วัดพระแก้ว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองกำแพงเพชร) อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.488276 N, 99.518003 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระแก้วตั้งอยู่กลางเมืองโบราณกำแพงเพชร ระหว่างถนนราชดำเนิน 2 และซอยปิ่นดำริห์ ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพระแก้วเป็นวัดร้าง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองโบราณกำแพงเพชร ปัจจุบันอยู่ภายในอำเภอเมืองกำแพงเพชรและเทศบาลเมืองกำแพงเพชร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

85 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

ดินปนทรายและมีชั้นทรายตะกอนแม่น้ำ เนื่องจากบริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาแม่น้ำปิงตื้นเขินขึ้นเนื่องจากการทับถมของตะกอนทรายและดินปนทรายจึงเกิดเป็นที่ราบบริเวณเมืองกำแพงเพชรนี้

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการขุดแต่งพบว่าเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองกำแพงเพชร แบ่งแผนผังเป็นสามตอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในส่วนแรกมีอาคารที่สำคัญ คือฐานที่เชื่อกันว่าเป็นบุษบกประดิษฐานพระแก้วมรกต โบสถ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่หน้าสุดของวัด ถัดมาเป็นส่วนที่สองของวัดประกอบด้วย โบสถ์ เจดีย์ประธานทรงระฆังที่ฐานมีซุ้มพระพุทธรูปและซุ้มสิงห์ล้อม ด้านหลังเจดีย์เป็นวิหารที่มีพระพุทธรูปประทับนั่ง 2 องค์และพระพุทธรูปไสยาสน์หนึ่งองค์ และส่วนที่สามเป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อมและเจดีย์รายโดยรอบประมาณ 20 องค์ และได้ทำการบูรณะวิหารทางทิศตะวันตกของวัด เจดีย์สิงห์ล้อม ฐานโบสถ์ด้านหน้าสุด (กรมศิลปากร 2514 : 6 – 8)

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะอาคารต่างๆ ได้แก่ เจดีย์ประธานสิงห์ล้อม อุโบสถหน้าเจดีย์ประธาน เจดีย์ช้างล้อม อุโบสถ มณฑปและฐานพระปรางค์ที่ตั้งบนฐานสูงด้านตะวันออกสุดของวัด ซุ้มพระอัฏฐารศ วิหารพระนอน วิหารราย เจดีย์ราย ศาลา กำแพงวัด จากหลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วเป็นวัดที่สำคัญทำให้มีการสร้างและบูรณะต่อเติมตลอดการใช้งานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 – 24 (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2543 : 231 - 235)

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งแนวกำแพงวัดพระแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ และหลุมขุดค้นซึ่งสามารถสรุปผลจากหลักฐานที่พบ ว่าบริเวณวัดพระแก้วมีชั้นวัฒนธรรม 2 ชั้น คือ 1 ชั้นการใช้งานของโบราณสถาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 21 ตรงกับสมัยสุโขทัย – สมัยอยุธยา และชั้นวัฒนธรรมที่ 2 คือชั้นวัฒนธรรมปัจจุบัน และทั้ง 2 ชั้นวัฒนธรรมไม่มีความต่อเนื่องกัน สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้หลังจากสมัยอยุธยาอาจเกิดจากการถูกทิ้งร้างแล้วเข้ามาใช้พื้นที่ในภายหลังอีกครั้ง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2550 : 231 - 235)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระแก้วเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองกำแพงเพชร ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สิ่งก่อสร้างของวัดสร้างเรียงเป็นแนวยาวในแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนานกับแนวกำแพงเมือง มีกำแพงศิลาแลงแสดงขอบเขตวัด ลักษณะและขนาดของกำแพงวัดจะสร้างแตกต่างกันเป็นบางช่วงบางตอน เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัดพระแก้วมีการสร้างเพิ่มเติมหรือมีการปฏิสังขรณ์หลายสมัย ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีสูงก่อด้วยศิลาแลง บนฐานไพทีเป็นฐานอุโบสถ ต่อเนื่องจากฐานอุโบสถเป็นสิ่งก่อสร้างฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน และถัดไปเป็นฐานย่อมุมคล้ายกับฐานตอนล่างของพระปรางค์สมัยอยุธยา ถัดจากฐานไพทีใหญ่ไปทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ทรงระฆังเป็นเจดีย์ประธานของวัด ฐานเจดีย์ล่างมีซุ้มจำนวน 32 ซุ้ม ภายในประดับสิงห์ปูนปั้น ถัดขึ้นมาจะทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน 16 ที่บัลลังก์ของเจดีย์มีการทำเป็นซุ้มออกมาทั้งสี่ทิศ

ด้านตะวันตกของเจดีย์สิงห์ล้อมรอบเป็นมณฑปยกพื้นเตี้ยๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ประกอบด้วย พระปางมารวิชัย 2 องค์ และพระไสยาสน์ 1 องค์ ลักษณะพระพักตร์ขององค์พระพุทธรูปทั้งสามองค์ค่อนข้างเป็น ตอนหลังสุดของวัดมีเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม อยู่ในระเบียงคดเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์ช้างเผือก เนื่องจากฐานเดิมเคยประดับช้างปูนปั้นโผล่ครึ่งตัวโดยรอบ จำนวน 32 เชือก บนฐานเจดีย์ยังมีเจดีย์ประจำมุมทั้ง ๔ มุม ด้านตะวันออกของเจดีย์ทรงระฆังช้างล้อมมีร่องรอยพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ แต่องค์พระและซุ้มหักพังจนหมดเหลือเฉพาะส่วนพระบาททั้ง 2 ข้าง เรียกพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่เช่นนี้ว่า พระอัฏฐารศ (กรมศิลปากร 2552 : 61 - 66)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วีระศักดิ์ แสนสะอาด เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ , 2552.

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร. กรุงเทพ : โรงพิมพ์วิฑูรย์การปก , 2544

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. การดำเนินงานขุดค้น ขุดตรวจ ขุดแต่งทางโบราณคดีพื้นที่บริเวณวัดพระแก้ว วัดพระธาตุและศาลหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร. ม.ป.ท., 2550

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง