เรือพนมสุรินทร์


โพสต์เมื่อ 16 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : แหล่งเรือจมวัดวิสุทธิวราวาส, วัดกลางคลอง

ที่ตั้ง : ด้านหลังวัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) ม.6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร

ตำบล : พันท้ายนรสิงห์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.556622 N, 100.391518 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำเจ้าพระยา, อ่าวไทย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนพระรามที่ 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) มุ่งหน้าจังหวัดสมุทรสาคร โดยก่อนเข้าเขตจังหวัดสมุทรสาคร (ประมาณกิโลเมตรที่ 14) เลี้ยวซ้ายเข้าซอยแสมดำ มาตามถนนประมาณ 4.75 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าวัดวิสุทธิวราวาส ไปตามถนนอีกประมาณ 450 เมตร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 2.3 กิโลเมตร (ผ่านหน้าวัดวิสุทธิวราวาส) พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ตรงไปประมาณ 200 เมตร พบสามแยกให้ตรงไปและไปตามถนนเส้นหลักประมาณ 500 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 860 เมตร จะพบแหล่งเรือจมทางขวามือภายในบ่อกุ้ง ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดวิสุทธิวราวาสพอดี หรือสามารถไปยังแหล่งโบราณคดีได้โดยจอดรถไว้ภายในวัดวิสุทธิวราวาส จากนั้นเดินเท้าไปด้านหลังวัดประมาณ 250 เมตร จะพบแหล่งโบราณคดี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการขุดค้นและศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ที่ราบชายฝั่งทะเล

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ด้านหลังวัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลโดยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงสมัยโฮโลซีน หรือในช่วงไม่ถึง 1,000 ปีที่ผ่านมา ในอดีตเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีเอกสารสิทธิ์ ทำประมงเลี้ยงกุ้ง โดยมีการขุดดินเป็นบ่อขนาดใหญ่หลายบ่อทั่วทั้งบริเวณ แต่ปัจจุบันผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือ นายสุรินทร์และนางพนม ศรีงามดี  ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแหล่งโบราณคดีให้กับกรมศิลปากรแล้ว

แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากคลองแสมดำใต้ มาทางทิศตะวันตกประมาณ 250 เมตร ห่างจากแม่น้ำท่าจีนมาทางทิศตะวันออกประมาณ 12.5 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 19.5 กิโลเมตร และอยู่จากแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมาทางทิศเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำท่าจีน, อ่าวไทย, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

เป็นที่ราบลุ่มที่เกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลโดยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงสมัยโฮโลซีน หรือในช่วงไม่ถึง 1,000 ปีที่ผ่านมา

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 14-15 ?

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สุรินทร์ ศรีงามดี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

ผลการศึกษา :

กันยายน พ.ศ.2556 นายสุรินทร์ ศรีงามดี เจ้าของที่ดินและบ่อกุ้ง (อยู่บ้านเลขที่ 65/1 ม.6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร) ได้นำรถไถไปดันหน้าดินเพื่อขุดลอกบ่อกุ้งและนำดินไปขายให้กับกำนัน เมื่อมาถึงบริเวณดังกล่าวกลับกดใบมีดไม่ลงจึงได้ขุดตรวจสอบดูแล้วพบว่าเป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่จำนวน 1 ท่อน บางส่วนของท่อนไม้ยังจมอยู่ในดินเลน (ส่วนคานทับกระดูกงู) แผ่นไม้กระดานมีเศษเชือกสีดำติดอยู่ และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง นายสุรินทร์จึงแจ้งไปยัง อบต.พันท้ายนรสิงห์ หลังจากนั้น อบต. ได้แจ้งต่อไปยังสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

16 กันยายน พ.ศ.2556 เจ้าหน้าที่ของกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เดินทางมาตรวจสอบแหล่งโบราณคดี

ชื่อผู้ศึกษา : พยุง วงษ์น้อย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

17 กันยายน พ.ศ.2556 นางสาวพยุง วงษ์น้อย หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เดินทางมาตรวจสอบแหล่งโบราณคดีและระงับการขุดของชาวบ้าน (ตั้งแต่มีการค้นพบชิ้นส่วนเรือ ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดตามแนวเรือมาโดยตลอด)

ชื่อผู้ศึกษา : ปรียานุช จุมพรหม, กรรณิการ์ เปรมใจ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

18 กันยายน พ.ศ.2556 นางสาวปรียานุช จุมพรหม และนางสาวกรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้เดินทางมาตรวจสอบอีกครั้ง และระงับการนำชิ้นส่วนเรือขึ้น แต่ยังพบว่ามีชาวบ้านขุดกู้เรืออยู่

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

ผลการศึกษา :

19 กันยายน พ.ศ.2556 ชาวบ้านนำชิ้นส่วนคานทับกระดูกงูขึ้น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

ผลการศึกษา :

เดือนตุลาคม พ.ศ.2556 ชาวบ้านขุดพบเสากระโดงเรือ (เสากระโดงเล็ก) สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จึงเข้าระงับการขุดของชาวบ้านอีกครั้ง หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ชาวบ้านได้นำเสากระโดงขึ้นมาไว้บนคันดินคู่กับคานทับกระดูกงู เนื่องจากเสาลอยน้ำ ในช่วงเวลานี้สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ประสานงานไปยังกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ให้เข้ามาขุดค้นศึกษาร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เดือนธันวาคม พ.ศ.2556 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เริ่มดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โดยมีแผนการดำเนินงาน 6 เดือน ได้รับงบประมาณจากจังหวัดสมุทรสาครและกรมศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานในเบื้องต้นต่อเนื่องจาก พ.ศ.2556

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557

ผลการศึกษา :

เดือนมกราคม พ.ศ.2557 นายสุรินทร์ ศรีงามดี เจ้าของที่ดิน ได้บริจาคและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณที่พบเรือโบราณจำนวน 4 ไร่ ให้กับกรมศิลปากร เพื่อเป็นแหล่งขุดค้นและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรือโบราณ การค้าและเส้นทางการค้าทางทะเลสมัยโบราณ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เส้นทางการค้า, แหล่งเรือจม

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีวัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือเรือไม้ขนาดใหญ่ อายุราว 1,300-1,200 ปีก่อน รวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆภายในเรือ นับว่าเป็นเรือที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย และยังเป็นการค้นพบภาชนะดินเผาแบบ Torpedo Jar เป็นครั้งแรกในพื้นที่ประเทศไทยอีกด้วย

การขุดค้นทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ในปี 2556-2557 ทำให้พบหลักฐานสำคัญ ดังนี้ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร 2557)

1. เรือโบราณ

เป็นเรือไม้ขนาดใหญ่ ความยาวกว่า 20 เมตร จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่าหัวเรือหันไปทางทิศใต้ ในตัวเรือพบไม้ทับกระดูกงูอยู่กลำเรือ มีความยาว 17.65 เมตร ด้านล่างมีการบากไม้ทำเป็นร่องสลับกันสำหรับวางทับกงเรือ ตัวเรือใช้แผ่นไม้กระดานยาว เจาะรูตคลอดแนวยาวทั้ง 2 ด้าน และใช้เชือกสีดำผูกร้อยแผ่นไม้ให้ติดกัน ไม้บางแผ่นเจาะรูตรงกลางแผ่นเพื่อร้อยเชือกเพิ่มความแข็งแรง

พบเสากระโดงเรือ 2 เสา เสาที่ 1 พบอยู่ด้านทิศตะวันตกของเรือ มีความยาว 17.37 เมตร ส่วนหัวเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านในมีรอกไม้กลมติดอยู่ ส่วนโคนเสามีการบากเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแบบเดือย สันนิษฐานสำหรับติดตั้งกับฐานเสาเรือ ส่วนเสาที่ 2 พบอยู่นอกตัวเรือทางด้านทิศตะวันออก โคนเสามีการบากเสาด้านหนึ่งเป็นเหลี่ยม อีกด้านเป็นครึ่งวงกลม และมีเชือกหวายยาวติดอยู่ที่โคนเสาด้วย จากการศึกษาเปรียบเทียบสันนิษฐานว่าลักษณะการต่อเรือลำนี้ เป็นเทคนิคแบบเดียวกับที่ใช้ในเรืออาหรับโบราณ

2. ภาชนะดินเผา

ภายในเรือพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก ทั้งภาชนะที่ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศจีน ภาชนะดินเผาเนื้อดินที่ผลิตจากแหล่งเตาภายในประเทศ และภาชนะดินเผาบางรูปแบบที่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

            2.1 ภาชนะดินเผาแบบหม้อมีสัน

เป็นภาชนะทรงกลม บริเวณไหล่ภาชนะทำเป็นสัน ส่วนลำตัวถึงก้นภาชนะตกแต่งด้วยลายเชือกทาบและขูดขีด หลายใบมีร่องรอยเผาไหม้และคราบเขม่าที่ก้นภาชนะ ภาชนะดินเผาแบบมีสันที่พบพบในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดีเกือบทุกแห่ง สันนิษฐานว่าภาชนะดินเผาแบบมีสันที่พบภายในเรือลำนี้เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับประกอบอาหารภายในเรือ

            2.2 ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง

พบหลายรูปแบบ ดังนี้

                        2.1.1 ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ แบบมีปุ่มแหลมที่ก้น ลักษณะเป็นภาชนะเนื้อหนา รูปทรงยาวรี ลำตัวป่อง ส่วนก้นกลมมีปุ่มยาวแหลม ขอบปากมนแคบ บางใบบริเวณใต้ขอบปากลงมามีการเจาะรู ขนาดโดยประมาณของภาชนะดินเผา เส้นผ่าศูนย์กลาง 45-50 เซนติเมตร สูง 70-80 เซนติเมตร เนื้อภาชนะหนา 1-1.5 เซนติเมตรเนื้อดินละเอียด ผิวเรียบ ชิ้นส่วนภาชนะบางชิ้น ด้านในมียางสีดำติดอยู่ มีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายน้ำมัน นอกจากนี้ยังพบว่าด้านในภาชนะบางใบมีคราบสีนำตาลเข้มติดอยู่ ลักษณะเดียวกับน้ำยาง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ใช้เคลือบผิวภาชนะด้านใน หรือเป็นสิ่งที่เคยบรรจุในภาชนะรูปแบบนี้ ที่สำคัญพบชิ้นส่วนภาชนะมีตัวอักษรที่ผิวด้านนอก เบื้องต้นอยุ๋ในขั้นตอนการวิเคราะห์และแปลความหมาย 

                        จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบภาชนะพบว่ามีลักษณะคล้ายกับภาชนะแบบแอมฟอรา (Amphorae) ซึ่งเป็นภาชนะที่ออกแบบเพื่อใช้ในการขนส่งทางทะเล มักพบในแหล่งเรือจมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

                        2.2.2 ภาชนะดินเผาแคลือบสีดำ เนื้อภาชนะละเอียดสีขาว น้ำเคลือบสีดำใสทั้ง 2 ด้าน ไม่พบชิ้นส่วนสมบูรณ์ รูปทรงภาชนะคล้ายไห มีหูจับขนาดใหญ่จำนวน 2 หู ขอบปากตั้ง คอสูง บริเวณไหล่ภาชนะมีการตกแต่งด้วยการทำสันนูนและกดสันเป็นจุดกลมต่อเนื่องกัน ก้นภาชนะกลมมีเชิง ก้นด้านในน้ำเคลือบเป็นฟองหนา พบแล้วจำนวน 2 ใบ เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุแหล่งผลิตได้

                        นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาที่เนื้อภาชนะคล้ายกับประเภทเนื้อแกร่ง เนื้อภาชนะบาง พบทั้งเนื้อสีเทาและสีน้ำตาล พบจำนวนมาก ในเบื้องต้นยังไม่ทราบแหล่งที่มา

            2.3 เครื่องถ้วยจีน

                        2.3.1 ประเภทเคลือบสีเขียว พบเป็นไหทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ เคลือบสีเขียว คอสั้น ก้นเรียบ มีหูติดในแนวนอนจำนวน 4-6 หู บริเวณขอบปากและก้นไม่เคลือบ มีชิ้นส่วนปาก 1 ชิ้น มีตัวอักษรจีน 大 สลักไว้ เบื้องต้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า 大吉 (ต้าจี๋) ที่แปลว่า โชคดี ภาชนะรูปแบบนี้พบว่าเป็นภาชนะที่ผลิตจากกลุ่มเตากวนจง มณฑลกว่างตง มีอายุอยู่ในปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 14

                        2.3.2 ประเภทไม่เคลือบ พบภาชนะดินเผาประเภทไห ผิวภาชนะทั้งด้านนอกและในมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายเคลือบ มีหูจำนวน 6 หู สลับกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน ที่สำคัญพบเชือกสีดำร้อยอยู่ที่หูภาชนะ ภาชนะรุปแบบนี้ผลิตจากกลุ่มเตาเฟิงไค มณฑลกว่างตง มีอายุอยู่ในปลายสมัยราชสงศ์ถัง ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 14

3. โบราณวัตถุที่ทำจากหิน

แท่นหินกลมขนาดใหญ่ ตรงกลางเป็นปุ่มนูนสูงขึ้นมา ยังไม่ทราบหน้าที่ใช้งาน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบดเมล็ดพืชหรือแป้ง นอกจากนี้ยังพบแผ่นหินรูปทรงกลม ตรงกลางเจาะรู หักเป็น 2 ชิ้น และหินบดจำนวน 2 ชิ้น

4. อินทรียวัตถุ

พบอินทรียวัตถุกลายประเภท เช่น เมล็ดข้าว ลูกหมาก เมล็ดพิช ยาวไม้ กะลามะพร้าวเจาะรู ชิ้นส่วนเครื่องจักสาน ก้างปลา เขาสัตว์ เส้นหวายถักเป็นเชือกยาว เชือกสีดำ รวมทั้งโบราณวัตถุประเภทไม้จำนวนมาก เช่น ท่อนไม้มั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ เป็นต้น

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น

จากการดำเนินการขุดค้นศึกษาเรือโบราณลำนี้ของกรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ ในเบื้องต้นพบตัวเรือตั้งแต่ส่วนหัวเรือ กราบเรือ ไม้ทับกระดูกงูของเรือขนาดใหญ่ และเสากระโดงเรือ 2 เสา แสดงให้เห็นว่าเรือโบราณลำนี้เป็นเรือขนาดใหญ่ จากลักษณะการต่อเรือที่ใช้เชือกผูกยึดแผ่นไม่กระดานเรือเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเทคนิคการต่อเรือที่คล้ายกับที่พบในเรืออาหรับโบราณ นอกจากนี้ โบราณวัตถุที่พบในเรือ พบภาชนะทีเป็นบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ใช้งานภายในเรือ ภาชนะบางประเภทไม่เคยพบในแหล่งโบราณคดีของไทย ทั้งยังพบตัวอักษรโบราณ 2 ประเภทบนภาชนะดินเผา 2 ชิ้น แสดงหเห็นว่าเรือลำนี้มีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาเรื่องเส้นทางการเดินเรือสมัยโบราณในภูมิภาคนี้

จากการศึกษารูปแบบเรือและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าเรือโบราณลำนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 ร่วมสมัยกับทวารวดี สำหรับบริเวณที่พบเรือนี้อาจเป้นปากแม่น้ำท่าจีนโบราณ ส่วนเมืองโบราณที่ใกล้ที่สุดคือเมืองนครปฐมโบราณ (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร 2557)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร

บรรณานุกรม

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร. การศึกษาเรือโบราณในเขตตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร. (แผ่นพับ). ราชบุรี. สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2557.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี