ถ้ำนาค


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ถ้ำเขานาค, เกาะสองพี่น้อง, เขาสองพี่น้อง

ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เกาะเขาสองพี่น้อง ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง

ตำบล : กระโสม

อำเภอ : ตะกั่วทุ่ง

จังหวัด : พังงา

พิกัด DD : 8.341615 N, 98.47334 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, อ่าวพังงา, คลองเขาตกน้ำ, คลองลัดกระโสม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดพังงา ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้สู่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ประมาณ 3 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 4144 มุ่งหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ไปตามถนนประมาณ 3 กิโลเมตร จะอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา     

เกาะเขาสองพี่น้อง ตั้งอยู่บนเกาะเขาหินปูนชื่อเกาะสองพี่น้อง อยู่ห่างจากบ้านเขาเปาะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 3.5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเกาะปันหยีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.8 กิโลเมตร

การเดินทางไปถ้ำนาคต้องใช้เรือขนาดเล็ก เพราะด้านหน้าถ้ำเป็นคลองขนาดเล็กที่แยกออกมาจากคลองลัดกระโสม สามารถลงเรือเล็กได้ 2 จุด คือ ลงเรือจากท่าเรือท่าด่าน อ่าวพังงา แล้วแยกเข้าคลองลัดกระโสม แล้วเข้าคลองเล็กทางหัวเกาะด้านทิศใต้แล่นเลียบเชิงผาไปยังถ้ำนาคได้ ซึ่งการเดินทางจะต้องใช้เรือหางยางขนาดเล็ก ถ้าลงเรือที่บ้านเขาเปาะจะใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ถ้ำนาค เขาสองพี่น้อง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของทางอุทยาน แต่ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้โดยเหมาเรือขนาดเล็ก

สอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 ม.1 ต.เกาะปันหยี อ.เมืองพังงา จ.พังงา 82000 โทร 076-412-188, 076-411-136

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

ลักษณะแหล่งโบราณคดีเป็นถ้ำขนาดใหญ่ในหน้าผาด้านทิศตะวันตกของเขาสองพี่น้องหรือเกาะสองพี่น้อง ซึ่งเป็นเขาหินปูนลูกโดดในแนวเทือกเขาภูเก็ต วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ปลายเกาะทางทิศใต้กว้าง 450 เมตร ส่วนทางทิศเหนือแคบเล็กกว้างเพียง 150 เมตร ตัวเกาะไม่มีที่ราบเชิงผา แต่เป็นหน้าผาสูงชันตลอดแนวทั้ง 2 ด้าน พื้นที่โดยรอบเป็นทะเลและป่าชายเลน ด้านทิศตะวันออกติดกับคลองเขาน้ำตก

ถ้ำนาคที่ปรากฏภาพเขียนสีตั้งอยู่ทางปลายเขาค่อนไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าถ้ำเป็นคลองขนาดเล็กที่แยกออกมาจากคลองลัดกระโสม ตัวถ้ำมีคูหาขนาดใหญ่มาก 2 คูหา ขนาดใกล้เคียงกันคือกว้างยาวประมาณ 100 เมตร เพดานสูงมากกว่า 50 เมตร ทางทิศตะวันออกมีช่องเขาทะลุขนาดใหญ่ ทำให้แสงสว่างสาดส่องเข้าได้เกือบทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังมีซอกหลืบเล็กๆ อีกมากมาย บริเวณพื้นถ้ามีเปลือกหอยอยู่มากมายปัจจุบันถูกขุดทำลาย (พเยาว์ เข็มนาค 2539)

ทางน้ำ

ทะเลอันดามัน, อ่าวพังงา, คลองเขาน้ำตก, คลองลัดกระโสม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะตามลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของอ่าวพังงาเป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีเตเชียสและยุคเทอร์เซียรีตอนต้น อายุประมาณ 36-136 ล้านปีมาแล้ว นอกจากนี้ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้เป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" และ "รอยเลื่อนพังงา" นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนลูกโดด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรง หรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าแหว่ง เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่ตอนปลาย?

อายุทางโบราณคดี

5,000-3,000 ปีมาแล้ว (จุรีกมล อ่อนสุวรรณ 2537), 5,000-2,000 ปีมาแล้ว (อัตถสิทธิ์ สุขขำ 2553)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการทำงานของโครงการฯ ปี พ.ศ.2530-2531 ในพื้นที่อ่าวลึก อ่าวพังงา ในหนังสือ “โบราณคดีภาคใต้ อ่าวลึก อ่าวพังงา” รวมถึงข้อมูลภาพเขียนสีถ้ำนาคเขาเขียน และยังมีการคัดลอกภาพเขียนสีด้วย (สุวิทย์ ชัยมงคล 2532)

ชื่อผู้ศึกษา : สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาแปลความจากการทำงานของโครงการฯ ในพื้นที่อ่าวลึก อ่าวพังงา ในบทความ “โบราณคดีอันดามันสมัยโฮโลซีน ที่อ่าวลึก อ่าวพังงา” (สุวิทย์ ชัยมงคล 2533)

ชื่อผู้ศึกษา : จุรีกมล อ่อนสุวรรณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จุรีกมล อ่อนสุวรรณ เสนอสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ต่อ ม.ศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณอ่าวลึกและอ่าวพังงา : กรณีศึกษาความสัมพันธ์ของการอยู่อาศัยและภาพเขียนสี” โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีในอ่าวลึก อ่าวพังงา ที่พบหลักฐานภาพเขียนสีและแหล่งที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พเยาว์ เข็มนาค รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย ในหนังสือ “ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศ” รวมถึงภาพเขียนสีที่ถ้ำนาค (พเยาว์ เข็มนาค 2539)

ชื่อผู้ศึกษา : ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, สมภพ พงษ์พัฒน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ต่อสกุล ถิรพัฒน์ ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์ เสนอสารนิพนธ์ต่อ ม.ศิลปากร เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” โดยได้อธิบายภาพเขียนสีที่พบที่เขาถ้ำนาค โดยเฉพาะภาพคน และเปรียบเทียบรูปแบบการเขียน ศึกษาพฤติกรรม วิถีดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อมของผู้สร้างสรรค์ภาพ

ชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งภาพเขียนสีถ้ำนาค

ชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อัตถสิทธิ์ สุขขำ เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) ต่อ ม.ศิลปากร ในหัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยประมวลและเรียบเรียงข้อมูลศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณ ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ ในภาคใต้ของไทย รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบลักษณะศิลปกรรมและศึกษาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่พบในพื้นที่ เพื่อกำหนดอายุภาพเขียนสีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้อัตถสิทธิ์ สุขขำ (2553 : 228) ได้กำหนดอายุภาพเขียนสีถ้ำนาคไว้ที่ประมาณ 5,000-2,000 ปีมาแล้ว ในสมัยหินใหม่ตอนปลาย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ถ้ำนาคเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหลายคูหา ภาพเขียนสีพบอยู่บนผนังด้านทิศตะวันออกของคูหาที่ 3 ซึ่งเป็นคูหาเล็กๆ ทางทิศเหนือของคูหาใหญ่ มีทางขึ้นแยกจากกัน พื้นคูหานี้อยู่สูงกว่าพื้นคูหาใหญ่หลายเมตร (สุวิทย์ ชัยมงคล 2532 : 43) คูหานี้นอกจากจะพบภาพเขียนสีแล้ว ภายในยังพบกองกระดูกสัตว์ ประเภทวัว/ควาย เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เครื่องมือกระดูกปลายแหลม 1 ชิ้น (จุลีกมล อ่อนสุวรรณ 2537 : 76) รวมทั้งกองกระดูกมนุษย์หรือร่องรอยการปลงศพจำนวนมาก สันนิษฐานเป็นการนำศพมาทิ้งไว้ของชาวน้ำหรือชาวเลในสมัยหลัง (สุวิทย์ ชัยมงคล 2532 : 46)

ภาพเขียนสีในถ้ำนาคแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม มีรายละเอียด ดังนี้ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 91-92)

กลุ่มที่ 1 ตำแหน่งภาพอยู่ด้านเหนือสุดของผนังสูงจากพื้นถ้ำประมาณ 180-200 เมตร เป็นภาพที่เขียนด้วยสีแดง พู่กันหนาลักษณะเป็นเส้นคู่ขนานตามแนวตั้ง ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นรูปอะไรเพราะสภาพหลุดร่อนเลือนมาก และบางส่วนของภาพถูกขูดลบสีออกไปด้วย

กลุ่มที่ 2 ตำแหน่งภาพอยู่ถัดจากกลุ่มที่ 1 ไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ในระดับความสูงเหนือพื้นถ้ำประมาณ 200 เมตร เป็นภาพที่เขียนด้วยสีแดงและสีดำลักษณะภาพไม่ชัดเจนเลอะเลือนสีหลุดร่อนไปมาก และมีรอยขูดภาพหลายส่วน ลักษณะที่พอมองเห็นได้ก็คือ รูปคล้ายตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ และรูปคล้ายกระโจม หรือภาชนะจักสานทรงสูง มีต้นไม่ปีกอยู่ข้างบน

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มภาพเขียนที่มีลักษณะชัดเจนอยู่คงรูปมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ตำแหน่งภาพอยู่บนผนังทางทิศใต้ของกลุ่มที่ 2 ระดับสูงประมาณ 3.5 เมตร เหนือพื้นถ้ำเป็นรูปขบวนเรือ 2 แถว เขียนในแนวนอนมีรูปปลาแทรกอยู่ระหว่างเรือในแถวล่าง ภาพเขียนในกลุ่มที่ 3 นี้ เขียนด้วยสีแดงทั้งหมด ประกอบด้วยภาพประมาณ 10 (ยังไม่นับจากซ้ายมือของผู้ดู)

ภาพที่ 1 ภาพเรือ เขียนด้วยลายเส้นโครงนอกแบบง่ายๆ ลักษณะเรือโค้งงอที่ปลายทั้ง 2 ด้าน ไม่แสดงรายละเอียดในตัวเรือ เส้นที่เป็นท้องเรือจนถึงปลายข้างซ้ายคงลบเลือนไป

ภาพที่ 2 ภาพส่วนหัวของเรือ อยู่ถัดขึ้นไปทางขวาของภาพแรกเล็กน้อย มีรูปเป็นเหลี่ยม 2 รูป ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหน้าของรูปแรก

ภาพที่ 3 ภาพปลา หัวตั้งเขียนด้วยลายเส้นโครงนอกแล้วระบายสีทึบลงบนส่วนหาง หัวและครีบ สำหรับหัวปลาที่ระบายสีทึบนั้นยังมีเว้นบางส่วนไว้ดูคล้ายลูกตา อยู่แถวเดียวกับภาพแรกห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร

ภาพที่ 4 ภาพปลา หันหัวเอียงขึ้นไปทางซ้ายเขียนให้เห็นด้านข้าง รูปทรงคล้ายปลาประเภทปลาแป้น (pony fish) หรือปลากระพง (snapper) แสดงให้เห็นครีบส่วนหางเป็นแฉกระบายสีทึบ ภายในลำตัวส่วนหลังทำเป็นจุดๆ เรียงแถวจากหัวไปหาหาง ส่วนหัวมีลายเส้นวกวนคล้ายจะแสดงส่วนของปากและแก้มปลา

ภาพที่ 5 ภาพเรือ อยู่แถวเดียวกับภาพแรกลักษณะเรือคล้ายกัน โดยมีภาพปลา อยู่บนหัวเรือ รายละเอียดของเรือคือการเขียนด้วยเส้นหนาทึบบริเวณหัวเรือด้านซ้ายมือของผู้ดู และท้ายเรือระบายสีทึบแล้วเว้นช่องว่างให้เป็นรูปเส้นนอนอันเป็นสีของผิวหินบริเวณท้ายเรือมีเส้นยื่นคล้ายหางเสือ 2 เส้น บริเวณท้องเรือภาพคงลบเลือนจึงเห็นเส้นไม่ต่อเนื่องกัน

ภาพที่ 6 ภาพปลาหรือเรือ น่าจะเป็นปลามากกว่าเขียนให้เห็นด้านข้างลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู เขียนด้วนลายเส้นมีหัวและคอเล็ก แล้วค่อยๆขยายกว้างไปทางส่วนหาง พอถึงบริเวณครีบท้องใกล้หางก็จะเรียวเล็กลงไปตัดกันทำให้หางเป็นแฉก หางปลามีเส้นทึบมากกว่าส่วนอื่น ภายในตัวปลาเขียนเป็นลายเส้นตั้งเรียงแถว เคยพบลายเขียนนี้บนตัวปลาโลมาปากขวด (bottle dolphin) ที่เกาะเขาเขียนด้วย บริเวณครีบบนหลังทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า

จากภาพที่ 1-6 เจ้าของภาพเขียนได้จงใจวางภาพเหล่านี้ให้เป็นแถว มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันโดยมีปลาว่ายตามเรือไปด้วย ส่วนภาพแถวบนตั้งแต่ภาพที่ 7-10 ก็อยู่ในลักษณะที่วางรูปให้เป็นแถวเช่นกัน

ภาพที่ 7 และ 8 เหลือเพียงส่วนท้าย และหัวของเรือเท่านั้น เป็นภาพที่ระบายสีทึบ ภาพทั้งสองอยู่ติดกันโดยมีภาพที่ 9 เป็นภาพคล้ายคนหรือส่วนหัวหรือท้ายของเรือ ต่อไปเป็นภาพที่ 10 มีแต่ส่วนหัวของเรือเช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ 4 ตำแหน่งภาพอยู่บนผนังเหนือภาพกลุ่มที่ 3 ในระดับความสูงประมาณ 4.5 เมตรเหนือพื้นถ้ำ ลักษณะเป็นรูปเรือขนาดใหญ่กว่ากลุ่มที่ 3 คือ มีความยาวประมาณ 1 เมตร และมีรูปคล้ายปลาอยู่ข้างๆ แต่สภาพเลือนมากเพราะภาพอยู่ในตำแหน่งที่น้ำฝนละลายหินปูนไหลลงมาเคลือบภาพจนแทบจะมองไม่เห็น และไม่สามารถปีนขึ้นไปคัดลอกภาพได้ สำหรับลักษณะรูปแบบของเรือในกลุ่มที่ 4 เป็นเช่นเดียวกับภาพของเรือในกลุ่มที่ 3

กลุ่มที่ 5 ภาพเขียนกลุ่มนี้อยู่นอกคูหาที่ 3 คืออยู่บนผนังหลืบเล็กๆ ถัดออกไปทางทิศเหนือลักษณะเป็นลายเส้นเขียนต่อกันคล้ายตารางเล็กๆ รูปแบบไม่ชัดเจน

ลักษณะของภาพเขียนสีแบบดั้งเดิมในคูหาที่ 3 ของถ้ำนาคนั้น มีวิธีการและเทคนิคการเขียนแบบใช้สีเปียกผสมค่อนข้างเจือจาง สีที่ทาบนผนังไม่หนา และใช้พู่กันหรือแปรงหนา ส่วนมากจะเขียนแบบลายเส้นโครงร่างภายนอกระบายสีทึบเป็นบางส่วนหรือระบายสีเป็นบางจุด (outline and silhouette) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปเรือที่เขียนเส้นโครงร่างภายนอกแสดงรูปทรงด้านข้างของเรือ แล้วระบายสีทึบแต่งเติมที่ส่วนหัวและท้ายของเรือทั้ง 2 ข้าง บางครั้งอาจจะระบายสีทึบทั้งลำเลยก็ได้แต่ภาพไม่ชัดเจนนัก ลักษณะรูปเรือแบบนี้คล้ายกับรูปเรือที่พบในเพิงผาเขาเขียน อ่าวพังงา และถ้ำผีหัวโต จ.กระบี่

ส่วนปลาในกลุ่มที่ 3 นั้น เขียนเป็น 2 ลักษณะคือเขียนเป็นเส้นโครงร่างภายนอก แล้วระบายสีทึบที่ส่วนหางมีการตกแต่ง ส่วนหัว ตา และทำเกล็ดเป็นจุดๆ ที่มีน้ำหนัก จุดหนา-บางได้สัดส่วน เป็นภาพเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด อีกแบบหนึ่งคือรูปคล้ายปลา และมีส่วนคล้ายคลึงกับภาพที่ผนังหินผาเขาเขียน อ่าวพังงา คือเขียนเส้นโครงร่างภายนอก แล้วตกแต่งภายในด้วยเส้นเป็นระยะ และเป็นเทคนิคที่พบมากที่ถ้ำผีหัวโต อ่าวกระบี่ด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

จุรีกมล อ่อนสุวรรณ. “การศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณอ่าวลึกและอ่าวพังงา : กรณีศึกษาความสัมพันธ์ของการอยู่อาศัยและภาพเขียนสี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.

ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

พัชรี สาริกบุตร. “เขาเขียน.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/south/index.html

สานิต พรทัศน์. “ตำนานเขาเขียน.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 3. สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2529 : 1273-1274.

สุวิทย์ ชัยมงคล. โบราณคดีภาคใต้ อ่าวลึก อ่าวพังงา. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532.

สุวิทย์ ชัยมงคล. “ภาพเขียนสีแหล่งใหม่ที่เขาเขียน อ่าวพังงา.” ศิลปากร 31, 3 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2530) : 4-14.

สุวิทย์ ชัยมงคล. “โบราณคดีอันดามันสมัยโฮโลซีน ที่อ่าวลึก อ่าวพังงา.” เมืองโบราณ 16, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2533) : 87-95.

อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี