กู่กาสิงห์


โพสต์เมื่อ 29 มิ.ย. 2021

ชื่ออื่น : วัดบูรพากู่กาสิงห์น้อย

ที่ตั้ง : บ้านกู่กาสิงห์

ตำบล : กู่กาสิงห์

อำเภอ : เกษตรวิสัย

จังหวัด : ร้อยเอ็ด

พิกัด DD : 15.576536 N, 103.676042 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเสียว, ลำน้ำเตา, ลำน้ำพลับพลา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

การเดินทางไปกู่กาสิงห์ สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร
หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานกู่กาสิงห์ได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

โบราณสถานกู่กาสิงห์ปัจจุบันเป็นสถานที่สำคัญของตำบลกู่กาสิงห์ ทั้งด้านศาสนาความเชื่อ ความผูกพันกับประวัติและตำนานของชุมชน จึงได้รับการดูแลรักษาและพัฒนาเป็นอย่างดี ทั้งจากหน่วยงานราชการและท้องถิ่น

พื้นที่โดยรอบกู่กาสิงห์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรม ชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ที่ http://www.cbt-i.org/?ge=travel&travel_ge=show_travel&gen_lang=24012013164256&id_category=11072012170044#.VZX3Rvntmko

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, วัดบูรพากู่กาสิงห์น้อย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3696 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (กู่กาสิงห์บ้านกู่กาสิงห์)

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม 2542 เรื่องการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ (กู่กาสิงห์)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

บริเวณอำเภอเกษตรวิสัยซึ่งอยู่ทางตอนล่างของจังหวัด เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลและลำน้ำสาขา โดยเป็นพื้นที่ราบต่ำเป็นบริเวณกว้าง ที่เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบมีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นสันทรายและลูกคลื่น โดยบริเวณที่ตั้งกู่กาสิงห์ เป็นเนินดินรูปวงรี ขนาดประมาณ 720 x 2000 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

137 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, ลำน้ำเสียว, ลำน้ำเตา, ลำน้ำพลับพลา

สภาพธรณีวิทยา

โครงสร้างของดินประกอบด้วยหินทรายมีลักษณะเป็นแอ่งรูปก้นกระทะ และเป็นที่ราบพื้นที่ลำน้ำเก่า ชุดหินประกอบด้วยหินชั้นหรือหินตะกอนชุดโคราช ชุดดินเป็นชุดดินอุบล ซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดพามาทับถมบนส่วนต่ำของลานตะพักระดับกลาง (Lower part of middle Terrace)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบาปวน

อายุทางโบราณคดี

ปลายพุทธศตวรรษที่ 16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล กำหนดอายุปราสาทกู่กาสิงห์ราว พ.ศ.1600-1650 อธิบายลักษณะตัวปราสาทว่าเป็นปราสาทสามหลังติดกัน และมีฉนวนเชื่อมต่อกันทั้งสามหลัง และตั้งข้อสังเกตว่าทับหลังที่ปราสาทแห่งนี้ มีรูปเกียรติมุขที่มีฟันยาวยื่นออกมาผิดกับที่พบที่ปราสาทอื่นๆ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534, พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พบว่าปราสาทสามหลังของกู่กาสิงห์ไม่ได้มีฉนวนเชื่อมต่อกันดังที่เข้าใจกันแต่เดิม

ชื่อผู้ศึกษา : วรรณวิภา สุเนต์ตา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534, พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะของปราสาทกู่กาสิงห์ในช่วงศิลปะบาปวน และแสดงพัฒนาการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ปราสาทเขมรในระยะหลัง แนวโน้มการทำส่วนซ้อนชั้นของยอดปราสาทเป็นทรงพุ่ม

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทกู่กาสิงห์ เป็นปราสาทในศิลปะบาปวน (ระหว่างครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 – พุทธศตวรรษที่ 18) ไม่ทราบประวัติการสร้าง และชื่อผู้สร้าง แต่กำหนดอายุจากหลักฐานศิลปกรรมที่ปรากฏที่ปราสาทกู่กาสิงห์ซึ่งมีรูปแบบศิลปะบาปวน ดังจะกล่าวถึงต่อไป

            ปราสาทกู่กาสิงห์หันหน้าทางทิศตะวันออก สัมพันธ์กับบารายประจำชุมชนที่อยู่ห่างออกไปทางด้านหน้าศาสนสถาน (วรรณวิภา สุเนต์ตา 2552 : 72) กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยปราสาทสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลง เรียงตัวกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ ปราสาทหลังกลางซึ่งสำคัญที่สุดมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นปราสาทหลังที่มีความสำคัญที่สุด โดยมีมณฑปประดิษฐานโคนนทิซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ ต่อยื่นออกมาด้านหน้า ดังนั้นปราสาทองค์กลางจึงควรเคยประดิษฐานรูปเคารพของพระศิวะ (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง 2548 : 104) ภายในบริเวณมีบรรณาลัยสองหลังตั้งหันเข้าหาประสาทประธาน แผนผังศาสนสถานเน้นความสำคัญของแกนหลัก ปราสาทมีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ แต่ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว ถัดจากคูน้ำในแนวแกนหลักมีประตูทางเข้า (โคปุระ) ศิลาแลงผสมอิฐก่อรูปกากบาทเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกชักปีกกาออกเป็นกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาทประธาน โดยกึ่งกลางกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ทำเป็นโคปุระหลอก แต่ละด้านแบ่งเป็นห้องๆมีประตูสู่ห้องภายในโคปุระเฉพาะด้านในกำแพงแก้วเท่านั้น ด้านนอกก่อเป็นผนังทึบตลอดแนว

            ส่วนฐานไพทีมีร่องรอยการก่อสร้าง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกมีลักษณะเป็นฐานบัวไม่มีการสลักลวดลายใดๆ ต่อมามีการมณฑปเพิ่มเติม ทำให้ต้องขยายส่วนฐานเพิ่มปิดทับฐานเดิม มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าและด้านข้างของมุขปราสาทประธาน    

            ส่วนองค์ปราสาทประธาน ก่อด้วยอิฐและมีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมสลักจากหินทราย แผนผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มีซุ้มประตูด้านหน้า ด้านอื่นๆเป็นซุ้มประตูหลอก ด้านหน้ามีมณฑปก่อยื่นออกมาด้านหน้ามีร่องรอยการก่อมณฑปด้านหน้าขึ้นในภายหลัง พร้อมๆกับการก่อไพทีที่ยื่นออกมาด้านหน้ารับมณฑปดังกล่าว และยังก่อพอกขยายฐานไพทีทุกด้าน ปิดทับฐานไพทีด้านใน (ภาวิณี รัตนเสรีสุข 2551 62)

            ชุดฐานปราสาทกู่กาสิงห์ ประกอบด้วยฐานไพทีก่อศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักวางอยู่บนฐานเขียง ปราสาทประธานและมณฑปตั้งอยู่บนฐานชั้นที่ 2 ก่อด้วยหินทราย ฐานของมณฑปเป็นฐานบัวลูกฟัก แตกต่างจากฐานปราสาทประธาน3หลังซึ่งเป็นฐานบัวลูกแก้ว ลักษณะสำคัญคือ แนวโน้มการเพิ่มความสูงของปราสาทหลังกลาง ทำให้แนวบัวเชิงเรือนธาตุอยู่ในระดับกึ่งกลางผนังมณฑป ซึ่งสัดส่วนบัวเชิงเรือนธาตุได้ปรับปรุงจากระเบียบงานประดับบัวเชิงเรือนธาตุปราสาทในยุคก่อนแล้ว คือการเพิ่มลวดบัวอีกแถวแต่ไม่ปรากฏการสลักลวดลาย (วรรณวิภา สุเนต์ตา 2552 : 76)           

         ส่วนบนของปราสาทและเรือนธาตุพังทลายลงแล้ว แต่พบหลักฐานงานประดับหินทรายสลักเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปราสาทจำลอง บรรพแถลงรูปฤาษี และเทวสตรี ซึ่งใช้ประดับที่มุมของชั้นซ้อน ปราสาทจำลองมีผนังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ชั้นหลังคาเป็นทรงโค้งแสดงงานประดับอย่างคร่าวๆโดยไม่สลักแบ่งออกเป็นชั้น

           ส่วนยอดของปราสาทหลังกลางน่าจะเริ่มแสดงพัฒนาการรูปทรงในส่วนชั้นซ้อนให้มีความโค้งรับกับรูปร่างของซุ้มที่ใช้ประดับซึ่งเป็นรูปซุ้มเอียงสอบเข้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปทรงของนาคปักแต่ไม่ได้สลักรูปนาค ซึ่งเป็นพัฒนาการส่วนยอดปราสาทในระยะหลัง (เช่นปราสาทหินพิมาย) ในขณะที่ปราสาทอีกสองหลังที่ขนาบข้างคงประดับด้วยอาคารจำลอง (วรรณวิภา สุเนต์ตา 2552 : 78) นอกจากนี้ทับหลังภาพสลักเกียรติมุขที่ปราสาทกู่กาสิงห์ มีรูปแบบฟันยื่นยาวออกมาผิดกับเกียรติมุขบนทับหลัง ณ ปราสาทแห่งอื่นๆ (สุภัทรดิศ ดิศกุล, 2510 : 18)

           เนื่องจากไม่พบจารึกที่กล่าวถึงการสถาปนากู่กาสิงห์ จึงกำหนดอายุจากรูปแบบงานประดับซึ่งส่วนใหญ่จัดเป็นศิลปะบาปวน ประกอบกับการวิเคราะห์สัดส่วนของปราสาทกู่กาสิงห์ที่กล่าวมาข้างต้น พบว่ามีองค์ประกอบหลายอย่างที่ปรับปรุงขึ้นในปราสาทเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 คือมีแนวโน้มการเพิ่มความสูงของฐานปราสาทให้สูงกว่าตัวมณฑป แต่มีระเบียบของบัวเชิงเรือนธาตุปราสาทปรับปรุงมาจากปราสาทเขมรยุคก่อน นอกจากนี้งานประดับชั้นหลังคาที่พบบริเวณปราสาทหลังกลางที่มีรูปทรงคล้ายนาคปักก็เป็นพัฒนาการสำคัญของปราสาทเขมรในระยะนี้ ดังนั้น จึงกำหนดอายุปราสาทกู่กาสิงห์ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับแบบศิลปะบาปวน

          จากฐานข้อมูลกรมศิลปากร ระบุว่าการขุดแต่งโบราณสถานกู่กาสิงห์ พบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ทับหลังรูปพระอินทร์ เหนือหน้ากาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัย ศิลปะแบบบาปวน ปราสาทจำลอง กลีบขนุน รวมถึงประติมากรรมรูปเคารพ เช่น ศิวลึงค์ เศียรประติมากรรมรูปพระศิวะ ศิลปะเขมรแบบบาปวน ประติมากรรมพระคเณศ ศิลปะแบบบาปวนและอาจเป็นต้นแบบของศิลปะนครวัด เครื่องมือสลักหินคล้ายสิ่ว ทำด้วยเหล็ก ก้อนขี้แร่ขนาดใหญ่ หินดุ และเศษภาชนะดินเผามีทั้งแบบเนื้อดินเนื้อแกร่ง และเครื่องเคลือบ

            ตามตำนานและนิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาในบริเวณนี้ คือ ชื่อบ้านกู่กาสิงห์มาจากซากโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่ออารยธรรมขอมเสื่อมอำนาจลงได้ปล่อยให้ปราสาทรกร้างว่างเปล่า ป่าขึ้นปกคลุมหนาทึบกลายเป็นดินแดนลึกลับที่คนรู้จักค่อนข้างน้อย ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (เมืองโบราณในบริเวณใกล้เคียงบ้านกู่กาสิงห์) ได้เข้ามาทำนาอยู่ในบริเวณหนองน้ำใกล้กับกู่กาสิงห์ โดยให้บริวารมาเฝ้าดูแลที่นา ภายหลังคนทั่วไปเรียกหนองนี้ว่า หนองอัญญา ซึ่งหมายความถึงหนองน้ำหรือที่นาของเจ้าเมือง จนกระทั้งปี พ.ศ.2446 จึงมีคนคนไทย – ลาวอพยพมาเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยจนกลายเป็นบ้านเมืองมีความมั่นคงเจริญสืบมา และหลังจากนั้นก็มีคนรู้จักกู่กาสิงห์ตามลำดับ

            สำหรับชื่อบ้านกู่กาสิงห์และปราสาทกู่กาสิงห์ น่าจะมาจากคำว่า “กู่” ซึ่งชาวบ้านจะใช้เรียกโบราณสถานขอมมีลักษณะคล้ายรูปสถูปหรือเจดีย์ ส่วนคำว่า “กา” สันนิษฐานได้หลายประการเช่นอาจมาจากชื่อนกกา ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคยมีกาอยู่จำนวนมาก ดังคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าตอนเย็นจะมีกาจำนวนมากพากันมานอนที่หนองน้ำแห่งนี้หนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของหมู่บ้าน คนสมัยก่อนจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า “หนองกานอน” และคำว่า “กา” อาจกลายเสียงมาจากคำว่า “กะ” ในภาษาไทยกลาง เช่นตาและยาย หมายถึงตากับยาย หรือตาและยาย หรือมาจากคนเฒ่าคนแก่ ออกเสียงว่ากู่กะสิงห์ ส่วนคำว่า “สิงห์” มาจากประติมากรรมรูปสิงห์ 2 ตัว เคยตั้งไว้หน้าประตูทางเข้าทั้งสองช้าง ซึ่งเป็นคตินิยมในศิลปะขอม

          กู่กาสิงห์ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบูรพากู่กาสิงห์น้อย วัดบูรพากู่กาสิงห์น้อยตั้งเมื่อ พ.ศ.2472 ชาวบ้านเรียกว่า วัดบูรพากู่น้อย หรือ วัดน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า วัดบูรพา

          มีชุมชนโบราณ และโบราณสถานเขมรที่มีอายุใกล้เคียงกับกู่กาสิงห์อีกหลายแห่ง เช่น ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กู่โพนวิท ทางด้านทิศตะวันออก ได้แก่ ปราสาทบ้านหินกอง กู่พระโกนา กู่โพนระฆัง เมืองโบราณบ้านเล้าข้าว แหล่งโบราณคดีบ้านสองชั้น บ้านส้มโฮง บ้านโพนดวน ซึ่งมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ด้านทิศตะวันตก ได้แก่ ในบริเวณวัดธาตุเป็นโบราณสถานที่มีแผนผังคล้ายธรรมศาลาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนลำน้ำอีกสายหนึ่ง คือ ลำเตา ปรากฏเมืองโบราณบ้านโพนทอง บ้านแสนสี เป็นต้น เป็นเมืองโบราณที่มีวัฒนธรรมเดียวกับบ้านกู่กาสิงห์เช่นเดียวกัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ภาวิณี รัตนเสรีสุข. “วัดพระพายหลวง : แนวความคิดใหม่จากผลการขุดตรวจทางโบราณคดีกับงานวิเคราะห์แบบอย่างสถาปัตยกรรม.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.

วรรณวิภา สุเนต์ตา. “สถาปัตยกรรมเขมรในดินแดนไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 : ลำดับการสืบเนื่อง.” ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 4. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2539.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี