วัดพิกุล


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 20 ซ.บางแวก 76 ถ.บางแวก (ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 หรือ ซ.พาณิชยการธนบุรี) แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน

ตำบล : บางเชือกหนัง

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.740954 N, 100.433782 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพิกุลตั้งอยู่ในซอยบางแวก 76 ถนนบางแวก หรือซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 หรือซอยพาณิชยการธนบุรี สามารถเข้าได้จากทั้งถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนราชพฤกษ์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ที่ทางวัดได้เปิดให้ลอดใต้อุโบสถ ก็ทำให้วัดพิกุลเป็นจุดแวะจอดของเรือท่องเที่ยวจากตลาดน้ำตลิ่งชันและตลาดน้ำวัดสะพาน

พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของวัดคืออดีตเจ้าอาวาส หลวงพ่อหวล (ศิษย์หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค)

งานประจำปีเดิมมีงาน 3 วัน ในช่วงตรุษจีน โดยนับจากวันจ่ายเป็นวันแรก ปัจจุบันเพิ่มเป็น 5 วัน

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดพิกุล 02-410-1641

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพิกุล

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพิกุลเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนัง ฝั่งด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกมีคลองสายเล็กๆ ไหลผ่าน

วัดพิกุลอยู่ห่างจากวัดทองบางระมาดมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ห่างจากวัดเกาะมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2.3 กิโลเมตร ห่างจากคลองบางน้อยมาทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร และห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง สภาพแวดล้อมมีสภาพเป็นชุมชนเมือง แม้ว่าด้านทิศเหนือและตะวันออกของวัดจะเป็นพื้นที่สวนขนาดใหญ่ ส่วนด้านทิศใต้ติดกับคลองบางเชือกหนัง

ทางน้ำ

คลองบางเชือกหนัง, คลองชักพระ, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยธนบุรี

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 129) สำรวจวัดพิกุลโดยระบพุว่า “ตั้งอยู่ฝั่งขวามือ พระอุโบสถหันออกลำคลองเป็นโบสถ์เก่า ชนิดก่อปูนผนังหน้าหลังขึ้นไปจดอกไก่ แต่ก็ถูกต่อเติมจนผิดรูปไปเสียแล้ว เข้าใจว่าจะเป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับวัดกำแพง”

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพิกุลเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนากล่าวว่า วัดพิกุลตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มริมคลองบางเชือกหนัง สร้างราว พ.ศ.2323 หรือปลายสมัยธนบุรี ไม่ทราบนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานสิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2517

ก่อน พ.ศ.2487 วัดพิกุลมีหลวงตาอยู่ 2 รูป มีอุโบสถและกุฏิไม้ริมคลองอย่างละหลัง ไม่มีวิหารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ สะพานข้ามคลองก็ไม่มี ต่อมาหลวงพ่อหวลได้มาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ ท่านได้สร้างสะพานไม่ไผ่เล็กๆ ใช้ข้ามคลองบางเชือกหนัง (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 130)

ราว พ.ศ.2497 ได้สร้างศาลาท่าน้ำหลังแรก (ติดกุฏิหลวงพ่อหวลในปัจจุบัน) พร้อมกุฏิไม้ด้านหน้าขึ้นอีกหลัง ต่อมาสร้างศาลาการเปรียญ พ.ศ.2499 พร้อมศาลาท่าน้ำหลังที่ 2 และมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 130)

ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 131) ได้แก่ พระอาจารย์ผิว, พระจารย์ใหญ่, พระครูนวการโกศล (หลวงพ่อหวล) พ.ศ.2487-2522, พระสมห์ชาญ อินทปญฺโญ พ.ศ.2522, พระครูมงคลวุฒิสาร (หลวงปู่ผิว) พ.ศ.2548, พระครูสังฆรักษ์ไสว จิตปาโล (รักษาการ) พ.ศ.2548, พระมหานิพนธ์ จิตฺตวุฑ์โฒ

สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 131) ได้แก่

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่คลองสายเล็กๆ สร้าง พ.ศ.2514-2517 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2517 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518

หน้าบันด้านหน้าตอนบนเป็นพระพุทธรูปประทับยืนอุ้มบาตรอยู่ในซุ้ม ขนาบข้างด้วยเทวดาถือฉัตร ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ หน้าบันด้านหลังตอนบนเหมือนด้านหน้า ตอนล่างเป็นพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ตัดพระเมาฬี)

ประยูร อุลุชาฏะ เดินทางมาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2513 บันทึกไว้ว่า อุโบสถของวัดพิกุลเป็นของเก่า มีการก่ออิฐถือปูนที่ผนังด้านหน้าขึ้นไปถึงอกไก่ แต่ต่อมาถูกต่อเติมไปมากแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง (ประยูร อุลุชาฏะ 2514 : 106)

หลังจากนั้นไม่นานราว พ.ศ.2513-2514 มีการรื้ออุโบสถหลังเดิมที่ทรุดโทรมลง แล้วเริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่ใน พ.ศ.2514 จนแล้วเสร็จ ฝังลูกนิมิต พ.ศ.2517 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 185)

อุโบสถหลังใหม่นี้สร้างบนที่ดินที่เคยเป็นโรงเรียน (สร้าง พ.ศ.2508) โดยย้ายโรงเรียนออกไปไว้ด้านหลัง และสร้างให้ใหม่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ส่วนที่ตั้งอุโบสถเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งฌาปนสถาน ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 185)

วัดพิกุลมีโครงการยกอุโบสถขึ้นเพื่อให้พ้นจากระดับน้ำท่วมที่มักท่วมอยู่เสมอ เพื่อหารายได้ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ จึงเปิดให้พุทธศาสนิกชนลอดใต้อุโบสถตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระประธานองค์เดิมจากอุโบสถหลังเดิม นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปจำลองจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

มณฑปพระพุทธบาท สร้างในสมัยหลวงพ่อหวล เป็นอาคารคอนกรีต รูปแบบคล้ายกับมณฑปพระพุทธบาท ร่วมสมัยเดียวกันในวัดอื่นๆ ของตลิ่งชัน เช่น วัดประสาท วัดตลิ่งชัน และวัดมณฑป  

กุฏิเก่าของหลวงพ่อหวล (อดีตเจ้าอาวาส) ทางวัดยังคงเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของหลวงพ่อหวล (อดีตเจ้าอาวาส) เอาไว้ ซึ่งมีแนวคิดว่าจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์

ศาลาการเปรียญ กว้าง 16.5 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมือ่ พ.ศ.2492

หอสวดมนต์ กว้าง 9.3 เมตร ยาว 25.6 เมตร สร้าง พ.ศ.2497

หอระฆัง-หอกลอง มีกลองอยู่ชั้นล่าง มีระฆังอยู่ชั้นบน หน้าบันประดับถ้วยชาม

นอกจากนั้นภายในวัดยังมีพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ปางต่างๆ กว่า 10 องค์

ทางวัดจัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2497 และยังจัดซื้อที่ดินที่ติดต่อกับวัดด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 4 ไร่ 26 ตารางวา แล้วสร้างโรงเรียนวัดพิกุล เมื่อ พ.ศ.2508 สอนระดับประถมศึกษา (ปัจจุบันสังกัด กทม.)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, นิสา เชยกลิ่น

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง