บ้านโคกเศรษฐี


โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : บ้านทุ่งเศรษฐี

ที่ตั้ง : ม.6 บ้านโคกเศรษฐี

ตำบล : นายาง

อำเภอ : ชะอำ

จังหวัด : เพชรบุรี

พิกัด DD : 12.84915 N, 99.957738 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี, อ่าวไทย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองเพชรบุรีใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เส้นทางเพชรบุรี-ชะอำ เมื่อถึงแยกนิคม (ก่อนถึงชะอำประมาณ กิโลเมตรเลี้ยวซ้ายไปทางบ้านเกตุ ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร จะพบบ้านโคกเศรษฐี หรืออยู่ห่างจากโบราณสถานโคกเศรษฐีมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านโคกเศรษฐีตั้งอยู่ห่างออกมาทางทิศตะวันออกของโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ประมาณ 400 เมตร บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีปัจจุบันอยู่ในบริเวณบ้านของชาวบ้านในเขตหมู่บ้านโคกเศรษฐี อีกบริเวณหนึ่งอยู่นอกหมู่บ้านซึ่งเดิมมีเป็นเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ มีเนื้อที่ ไร่เศษ แต่ถูกปรับจนเกือบเป็นที่ราบเพื่อการอยู่อาศัยของชุมชนในปัจจุบัน (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2541 : 84)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

7 เมตร

ทางน้ำ

สภาพธรณีวิทยา

บริเวณที่ตั้งแหล่งโบราณคดีเป็นแนวสันทรายเก่าหรือแนวชายหาดเดิม (ในช่วงโฮโลซีนตอนต้น) ปัจจุบันอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 4.5 กิโลเมตร

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี

อายุทางโบราณคดี

(พุทธศตวรรษที่ 9-12?) / พุทธศตวรรษที่ 12-16 / พ.ศ.1100-1600

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2540 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร สำรวจทางโบราณคดีบ้านใหม่เพิ่มเติมเนื่องในโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์พัฒนาเมืองคูบัว

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

คณะสำรวจของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี (2540 : 84-85) พบโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกเศรษฐี ดังนี้

เศษภาชนะดินเผา พบปริมาณมาก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเนื้อดิน (Earthenware) มีทั้งผิวเรียบและตกแต่งผิวเป็นลายเชือกทาบและทาน้ำดิน รูปทรงภาชนะเป็นภาชนะแบบมีสันในวัฒนธรรมทวารวดี นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่ผลิตจากเตาศรีสัชนาลัยด้วย

ลูกปัด พบไม่มากนัก เป็นลูกปัดแก้วสีฟ้าและสีแดง แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบเป็นปริมาณมาก และที่ชาวบ้านเก็บไว้ ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดแก้ว มีหลายสี เช่น ฟ้า เขียว น้ำเงิน สีขาวใส เป็นต้น

อิฐ พบปริมาณเล็กน้อย เป็นอิฐที่มีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก คล้ายกับอิฐในวัฒนธรรมทวารวดี

จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี 2540 : 85) ถัดจากบริเวณนี้ไปทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร มีเนินดินที่พบโบราณวัตถุจำพวกลูกปัดและเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานเนื่องจากพื้นที่ถูกไถปรับเพื่อสร้างบ้านเรือน

ข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจทำให้สันนิษฐานได้ว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ น่าจะเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลในวัฒนธรรมทวารวดี และมีความเกี่ยวเนื่องกับเจดีย์ทุ่งเศรษฐี โดยอาจจะเป็นผู้สร้างและใช้งานโบราณสถานแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม หลักฐานต่างๆกำลังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งบ้านเรือนของชุมชนอย่างหนาแน่นในปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะการสำรวจและศึกษาร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรีเอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดีรายงานการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรีคูบัว ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียงกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2541.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรีคูบัว ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียงกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2541.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ ราชบุรี. ทุ่งเศรษฐี โบราณสถานทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรีกรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2543.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง