าเมืองเชลียง คือชื่อเดิมของเมืองศรีสัชนาลัย น่าจะมีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ ต่อจากนั้นอีก 200-300 ปีหลังจากมีการสถาปนาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี จึงมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองศรีสัชนาลัย (กรมศิลปากร 2535 :13)

เมืองเชลียงเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามแนวคดโค้งของแม่น้ำยม ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาและคูน้ำ หลักฐานที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของเมืองเชลียง นั่นคือโบราณสถานที่เป็นวัดต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง นับว่าเป็นชุมชนหรือเมืองศูนย์กลางบริเวณลุ่มแม่น้ำยมในช่วงเวลานี้

ต่อมาได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้นทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียงห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญควบคู่กันมากับเมืองสุโขทัย โดยจากหลักฐานได้กล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถมว่าเป็นกษัตริย์ครอง 2 นคร คือเสวยราชย์ทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย (ก่อน พ.ศ. 1781)

สมัยสุโขทัย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 ; สุรเดช วิชิตจารุกุล 2537)

เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมหรือพ่อขุนศรีนาวนำถุมสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพงใช้กำลังยึดทั้งเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ต่อมาพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด โดรสพ่อขุนศรีนาวนำถมร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว ได้ยึดเมืองทั้งสองกลับมาได้ พ่อขุนบางกลางหาวได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ปกครองสุโขทัย พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ราชวงศ์พระร่วง

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์คงจะได้ส่งพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พ่อขุนบานเมือง มาปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาพ่อขุนบานเมืองขึ้นครองสุโขทัย แบ้วพ่อขุนรามคำแหงก็คงจะได้ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งน่าจะเป็นที่มาจองคำว่า เมืองลูกหลวง

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ครองสุโขทัยแล้ว พระองค์พัฒนาฟื้นฟูบูรณะบ้านเมืองทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม การเมืองการปกครอง การศาสนา และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำภาชนะดินเผา วาวนด้านการศาสนา พระองค์ได้ขุดพระธาตุขึ้นมาสมโภช และได้ก่อสร้างพระบรมธาตุข้นพร้อมทั้งก่อกำแพงล้อมรอบกลางเมืองสุโขทัย

เมื่อพระยาเลอไทสิ้นพระชนม์ และต่อมาคือพระยางั่วนำถมได้ทรงเป็นกษัตริย์ครองสุโขทัย ในเวลานั้นพระยาลิไททรงเป็นอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย จนกระทั่ง พ.ศ.1890 พระยาลิไทได้เสด็จนำไพร่พลจากเมืองศรีสัชนาลัยไปยึดอำนาจที่สุโขทัยได้ และเสวยราษฎร์เป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย

ตลอดช่วงที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงเป็นอุปราชและพระมหากษัตริย์นั้น โปรดให้สร้างศาสนสถานขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในสุโขทัยและศรีสัชนาลัย

เมืองศรีสัชนาลันดำรงความเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัยต่อมาอีกหลายชั่วกษัตริย์ แม้เมื่อสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นๆ เชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์แห่งราชวงศ์พระร่วงก็คงได้รับเกียรติปกครองดูแลเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ตามเดิม

สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 ; สุรเดช วิชิตจารุกุล 2537)

สุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) หลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคต (ประมาณ พ.ศ.1913-1914) แต่การเข้ามีอำนาจครอบงำแคว้นสุโขทัยมีลักษณะการสร้างความเกี่ยวดองทางเครือญาติ แทรกซึมเข้าสู่ราชสำนักที่เกี่ยวดองด้วย โดยเฉาะสายราชวงศ์ที่ครองเมืองสำคัญ เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ส่วนเมืองอื่นที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรในลักษณะดังกล่าว หากไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจกษัตริย์อยุธยา (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) ก็จะยกทัพเข้าปราบปราม เช่น เมืองสองแควและชากังราว โดยเฉพาะเมืองชากังราวเป็นเมืองที่ยอมเข้าร่วมด้วยหลังสุดในบรรดาเมืองต่างๆ ของแคว้นสุโขทัย คือหลัง พงศ.1931 ไปแล้วเล็กน้อย

เมืองศรีสัชนาลัยหรือที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “เมืองสวรรคโลก” นั้น ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการต่อต้านอำนาจจากกรุงศรีอยุธยา อาจอยู่ในกลุ่มเดียวกับเมืองสุโขทัยที่ยอมเข้าร่วมราชอาณาจักรแต่โดยดี ในช่วงแรกของการเข้าอยู่ในอาณัติของกรุงศรีอยุธยานั้นศรีสัชนาลัยยังคงมีเจ้าเมืองที่สืบราชสมบัติต่อๆ กันมา

รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นช่วงเวลาที่สุโขทัยรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว สมัยนี้ล้านนาโดยพระเจ้าติโลกราชได้เข้ายึดเมืองแพร่ น่าน ได้ทำให้อาณาเขตของแคง้ยล้านนาเข้ามาประชิดกับหัวเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นมีเมืองชายแดนคือเมืองศรีสัชนาลัย พระเจ้าติโลกราชได้เข้ายึดเอาเมืองที่เคยเป็นอาณาเขตชองแคว้นสุโขทัยแต่ก่อนได้ รวมทั้งเมืองศรีสัชนาลัยด้วย ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องงเสด็จขึ้นมาเสวยราชสมบัติที่เมืองสองแคว และใช้เป็นพระราชสำนักถาวร สร้างเมืองพิษณุโลกขึ้นบนที่ที่ส่วนหนึ่งเคยเป็นเมืองอสงแควเดิม เปิดศึกยึดเมืองศรีสัชนาลัยคืนจนเป็นผลสำเร็จ

เมืองศรีสัชนาลัยหรือสวรรคโลกของกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นเป็นเมืองสำคัญที่ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบสังคโลกให้แก่กรุงศรีอยุธยา จัดส่งไปขายยังดินแดนโพ้นทะเลจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เป็นต้น

ในสมัยต่อมาเมื่อมีการจัดระเบียบการปกครอง ปรับปรุงเรื่องเชื้อสายราชวงศ์ให้เข้าอยู่ในระบบราชการเรียบร้อยแล้ว กรุงศรีอยุธยาได้เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมืองเข้ามาปกครองเมืองสวรรคโลกที่มีฐานะเป็นเมืองชั้นนอก ระดับเมืองโท

ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 เมืองต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งร้างเนื่องจากถูกข้าศึกโจรผู้ร้ายรบกวน แต่หลังจากบ้านเมืองสงบแล้ว เมืองสวรรคโลกได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ที่บ้านท่าชัย ซึ่งอยู่ใต้ลงมาจากเมืองเดิม และต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอนในสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตัวอำเภอสวรรคโลก อยู่ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำยมกับบ้านวังไม้ขอน ส่วนชื่อของเมืองศรีสัชนาลัยถูกนำไปใช้เป็นชื่ออีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีเขตการปกครองท้องที่ซึ่งมีเมืองโบราณศรีสัชนาลัยตั้งอยู่

ศาสนาและวัฒนธรรม (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546)

โบราณสถานและโบราณวัตถุสะท้อนความเชื่อของศรีสัชนาลัยและสุโขทัยที่สอดคล้องกันว่า ก่อนหน้าที่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จะแพร่หลายเข้ามา ได้ปรากฏร่องรอยของพุทธศาสนามหายาน และนับถือเทพเจ้าของพราหมณ์ฮินดูปะปนอยู่ก่อนแล้ว ดังจะเห็นได้จากหลักฐานวัดเจ้าจันทร์และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นต้น

ช่วงที่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้แพร่เข้ามายังสุโขทัยนั้น พุทธศาสนาแบบนี้ได้เข้ามาตั้งมั่นและมีอิทธิพลต่อประชาชนในเมืองศรีสัชนาลัยมาก่อนแล้ว ดังปรากฏหลักฐานได้มีการสร้างวัดมากกว่า 200 แห่ง ทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่าพระมหาธรรมราชาลิไท ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงที่เมืองศรีสัชนาลัยในขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าเมืองก่อนได้ราชสมบัติที่เมืองสุโขทัย

ด้านประเพณี ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่าในเมืองศรีสัชนาลัยได้มีการประกอบพิธีบูชากูณฑ์ (บูชาไฟ) พิธีไหว้พระพุทธบาท พิธีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ฯลฯ

ด้านศิลปกรรม ปรากฏว่าประชาชนชาวเมืองศรีสัชนาลัยได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการขุดตัดเอาศิลาแลงธรรมชาติมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างศาสนสถานและถาวรวัตถุอื่นๆ รวมทั้งเป็นวัตถุหลักในการสร้างประติมากรรม นอกจากนี้ลายปูนปั้นซึ่งประดับอยู่ตามโบราณวัตถุและโบราณสถานต่างๆ  ตามศาสนสถานบริเวณเมืองศรีสัชนาลัยมีความสวยงาม ประณีต แสดงความก้าวหน้าทางสิลปกรรมอันรเป็นแบบแผนของคนไทยมาโดยตลอด

เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546)

นอกจากการขุดตัดศิลาแลงมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างแล้ว ชาวเมืองศรีสัชนาลัยในอดีตยังมีพัฒนาการทางการผลิตภาชนะดินเผาคุณภาพสูงมาเป็นเวลานาน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเป็นเมืองเชลียง

ต่อมาได้พัฒนาเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดของเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น และเครื่องปั้นดินเผาได้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านและดินแดนโพ้นทะเล

พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการตีเหล็กและหล่อโลหะ มีการผลิตเป็นอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ เหล็กยึดตัวอาคารและสถาปัตยกรรม ฯลฯ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรใน พ.ศ.2534 เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรกและเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2533

โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง ซึ่งรวมทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 215 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้
            1. โบราณสถานภายในกำแพงเมือง
            สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 28 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้ว เป็นต้น
            2. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ
            สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดกุฎีราย เตาทุเรียงบ้านป่ายาง เตา ทุเรียงบ้านเกาะน้อย ซึ่งเป็น แหล่งผลิตภาชนะดินเผา “เครื่องสังคโลก” ที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย
            3. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก
            สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสวนสัก วัดป่าแก้ว เป็นต้น
            4. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้
            สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ และวัดโคกสิงคาราม เป็นต้น
            5. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
            สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 19 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดพญาดำ วัดราหู วัดสระประทุม วัดพรหมสี่หน้า วัดยายตา เป็นต้น
            6. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองบนภูเขา
            สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 15 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดเขาใหญ่บน วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจดีย์รอบ และวัดเขาใหญ่ล่าง เป็นต้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004313

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม “พัฒนาการของเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 22” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก       เฉียงใต้) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

จุฬรักษ์ ดำริห์กุล. ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2537.

ธิดา สาระยา. เมืองศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2537.

นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2553.

บัณฑิตา คมสัน. “ศึกษาการใช้พื้นที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

ประโชติ สังขนุกิจ. สังคโลกศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : โครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเครือซีเมนต์ไทย, 2530.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร. แบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ภาค 1). มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

มานพ ถนอมศรี. ศรีสัชนาลัย : โบราณสถานสามสมัย. กรุงเทพฯ : พีพีเวิลด์มีเดีย, 2546.

“เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร.” ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Herritage Information Center) (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา       http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture.aspx

วันวิสาข์ ธรรมานนท์ “ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมืองโบราณ ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส, 2546.

สุรเดช วิชิตจารุกุล “พัฒนาการเมืองเชลียง : การศึกษาจากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ และข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐานมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันท์ “พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. เมืองเชียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี