วัดช่างเหล็ก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 430 ซ.วัดช่างเหล็ก ถ.ฉิมพลี แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

ตำบล : คลองชักพระ

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.773738 N, 100.453349 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางระมาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนฉิมพลีประมาณ 900 เมตร จะพบซอยวัดช่างเหล็กทางขวามือ (ก่อนถึงถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันเล็กน้อย) เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดช่างเหล็กประมาณ 700 เมตร ถึงวัดช่างเหล็ก

หรืออาจมาจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันได้ โดยจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี ฝั่งด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขาขึ้น) ประมาณ 25 เมตร พบซอยวัดช่างเหล็กทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดช่างเหล็กประมาณ 700 เมตร ถึงวัดช่างเหล็ก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดช่างเหล็กเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชน โดยเฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำเป็นที่เคารพสักการะนับถือเป็นอย่างมาก ทางวัดได้จัดงานเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมทั้งงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อดำ โดยจัด 3 คืน ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม

บริเวณริมน้ำหน้าวัดที่เป็นคลองบางกอกน้อย มีการปักเสากั้นเป็นเขตอภัยทาน มีปลาชุกชุม ส่วนใหญ่เป็นปลาสวายและปลาเทโพ เป็นจุดแวะที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว รวมทั้งเรือทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างจอดซื้อขนมปังเลี้ยงปลา โดยผู้ขายจะชักรอกถังใส่ขนมปังไปหย่อนใกล้ๆ เรือ เรือบางลำก็เตรียมขนมปังมาเอง

ภายในวัดด้านที่ติดกับถนนเป็นลานกว้าง ในอดีตเคยมี “ตลาดเช้า” ทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์ ในวันพุธจะมีตลาดนัด 2 รอบ เช้าและเย็น โดยวัดมิได้คิดค่าเช่าจากพ่อค้าแม่ค้าแต่อย่างใด ที่นี่จึงเป็นที่ชุมชนของพ่อค้าแม่ค้าในถิ่นนี้และถิ่นใกล้เคียงที่มาไกลจากต่างจังหวัดก็มี เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม

ทางวัดมีโรงเรียนปริยัติธรรมเปิดสอนเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2484 นอกจากนี้ยังได้ให้ที่ดินสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาขึ้นในที่วัดและจัดให้มีห้องสมุดประชาชนอีกด้วย

หมายเลขโทรศัพท์วัดช่างเหล็ก 02-887-8861

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดช่างเหล็ก

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดช่างเหล็กเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองชักพระ ฝั่งทิศตะวันตกของคลอง ใกล้ปากคลองบางระมาด (ปัจจุบันปากคลองบางระมาดอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของวัดประมาณ 35 เมตร) ฝั่งด้านทิศเหนือ

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่น

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ, คลองบางระมาด

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 82) ได้สำรวจวัดช่างเหล็ก และบันทึกไว้ว่า “เมื่อเข้าคลองบางระมาด จะอยู่ฝั่งขวามือ ตรงปากคลองบางระมาด มีเจดีย์กลมอยู่ตรงมุมหัวเลี้ยว เป็นวัดใหม่ ไม่สู้มีอะไรชวนสนใจเท่าไรนัก”

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ


ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดช่างเหล็กปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองชักพระ ฝั่งทิศตะวันตก ใกล้ปากคลองบางระมาดฝั่งด้านทิศเหนือ

ตามประวัติฉบับกรมการศาสนาระบุว่าเดิมชื่อ “วัดปางเหล็ก” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2323 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2330 แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันแน่ชัด อย่างไรก็ตามหลักฐานบางอย่างอาจแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่กว่า พ.ศ.2323 เช่น พระพุทธรูปหินทรายหรือหลวงพ่อดำ และตำแหน่งของเขตพุทธาวาสของวัดที่ตั้งที่อยู่ห่างจากฝั่งคลองชักพระที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมมาก แต่หันหน้าออกคลองชักพระ (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้) จึงอาจทำให้เชื่อได้ว่าอาจมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77) ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น รูปทรงอุโบสถที่อาจเก่าถึงรัชกาลที่ 1 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77) ใบเสมาที่มีรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 2 องค์ที่หน้าอุโบสถ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 86 ; ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)

เหตุที่เรียกว่าวัดช่างเหล็กสันนิษฐานว่า เป็นเพราะชาวบ้านรอบๆ วัดมีอาชีพตีเหล็ก โดยเฉพาะทำเคียวเกี่ยวข้าว เพราะผีมือการตีเคียวเป็นที่เลื่องลือ ดังที่พระรูปหนึ่งเล่าว่ามีคำที่พูดต่อกันมาว่า “เคียววัดช่างเหล็กดัง” (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 160)

ลำดับเจ้าอาวาส ไม่ทราบนาม, พระภิกษุเพิก, พระภิกษุบ่าย พ.ศ.2451, พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี) พ.ศ.2481-2525, พระอธิการเอื้อน โอภาโส (โบ), พระวินัยธรสมพิศ ชุตินทโร, พระครูเกษมจิตตานุยุต (สวง), พระครูวิมล วัชรกิตติ (วิเชียร มหาวีโร) พ.ศ.2540-ปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 26-27) ได้แก่

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันออกสู่คลองชักพระ ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากคลองชักพระประมาณ 150 เมตร ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) สันนิษฐานว่าพื้นที่ระหว่างเขตพุทธาวาสกับคลองชักพระอาจเป็นแม่น้ำเก่าที่ตื้นเขิน (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าคือคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง)

ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2497 มีขนาด 7 ห้อง ด้านหน้ามีประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 2 ช่อง หน้าบันด้านหน้าเป็นรูปเทวดา (พระราม?) ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นเทวดา (พระลักษณ์?) ทรงหนุมาน

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) ให้ความเห็นว่าอุโบสถหลังนี้มีทรงคล้ายแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 1

ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นรูปพระพุทธประวัติฝีมือช่างร่วมสมัย

ใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทาดำ มีกนกเอวเป็นเศียรนาค ยอดเป็นมงกุฎครอบคล้ายรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น คล้ายใบเสมาของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ซุ้มเสมาทรงกูบ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เคียงคู่กับอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (หันออกสู่คลองชักพระ ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากคลองชักพระประมาณ 150 เมตร)

เป็นอาคารทรงไทย หน้าบันเป็นภาพพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” หรือ “หลวงพ่อปราการ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก (2 เมตร) มีประวัติว่าแต่เดิมเคยพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายกระจัดกระจายอยู่ในวัดช่างเหล็ก พ.ศ.2504 จึงบูรณะขึ้น โดยนำมาประกอบกันและใช้หินจากลพบุรีมาเสริมชิ้นส่วนที่ขาดหายไป มีผู้เล่าว่าพระองค์นี้มีมาตั้งแต่สมัยธนบุรี (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 159)

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 77) สันนิษฐานว่าหลวงพ่อดำคงเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา แต่ได้รับการซ่อมแซมลงรักปิดทองแล้ว

หลวงพ่อดำเป็นที่นับถือในความศักดิ์สิทธิ์ มีผู้นิยมมาบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะไม่ให้ติดทหาร มีการแก้บนคือไข่ต้มและลิเก

ในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส เช่น พระครูศีลขันธ์วิจารณ์ (ทองดี)

เจดีย์ทรงเครื่องย่อมุม ตั้งอยู่ลานด้านหน้าวิหารและอุโบสถ (ด้านทิศตะวันออก หรือตะวันออกเฉียงใต้) เป็นเจดีย์รายทรงเครื่องย่อมุม 2 องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77)

เจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ขนาดใกล้เคียงกันอยู่ด้านหน้าวัดด้านริมคลองบางกอกน้อย ลักษณะเป็นเจดีย์สมัยรัชกาลที่ 4 องค์หนึ่งอยู่ในเขตสังฆาวาส ส่วนอีกองค์หนึ่งอยู่ใกล้ปากคลองบางระมาด ปัจจุบันมีบ้านเรือนราษฎรปลูกล้อมอยู่   

มณฑปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง