เขาเขียน


โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : เกาะเขียน, เกาะเขาเขียน

ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

ตำบล : เกาะปันหยี

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : พังงา

พิกัด DD : 8.34544 N, 98.50333 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, อ่าวพังงา, คลองเกาะปันหยี, คลองในหงบ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดพังงา ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้สู่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ประมาณ 3 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 4144 มุ่งหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ไปตามถนนประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบท่าเรือรับจ้างของชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆ ที่นำเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา การเดินทางไปเขาเขียนต้องโดยสารเรือบริเวณนี้ ซึ่งเขาเขียนก็เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ     

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ภาพเขียนสีภายในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน คือ เขาพระอาดเฒ่า เขานาค เขาระย้า และเขาเขียน แต่ทว่ามีเพียงเขาเขียนแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวของอุทยานฯ ในเขตอำเภอเมืองพังงา (การเดินทางไปเขาพระอาดเฒ่า ต้องโดยสารเรือที่อำเภอตะกั่วทุ่ง) เพราะเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือและสามารถเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก

นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมภาพเขียนสีที่เขาเขียนได้ทุกวันด้วยการโดยสารเรือเท่านั้น โดยสามารถโดยสารเรือได้ที่ท่าเรือต่างๆ ดังนี้

1. ท่าเรือในบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีเรือเร็ว และเรือหางยาวไว้บริการ เวลาที่ใช้เดินทางไปชมอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาโดยทั่วไป ประมาณ 3 ชั่วโมง สามารถจัดเป็นรายการท่องเที่ยวได้ครึ่งวัน ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร เริ่มต้นที่ราคา 1,500 บาท

เส้นทางท่องเที่ยวครึ่งวัน ได้แก่ เกาะหมาจู ถ้ำลอด เขาตะปู เขาพิงกัน (หากต้องการขึ้นเกาะเพื่อชมเขาตะปูและเขาพิงกัน ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 บาท) เกาะปันหยี (ได้ขึ้นเกาะไปเที่ยวชมและซื้อของฝาก) และเขาเขียน

นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังมีที่พักและเต็นท์ไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีบ้านพัก 5 หลัง พักได้หลังละ 4 คน และ 12 คน ราคา 350-700 บาท และเต็นท์หลังละ 200 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 80 ม.1 ต.เกาะปันหยี อ.เมืองพังงา จ.พังงา 82000 โทร 076-412-188, 076-411-136

2. ท่าเรือท่าด่านศุลกากร ใกล้โรงแรมพังงาเบย์รีสอร์ท มีเรือนำเที่ยวหลายขนาด ถ้าเดินทางมาเป็นคณะใหญ่ ควรลงเรือที่ท่านี้ เพราะมีเรือขนาดใหญ่คอยบริการ

3. ท่าเรือสุระกุล หรือ ท่าเรือกะโสม ในอำเภอตะกั่วทุ่ง มีเรือให้เช่าขนาดนั่งได้ 21-30 คน

หากไม่มีรถส่วนตัว นักท่องเที่ยวสามารถโดยสารรถประจำทางจากตัวจังหวัดไปที่อุทยานฯ ได้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา, ภูเขา

สภาพทั่วไป

เขาเขียนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีลักษณะเป็นเกาะเขาหินปูน เนื่องจากมีน้ำล้อมรอบ โดยทางทิศตะวันออกของเขาเป็นคลองเกาะปันหยี ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นคลองในหงบ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะปันหยี (ห่างจากเกาะปันหยีมาทางทิศเหนือประมาณ 350 เมตร ส่วนตัวแหล่งห่างจากเกาะปันหยีมาทางทิศเหนือประมาณ 700 เมตร) ภูเขาลูกนี้วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ 2.3 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของภูเขามีเพิงผา รอยเว้าเข้าไปในเพิงผา (notch) เป็นร่องยาวตามแนวของภูเขาที่ขนานไปกับน้ำทะเล รวมถึงโพรงถ้ำขนาดเล็ก ตำแหน่งที่พบภาพเขียนสีอยู่ที่รอยเว้าและโพรงชั้นล่างสุด สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3-5 เมตร เป็นเพิงผาที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์ภาพและการอยู่อาศัย เนื่องจากสามารถป้องกันแดดฝนได้ดี และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงจนเกินไป สามารถปีนป่ายเข้าไปได้

ภาพเขียนสีที่พบมีทั้งหมด 7 กลุ่ม (สุวิทย์ ชัยมงคล 2532 : 38-39) โดยภาพกลุ่มที่ 2 พบด้านทิศใต้ของกลุ่มที่ 1 ห่างไปประมาณ 110 เมตร ส่วนกลุ่มที่ 3-7 อยู่ด้านทิศเหนือของกลุ่มแรก โดยกลุ่มที่ 7 อยู่ห่างจากกลุ่มที่ 1 ไปทางทิศเหนือประมาณ 1,500 เมตร 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3-5 เมตร

ทางน้ำ

ทะเลอันดามัน, อ่าวพังงา, คลองเกาะปันหยี, คลองในหงบ

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะตามลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของอ่าวพังงาเป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีเตเชียสและยุคเทอร์เซียรีตอนต้น อายุประมาณ 36-136 ล้านปีมาแล้ว นอกจากนี้ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้เป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" และ "รอยเลื่อนพังงา" นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนลูกโดด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรง หรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าแหว่ง เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสำริด, สมัยเหล็ก, สมัยหินใหม่

อายุทางโบราณคดี

5,000-2,000 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : Lunet De Lajonquiére

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2455

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

ผลการศึกษา :

Lunet De Lajonquiére ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์การค้นพบภาพเขียนสีที่เขาเขียนเป็นครั้งแรก (และนับเป็นการค้นพบภาพเขียนสีบนผนังหินเป็นครั้งแรกของภาคใต้) ในบทความเรื่อง “ความเรียงเรื่องโบราณคดีของสยาม (Essai d’Inventaire Archaéologique du Siam)”

ชื่อผู้ศึกษา : สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจเก็บข้อมูลภาพเขียนสีที่เขาเขียนอย่างละเอียด และเผยแพร่ข้อมูลในวารสารศิลปากร (สุวิทย์ ชัยมงคล 2530)

ชื่อผู้ศึกษา : สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการทำงานของโครงการฯ ปี พ.ศ.2530-2531 ในพื้นที่อ่าวลึก อ่าวพังงา ในหนังสือ “โบราณคดีภาคใต้ อ่าวลึก อ่าวพังงา” รวมถึงข้อมูลภาพเขียนสีเขาเขียน และยังมีการคัดลอกภาพเขียนสีด้วย (สุวิทย์ ชัยมงคล 2532)

ชื่อผู้ศึกษา : สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาแปลความจากการทำงานของโครงการฯ ในพื้นที่อ่าวลึก อ่าวพังงา ในบทความ “โบราณคดีอันดามันสมัยโฮโลซีน ที่อ่าวลึก อ่าวพังงา” (สุวิทย์ ชัยมงคล 2533)

ชื่อผู้ศึกษา : จุรีกมล อ่อนสุวรรณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จุรีกมล อ่อนสุวรรณ เสนอสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ต่อ ม.ศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณอ่าวลึกและอ่าวพังงา : กรณีศึกษาความสัมพันธ์ของการอยู่อาศัยและภาพเขียนสี” โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีในอ่าวลึก อ่าวพังงา ที่พบหลักฐานภาพเขียนสีและแหล่งที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พเยาว์ เข็มนาค รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย ในหนังสือ “ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศ” รวมถึงภาพเขียนสีที่เขาเขียน (พเยาว์ เข็มนาค 2539)

ชื่อผู้ศึกษา : ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์, สมภพ พงษ์พัฒน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ต่อสกุล ถิรพัฒน์ ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์ จัดทำสารนิพนธ์เสนอต่อ ม.ศิลปากร เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้” โดยได้อธิบายภาพเขียนสีที่พบที่เขาเขียน โดยเฉพาะภาพคน และเปรียบเทียบรูปแบบการเขียน ศึกษาพฤติกรรม วิถีดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อมของผู้สร้างสรรค์ภาพ

ชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งภาพเขียนสีเขาเขียน

ชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

อัตถสิทธิ์ สุขขำ เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) ต่อ ม.ศิลปากร ในหัวข้อ “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยประมวลและเรียบเรียงข้อมูลศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณ ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ ในภาคใต้ของไทย รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบลักษณะศิลปกรรมและศึกษาร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่พบในพื้นที่ เพื่อกำหนดอายุภาพเขียนสีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้อัตถสิทธิ์ สุขขำ (2553 : 228) ได้กำหนดอายุภาพเขียนสีเขาเขียนไว้ที่ประมาณ 5,000-2,000 ปีมาแล้ว ในสมัยหินใหม่ตอนปลาย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เขาเขียนปรากฏภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 5,000-3,000 หรือ 5,000-2,000 ปีมาแล้ว ที่บริเวณหน้าผาด้านทิศตะวันออกริมอ่าวพังงา สันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้วาดโดยคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยในบริเวณนี้ และนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม

การกล่าวถึงภาพเขียนสีแห่งนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในเอกสารเรื่อง Eassai d' Inventaire Archeologique du Siam โดยนายเอเตียน เอ็ดมองต์ ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์ (E.E.Lunet de Lajonquiere) ตีพิมพ์ในกรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2455 ต่อมากรมศิลปากรจึงได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลจริงจังใน พ.ศ.2530           

จากการศึกษาที่ผ่านมาของกรมศิลปากรพบว่าภาพเขียนสีที่ปรากฎมีอยู่ด้วยกัน 7 กลุ่ม บางกลุ่มมีภาพหนาแน่น มีการเขียนซ้อนทับกัน 2-3 ครั้ง ลักษณะของภาพมีหลายแบบ มีทั้งที่เป็นภาพลายเส้นแบบเค้าโครงร่างรอบนอก (outline) แบบระบายเงาทึบ (silhouette) และแบบแสดงโครงร่างภายใน (x-ray) หรือแสดงโครงร่างรอบนอก แล้วตกแต่งลวดลายภายใน

ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง สีส้ม และสีเหลือง ประกอบไปด้วย ภาพคน ภาพสัตว์น้ำจำพวกปลา โลมา ปู ภาพสัตว์บก เช่น นก ตะกวด เป็นต้น ภาพคนกับภาพสิ่งของ และภาพวัตถุบางอย่างที่ดูแปลกตา รวมทั้งภาพสัญลักษณ์บางอย่างด้วย

รายละเอียดภาพทั้ง 7 กลุ่ม (สุวิทย์ ชัยมงคล 2530 ; พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 93) มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มภาพเขียนที่มีภาพหนาแน่นที่สุดในจำนวน 7 กลุ่ม ภาพเขียนที่ปรากฏได้ชัดเจนเมื่อแล่นเรือผ่าน สามารถหยุดแวะชมได้ โดยไม่เสียเวลามากนักเพราะเป็นทางผ่านอยู่แล้ว ลักษณะของภาพมีการเขียนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยดูจากภาพที่ซ้อนกัน รูปแบบการเขียนที่ต่างกัน สีที่ใช้เขียนมีสีแดง สีส้ม สีเหลือง มีการเขียนระบายสีทึบด้วยสีแดงสีเดียวเป็นภาพหลายคน ภาพตะกวดภาพเขียนโครงร่างภาพนอกเป็นภาพคน ค่าง นก ปลา เต่า ปู ส่วนใหญ่จะมีการตกแต่งเป็นจุดหรือเป็นลายเส้นภายในแสดงส่วนของอวัยวะ เช่น ปาก ตา หรือเขียนแสดงลวดลายภายนอก เช่น ภาพปลามีลายเส้นตัดขวางลำตัวหลายเส้น อาจเป็นลายที่ผิวของปลา ส่วนภาพนกที่มีลำคอมีลายเป็นเส้นและจุดเรียงกัน ภาพเขียนเป็นโคร่งร่างภายนอกแล้วแสดงโครงร่างภายใน มีภาพเขียนปลาด้านในเป็นเส้นแสดงกระดูกหรือก้าง ภาพเขียนกลุ่มนี้เขียนตั้งแต่บริเวณผนังจึนถึงเพดานเพิงผาเพราะผนังเป็นแนวโค้งเรียบต่อกัน

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มภาพเขียนที่เพิงผาทางด้านทิศใต้ของภาพเขียนกลุ่มที่ 1 โดยห่างประมาณ 110 เมตร พบภาพเขียนด้วยสีแดงจำนวน 3 ภาพ ภาพแนวยาวต่อเนื่องกันบนเพดานของเพิงผา ภาพเขียนโครงร่างภายนอกด้านในมีลายตกแต่งเป็นเส้น กลุ่มภาพนี้ยังตีความไม่ได้ว่าเป็นภาพอะไร อาจเป็นสัญลักษณ์ อีกภาพหนึ่งเขียนบนผนังของเพิงผา เป็นเส้นรอบนอกคล้ายรูปหัวใจ ถัดไปทางทิศเหนือโดยลอดผ่านหลืบหินปูน พบภาพเขียนสีเหลืองส่วนใหญ่เลอะเลือน มีลายเส้นที่พอจะสังเกตุเห็นได้ว่าน่าจะเป็นรูปลูกศร

กลุ่มที่ 3 ภาพเขียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เป็นภาพเขียนบนเพิงผาทางด้านทิศเหนือของกลุ่มที่ 1 ห่างประมาณ 1,250 เมตร เป็นภาพเขียนด้วยสีแดง 3 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นการเขียนแบบโครงร่างมีลายอยู่ภายในคล้ายภาพปลา ส่วนอีก 2 ภาพนั้นเขียนเป้นลายเส้นยังบอกไม่ได้ว่าเป็นภาพอะไร หนึ่งในจำนวน 2 ภาพนี้ มีลักษณะคล้ายยันต์หรือตัวหนังสือ คือ เป็นลายเส้นขดต่อเนื่องมีหัว

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มภาพเขียนบนเพิงผากลุ่มที่ยาวที่สุด คือจากภาพแรกจนถึงภาพสุดท้ายมีความยาวถึง 60 เมตร แต่ลักษณะของภาพกระจายกันไป ไม่หนาแน่นเหมือนกลุ่มที่ 1 เพิงผาภาพเขียนกลุ่มที่ 4 นี้ อยู่ห่างจากกลุ่มที่ 3 มาทางเหนือประมาณ 44 เมตร กลุ่มนี้มีการเขียนภาพหลายครั้งด้วยกัน พบภาพเขียนด้วยสีเหลืองสีส้มและสีแดง มีการเขียนแบบระบายสีทึบมีภาพคน ภาพปลากระเบน? ภาพเขียนแสดงโคร่งร่างภายนอกและมีการตกแต่งภายใน มีภาพคล้ายคนถือปลาด้วยมือข้างซ้ายภาพคนแสดงอวัยวะเพศชาย ภาพช้าง และยังมีอีกหลายภาพที่รูปร่างแปลกประหลาด ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นภาพอะไร

กลุ่มที่ 5 เป็นภาพเขียนบนเพิงผาห่างจากกลุ่มที่ 4 ไปทางทิศเหนือประมาณ 14 เมตร ภาพเขียนด้วยสีแดงส่วนใหญ่เลอะเลือนไม่ชัดเจน มีภาพเป็นเส้นคู่ขนานค่อนข้างกลม มีการตกแต่งภายในเป็นเส้นรอบนอกคล้ายรูปหัวใจ

กลุ่มที่ 6 ภาพเขียนกลุ่มนี้เขียนที่เพิงผามีทางเข้าช่องเล็กๆ เนื่องจากหินปูนงอกย้อยปิดเพิงผาเกือบหมดภาพกลุ่มนี้ห่างจากกลุ่มที่ 5 มาทางเหนือประมาณ 95 เมตร มีภาพเขียนด้วยสีแดง 3 ภาพ ลักษณะคล้ายปลาดาว 1 ภาพ คือเป็นภาพลายเส้นมี 5 แฉก อีกภาพหนึ่งเป็นภาพคล้ายสัตว์น้ำ หรืออาจเป็นสัญลักษณ์ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นลายเส้นหักโค้งไม่สมบูรณ์

กลุ่มที่ 7 เป็นภาพเขียนกลุ่มสุดท้ายที่สำรวจพบที่นี่ อยู่ทางตอนเหนือสุดของภาพเขียนทั้งหมด โดยห่างจากกลุ่มที่ 6 มาทางเหนือประมาณ 12 เมตร ทางเข้าเป็นช่องเล็กๆ เนื่องจากหินงอกย้อยปิดบังเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 6 ภาพเขียนด้วยสีแดงส่วนใหญ่จะเลอะเลือน มีภาพเป็นลายเส้นคล้ายตัวเอ็ม (M)

จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาโดยนำเอาฟอสซิลของหอยบริเวณถ้ำและเพิงผาตามเกาะและหินโผล่ในอ่าวพังงา พบว่าในระหว่างสมัยไพลสโตซีนกับไฮโลซีน หรือเมื่อประมาณ 11,000 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากในช่วงยุคน้ำแข็ง ภูเขาหินที่เป็นเกาะแก่งดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงอยู่บนที่ดอน ไม่มีสภาพเป็นเกาะดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาในช่วง 7,500-8,500 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลค่อยๆ ขยับสูงขึ้นจนสูงสุด คือสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางในปัจจุบันถึง 4.5 เมตร และต่อมาในช่วง 4,000-5,000 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลขึ้นๆ ลงๆ (มีทั้งขึ้นสูงและลดต่ำกว่าปัจจุบัน) ในช่วงระหว่าง 2,700-3,700 ปีมาแล้วนั้น ระดับน้ำทะเลค่อนข้างจะคงตัว แต่ยังสูงกว่าปัจจุบันระหว่าง 1.5-2.5 เมตร และตั้งแต่ 1,500 ปีเป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบัน 1.5 เมตร

มีการค้นพบหลักฐานการใช้พื้นที่ของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและบริเวณใกล้เคียงมาไม่น้อยกว่า 10,000 ปีมาแล้ว โดยพื้นที่นี้อาจเป็นเส้นทางสัญจรและพื้นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะตามเพิงผาและถ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายต่อมาคงถอยร่นเข้ามาอาศัยอยู่บนพื้นที่ดอนภายใน และอาจมีกลุ่มชนที่รู้จักการทำแพ เรือ สัญจรไปในอ่าวพังงาบ้าง แต่แหล่งเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยถาวร ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานใหม่ จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีความสามารถทางทะเล ดังปรากฏงานสร้างสรรค์ศิลปะบนผนังหินริมอ่าวพังงาของคนก่อนประวัติศาสตร์ เช่นที่เขาเขียน เกาะปันหยี เขาระย้า ถ้ำนาค และเกาะพระอาตเฒ่า

นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการเข้ามาอยู่อาศัยในอ่าวพังงา เช่น เขาพัง เขาแดง เขาผึ้งใน เขาเต่า และเขาพระอาดเฒ่า โดยเขาพังมีการพบเครื่องกะเทาะหินหลายชิ้น นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบ ลายเชือกทาบ หินลับ แกนหิน และสะเก็ดที่มีร่อยรอยการกะเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจนเป็นจำนวนมาก และที่เกาะพระอาดเฒ่า มีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบเรียบ แบบลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกปลามีรอยขัดฝน

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง : เขาเขียนหรือเกาะเขียน มีตำนานเล่าต่อกันมาว่าครั้งเมื่อเจ้าเงาะ (ในเรื่องสุวรรณสังข์หรือสังข์ทอง) ได้เหาะหนีนางพันธุรัต ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงและเป็นยักษ์ แล้วมาหยุดพักที่เกาะนี้ นางพันธุรัตตามมาทันก็ร้องเรียกหาพระสังข์ แต่พระสังข์กลับหนีขึ้นยอดเขา นางเรียกเท่าไหรพระสังข์ก็ไม่ยอมลงมา นางจึงเขียนมนตร์เรียกเนื้อเรียกปลาไว้ให้บนหน้าผาแห่งนี้ แล้วนางก็อกแตกตายเพราะความรักอาลัยและความน้อยใจ พระสังข์ลงมาขอขมาศพแล้วท่องมนตร์เรียกเนื้อเรียกปลาจนจำได้แม่นยำแล้วจึงจากไป มนตร์ที่นางยักษ์เขียนไว้ปรากฏอยู่ที่เขาตราบเท่าทุกวันนี้ (สานิต พรทัศน์ 2529)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

จุรีกมล อ่อนสุวรรณ. “การศึกษาแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณอ่าวลึกและอ่าวพังงา : กรณีศึกษาความสัมพันธ์ของการอยู่อาศัยและภาพเขียนสี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2537.

ต่อสกุล ถิรพัฒน์, ภาวิทย์ มหัทธนาสิงห์ และสมภพ พงษ์พัฒน์. “การศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีรูปคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแหล่ง ศิลปะถ้ำภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

พัชรี สาริกบุตร. “เขาเขียน.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/south/index.html

สานิต พรทัศน์. “ตำนานเขาเขียน.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 3. สถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2529 : 1273-1274.

สุวิทย์ ชัยมงคล. โบราณคดีภาคใต้ อ่าวลึก อ่าวพังงา. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532.

สุวิทย์ ชัยมงคล. “ภาพเขียนสีแหล่งใหม่ที่เขาเขียน อ่าวพังงา.” ศิลปากร 31, 3 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2530) : 4-14.

สุวิทย์ ชัยมงคล. “โบราณคดีอันดามันสมัยโฮโลซีน ที่อ่าวลึก อ่าวพังงา.” เมืองโบราณ 16, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2533) : 87-95.

อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การกำหนดอายุแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคใต้ของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี