บ้านโคกคอน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.4, ม.5 บ้านโคกคอน ต.โคกคอน อ.ท่าบ่อ

ตำบล : โคกคอน

อำเภอ : ท่าบ่อ

จังหวัด : หนองคาย

พิกัด DD : 17.78918 N, 102.50199 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง, น้ำโมง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังทอง (ห้วยบ้านมุย)

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอท่าบ่อ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2020 มุ่งหน้าลงทิศใต้ (มุ่งหน้าอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) ประมาณ 8.6 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3012 ตรงไปประมาณ 900 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนอีก 94 เมตรพบสามแยก เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 3012 ไปตามถนนอีกประมาณ 4.8 กิโลเมตร ถึงบ้านโคกคอน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แม้ว่าแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนจะไม่ได้เหป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอนให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างมาก มีการส่งเสริมการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในชุมชน รวมทั้งก่อสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านโคกคอนเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ (ขณะสำรวจยังไม่เปิดให้เข้าชม)

หมายเลขโทรศัพท์องค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน

โทร 042-443-157        โทรสาร 042-443-157  

เว็บไซต์ www.khokkhon.go.th     อีเมล contact@khokkhon.go.th    

 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

องค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน, วัดศรีสะอาด, นายสมเกียรติ ศรีชัย, เอกชน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

พื้นที่หมู่บ้านเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบนี้เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว มีห้วยวังทองซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของห้วยน้ำโมงไหลเลียบผ่านด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ส่วนด้านทิศใต้ติดกับเนินดินมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “หนองนาผาย”

ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากห้วยน้ำโมงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 10.5 กิโลเมตร และห่างจากเทือกเขาภูพระบาทมาทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

180 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยวังทอง (ห้วยบ้านมุย), ห้วนน้ำโมง, แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก, สมัยล้าน

อายุทางโบราณคดี

ประมาณ 2,500 ปีมาแล้วถึงปัจจุบัน

อายุทางวิทยาศาสตร์

2,500-1,500 ปีมาแล้ว (กำหนดอายุด้วยวิธี C-14 จากตัวอย่างเปลือกหอย วิเคราะห์โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น ได้รับแจ้งเหตุลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ จึงเข้าไปตรวจสอบพบโบราณวัตถุจำนวนมาก

ชื่อผู้ศึกษา : อรุณศักดิ์ กิ่งมณี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านฝาง ต.บ้านฝาง กิ่ง อ.สระใคร และแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน ต.โคกคอน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งทั้ง 2 แหล่ง ถูกลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, กัลญาณี กิจโชติประเสริฐ, สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาสภาพสังคม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น ดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งโบราณคดีบ้านท่าบ่อระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 1 เมษายน 2544 ขุดค้นทางโบราณคดี 3 หลุม ได้แก่ หลุมขุดค้นที่ 1 ขนาด 2x2 เมตร บริเวณลานต้นสัก เขตวัดศรีสะอาด (จุดสูงสุดของเนิน) หลุมขุดค้นที่ 2 ขนาด 2x2 เมตร บริเวณที่ดินของกำนันสวด ศรีแสง (จุดสูงสุดของเนิน) หลุมขุดค้นที่ 3 ขนาด 3x3 เมตร บริเวณป่ากล้วยของคุณครูสมเกียรติ์ ศรีชัย (ปลายเนินด้านทิศเหนือ) พบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย การปลงศพ แลการผลิต โดยเฉพาะการผลิตโลหะ

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, กัลญาณี กิจโชติประเสริฐ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาเอกสาร/จารึก, ศึกษาตำนาน, ศึกษาสภาพสังคม, ศึกษาประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ศรีศักร วัลลิโภดม (2545) วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (2545) และกัลญาณี กิจโชติประเสริฐ (2545) เสนอบทความในวารสารเมืองโบราณเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านโคกคอน จ.หนองคาย และพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะในแถบลุ่มน้ำโมงลุ่มน้ำสงคราม และลุ่มน้ำโขง โดยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหิน สมัยโลหะ เรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดีและสมัยล้านช้าง

ชื่อผู้ศึกษา : สมคิด ไชยวงศ์, วินิจ พลพิทักษ์, สิทธิพร ณ นครพนม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ศึกษาทัศนคติ/ความคิดเห็น

ผลการศึกษา :

สมคิด ไชยวงศ์, วินิจ พลพิทักษ์, และสิทธิพร ณ นครพนม นำเสนอรายงานสำรวจความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งผลิต

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนของกรมศิลปากร (กัลญาณี กิจโชติประเสริฐ 2544) พบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งประเภท Ecofact, Artefact และ Feature

หลักฐานประเภท Ecofact ได้แก่ เปลือกหอยและกระดูกสัตว์

หลักฐานประเภท Artefact ได้แก่ ขวานหินขัด หัวธนูหิน กำไลหิน ลูกปัดหินทรงกระบอก (พบร่วมกับโครงกระดูกเด็ก) ตุ๊กตาหินรูปควาย (พบร่วมกับโครงกระดูกเด็ก มีการเจาะรูที่กลางลำตัวและจากตำแหน่งที่พบสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเครื่องประดับห้อยคอ) แม่พิมพ์หล่อสำริด (ทำจากหินทราย) หินลับคม (ทำจากหินทราย) เบ้าหลอมสำริดดินเผา เครื่องมือขนาดเล็กปลายแหลมทำจากกระดูกสัตว์ เขาสัตว์เจาะรู เขี้ยวสัตว์ เมล็ดข้าวสารดำในภาชนะดินเผาขนาดเล็ก กระดึงสำริด (ขนาดกว้าง 8 ซม. ยาว 11.45 ซม. หนา 4.85 ซม.) เครื่องมือเหล็ก ลูกกระสุนดินเผา แวดินเผา ก้อนดินเผาที่มีรอยประทับเครื่องจักสาน เศษภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ เช่น หม้อก้นกลมปากผายทรงชาม ทรงพาน ทรงแจกัน ตกตแต่งด้วยลวดลายเขียนสี เชือกทาบ และลายปั้นเส้นดินพันรอบไหล่และตัวภาชนะ ภาชนะดินเผาที่พบเกือบทั้งหมดเป็นวัตถุอุทิศให้กับศพ

ผู้ขุดค้นได้จัดลำดับวัฒนธรรมและกำหนดอายุการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีตที่แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนได้เป็น 2 สมัยใหญ่ คือ

สมัยที่ 1 ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว (อายุเชิงเทียบ และ C-14 จากเปลือกหอย วิเคราะห์โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) พบหลักฐานการฝังศพ 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 อยู่ในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 พบกลุ่มภาชนะดินเผา 5 ใบ เป็นทรงชาม 2 ใบ ทรงกระบอกปากผายออกเขียนสีแดง 1 ใบ ทรงถ้วยขนาดเล็กมีสันนูนที่ไหล่ 1 ใบ และทรงพาน 1 ใบ ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ พบเพียงฟัน 1 ซี่ ในภาชนะทรงพาน

กลุ่มที่ 2 อยู่ในหลุมขุดค้นหมายเลข 3 พบโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครง ไม่มีส่วนศีรษะ อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว มือประสานไว้ที่ส่วนท้อง หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก มีภาชนะฝังอยู่ร่วมด้วยหลายใบ ที่สำคัญคือ ภาชนะทรงพานลายเขียนสีแดง ภาชนะก้นกลมลายเชือกทาบ ภาชนะก้นกลมขนาดเล็กมีเส้นดินพันรอบลำตัว นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกเด็กและภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบรรจุอยู่ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ตกแต่งภาชนะด้วยเส้นดินพันรอบลำตัว

ผู้ศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า ในวัฒนธรรมบ้านเชียงซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหญ่ในพื้นที่อีสานตอนบนนั้น ภาชนะดินเผาเขียนสีแดงอยู่ในสมัยบ้านเชียงตอนปลาย ในขณะที่ภาชนะที่ตกแต่งด้วยเส้นดินพันรอบนั้นอยู่ในสมัยบ้านเชียงตอนต้น แต่หลักฐานที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ภาชนะทั้ง 2 แบบ อยู่ร่วมสมัยกัน

กลุ่มที่ 3 อยู่ในหลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกมนุษย์ พบเฉพาะส่วนขา ส่วนเหนือขึ้นไปยังคงถูกฝังอยู่ในผนังหลุมขุดค้น วัตถุอุทิศได้แก่ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผาทรงพานลายเขียนสีแดง และภาชนะดินเผาก้นกลมปากผายลายเชือกทาบ

สมัยที่ 2 ยุคประวัติศาสตร์ พบหลักฐานโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดีและล้านช้าง ซึ่งในบริเวณศาสนสถานกลางหมู่บ้านยังพบการปักเสมาหินซึ่งเป็นรูปแบบวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีอีกด้วย (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2545)

นอกจากนี้ พื้นที่โคกเนินท่ามกลางที่ราบบริเวณโดยรอบเนินแหล่งโบราณคดีโคกคอนยังปรากฏแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่ง เช่น เวียงนกยูง วัดถ้ำดาลกอก บ้านโพนพระ บ้านโพนตาล วัดบ้านจอก บ้านโพนธาตุ บ้านหนองบัว (ดูรายละเอียดใน วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2545)

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (2545 : 26-27) ศึกษาโบราณวัถตุที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน โดยเฉพาะรูปแบบภาชนะดินเผาและการปลงศพเด็กหรือการฝังศพครั้งที่ 2 ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่แล้วให้ความเห็นว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับลุ่มน้ำชีตอนบนมากกว่าวัฒนธรรมแบบบ้านเชียงในแถบอุดรธานีและสกลนคร โดยเฉพาะรูปแบบภาชนะที่เขียนลายสีแดงคล้ำบนผิวภาชนะสีนวล เป็นรูปลายเหลี่ยมหรือคดโค้ง ตกแต่งด้วยการขีดทั้งกากบาทและเส้นสีแดงเล็กๆ และแบบที่เขียนลายสีดำแดงบนพื้นผิวสีส้มผสมกับลายเชือกทาบและตกแต่งด้านนอกโดยใช้การขดเป็นลายก้นหอยและลายโบ ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับภาชนะในกลุ่มลำน้ำชีตอนต้น อีกทั้งยังมีความรู้ความชำนาญด้านโลหกรรมทั้งสำริดและเหล็กเป็นอย่างดีอีกด้วย

จากการเดินสำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2557 ภายในวัดศรีสะอาด (17.787637 N, 102.503546 E) ที่ตั้งอยู่กลางเนินดิน และกรมศิลปากรเคยขุดค้นเมื่อปี 2544 (หลุมขุดค้นที่ 1) ไม่พบโบราณวัตถุบนผิวดิน แต่อย่างไรก็ดี การเดินสำรวจในวัดสามารถทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากพื้นดินมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก

เมื่อเดินสำรวจในที่ดินของนายสมเกียรติ ศรีชัย รองนายก อบต.โคกคอน (อยู่ด้านหลังตลาดสดโคกคอน) (17.789180 N, 102.501990 E) ที่ตั้งอยู่บนเนินดินด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็นพื้นที่รกร้าง และกรมศิลปากรเคยขุดค้นเมื่อปี 2544 (หลุมขุดค้นที่ 3) พบเศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนมาก ทั้งสีส้ม เทา และดำ มีทั้งไม่มีลวดลาย ลายเชือกทาบ และลายขูดขีด นอกจากนี้ ด้านข้าง (ด้านทิศตะวันออก) ติดกับที่ดินผืนนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านโคกคอน ซึ่งเป็นอาคารถาวร มีป้อมยามและรั้วล้อมรอบ ก่อสร้างเมื่อปี 2556 ขณะสำรวจยังไม่เปิดให้เข้าชม

จากการสัมภาษณ์นายทองมี แก้วกัลยา บ้านเลขที่ 67 หมู่ 4 ที่บ้านอยู่ติดกับที่ดินของนายสมเกียรติ มีชัย ทำให้ได้ข้อมูลว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นหลุมขุดค้นของกรมศิลปากร ที่ผ่านมามีการพบโบราณวัตถุบนผิวดินจำนวนมาก โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผาและลูกปัดแก้ว เมื่อฝนตกเด็กๆ ในหมู่บ้านมักมาเก็บลูกปัดกันบริเวณนี้ ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ในชุมชนก็มักพบโบราณวัตถุและกระดูกมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการขุดหลุมลงไปใต้ดิน ในอดีตมีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนพิพิธภัณฑ์บ้านโคกคอนนั้น ก่อสร้างโดยงบประมาณของ อบต.โคกคอน แต่การจัดแสดงภายในยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากต้องรอขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งเรื่องงบประมาณ การขออนุญาตและขนย้ายโบราณวัตถุจากกรมศิลปากร

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กัลญาณี กิจโชติประเสริฐ. การศึกษาทางโบราณคดีบริเวณบ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย. ขอนแก่น : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7, 2544.

กัลญาณี กิจโชติประเสริฐ. “การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย.” เมืองโบราณ 28, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2545), 29-34.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “โคกคอน : วัฒนธรรมชายขอบของชุมชนลุ่มน้ำโมงในยุคเหล็ก.” เมืองโบราณ 28, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2545), 23-33.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “จันทบุรีศรีสัตนาค.” เมืองโบราณ 28, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2545), 10-22. 

สมคิด ไชยวงศ์, วินิจ พลพิทักษ์, และสิทธิพร ณ นครพนม. ความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย. หนองคาย : หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดหนองคาย โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย, 2545.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี