เจดีย์วัดแขนน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เจดีย์โบราณวัดแขนน, วัดแขนน

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านแขนน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง

ตำบล : เทพกระษัตรี

อำเภอ : ถลาง

จังหวัด : ภูเก็ต

พิกัด DD : 8.035861 N, 98.345435 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, คลองบางใหญ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ใช้ถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายลข 402) มุ่งหน้าทิศเหนือ (หรือมุ่งหน้าไปทางสนามบินภูเก็ต) ประมาณ 6.2 กิโลเมตร ถึงสี่แยกบริเวณวัดพระนางสร้าง ให้เลี้ยวขวาใช้ถนนน้ำตกโตนไทร (โยธาธิการภูเก็ต 3004) ประมาณ 250 เมตร ให้เลี้ยวซ้ายใช้ถนนบ่อกรวด ไปตามถนนบ่อกรวดประมาณ 1.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดแขนน 1 ประมาณ 210 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 51 เมตร จะพบเจดีย์วัดแขนนทางซ้ายมือที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในสวนและบ้านเรือนราษฎรประมาณ 30 เมตร (วัดแขนนอยู่ทางขวามือหรือทางทิศตะวันออกของถนน)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์โบราณวัดแขนนและวัดแขนนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนบ้านแขนน เป็นศูนย์รวมจิตใจและประกอบกิจกรรมงานบุญต่างๆ และจากประวัติศาสตร์และรูปแบบสถาปัตยกรรมอาจกล่าวได้ว่าเจดีย์แห่งนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับประวัติเมืองถลางและจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ทางท้องถิ่นกำลังพัฒนาเจดีย์วัดแขนนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของภูเก็ต โดยมีการเชื่อมโยงเรื่องราวเจดีย์เข้ากับเมืองถลาง เขาพระแทว และวัดพระทอง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตต่อไป 

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเจดีย์วัดแขนนได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

นอกจากนี้ จากการระดมพลกันบูรณะวัดร้าง เมื่อ พ.ศ.2537 ได้นำพาให้เกิดการรวบรวมและฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมา ทั้งอาหารพื้นถิ่น พิธีบวงสรวง ดนตรี และการแสดงโบราณต่างๆ จึงมีแนวคิดที่จะหาสถานที่ใหม่เพื่อรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม จึงใช้พื้นที่สวนยาง 6 ไร่ของ ว่าที่ ร.ต.ไตรบัญญัติ หัวหน้าคณะฟื้นฟูพื้นที่วัดร้าง เป็นศูนย์กลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนก่อเกิดเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมถลาง ที่สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวเมืองถลางดั้งเดิมไว้ ให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป

กิจกรรมชองชุมชนบ้านแขนน เช่น

1. ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมถลาง วิถีชุมชน ตลอดจนการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

2. มีกิจกรรมการออกกำลังกายแบบ “โนราบิก” ที่ประยุกต์ต่อยอดศิลปะการแสดงโนราห์ภูเก็ตโบราณกับการออกกำลังกายสมัยใหม่ เข้าด้วยกัน พัฒนาเป็นท่าต่างๆ 19 ท่า โดยการคิดค้นของครูกัลยา จันทวงศ์

3. โปรแกรมท่องเที่ยว อาทิ ทัวร์วัฒนธรรม (ศูนย์เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีนักเรียน องค์กรมาดูงานอย่างต่อเนื่อง) ทัวร์ทานผลไม้ ทัวร์นิเวศ อุทยานแห่งชาติมีป่าสมบูรณ์ ทัวร์ประวัติศาสตร์ (วัดแขนน วัดพระทอง) ทัวร์เกษตร (เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่ปลูกของกินได้)

4. สูตรอาหารพื้นถิ่นจากวัตถุดิบพืชและผักท้องถิ่นที่ความอุดมสมบูรณ์บวกกับวิธีปรุง ทำให้กินแล้วสุขภาพดี เช่น น้ำพริก น้ำชุบ 9 อย่าง (น้ำชุบย้ำ น้ำชุบเยาะ น้ำชุบหวาน น้ำชุบเคย น้ำชุบคั่ว น้ำชุบไคร่ น้ำชุบเสียก น้ำชุกหมก น้ำชุบเมือง) ประเภทแกง เช่น แกงเรียง ต้มส้ม ต้มยำ

ผู้สนใจกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนบ้านแขนน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง โทร. 089-645-3070

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดแขนน, ชุมชนบ้านแขนน, กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดแขนนตั้งอยู่บนที่ราบกลางเกาะภูเก็ตที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา และตั้งอยู่เชิงเขาพระแทว ภูเขาหินแกรนิตขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต

วัดแขนน เป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านแขนน  มีเจดีย์โบราณตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด นอกเขตกำแพง ตรงข้ามฝั่งถนน ในพื้นที่สวนและบ้านเรือนราษฎร (ที่ธรณีสงฆ์)

วัดแขนนตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาพระแทวที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.6 กิโลเมตร อยู่ห่างจากคลองบางใหญ่มาทางทิศตะวันออกประมาณ 350 เมตร และอยู่ห่างจากทะเลอันดามันบริเวณหาดบางเทา มาทางทิศตะวันออกประมาณ 4.6 กิโลเมตร  

สภาพปัจจุบันของโบราณสถานเป็นซากส่วนฐานของเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ภายในหลุมขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี (เมื่อปี 2548-2549) ผังเจดีย์ทั้ง 3 องค์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งเรียงกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ระหว่างเจดีย์องค์กลางกับเจดีย์องค์ด้านทิศใต้ มีการสร้างศาลาหลังคามุงสังกะสีคลุมเจดีย์ทั้ง 3 องค์

ด้านทิศตะวันตกของส่วนฐานของเจดีย์องค์ด้านทิศใต้และองค์กลาง พบอัฐิบรรจุอยู่ในหม้อดินเผาขนาดเล็กและก้อนดินกลม (สันนิษฐานว่าเคยอยู่ในหม้อดินเผาที่ปัจจุบันส่วนหม้อได้แตกออกไปแล้ว) อย่างน้อย 3 ใบ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

21 เมตร

ทางน้ำ

คลองบางใหญ่, ทะเลอันดามัน

สภาพธรณีวิทยา

วัดแขนนตั้งอยู่บนที่ราบกลางเกาะภูเก็ตที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา หินฐานของพื้นที่บริเวณนี้เป็นหินโคลนในกลุ่มหินแก่งกระจาน (CP) ส่วนด้านทิศตะวันออกของวัดอยู่ติดกับเขาพระแทว ภูเขาหินแกรนิตยุคครีเทเชียส

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางตำนาน

สมัยอยุธยาตอนปลาย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548, พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการขุดค้นขุดแต่งของสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต และชาวบ้านแขนน โดยการสนับสนุนของจังหวัดภูเก็ต (1,400,000 บาท) และองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี (50,000 บาท) เมื่อ พ.ศ.2548-2549 เพื่อศึกษาลักษณะเจดีย์เก่าที่ถูกสร้างครอบทับไว้นั้น พบว่าเจดีย์เก่ามีฐานรูปทรงสี่เหลี่ยม มีฐานบัวคว่ำบัวหงายฉาบด้วยปูน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ยังพบภาชนะบรรจุอัฐิจำนวน 2 ใบ และกาน้ำชาดินเผาเคลือบสีน้ำตาล 1 ใบ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดแขนนตั้งวัดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2544 ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เดิมเป็นวัดร้าง ชาวบ้านให้ความสำคัญในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะเคยมีพระสงฆ์ที่เป็นพระเกจิชื่อดังมาจำพรรษา ซึ่งดวงวิญญาณของท่านยังคงสถิตอยู่ที่วัดแห่งนี้ กิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น งานบวช งานแต่งงาน หรืองานบุญต่างๆ จะต้องมีการสักการะบูชาดวงวิญญาณของพระสงฆ์ ที่เรียกนามว่า “พ่อท่านไชยคีรี" ผู้ที่บวชหรือคู่แต่งงานและบุตรหลานในหมู่บ้านต้องมากราบไหว้ การทำบุญก็ต้องเอ่ยนามอุทิศส่วนกุศลถึงพ่อท่าน ประกอบกับด้านทิศตะวันตกของพื้นที่วัดร้างมีซากเจดีย์ขนาดเล็กอยู่ 3 องค์ ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็นอนุสรณ์หรือที่เก็บกระดูกของบุคคลสำคัญ คือ

     เจดีย์องค์ที่ 1 บรรจุกระดูก แม่ชี

     เจดีย์องค์ที่ 2 บรรจุกระดูก พ่อท่านไชยคีรี

     เจดีย์องค์ที่ 3 บรรจุกระดูก ทหารของท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร

จากประวัติเจดีย์วัดแขนนกล่าวว่า เจดีย์วัดแขนนเป็นเจดีย์โบราณ 3 องค์ตั้งเรียงกัน เดิมองค์เจดีย์ถูกปกคลุมด้วยจอมปลวกและต้นไม้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2544 ว่าที่ร้อยตรีบัญญัติ จริยะเลอพงษ์ ได้ก่อเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์เหล่านั้น โดยเจดีย์ที่สร้างครอบเป็นเจดีย์ทรงกลม หรือทรงลอมฟางคล้ายฝาชี ก่อด้วยอิฐหนาชั้นเดียว ภายในกลวง มีช่องสามเหลี่ยมเจาะอยู่ตรงกลางที่ด้านหน้าเจดีย์ทุกองค์ และมีอิฐบล็อกก่อเรียงเป็นขอบฐานรองรับเจดีย์ใหม่ทั้ง 3 องค์ ก่อนที่จะมีการขุดค้นขุดแต่งและนำเจดีย์ที่ก่อสร้างทับออกในช่วงปี พ.ศ.2548-2549

ชาวบ้านเชื่อว่าเดิมหมู่บ้านนี้มีชื่อว่า บ้านบางแน่น ต่อมาได้ถูกเรียกเพี้ยนมาเป็นบ้านแขนน การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผ่านมา นักวิชาการสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ว่าวัดแขนนอาจสร้างขึ้นและถูกใช้งานในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และร้างไปในสมัยสงครามท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรรบชนะพม่า เนื่องจากมีหลักฐานเกี่ยวพันถึงคนรุ่นสมัยสงครามที่เกี่ยวข้องกับประวัติวัด คือ หลวงศึก หลวงไกร หลวงศรีณครินทร์ หลวงอ้อ หลวงฟ้า หลวงจัน ตาทิดหน่อย ตาสีทอง ตายมดึง บุคคลดังกล่าวเชื่อว่าเป็นทหารของท้าวเทพกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สู้รบกับพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ.2328

ชาวบ้านเชื่อกันว่าเมื่อเกิดสงครามชาวบ้านเมืองถลางคงหนีภัยไป หลบซ่อน ตามที่ลุ่มของหุบเขาพระแทว เพราะมีหลักฐานสวนผลไม้โบราณที่มีอายุประมาณ 150-300 ปี อยู่มากมายตามหุบเขาพระแทว เป็นการปลูกอย่างจงใจ โดยปลูกเป็นกลุ่มๆ มีทั้งสะตอ ลูกเนียง มะม่วง ส้มควาย จําปาดะ ทุเรียน โตนด เช่น ที่น้ำเต้า แม่ปลา บางรวม ตรอกยี่งัว ฯลฯ จึงนํามาเชื่อมโยงได้ว่าวัดร้างน่าจะเคยเป็นวัด และเป็นที่ทหารท้าวเทพฯ มาปักหลักชักชวนชาวบ้านที่หนีภัยสงครามไปหลบซ่อนในหุบเขา และออกมาเป็นไพล่พลทหารท้าวเทพฯ เพื่อรบกับทัพพม่า แต่อาจร้างไปในช่วง 100-150 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า “โรคห่าลง” มีการเล่าต่อๆ กันมาว่าชาวบ้านต้องเปิดหลังคาบ้าน อพยพหนีออกจากหมู่บ้านนี้เมื่อเกิดโรคห่าลง เผาศพฝังศพไม่ทัน ยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่คือชิ้นส่วนกระเบื้องถ้วยชาม หม้อ ไห ที่โคกท้อน ซึ่งอยู่ติดกับวัดร้างด้านทิศเหนือ และเคยมีการขุดพบขี้ตะกรันจํานวนมากในร่องคลองเหมืองคลองชักน้ำทํานาของชาวบ้านที่ผ่านพื้นที่วัด โดยมีการขุดขึ้นมาขายจํานวนมากในช่วงที่ชาวภูเก็ตตื่นตะกรัน ประมาณปี พ.ศ.2525-2532

จากการขุดค้นขุดแต่งของสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต และชาวบ้านแขนน โดยการสนับสนุนของจังหวัดภูเก็ต (1,400,000 บาท) และองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี (50,000 บาท) เมื่อ พ.ศ.2548-2549 เพื่อศึกษาลักษณะเจดีย์เก่าที่ถูกสร้างครอบทับไว้นั้น พบว่าเจดีย์เก่ามีฐานรูปทรงสี่เหลี่ยม มีฐานบัวคว่ำบัวหงายฉาบด้วยปูน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ยังพบภาชนะบรรจุอัฐิจำนวน 2 ใบ และกาน้ำชาดินเผาเคลือบสีน้ำตาล 1 ใบ 

รายละเอียดโดยสังเขปของเจดีย์และการขุดค้นขุดแต่งคือ เจดีย์โบราณทั้ง 3 องค์ก่อด้วยอิฐถือปูน โดยมีส่วนผสมของปูนหมักปูนตํา อิฐเป็นอิฐโบราณ ขนาดกว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร และหนา 5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดของอิฐสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบเจดีย์องค์ที่ 1 (องค์ด้านทิศใต้) และองค์ที่ 2 (องค์กลาง) เป็นเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม ส่วนเจดีย์องค์ที่ 3 (องค์ด้านทิศเหนือ) เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

รูปแบบเจดีย์โบราณทั้ง 3 องค์ นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจดีย์ดังกล่าวน่าจะใช้ประโยชน์เป็นที่บรรจุอัฐิบุคคลสําคัญในท้องถิ่นบ้านแขนน

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์โบราณวัดแขนน 3 องค์ สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

     1. โบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม

          1.1 ก้อนอิฐ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ อิฐเผาสุกทั้งก้อน เนื้ออิฐสีส้มคละสีแดง รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดใกล้เคียงกันทั้ง 3 องค์

          1.2 หิน เป็นหินรองฐานเจดีย์ และเป็นหินที่ใช้แทรกอยู่องค์เจดีย์เพื่อปรับฐานและโครงสร้างเจดีย์ให้สมดุลแข็งแรง ชนิดของหินเป็นหินชั้น มีขนาดใกล้เคียงกันทั้ง 3 องค์

     2. ภาชนะดินเผาต่างประเทศ

          2.1 กาน้ำชาเคลือบสีน้ำตาล ศิลปะจีนตรงกับช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบบริเวณฐานเจดีย์องค์ที่ 1 (องค์ด้านทิศใต้) ด้านทิศตะวันออก

          2.2 กระปุกเคลือบสีน้ำเงินขาว ศิลปะจีน พบบริเวณฐานเจดีย์องค์ที่ 1 (องค์ด้านทิศใต้) ด้านทิศตะวันออก

          2.3 โถเคลือบสีน้ำตาล มีฝาปิด ตกแต่งฝาด้วยลายดอกไม้สีน้ำตาล พบบริเวณฐานเจดีย์องค์ที่ 1 (องค์ด้านทิศใต้) ด้านทิศตะวันออก

     3. โบราณวัตถุอื่นๆ

          3.1 ชิ้นส่วนปล้องไฉนดินเผา มีลักษณะทําเป็นแว่นกลมๆ แล้วถากด้วยมือ

          3.2 หินสีเขียวทรงกลมแบนคล้ายเม็ดกระดุม พบบริเวณฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 ของเจดีย์องค์ที่ 3 (องค์ด้านทิศเหนือ)

          3.3 ขันสำริด พบบริเวณฐานเจดีย์องค์ที่ 2 (องค์กลาง) ตรงส่วนก้นเจาะตรงกลางเพื่ออุทิศให้ผู้ตาย

     4. ภาชนะบรรจุอัฐิ พบฝังอยู่ที่ส่วนฐานขององค์เจดีย์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีวัดแขนน (ออนไลน์) . เข้าถึงเมื่อ 18 เมษายน 2557. แหล่งที่มา http://www.finearts.go.th/olddata/files/Phuket_Wat_Ka_Nan.pdf

สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต. รายงานการขุดแต่งวัดแขนน. ภูเก็ต : สำนักฯ, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี