วัดทอง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดทองบางเชือกหนัง

ที่ตั้ง : เลขที่ 17 ซ.ราชพฤกษ์ 8 ถ.ราชพฤกษ์ แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน

ตำบล : บางเชือกหนัง

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.741034 N, 100.448676 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดทองบางระมาดตั้งอยู่ในซอยราชพฤกษ์ 8 ถนนราชพฤกษ์ โดยจากแยกที่ถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนราชพฤกษ์ ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือถนนเพชรเกษม ประมาณ 4.2 กิโลเมตร (เมื่อลงสะพานข้ามทางรถไฟให้ชิดซ้ายใช้ทางคู่ขนาน ประมาณ 3.4 กิโลเมตรจากแยก) พบซอยราชพฤกษ์ 8 ทางซ้ายมือ เข้าซอยไปประมาณ 70 เมตร จะพบวัดทองทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดทองจัดงานตามโอกาสและวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ภายในมีอาคารเรียนพระปริยัติธรรม

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดทอง 02-410-4623

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดทอง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดทองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนัง ฝั่งด้านทิศเหนือ อยู่ห่างจากคลองบางน้อยมาทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร และห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1.3 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบวัดมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่น ทางทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดกับคลองบางเชือกหนัง 

ทางน้ำ

คลองบางเชือกหนัง, คลองชักพระ, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 90-91) สำรวจวัดทองและระบุว่ารูปแบบอุโบสถน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาจเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา เพราะวัดสมัยอยุธยาตอนปลายก็มีรูปทรงแบบเดียวกันนี้ ศาลาท่าน้ำรายไปตามริมคลอง กุฎิเป๋นเรือนยอดแบบไทย

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดทองเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดทองบางเชือกหนัง” ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนาระบุว่า วัดทองสร้างโดยนายทอง ธูปทอง เมื่อราว พ.ศ.2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาเสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 4 

ตามประวัติเล่าว่า 3 พี่น้องเมื่อเสร็จจากปราบข้าศึก ต่างสร้างวัดขึ้นคนละวัด เพื่อเป็นการสร้างบุญล้างบาปชำระใจให้สะอาดจากที่ได้ไปทำศึกมา คนหนึ่งสร้างวัดเกตุ อีกคนหนึ่งสร้างวัดสิงห์ ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือนายทอง ธูปทอง ได้สร้าง “วัดทอง” ทั้ง 3 วัดสร้างอยู่ติดๆ กัน มีวัดทองอยู่ตรงกลาง ภายหลังวัดเกตุและวัดสิงห์ได้ร้างไป (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 125)

ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 125) ได้แก่ พระครูปราจิณมุนี (เอม), พระอธิการแจ้ง เจนจบรบ, พระแม้น, พระครอง, พระเชวง พระครูวิชิตภารการ (มนต์ อภิฉนฺโท) (รักษาการ พ.ศ.2501) เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2504

สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 126) ได้แก่

อุโบสถเดิม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่คลองบางเชือกหนัง เป็นอาคารทรงไทย กว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร ซ่อมแซม พ.ศ.2514 ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 105) ให้ความเห็นว่าเป็นทรงแบบสมัยรัชกาลที่ 1 หรือไม่ก็อาจเก่าไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย พระประธานในอุโบสถเดิม ปางมารวิชัย หน้าตัก 1.5 เมตร ศิลปะแบบสมัยอยุธยา เช่นเดียวกับพระอัครสาวกที่ประดิษฐานอยู่ด้วยกัน (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 179 ; วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 185) มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ที่ประตูอุโบสถ แสดงเรื่องราวในชาดก (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 184)  

อุโบสถ  สร้างประชิดอุโบสถเดิมด้านทิศใต้ เริ่มสร้าง พ.ศ.2536 หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่คลองบางเชือกหนัง เป็นอุโบสถ 2 ชั้น หน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ผนังบุกระเบื้อง ก่อสร้างด้วยแรงงานของพระสงฆ์ในวัดเป็นหลัก พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ทางวัดจัดสร้างขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546

ศาลาการเปรียญ เป็นของเดิม ซ่อมแซมใน พ.ศ.2476 และ พ.ศ.2547

วิหารกระจาดทอง ประดิษฐานรูปเหมือนพระครูปราจิณมุนี อดีตเจ้าอาวาส

เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลม อยู่ด้านหลังวัด ติดคลองบางเชือกหนัง

กุฏิสงฆ์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ราว 10 หลัง

หอระฆัง สร้างขึ้นใหม่ หลังคาเป็นหน้าจั่ว 2 ด้าน ก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นไม้ มีลวดลายเทพนม มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ศาลาประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง พระสังกัจจายน์ หลวงปู่แจ้ง หลวงปู่เอม (อดีตเจ้าอาวาส) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, นิสา เชยกลิ่น

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง