วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 7 ก.พ. 2021

ชื่ออื่น : วัดชัยพฤกษ์, วัดชัยพฤกษมาลา

ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถ.ชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน

ตำบล : ตลิ่งชัน

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.795589 N, 100.466376 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางกอกน้อย, คลองมหาสวัสดิ์

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากปากถนนชัยพฤกษ์ที่ตัดกับถนนบรมราชชนนี (อยู่ระหว่างซอยบรมราชนนี 20 และซอยบรมราชนนี 22) เข้าไปประมาณ 190 เมตร พบวงเวียนให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบทางรถไฟ ประมาณ 450 จะพบทางบังคับเลี้ยวซ้ายเพื่อกลับรถใต้สะพาน เมื่อกลับรถแล้วตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร พบถนนชัยพฤกษ์อีกครั้งทางขวามือ เลี้ยวขวาตรงไปตามถนนเส้นนี้อีกประมาณ 1 กิโลเมตร พบซอยผู้ใหญ่น่วมทางขวามือ เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 50 เมตร จะพบวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร (มีป้ายบอกทางไปวัดตลอดเส้นทาง)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหารเป็นวัดหลวงที่สำคัญของเขตตลิ่งชัน งานสำคัญของทางวัดคืองานเทศน์มหาชาติในวันออกพรรษา

สภาพภายในวัดมีความร่มรื่น สามารถทำบุญให้อาหารปลาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์

หมายเลขโทรศัพท์วัดชัยพฤกษมาลา 02-882-0778

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหารเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ฝั่งด้านทิศใต้ ด้านทิศเหนือติดกับคลองมหาสวัสดิ์ อยู่ห่างจากคลองบางกอกน้อยมาทางทิศตะวันตกประมาณ 170 เมตร อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันสภาพโดยรอบเป็นชุมชนเมือง มีการตั้งบ้านเรือนราษฎรหนาแน่นมาก

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ น้ำท่วมถึง

ทางน้ำ

คลองมหาสวัสดิ์, คลองบางกอกน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514) สำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดชัยพฤกษมาลา และได้กล่าวถึงประวัติวัด รวมถึงประวัติของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 สังกัดมหานิกาย อยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เดิมชื่อว่า “วัดชัยพฤกษ์” ขึ้นกับตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

วัดชัยพฤกษ์เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติวัดระบุว่าวัดชัยพฤกษมาลาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300

แต่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นวัดร้าง เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่) รื้ออิฐวัดชัยพฤกษ์ไปสร้างกำแพงพระนครส่วนที่พระองค์ทรงเป็นนายด้าน (ควบคุมงาน) (ศรัณย์ ทองปาน 2549?)  

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่เป็นการทดแทน (ผาติกรรม) วัดเดิมที่ถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกำแพงเมือง ทั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนทรงผนวช เป็นแม่กองดำเนินการสร้างวัดชัยพฤกษ์ (ศรัณย์ ทองปาน 2549?)  

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างคงค้างมาจนตลอดรัชกาลที่ 3 ด้วยพระบาทสมเด็จพระบอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช และโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดชัยพฤกษ์เข้าในบัญชีพระอารามกฐินหลวงพระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาทรงจุดเทียนพรรษา และถวายพระกฐินทุกปีตลอดรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่ข่าย ดำเนินการซ่อมสร้างจนแล้วเสร็จ พร้อมกับพระราชทานสร้อยนามวัดว่า “วัดชัยพฤกษมาลา” โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนถวายเพิ่มเป็นที่วัดขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถและพระวิหารเดิมให้แล้วเสร็จ สร้างศาลาการเปรียญ ก่อพระเจดีย์ใหญ่พร้อมด้วยพระเจดีย์ทิศ 4 มุม หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพานท่าน้ำ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)

วัดชัยพฤกษมาลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514

พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ หลวงพ่อโต (พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร) พระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม ส่วนเกจิอาจารย์มีอาทิ พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ)

ลำดับเจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ได้แก่ ท่านวัดบางขวาง (ไม่ปรากฏนามที่ชัดเจน เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ), พระครูธรรมธาดาโกศล (สง) ครองวัดอยู่ประมาณ 5-6 ปี, พระธรรมธาดาโกศล (เกตุ) ครองวัดอยู่ประมาณ 5-6 ปี, พระธรรมธาดาโกศล (พ่วง) ครองวัดอยู่ประมาณ 18-19 ปี, พระปลัดโทน (รักษาการเจ้าอาวาส 5 ปี), พระรัตนมุนี (แก้ว) พ.ศ.2428-2448, พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พ.ศ.2448-2465, พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร) พ.ศ.2472-2515, พระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ), พ.ศ.2515-2544, พระปริยัติวโรปการ (ประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ) พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? ; วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552) ได้แก่

พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่คู่กับพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยพระวิหารอยู่ทางด้านทิศเหนือ พระอุโบสถอยู่ทางทิศใต้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบัน มีขนาดกว้าง 7.56 เมตร ยาว 19.20 เมตร

เดิมพระอุโบสถหลังนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โดยเฉพาะเมื่อหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2541-2542 พอถึง พ.ศ.2550 จึงดีดตัวอาคารขึ้นทั้งหลัง ขึ้นเหนือพื้นดินราว 2 เมตร เป็นการป้องกันความชื้นและน้ำที่มักไหลเข้ามาท่วมอยู่เสมอ การดีดอาคารเป็นงานใหญ่มากโดยขุดดินรอบๆ ออกเพื่อเป็นฐานดันตัวอาคารขึ้น จากนั้นจะทำเสาเข็มกลมรองรับและใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดลงไปในดินจนได้ความลึกในระดับที่ต้องการ ประมาณ 23 เมตร และเทปูนลงไปในเสาเข็มฐานรอบพระอุโบสถ 48 ต้น จากนั้นตัดหัวเข็มออกและเอาแม่แรงมาวางบนหัวเข็มเพื่อดันตัวอาคารขึ้นจากพื้นดินปัจจุบัน 2 เมตร และมีการบูรณะจนปัจจุบันอยู่ในสภาพดี

ด้านหน้าพระอุโบสถมีช่องประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 1 ช่อง ช่องหน้าต่างที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 5 ช่อง กรอบประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปดอกพุดตานใบเทศปิดทอง มีเสานางเรียงรับชายคาด้านข้าง

หน้าบันของพระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้น หน้าบันประธานเป็นภาคครุฑยุดนาค (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อยู่ท่ามกลางลายพุดตานใบเทศ ส่วนหน้าบันของมุขหน้า-หลัง เป็นพระมหามงกุฎ (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) แวดล้อมด้วยลายพุดตานใบเทศเช่นกัน

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานเป็นพระทำจากหินทรายแดง หุ้มปูนปั้นปิดทอง เรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” มีแผ่นจารึกหินอ่อนจารึกพระนามที่ฐานชุกชีว่า “พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร” ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ) (2514) วินิจฉัยไว้ว่าหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้มาแต่เดิม

ที่ผนังด้านในแต่ละด้านทำเป็นกรอบปูนเหมือนกรอบรูปภาพ ภายในกรอบเขียนภาพพุทธประวัติ (พระปฐมสมโพธิ) ไว้ทั้ง 4 ทิศ ภาพชุดนี้เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 วาดโดยพระครูนนทสิริมหาปัญญา (อิ่ม ยโสธโร ภายหลังได้เป็นพระธรรมทานาจารย์) เจ้าอาวาส เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานผ้าพระกฐิน

พระวิหาร มีขนาดและแผนผังใกล้เคียงกับพระอุโบสถ สภาพพังทลายมาก ผนังกะเทาะแตกร้าว หลังคาเดิมเหลือส่วนที่มุงกระเบื้องอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเล็กน้อย แต่ภายในสร้างหลังคาไว้อีกชั้นหนึ่งในระดับต่ำกว่าแนวผนังเดิม ทำฝ้าเพดานแบะผนังภายในเสียใหม่ ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระประจำวันให้คนเข้าไปสักการะได้

ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน (เฉพาะส่วนที่ยังหลงเหลือ) เป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถ คือหน้าบันของมุขเป็นภาพพระมหามงกุฎ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4 ส่วนหน้าบันหลักเป็นครุฑยุดนาค พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2

ที่ผนังด้านทิศตะวันตกยังปรากฏร่องรอบจิตรกรรมฝาผนังเดิมของพระวิหาร เขียนเป็นลายประจำยามรักร้อย ด้วยสีแดงและสีเขียวบนพื้นสีเหลือง อยู่ในสภาพรางเลือน

พระเจดีย์ ตั้งงอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถหลังเก่าและพระวิหาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าเพิ่มลดาวัลย์ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2378 ต่อมาเจดีย์องค์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์ รวมทั้งยังเชื่อกันว่ามีพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ด้วย

ลักษณะของเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ มีเจดีย์บริวาร 4 มุม พระเจดีย์ยังมีสัญลักษณ์ของต้นชัยพฤกษ์ปรากฏอยู่ด้วย   

พระอุโบสถหลังใหม่ หันหน้าไปทางทิศเหนือสู่คลองมหาสวัสดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าและเททองหล่อพระประธานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2521

พระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นในตำแหน่งเดียวกับศาลาการเปรียญเก่าที่ได้รื้อออกแล้ว ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 34.5 เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของกลุ่มอาคารเก่า ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนพระอุโบสถหลังเก่า

หน้าบันพระอุโบสถชั้นบนมีปูนปั้น เป็นรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 2 และที่มุขลดของหน้าบันมีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธชินราชจำลอง

ใบเสมาสร้างไว้ติดกับผนังพระอุโบสถ เป็นภาพลายพระนารายณ์ทรงครุฑ

ลานหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ใกล้กับคลองมหาสวัสดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2481 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารกิจกรรมดนตรี-นาฏศิลป์ของโรงเรียนกุศลศึกษา

วิหารศักดิ์สิทธิ์ (ศาลา 90 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533 เป็นศาลาคอนกรีตทรงไทยชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร) และพระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ)  

รูปหล่อของพระนันทวิริยะโพธิ์ อดีตเจ้าอาวาส สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2468 เป็นเจ้าอาวาสได้ขึ้นชื่อในทางไสยศาสตร์และเป็นนักก่อสร้าง แต่เดิมเป็นจังหวัดนนทบุรี มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2467 เป็นที่เคารพ ศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนี้มาก

หอกิจจปัญจงค์ (หอสวดมนต์) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น เว้นเพียงหอคอยด้านหน้าอาคารที่เป็น 3 ชั้น

กุฏิสงฆ์ เป็นกุฏิไม้ทั้งหลัง

หอระฆัง บูรณะใหม่ ก่ออิฐ ถือปูน หน้าบันเป็นแบบจตุรมุข ตรงกลางทำเป็นยอดเจดีย์ยอดแหลมขึ้นไป มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีโรงเรียนกุศลศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่วัดอุปถัมภ์มาแต่เดิม รวมทั้งวัดชัยพฤกษมาลา ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2525.

กรมศิลปากร. ประวัติวัดชัยพฤกษมาลา. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2516.

ที่ระลึกทำบุญอายุ 79 ปี พระพิสุทธิธรรมาจารย์ (คอน สุทฺธิญาโณ ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลา. 20 กรกฎาคม 2534.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี