ชุมชนโบราณดงเมืองเตย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ดงเมืองเตย, เมืองโบราณดงเมืองเตย, ดอนเมืองเตย, ศังขปุระ

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสงเปือย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว

ตำบล : สงเปือย

อำเภอ : คำเขื่อนแก้ว

จังหวัด : ยโสธร

พิกัด DD : 15.639465 N, 104.256903 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เขตลุ่มน้ำรอง : หนองฝักหนาม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ชุมชนโบราณดงเมืองเตยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านดงเมืองเตย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร

จากตัวจังหวัดยโสธร ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าตำบลสงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านสงเปือย ประมาณ 4.7 กิโลเมตร ถึงตัวหมู่บ้าน เลี้ยวซ้ายใช้ถนนภายในหมู่บ้านประมาณ 550 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 650 เมตร ถึงตัวเนินดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เมืองโบราณดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, สำนักสงฆ์ดงเมืองเตย, องค์การบริหารส่วนตำบลสงเปือย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงเมืองเตย 2 ครั้ง คือ

1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 53 หน้า 1535 วันที่ 27 กันยายน 2479

2. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 53ง หน้า 5 วันที่ 10 พฤษภาคม 2547

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ดงเมืองเตยเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนเนินดินรูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 650 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 450 เมตร เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองเพียงชั้นเดียว มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและนอกคูเมือง คูเมืองมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 100 เมตร สภาพของคูในปัจจุบันได้ตื้นเขินกลายสภาพไปเสียเป็นส่วนมาก ทางด้านทิศใต้มีคูเมืองยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วน เรียกว่า “หนองปู่ตา” หรือ “พุดตา” ทางด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองเรียกว่า “หนองบัวขาว” ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มี “หนองอีตู้”  ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีคูเมืองเรียกว่า “หนองฝักหนาม” สภาพของคูเมืองยังปรากฏให้เห็นที่หนองฝักหนาม หนองอีตู้ และหนองปู่ตา ส่วนหนองบัวขาวปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว

ทั้งนี้ ห่างออกไปจากเมืองโบราณประมาณ 2.5 กิโลเมตร ทั้งทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เป็นลำน้ำและหนองน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำชีสายเดิม มีด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ น้ำหนองบอ ลำห้วยลำร่องบ่อ ลำชีหลง ห้วยกะหล่าว ลำตาเงย ลำปลาก้าม ห้วยพันหม เป็นต้น ส่วนแม่น้ำชีสายปัจจุบันไหลอยู่ห่างจากชุมชนโบราณดงเมืองเตยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร

บนตัวเนินดงเมืองเตยปัจจุบันเป็นป่าโปร่งและเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ไม่มีบ้านเรือนราษฎร พื้นที่รอบเนินดินเมืองโบราณเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว ห่างออกไปด้านทิศเหนือของเมืองโบราณเป็นเนินดินที่ตั้งของชุมชนปัจจุบัน คือชุมชนบ้านสงเปือย

ภายในบริเวณตัวเมืองโบราณด้านทิศเหนือปรากฏมีซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐและหินทรายอยู่ในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย และทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากสำนักสงฆ์ดงเมืองเตยเคยปรากฏว่ามีการขุดพบใบเสมาด้วย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

140 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี, ลำชีหลง, หนองฝักหนาม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานของเมืองโบราณดงเมืองเตย (สมเดช ลีลามโนธณรม 2538) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชี และลม พัดพาเอาตะกอนมาทับถม และมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป เช่นที่ราบน้ำท่วมถึงที่มีตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถม ในฤดูฝนมักถูกน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ดินที่พบมักมีอายุน้อย ชั้นดินไม่ชัดเจน แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นตะกอนใหม่และมีการทับถมเกือบทุกปี 

บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ จะมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีพื้นที่ราบเรียบ การทับถมของตะกอนใหม่ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบางปีที่มีน้ำท่วมมาก อาจจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นบางๆที่ผิวดินบน เป็นสภาพธรณีที่มีสภาพคงตัวและเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก ในพื้นที่นี้จึงมีลักษณะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนและดินส่วนใหญ่มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลว ใช้ประโยชน์ในการทำนา

อีกพื้นที่หนึ่งคือบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางและระดับสูง มีสภาพสูงขึ้นไปจากลานตะพักลำน้ำระดับต่ำตามลำดับ และมีลักษณะเป็นรูปลูกคลื่นไม่ราบเรียบ พื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลาง ดินส่วนใหญมีสีน้ำตาล เหลือง หรือน้ำตาลปนเหลือง ส่วนพื้นที่ระดับสูง ดินมีสีแดง ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ทั้งสองระดับนี้ล้วนเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ และลมพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นชั้นดินที่พบบริเวณนี้จึงมีหน้าตัดดินเกิดขึ้นใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน การใช้ประโยชน์ของดินส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

ดินในบริเวณดงเมืองเตย ประกอบไปด้วยดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series และ Loamy Phase) และดินชุดโคราช (Korat Series)

ชุมชนโบราณดงเมืองเตย คงตั้งถิ่นฐานอยู่ในสภาพพื้นที่แบบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่จากแผนที่ทหาร มีความสูงประมาณ 126 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งที่ราบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-150 เมตร และดินบริเวณนี้เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series) และดินชุดโคราช (Korat Series) ดินทั้งสองเป็นชุดดินที่พบในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ โดยดินชุดร้อยเอ็ดจัดเป็นดินโลว์ฮิวมิคเกลย์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2479

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

โบราณสถานดงเมืองเตย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม, B.P.Groslier

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจบริเวณเนินดินที่บ้านสงเปือย และพบว่าเป็นเมืองโบราณชื่อเมืองดอย ภายในเมืองปรากฏส่วนซากฐานรากโบราณสถาน ศาสตราจารย์โกรลิเยร์ (B.P.Groslier) กล่าวว่าเป็นฐานของโบราณสถานในศิลปะเจนละ และยังพบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมมีจารึกสมัยพระเจ้าจิตรเสนด้วย (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535 : 124)

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจเพื่อศึกษาที่ตั้ง สภาพภูมิศาสตร์ ลักษณะผังเมือง และหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ได้รับอิทธิพลของเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร สมัยพระเจ้าจิตรเสน ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 2526 : 1-12)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 กองโบราณคดี กรมศิลปากรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย จึงได้ดำเนิน “โครงการขุดค้น-ขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” เพื่อขุดค้น-ขุดแต่งเนินดินแห่งนี้เป็นครั้งแรก โดยการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2526 นั้น พบว่าทางด้านทิศตะวันออกของเนินดินมีบันไดทางขึ้นทำด้วยหินทรายแดง และพบแนวอิฐที่ยื่นมาทสงด้านหน้าประมาณ 1 เมตร ด้านใต้มีร่องรอยการลักลอบขุดเป็นหลุมกว้างขนาด 1.2 เมตร สูง 1.7 เมตร จึงได้ทำการก่ออิฐปิดส่วนนี้และได้ต่อเติมมุมเจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลักษณะย่อมุม ด้านตะวันตกของเจดีย์พบชิ้นส่วนแขนประติมากรรมทำจากหินทรายสีเขียว ขนาดยาวประมาณ 8 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบเขมรกระจายอยู่ทั่วไป ด้านบนของเจดีย์มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมมีความสูงขององค์เจดีย์ประมาณ 2 เมตร

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2528 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้พบแผ่นหินทรายมีอักษรปัลลวะจารึกอยู่ 1 แผ่นมี 4 บรรทัด บรรทัดละ 4 วรรค ณ บริเวณโบราณสถานดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ถ่ายภาพจารึกนี้ โดยถ่ายภาพเป็น 4 ช่วง คือ ภาพที่ 1 เป็นภาพของวรรคที่ 1 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 2 เป็นภาพของวรรคที่ 2 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 3 เป็นภาพของวรรคที่ 3 ของบรรทัดที่ 1-4 และภาพที่ 4 เป็นภาพของวรรคที่ 4 ของบรรทัดที่ 1-4 จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ส่งภาพถ่ายทั้ง 4 นี้ให้แก่กองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรายงานข้อมูลไม่ละเอียดรัดกุมของหน่วยศิลปากรที่ 6 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของกองหอสมุดแห่งชาติเข้าใจว่าภาพทั้ง 4 นี้ เป็นแผ่นศิลาจารึก 4 แผ่น ดังนั้น เมื่อนายชะเอม แก้วคล้าย ผู้อ่านและแปลจึงสรุปออกมาว่า จารึกทั้ง 4 แผ่นนี้อ่านไม่ได้ใจความ ไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่าภาพจารึกแต่ละภาพ แทนจารึกแต่ละแผ่น แต่กำหนดอายุจากลักษณะของรูปแบบอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ศิลาจารึก 2529 : 168-175)

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาความเชื่อ

ผลการศึกษา :

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (2535 : 203-204) สำรวจชุมชนโบราณดงเมืองเตยอีกครั้งหนึ่ง พบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลา ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรันเหล็ก สันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบเหล็กและถลุงเหล็กที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีและเขมร อาจารย์ศรีศักรได้ตั้งข้อสังเกตถึงใบเสมาซึ่งเป็นของเนื่องในศาสนาพุทธแต่พบบริเวณโบราณศาสนสถานที่เกี่ยวพันกับศาสนาพราหมณ์ว่า เสมาอาจสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างโบราณสถานหรืออาจจะสร้างขึ้นภายหลัง

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ ศึกษาโบราณสถานแห่งนี้และสันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมในศิลปะเจนละ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 รูปแบบอาคารเหมือนกับอาคารในศิลปะคุปตะรุ่นหลังของอินเดีย (ประยูร อุลุชาฏะ 2530 : 62-63)

ชื่อผู้ศึกษา : Claude Jacques

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

จารึกหลักนี้ ศาสตราจารย์โคลด ชาค (Claude Jacques) เสนอผลงานในที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2531 (โคลด 2531 : 44) โดยตั้งข้อสังเกตถึงพระนามของชนชั้นผู้นำคนหนึ่งที่ปรากฏในจารึกว่ามีลักษณะบางอย่างเหมือนกับพระนามของพระเจ้าจิตรเสน ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระเจ้ามเหนทรวรมัน

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายชะเอม แก้วคล้าย ได้วิเคราะห์จารึกดอนเมืองเตยอีกครั้งนี้อีกครั้งและพบว่าแท้จริงแล้วสำเนาจารึกทั้ง 4 แผ่น เป็นสำเนาของจารึกแผ่นเดียวกัน แต่ทำสำเนาแยกกัน ดังนั้นเมื่อนำสำเนาจารึกทั้ง 4 ชิ้น มาเรียงต่อกันให้ถูกต้องแล้วก็สามารถอ่านและแปลความหมายได้ จึงได้นำคำอ่านและแปลใหม่นี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อปี พ.ศ.2532

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 ดำเนิน “โครงการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” โดยเป็นโครงการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานเพื่อพัฒนาในเขตพื้นที่อีสานเขียว ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตยครั้งที่ 2 โดยขุดพื้นที่บริเวณโดยรอบโบราณสถาน ทำให้สามารถเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยโบราณสถานแห่งนี้เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูงประมาณ 1.7 เมตร มีฐานเขียง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและมีอัฒจรรย์ก่อด้วยอิฐอยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นทางเดินด้านหน้ายาวประมาณ 28 เมตร รอบองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นลานอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นการนำอิฐส่วนที่พังทลายมาต่อเติมขึ้นภายหลัง นอกจากการขุดแต่งโบราณสถานแล้ว หน่วยศิลปากรที่ 6 ยังได้ทำการขุดหลุมทดสอบเพื่อตรวจสอบชั้นวัฒนธรรมหรือการใช้พื้นที่ของคนในอดีต โดยขุดบริเวณที่เนินห่างจากโบราณสถานดงเมืองเตยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 เมตร จาการขุดค้นสามารถแบ่งชั้นดินธรรมชาติได้ออกเป็น 6 ชั้น และชั้นวัฒนธรรมได้ 4 สมัย (ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์ 2536 : 14-49)

ชื่อผู้ศึกษา : ธิดา สาระยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ธิดา สาระยา (2535 : 45-64) ศึกษาชุมชนโบราณต่างๆ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหรือตอนล่าง และมีข้อเสนอว่าบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรเจนละอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมืองโบราณดงเมืองเตยเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรเจนละ และเป็นศูนย์กลางของเมืองเล็กๆโดยรอบ

ชื่อผู้ศึกษา : สมเดช ลีลามโนธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาสภาพสังคม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมเดช ลีลามโนธรรม เสนอสารนิพนธ์สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งผลิต, ศาสนสถาน, แหล่งวัตถุดิบ, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ประวัติบ้านดงเมืองเตย

จากประวัติศาสตร์บ้านสงเปือย (หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา 2536) กล่าวถึงดงเมืองเตยซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านสงเปือยไว้ว่า “ดงเมืองเตยเป็นเมืองเก่าสมัยขอมจะเป็นเมืองร้างมาแล้วนานเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพที่เห็นมาจากปู่ย่าตาทวดหลายชั่วอายุคน ดงเมืองเตยมีป่าไม้ขึ้นสูงข้างล่างโปร่ง มีหมู่ไม้เล็กๆ ขึ้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ยางเหียง เป็นป่าหนาแน่นมาก พวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่กล้าตัดต้นไม้ในดงนี้ เพราะดงเมืองเตยมีผีดุเรียกว่า ผีปู่ตา ป่าไม้จึงเป็นที่อาศัยของลิง และนกหลายจำพวก บึงรอบบริเวณดงเมืองเตยเป็นหนองน้ำขนาดลึกมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยและเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ นอกจากนกจำพวกต่างๆ แล้วบึงนี้ได้ชื่อว่ามีเต่ามากที่สุด เหตุที่มีเต่ามากเช่นนี้ชาวบ้านนับถือผีปู่ตา ปู่ตาห้ามจับกินทำลายสัตว์พาหนะของท่าน คือ ลิงและเต่า ถ้าเกิดทำอันตรายขึ้นมา จะต้องมีอันเป็นไป”

“ต่อมาเมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว ชาวบ้านสงเปือยมีหมอร่ำเรียนวิชาอาคมมาทำพิธีปราบผีดงเมืองเตยได้ หมอผู้มีวิชาอาคมผู้นี้ชื่อ ผู้ใหญ่สุวอ เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยพ่อใหญ่อัครฮาด เป็นตาแสง เมื่อชาวบ้านใกล้ไกลได้ยินข่าวพ่อใหญ่สุวอข่มผีดงเมืองเตยได้แล้ว ก็พากันหลั่งไหลมาจับเต่าปลาดงเมืองเตยไปเป็นอาหารจนเกือบเกลี้ยงบึง เต่าจึงเกือบสูญพันธุ์มาจนบัดนี้ พ่อใหญ่สุวอได้แบ่งปันที่บึงออกเป็นที่นาให้พี่น้องญาติมิตรทำนามาจนทุกวันนี้ ส่วนบริเวณดงเมืองเตยได้แบ่งบันทำไร่ สวน ปลูกพืชทำกินมาเท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุครบ 90 ปี เช่น พ่อใหญ่อ่อน หอมกลิ่น พ่อใหญ่บู กกเปือย ยังมีชีวิตเป็นพยานอยู่”

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี ของบ้านสงเปือยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดงเมืองเตยกล่าวว่า เห็นสภาพของดงเมืองเตยตั้งแต่เยาว์วัยก็คงสภาพที่เป็นในปัจจุบัน คือเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ เหตุที่ได้ชื่อว่าดงเมืองเตย เนื่องจากบริเวณโดยรอบดงเมืองเตยมีต้นเตยซึ่งมีผลกลมเป็นเครือขึ้นอยู่โดยรอบนั่นเอง (หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา 2536)

เมืองโบราณดงเมืองเตย

จากการศึกษาของนักโบราณคดีกรมศิลปากรและนักวิชาการต่างๆ (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538) พบว่าชุมชนโบราณดงเมืองเตยปรากฏการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ คงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวในช่วงระยะเวลานี้ มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ห่างไกลภายในภูมิภาค มีการถลุงและผลิตเหล็ก (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12) คงมีการส่งเหล็กเป็นสินค้าออกส่วนหนึ่ง เพราะได้พบปริมาณเศษตะกรันเหล็กเป็นจำนวนมากภายในชุมชน การอยู่อาศัยมีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน ประชากรของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น เกิดอาชีพต่างๆขึ้น ชุมชนคงมีการขยายตัว เกิดผู้นำชุมชน และต่อมาจึงมีการขุดคูน้ำและทำคันดินขึ้น อาจแสดงให้เห็นถึงการมีระบบชนชั้นขึ้นแล้ว

สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยเกิดผู้นำชุมชนอย่างเด่นชัด มีระบบการปกครองในระบบกษัตริย์ มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมเมือง ชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เหตุที่อิทธิพลเขมรเข้ามาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงต้นประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเพราะชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้กับเส้นทางที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทวารวดีด้วย

พัฒนาการชุมชนโบราณแห่งนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ได้รับอิทธิพลทั้งวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร หลังจากนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือ 18 ชุมชนได้รับวัฒนธรรมเขมรเพียงอย่างเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางศาสนาเพียงแห่งเดียว ประชากรของเมืองคงมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีการขยายขนาดของชุมชนออกไป การอยู่อาศัยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาบ้าง เช่น เปลี่ยนจากศาสตรพราหมณืเป็นศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงใช้ศาสนสถานหลังเดิมเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนได้เป็นอย่างดี

ภายหลังชุมชนโบราณดงเมืองเตยร้างไป อาจจะในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 และได้มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22

รายละเอียดของสมัยต่างๆ (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538) มีดังนี้

ระยะที่ 1 อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ปรากฏร่องรอยกิจกรรมการถลุงและผลิตเหล็กในระดับอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่ม เช่นเดียวกับชุมชนร่วมสมัยต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลและชี

สภาพพื้นที่เนินดินแห่งนี้เหมาะกับตั้งเป็นชุมชน โดยเฉพาะการตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำและแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำชี ชุมชนคงมีการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่การอยู่อาศัยในช่วงแรกๆ พบว่ามีการใช้ฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำภาชนะดินเผาอย่างแพร่หลาย ภาชนะดินเผาที่ใช้กันในสมัยนี้มีรูปทรงธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อก้นกลม ชาม อ่าง  จากปริมาณเศาภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นทำให้สันนิษฐานได้ว่านะระยะที่ 1 นี้น่ายังมีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก

ระยะที่ 2 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพบเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนสีขาวเป็นเส้นตั้งสั้นๆ บริเวณขอบปากด้านใน การตกแต่งภาชนะลักษณะนี้เรียกว่าภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดหรือแบบทุ่งกุลา เคยพบที่แหล่งโบราณคดีโนนยาง จ.สุรินทร์ และแหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก จ.นครราชสีมา ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล มีอายุเชิงเทียบอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 1-11

กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ เช่น การเพาะปลูกข้าว การผลิตภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเองภายในชุมชน เนื่องจากภาชนะดินเผามีทั้งรูปทรงธรรมดาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทรงหม้อก้นกลม ทรงชาม และทรงอ่าง การตกแต่งมีลวดลายขูดขีด  เชือกทาบ และเรียบ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาจากต่างถิ่น ดังเช่นภาชนะดินเผาที่มีการเขียนสีขาว

กิจกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ของผู้คนในชุมชน แต่คงไม่มีสถานภาพแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากไม่พบหลักฐานการเกิดระบบชนชั้นเหมือนกับที่พบในชุมชนร่วมสมัยเช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม

นอกจากนี้ ยังพบกระบอกอัดลมแบบสองสูบที่ใช้ในการถลุงโลหะและเศษตะกรันเหล็ก แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านเหล็ก

ระยะที่ 3 มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการถลุงและผลิตเหล็กระดับอุตสาหกรรม พบหลักฐานการนำเศษตะกรันเหล็กจำนวนมากมาถมอัดเป็นฐานรองรับน้ำหนักของตัวอาคารที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 จากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาซึ่งเป็นภาชนะที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรัน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535 : 203) การผลิตเหล็กในชุมชนแห่งนี้ส่วนหนึ่งคงใช้เป็นสินค้าค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก นอกจากนี้ยังพบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาแบบทาน้ำดินสีแดง และประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2

สังคมของชุมชนในช่วงนี้เป็นสังคมเมืองอย่างชัดเจน มีชนชั้นปกครอง มีการขุดคูน้ำทำคันดิน โดยคูน้ำของเมืองถูกขนาบด้วยค้นดินทั้ง 2 ข้าง ชี้ให้เห็นว่าสร้างคูน้ำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์สำคัญนการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในชุมชน การขุดคูน้ำจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก การควบคุมคนก็ต้องมีผู้นำในการควบคุมและจัดระเบียบให้งานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการขุดคูน้ำและทำคันดินของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาใด อาจเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น  ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 แต่จากหลักฐานของโบราณสถานและจารึกที่กล่าวนามของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสังคมเมืองได้อย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าการขุดคูน้ำที่ดงเมืองเตยในลักษณะวงกลมหรือวงรีนั้น ชาวเมืองได้ขุดตามแอ่งยุบรอบเนินดินหรือโดมเกลือที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีอยู่แล้ว

ลักษณะร่วมอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดงเมืองเตยกับชุมชนอื่นๆในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (2,500 ปีมาแล้วลงมา) อย่างหนึ่งคือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 โดยการฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หรือไห จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ของพื้นที่แถบนี้สัมพันธ์กับช่วงเวลาการเริ่มต้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งการฝังศพครั้งที่ 2 ที่ดงเมืองเตยนี้อยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว อาจเกิดการเผาศพขึ้น แต่ก็อาจยังปรากฏประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 อยู่ก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ ละเมืองนครจำปาศรี จ.มหาสารคาม เป็นต้น

ระยะที่ 4 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 สภาพชุมชนเป็นสังคมเมือง มีการสร้างศาสนสถาน หลักฐานจากจารึกแสดงให้เห็นถึงการมีกษัตริย์ปกครองชุมชน อาจมีการขุดคูน้ำทำคันดินในช่วงเวลานี้

จากหลักฐานด้านจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมเจนละเข้ามาในชุมชน เพราะอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมและแพร่กระจายวัฒนธรรมเขมรเข้ามาทางจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ

ส่วนอิทธิพลด้านการเมือง ชื่อของกษัตรย์พระศรีมานปรเวลสนะซึ่งได้เป็นผู้ปกครองเมืองศังขปุระ (อาจเป็นเมืองโบราณดงเมืองเตย) อาจเป็นขุนนางที่ทางอาณาจักรเจนละส่งเข้ามาปกครองหรือเป็นเจ้านายพื้นเมืองเดิมอยู่แล้วที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาณาจักรเจนละให้ปกครองเมืองต่อไป โดยกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สถานะผู้ปกครองเป็นเทพเจ้า เห็นได้จากข้อความในจารึกกล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์และรูปแบบของโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร

ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เพราะพบหลักฐานการปักใบเสมาหิน พระพุทธรูป (ปางสมาธิ?) หัวนาคของส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรก (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535 : 204) และอาจตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมร แม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนถึงอิทธิพลกษัตริย์ขอมต่อเมืองโบราณแห่งนี้ แต่จากจารึกโนนสัง จ.ยโสธร พ.ศ.1432 ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากษัตริย์องค์ใดโปรดให้สร้างขึ้นระหว่างพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ.1420-1432) หรือพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ.1432-1443 หรือ 1453) โดยจารึกกล่าวถึงการสถาปนาและถวายสิ่งของแด่พระไตรโลกนาถ เพื่อที่จะทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2537 : 13) 

การอยู่อาศัยของผู้คนและพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ดำเนินเรื่อยมา ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวเป็นศูนย์กลางของเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์ 1ตัว จากการขุดแต่งบริเวณลายทางเดินด้านหน้าที่จะเข้าสู่ตัวโบราณสถานทางทิศตะวันออก

ประติมากรรมรูปสิงห์ดังกล่าวมีลักษณะทางศิลปะแบบเขมรสมัยบาปวน (กลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17) และจารึกขนาดเล็กที่เมืองโบราณแห่งนี้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18

หลักจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ มีเพียงชิ้นส่วนจารึกขนาดเล็กซึ่งมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังที่กล่าวมาแล้ว และเครื่องถ้วยเขมรที่มีอายุค่อนข้างกว้าง อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่หักฐานเด่นชัดที่จะกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมาแล้วจะมีคนอยู่อาศัยต่อมา

ถ้ามีผู้คนอาศัยอยู่ต่อมา บริเวณชุมชนแห่งนี้คงได้รับอิทธิพลทางการเมืองกษัตริย์เขมร โดยเฉพาะในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 ถึงหลัง 1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761?) ในรัชกาลของทั้ง 2 พระองค์ได้แพร่กระจายอำนาจครอบคลุมชุมชนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่างกว้างขวาง

หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในระยะต่อมาเลยจนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 คงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณชุมชนแห่งนี้บ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากได้พบหลักฐานของเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยที่หนาแน่นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน

โบราณวัตถุ

โบราณวัตถุสำคัญในระยะที่ 4 ที่ได้จากชุมชนโบราณดงเมืองเตย ทั้งที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานในปีงบประมาณ พ.ศ.2534 ของหน่วยศิลปากรที่ 6 และจากการที่สำนักสงฆ์ดงเมืองเตยพบเมื่อ พ.ศ.2525 ได้แก่

1.จารึกดอนเมืองเตย

พบอยู่ที่วงกบกรอบประตู ทำด้วยหินทรายแดงขนาด 200x80x60 เซนติเมตร มีรายละเอียดการพบและศึกษาคือ พ.ศ.2526 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้พบแผ่นหินทรายมีอักษรปัลลวะจารึกอยู่ 1 แผ่นมี 4 บรรทัด บรรทัดละ 4 วรรค ณ บริเวณโบราณสถานดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ถ่ายภาพจารึกนี้ โดยถ่ายภาพเป็น 4 ช่วง คือ ภาพที่ 1 เป็นภาพของวรรคที่ 1 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 2 เป็นภาพของวรรคที่ 2 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 3 เป็นภาพของวรรคที่ 3 ของบรรทัดที่ 1-4 และภาพที่ 4 เป็นภาพของวรรคที่ 4 ของบรรทัดที่ 1-4 จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ส่งภาพถ่ายทั้ง 4 นี้ให้แก่กองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรายงานข้อมูลไม่ละเอียดรัดกุมของหน่วยศิลปากรที่ 6 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของกองหอสมุดแห่งชาติเข้าใจว่าภาพทั้ง 4 นี้ เป็นแผ่นศิลาจารึก 4 แผ่น ดังนั้น เมื่อนายชะเอม แก้วคล้าย ผู้อ่านและแปลจึงสรุปออกมาว่า จารึกทั้ง 4 แผ่นนี้ไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่าภาพจารึกแต่ละภาพ แทนจารึกแต่ละแผ่น

ภายหลังนายชะเอม แก้วคล้าย ได้วิเคราะห์จารึกหลักนี้อีกครั้งและพบว่าแท้จริงแล้วสำเนาจารึกทั้ง 4 แผ่น เป็นสำเนาของจารึกแผ่นเดียวกัน แต่ทำสำเนาแยกกัน ดังนั้นเมื่อนำสำเนาจารึกทั้ง 4 ชิ้น มาเรียงต่อกันให้ถูกต้องแล้วก็สามารถอ่านและแปลความหมายได้ จึงได้นำคำอ่านและแปลใหม่นี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อปี พ.ศ.2532

เนื้อหาจารึกกล่าวถึงพระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และการสร้างลิงคโลก ซึ่งบุตรีของโกรญจพาหุ คนที่สิบสองที่ได้เป็นผู้มีอำนาจได้สร้างไว้ ข้อความในจารึกแสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ และในช่วงเวลานั้นบริเวณดอนเมืองเตยรวมทั้งชุมชนใกล้เคียงก็คงจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขปุระ” ซึ่งคงจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังได้พบจารึกของกษัตริย์เจนละที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นจำนวนหลายหลักในจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ และขอนแก่น

จารึกหลักนี้ไม่ปรากฏผู้สร้างที่แน่ชัด กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 12 จากลักษณะตัวอักษรปัลลวะ นายชะเอม แก้วคล้าย ยังให้ความเห็นว่า ลักษณะของรูปอักษรส่วนมากจะเหมือนกันกับจารึก เย ธมฺมาฯ ของจังหวัดนครปฐม และจารึกวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลธานี ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12

2.ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 37x80x50 เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ ด้านยาวทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในสลักรูปดอกไม้กลม 4 กลีบ ด้านหว้างป็นรูปอาคารจำลองมีแต่ส่วนบันไดเรือนธาตุและประตูหลอก

ลักษณะลวดลายเป็นลายดอกไม้กลม 5 กลีบ มีลายรูปสามเหี่ยมขนาดเล็กต่อจากกลีบดอกกไม้แต่ละกลีบ ระหว่างดอกไม้กลมแต่ละดอกมีดอกไม้กลมครึ่งดอกแทรกอยู่ทั้งด้านบนและล่าง โดยมีลายคล้ายกลีบดอเชื่อมระหว่างดอกไม้กลมเต็มดอกกับดอกไม้กลมครึ่งดอก

3.ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 280x73x53x เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ ด้านข้างงภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักดอกไม้กลม มีดอกไม้กลมครึ่งดอกแทรก และเชื่อมต่อกันโดยลายคล้ายกลีบดอกเช่นเดียวกับลายที่กล่าวมาแล้ว ด้านข้างเป็นรูปอาคารจำอง แต่สภาพชำรุด ลายดอกไม้นี้คล้ายกับศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก สมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14

4.กุฑุ สลักเป็นรูปบุคคลภายในวงโค้งหรือซุ้ม พบ 2 ชิ้น ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าลวดลายบนกุฑุคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก สมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-14) แต่ภาพสลักใบหน้าของบุคคลรวมทั้งวงโค้งหรือซุ้มมีลักษณะคล้ายกับของศิลปะทวารวดี อาจเป็นเพราะคงได้รับอิทธิพลจากต้นแบบเดียวกันคือศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษณที่ 9-11) (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2534 : 96-101)

5.ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 196x96x25 เซนติเมตร สภาพไม่สมบูรณ์

6.ชิ้นส่วนแท่นประติมากรรม สภาพเกือบสมบูรณ์ ขนาด 93x43x33 เซนติเมตร ส่วนที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาด 24x15x12 เซนติเมตร

7.ใบเสมา มีทั้งที่ทำด้วยหินทรายและศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 (Piriya Kairiksh 1974 : 57-64)

8.ประติมากรรมลอยตัวรูปสิงห์ ทำด้วยหินทรายขาว สภาพสมบูรณ์ สูง 115 เซนติเมตร ศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16

9.ชิ้นส่วนประติมากรรมลอยตัวรูปบุคคล ทำจากหินทรายแดง ใบหน้ารูปไข่ คาดกระบังหน้าบริเวณหน้าผาก เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ

10.ชิ้นส่วนพระหัตถ์ของพระพุทธรูปปางสมาธิ มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือช่วงข้อมือขวาถึงหัวแม่มือและช่วงพระชานุขวาที่ส่วนพระหัตถ์วางอยู่

11.ส่วนประกอบของอาคาร ทำด้วยหินทราย ลักษณะเป็นวงกลม ปลายบนสอบคอดเป็นร่องช่วงกลาง เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.1 เซนติเมตร สูง 146 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางรูแกนกลาง 9 เซนติเมตร

12.ส่วนประกอบอาคารหรือสิ่งเคารพ? ทำด้วยหินทรายขาว ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกปลายมนบนฐานแปดเหลี่ยมตรงกลางกลวง สูงประมาณ 19 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร พบบริเวณด้านตะวันออกของโบราณสถาน

13.ชิ้นส่วนภาพสลักทำจากหินทราย ลักษณะแบน มีลานสลักนูนต่ำคล้ายลายส่วนท้องนาค

14.ชิ้นส่วนจารึก โบราณวัตถุชิ้นนี้ ชาวบ้านเป็นผู้มอบให้เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 6 โดยพบในบริเวณที่นาที่อยู่ชิดกับแนวคันดินของเมืองโบราณแห่งนี้ จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต จำนวน 3 บรรทัด มีคำจารึกว่า

            สรษ ฎรฺ ...น

            วรฺห มาสู

ไม่สามารถจับใจความได้ แต่จากรูปอักษรสามารถประมาณอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์ 2536 : 26-27)

15.ตุ้มดินเผา

16.กระปุกขนาดเล็ก 2 หู แต่หูหักไปข้างหนึ่งแล้ว เคลือบสีเขียวอ่อน

17.เศษภาชนะดินเผา

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “อารยธรรมอีสานสมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน.” ศิลปากร 32, 3 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2531) : 13-25.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 1 จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ : โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2529 : 251-253.

กรมศิลปากร. เมืองอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. กรุงเทพฯ : เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533 กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ). รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณจังหวัดยโสธร. ม.ป.ท., 2526.

โคลด, ชาค. “เขมรในประเทศไทย ข้อมูลที่ปรากฏในจารึก.” แปลโดย อุไรศรี วรศะริน ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531 : 35-54.

ชะเอม แก้วคล้าย. “ศิลาจารึกดอนเมืองเตย อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13.” ศิลปากร 29, 2 (พฤษภาคม 2528) : 70-73.

ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกดอนเมืองเตย.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 168-175.

เทิม มีเต็ม และชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกสำคัญที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร.” ใน เมืองอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2532 : 196-213.

ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. ม.ป.ท., 2536.

ธิดา สาระยา. อาณาจักรเจนละ ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2535.

นพวรรณ สิริเวชกุล. “ย้อนรอยเมืองเตย เมืองโบราณของยโสธร.” วัฒนธรรมไทย 35, 11 (สิงหาคม 2541) : 17-20.

บวสเซอลีเยร์, ชอง. “ศิลปทวารวดี ตอนที่ 1.” แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปากร 11, 5 (มกราคม 2511), 35-64.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). “ก่อนหน้าหินยานลังกา.” เมืองโบราณ 13, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2530) : 55-64.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉลัลคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528”

ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน แฉหลักฐานโบราณคดี พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด, 2535.

ศิลาจารึก. จารึกในประเทศไทย เล่ม 1-4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2529.

สมเดช ลีลามโนธรรม. “การศึกษาการพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2538.

สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ : โมเดอร์นเพลส, 2533.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2534.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย : ภูมิหลังทางปัญญา รูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : บริษัท พิฆเนศ พริ้นติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, 2537.

หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. นครราชสีมา. กรมศิลปากร,  2536.

Boisselier, Jean. Le Combodge. Tome I. Manuel d’ Archaeology d’ Extreme-Orrient. Paris, 1966.

Piriya Kairiksh. “Semas with Scenes from the Mahanipata – Jatakas in the National Museum at Khon Kaen.” Art and Archaeology in Thailand. Prachaubkirikhan : Infantary Center Printing Press, 1974 : 35-66.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี