โนนนกทา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โนนป่ากล้วย

ที่ตั้ง : ม.16 บ้านโนนนกทา ต.กุดธาตุ อ.หนองนาคำ

ตำบล : กุดธาตุ

อำเภอ : หนองนาคำ

จังหวัด : ขอนแก่น

พิกัด DD : 16.800941 N, 102.311589 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : พอง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยใหญ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากที่ว่าการอำเภอหนองนาคำ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2133 มุ่งหน้าทิศเหนือสู่ตำบลกุดธาตุ ไปตามถนนประมาณ 3.6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนมุ่งหน้าบ้านโนนนกทา ประมาณ 1.2 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวา ไปตามถนน 130 เมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนลูกรัง 650 เมตร พบแหล่งโบราณคดีโนนนกทา หรือโนนป่ากล้วย (เป็นสวนกล้วย ป่าไผ่ และไร่อ้อย) อยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

แหล่งโบราณคดีอยู่ในที่ดินเอกชน ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ลอนลูกคลื่น

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีโนนนกทาหรือโนนป่ากล้วย ตั้งอยู่ห่างมาทางทิศใต้ของชุมชมบ้านโนนนกทาประมาณ 400 เมตร ปัจจุบันมีสภาพเป็นเนินดินกว้างประมาณ 110 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ยาวประมาณ 160 เมตร (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) สูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม (ไร่และนา) ประมาณ 2-3 เมตร บนเนินดินเป็นสวนกล้วย สวนไผ่ และไร่อ้อยชาวบ้าน มีเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินชิ้นเล็กๆ สีน้ำตาลเทาและส้มกระจายตัวอยู่ตามผิวดิน บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยลวดลายเชือกทาบ

ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือมีห้วยใหญ่ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านติดกับเนินดิน (ลำห้วยด้านทิศเหนือตื้นเขินแล้วในบางช่วง) ลำห้วยนี้มีต้นกำเนิดจากภูเวียง และไหลลงสู่หนองนาคำและแม่น้ำพองที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งประมาณ 2.8 และ 3.6 กิโลเมตร ตามลำดับ

ลักษณะพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ลอนลูกคลื่นระหว่างภูเวียงกับแม่น้ำพอง โดยภูเวียงตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร และแม่น้ำพองอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 3.6 กิโลเมตร พื้นที่จึงมีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

195 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยใหญ่, แม่น้ำพอง

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานป็นหินทรายในหมวดหินภูกระดึง

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : Donn T. Bayard

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : ขุดค้น

ผลการศึกษา :

Donn T. Bayard (1970 ; 1971 ; 1977) ขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนนกทาเป็นครั้งแรก ครอบคลุมพื้นที่ 150 ตารางเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : Donn T. Bayard

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2511

วิธีศึกษา : ขุดค้น

ผลการศึกษา :

Donn T. Bayard (1970 ; 1971 ; 1977) ขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนนกทาเป็นครั้งที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 190 ตารางเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : Michael Pietrusewsky

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517

วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน

ผลการศึกษา :

Dr.Michale Pietrusewsky (1974) เผยแพร่ผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์รวม 87 โครงจาก 115 หลุมฝังศพ

ชื่อผู้ศึกษา : Charles Higham

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518

วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์

ผลการศึกษา :

Charles Higham เผยแพร่ผลการศึกษากระดูกสัตว์ที่พบจากการขุดค้นใน พ.ศ.2509

ชื่อผู้ศึกษา : เขมชาติ เทพไชย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ศึกษาซากพืช

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

: เขมชาติ เทพไชย เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ม.ศิลปากร ในหัวข้อ “พืชสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณถ้ำผีแมนและโนนนกทา” ศึกษาพืชที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน และโนนนกทา จ.ขอนแก่น โดยศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น บ้านเชียง แหล่งโบราณคดีในประเทศจีน อินเดีย เปรู อียิปต์ อิรัก ตุรกี และประเทศในอเมริกากลาง

ชื่อผู้ศึกษา : Donn T. Bayard

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2520

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

Donn T. Bayard (1977) เผยแพร่ผลการศึกษาภาชนะดินเผาและการจัดลำดับอายุสมัยชั้นวัฒนธรรมแหล่งโบราณคดีโนนกนทา

ชื่อผู้ศึกษา : William Kevin MacDonald

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

William Kevin MacDonald (1980) ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรมของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่โนนนกทา

ชื่อผู้ศึกษา : William Meacham

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

ผลการศึกษา :

William Meacham (1980) ศึกษาและวิเคราะห์ถึงอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณ โดยทดสอบและวิเคราะห์จากเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบจากโนนนกทาและพิมาย

ชื่อผู้ศึกษา : ประพิศ ชูศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ประพิศ ชูศิริ (2535) รวบรวมผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งที่โนนนกทา

ชื่อผู้ศึกษา : Elisabeth A. Bacus

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

Elisabeth A. Bacus (2006) เผยแพร่ผลการศึกษาตีความสภาพสังคมสมัยสำริดของแหล่งโบราณคดีโนนนกทา โดยเฉพาะบทบาทด้านเพศและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ชื่อผู้ศึกษา : Michele Toomay Douglas

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน, ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

Michele Toomay Douglas เผยแพร่ผลการศึกษาวิถีการดำรงชีวิตและสุขภาพในช่องปากของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา

ชื่อผู้ศึกษา : Elisabeth A. Bacus

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพสังคม/วัฒนธรรม

ผลการศึกษา :

Elisabeth A. Bacus (2007) เผยแพร่ผลการศึกษาตีความบทบาทเรื่องเพศในสมัยสำริดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยศึกษาตัวอย่างหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา ในบทความ “Expressing Gender in Bronze Age North East Thailand : The Case of Non Nok Tha.” ในหนังสือ “Archaeology and women : ancient and modern issues”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พื้นที่โนนนกทาหรือโนนป่ากล้วย เป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ได้รับการขุดค้นโดย ดร.ดอนน์ เบเยิร์ด (Donn Bayard) นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ใน พ.ศ.2509 และ พ.ศ.2511 ส่วนโครงกระดูกมนุษย์รวม 87 โครงจาก 115 หลุมฝังศพ ได้รับการวิเคราะห์โดย Dr.Michale Pietrusewsky (1974) และจัดพิมพ์รายงานเผยแพร่ในปี พ.ศ.2517

การขุดค้นของ ดร.ดอนน์ เบเยิร์ด (Bayard 1970 ; 1971 ; 1977 ; สุรพล นาถะพินธุ 2550) ในครั้งแรกครอบคลุมพื้นที่ 150 ตารางเมตร ส่วนการขุดค้นครั้งที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ 190 ตารางเมตร เท่ากับว่าพื้นที่ที่ขุดค้นมีเพียง 3.2% ของพื้นที่แหล่งซึ่งมีขนาดราว 10,630 ตารางเมตร

แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็พบหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 205 หลุม และพบภาชนะดินเผาทั้งที่สมบูรณ์และเกือบสมบูรณ์รวม 800 ใบ

ลักษณะชั้นหลักฐานทางโบราณคดีของโนนนกทานั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากการบกวน แต่ผู้ขุดค้นก็สามารถใช้ลักษณะของภาชนะดินเผาและรูปแบบของการฝังศพเป็นเครื่องแบ่งลำดับอายุสมัยของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งนี้ออกได้เป็น 3 สมัยใหญ่ๆ คือ สมัยต้น (Early Period) สมัยกลาง (Middle Period) และสมัยปลาย (Late Period) โดยมีรายละเอียดดังนี้

สมัยต้น (Early Period)

จากตัวอย่างแกลบข้าวที่ติดอยู่ในเนื้อดินภาชนะดินเผาใต้หลุมฝังศพ เมื่อนำไปหาค่าอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 ได้ค่าอายุประมาณ 3,500 ปีก่อน ค.ศ. หรือราว 5,500 ปีมาแล้ว จากการวิเคราะห์ข้าวพบว่าเป็นข้าวปลูก ชนิด Oryza sativa (ชิน อยู่ดี 2517 : 175)

ดังนั้นสมัยแรกเริ่มใช้พื้นที่โนนนกทาของคนก่อนประวัติศาสตร์ น่าจะมีอายุระหว่าง 5,500-4,500 ปีมาแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ระยะย่อยตามลักษณะของรูปแบบการฝังศพ การใช้แกลบข้าวปสมในเนื้ดินที่ใช้ทำภาชนะดินเผาสมัยต้น แสดงนัยว่าคนในสมัยเริ่มแรกของโนนนกทาได้เพาะปลูกข้าวแล้ว นอกจากนี้ยังน่าจะมีการเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น วัว สุนัข และหมู

อย่างไรก็ตาม ชุมชนแรกเริ่มของโนนนกทาก็ยังคงมีการล่าสัตว์ป่าอยู่ ดังจะเห็นได้จากกระดูกกวางและกระดูกสัตว์ป่าหลายชินิด

ภาชนะดินเผาของสมัยต้นนี้มีหลายแบบด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นภาชนะก้นกลม ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ นอกจากนี้ยังมีภาชนะที่ตกแต่งด้วยลายขีดลักษณะวิจิตรซับซ้อน ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือที่ยังมีการใช้อยู่ แต่ก็ได้พบเศษสำริดเล็กน้อย และได้พบหัวขวานโลหะซึ่งอาจเป็นทองแดงหรือสำริด 1 ชิ้น ในหลุมฝังศพหลุมหนึ่งของระยะที่ 3 ของสมัยต้น (Bayard 1977 : 63)

สมัยกลาง (Middle Period)

มีอายุระหว่าง 4,500-1,800 ปีมาแล้ว แบ่งออกได้เป็น 8 ระยะย่อย และจัดเป็นสมัยที่ปรากฏการใช้สำริดแล้วอย่างแพร่หลาย มีภาชนะดินเผาแบบใหม่ๆ ปรากฏเพิ่มขึ้น เบ้าหลอมโลหะและแม่พิมพ์หินทรายที่พบแสดงให้เห็นว่ามีการหล่อสำริดขึ้นใช้เองภายในชุมชน แม้ว่าลักษณะการดำรงชีวิตส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับสมัยแรก แต่วัตถุพิเศษที่พบในหลุมฝังศพก็แสดงว่าเริ่มปรากฏความแตกต้างของสมาชิกในสังคมแล้วค่อนข้างชัดเจน ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับการติดต่อแลกเปลี่ยนที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

สมัยปลาย (Late Period)

มีอายุครอบคลุมตั้งแต่ราว 1,000 ปีมาแล้วเป็นต้นมา เริ่มขึ้นหลังจากแหล่งถูกทิ้งร้างไปชั่วระยะหนึ่ง และแบ่งออกได้เป็น 6 ระยะย่อย ในสมัยปลายของโนนนกทานี้มีการใช้เหล็กทำเครื่องมือใช้สอย และนิยมประเพณีการเผาศพแล้ว

การกำหนดอายุของลำดับชั้นวัฒนธรรมสมัยต่างๆ ของแหล่งโบราณคดีโนนนกทานั้น ยังเป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้ขุดค้น (Bayard 1977 : 64) เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากว่าสมัยต้นมีอายุอยู่ระหว่าง 3,500-2,500 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 5,500-4,500 ปีมาแล้ว สมัยกลางมีอายุระหว่าง 2,500 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ.200 หรือประมาณ 4,500-1,700 ปีมาแล้ว และสมัยปลายมีอายุตั้งแต่ราว ค.ศ.1000 เป็นต้นมา

 

ประพิศ ชูศิริ (2535) รวบรวมผลการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งที่โนนนกทา ดังนี้

โครงกระดูกมนุษย์จากการขุดค้น พ.ศ.2509 จำนวน 83 โครง

เพศชาย 25 โครง, เพศหญิง 33 โครง, ไม่สามารถจำแนกเพศได้ 25 โครง

อายุเฉลี่ยเมื่อเสียชีวิต 37-48 ปี

เพศชายสูงเฉลี่ย 163-186 เซนติเมตร (สูตรอเมริกันผิวขาว)

เพศหญิงสูงเฉลี่ย 144-170 เซนติเมตร (สูตรอเมริกันผิวขาว)

โครงกระดูกมนุษย์จากการขุดค้น พ.ศ.2511 จำนวน 118 โครง

เพศชาย 53 โครง, เพศหญิง 27 โครง, เด็ก 29 โครง, ไม่สามารถจำแนกเพศได้ 9 โครง

อายุเฉลี่ยเมื่อเสียชีวิต 20-35 ปี

เพศชายสูงเฉลี่ย 162-173 เซนติเมตร (สูตรมองโกลอยด์) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

เขมชาติ เทพไชย. “พืชสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณถ้ำผีแมนและโนนนกทา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.

ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์. สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์, 2542.  

ชิน อยู่ดี. “ข้าวจากหลักฐานโบราณคดีในไทย.” ใน อดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2517.

ประพิศ ชูศิริ. ประวัติการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์เท่าที่ผ่านมา. กรุงเทพฯ : มปท., 2535.

สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้า บรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.

Bacus, Elisabeth A. “Social Identities in Bronze Age Northeast Thailand: Intersections of Gender, Status and Ranking at Non Nok Tha.” In European Association of Southeast Asian Archaeologists. International Conference (10th : 2004 : British Museum). Uncovering Southeast Asia's past :selected papers from the 10th International Conference of the European Association of Southeast Asian Archaeologists : the British Museum, London, 14th-17th September 2004. Singapore : NUS Press, 2006.                                

Bacus, Elisabeth A. “Expressing Gender in Bronze Age North East Thailand : The Case of Non Nok Tha.” In Archaeology and women : ancient and modern issues. Calif. : Left Coast Press, 2007.

Bayard, Donn T. “Excavation at Non Nok Tha, Northeastern Thailand, 1968 : an interim report.” Asian Perspectives 13 (1970) : 109-143.

Bayard, Donn T. Non Nok Tha : the 1968 excavation, procedure, stratigraphy and summary of the evidence. New Zealand : Department of Anthropology University of Otago, 1971.

Bayard, Donn T. “Phu-Wiang Pottery and the Prehistory of Northeastern Thailand.” In Modern Quaternary Research in Southeast Asia 3 (1977) : 57-102.

Higham, Charles. Non Nok Tha : the faunal remains from the 1966 and 1968 excavations at Non Nok Tha, Northeastern Thailand. [New Zealand] : Department of Anthropology, University of Otago, 1975.

Douglas, Michele Toomay. “Subsistence change and dental health in the people of Non Nok Tha, northeast Thailand.” in Bioarchaeology of Southeast Asia.         Cambridge : Cambridge University Press, 2006.

MacDonald, William Kevin. Some implications of societal complexity : organizational variability at Non Nok Tha, Thailand (2000-0 B.C). Michigan : University Microfilms International, 1980.

Meacham, William. “Determination of the original firing temperature of ceramics from non nok Tha and Phimai, Thailand.” Journal of the Siam Society 68, part2 (July 1980) : 11-14.

Pietrusewsky, Michael. Non Nok Tha : the human skeletal remains from the 1966 excavations at Non Nok Tha, northeastern Thailand. [New Zealand] : Department of Anthropology University of Otago, 1974.

Pietrusewsky, Michael. “The palaeodemography of a prehistoric Thai population : Non Nok Tha.” Asian Perspectives 17, 2 (1974) : 125-140.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี