บ้านพระปืด


โพสต์เมื่อ 26 เม.ย. 2021

ชื่ออื่น : เมืองโบราณบ้านพระปืด, ชุมชนโบราณบ้านพระปืด, ปราสาทแก้ว, ปราสาทพระปืด, วัดปราสาทแก้ว, วัดพระปืด

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านพระปืด ต.บ้านแร่ อ.เขวาสินรินทร์

อำเภอ : เขวาสินรินทร์

จังหวัด : สุรินทร์

พิกัด DD : 14.966531 N, 103.582489 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำห้วยระวี

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด ตั้งอยู่ที่ ม.2 บ้านพระปืด ต.บ้านแร่ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร

การเดินทางจากตัวจังหวัดสุรินทร์ ใช้ถนนสุรินทร์-จอมพระ มุ่งหน้าทางทิศเหนือ เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 9 บ้านนาเกา ให้เลี้ยวขวาผ่านบ้านบึง บ้านห้วยราช ซึ่งเป็นถนนลูกรังอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะเข้าสู่บ้านพระปืดทางด้านทิศใต้

อีกเส้นทางหนึ่งคือจากตัวจังหวัดสุรินทร์ ใช้เส้นทางสุรินทร์-จอมพระ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 14 ให้เลี้ยวขวาตามถนนนาตัง-ศีขรภูมิ ประมาณ 4 กิโลเมตร จนถึงสี่แยกวัดโพธิ์รินทร์วิเวก บ้านเขวาสินรินทร์ ให้เลี้ยวอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านบ้านแร่ ก่อนจะเข้าสู่บ้านพระปืดทางด้านทิศเหนือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ภายในเมืองโบราณบ้านพระปืดปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎร ป่าละเมาะ พื้นที่เกษตรกรรม และยังมีโบราณสถานปราสาทแก้วหรือปราสาทพระปืดที่ตั้งอยู่ภายในวัดปราสาทแก้ว วัดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2457 และยังคงใช้งานอยู่จนภึงปัจจุบัน

นอกจากโบราณสถานปราสาทแก้วแล้ว ภายในวัดยังมีวิหารที่ประประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิราบ พระเศียรทรงเทริด มีรัศมีเป็นรูปกลีบบัวหงาย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 24 หรือราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวบ้านเรียกว่าพระเสี่ยงทาย หรือพระปืดองค์เล็ก

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าศึกษาชุมชนโบราณบ้านพระปืดและโบราณสถานปราสาทแก้วได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, วัดปราสาทแก้ว

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานปราสาทวัดแก้ว ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 119 ตอนพิเศษ 117ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ชุมชนโบราณบ้านพระปืด ลักษณะเป็นเนินดินที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ประกอบไปด้วยคูน้ำ 2 ชั้น และคันดิน 3 ชั้น สูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นทุ่งนาประมาณ 4 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 158 เมตร จุดสูงสุดของเนินอยู่บริเวณวัดปราสาทแก้ว และเนินดินทางทิศเหนือของวัด พื้นที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ภายในตัวแหล่งเดิมเป็นป่าทึบ แต่ปัจจุบันเป็นป่าโปร่ง พื้นที่เกษตรกรรม และบ้านเรือนราษฎร

เมืองโบราณบ้านพระปืดวางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยคูน้ำ 2 ชั้น และคันดิน 3 ชั้น โดยชั้นนอกสุดเป็นคันดินชั้นนอก ถัดเข้ามาเป็นคูน้ำชั้นนอก คันดินชั้นกลาง คูน้ำชั้นใน และคันดินชั้นใน ตามลำดับ (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ 2545)

คันดินชั้นนอกด้านทิศเหนือและตะวันออกยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็น ซึ่งเดิมคันดินทั้งสองมีระดับความสูงเสมอกัน แค่ต่อมาถูกไถปรับพื้นที่เพื่อทำถนน ส่วนคันดินชั้นนอกด้านทิศตะวันตกไม่ปรากฏร่องรอย สันนิษฐานว่าถูกไถปรับเพื่อทำเกษตรกรรมในสมัยหลัง

คันดินชั้นกลางของทุกด้านยังปรากฏร่องรอยชัดเจน แต่มีบางส่วนที่ถูกไถออกเป็นพื้นที่นาและพื้นที่อยู่อาศัย 

คันดินชั้นในด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ยังปรากฏร่องรอยอย่างชัดเจน แต่คันดินชั้นในด้านทิศใต้ถูกปรับปลี่ยนเป็นถนนสัญจรในหมู่บ้าน และเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง

ปัจจุบันคูน้ำบางส่วนของชุมชนโบราณได้รับการขุดลอกโดยกรมชลประทาน สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหมู่บ้าน โดยคูน้ำชั้นนอกด้านทิศเหนือเรียกว่า “หนองตะเล” คูน้ำชั้นนอกด้านทิศตะวันออกซึ่งยังคงสภาพดั้งเดิม คูน้ำชั้นนอกด้านทิศใต้ฝั่งตะวัออกมีการขุดลอกแล้วเรียกว่า” หนองใหญ่” ส่วนคูน้ำชั้นนอกทางทิศใต้ฝั่งทิศตะวันตกนั้น ปัจุบันมีสภาพเป็นทุ่งนา

สำหรับคูน้ำชั้นในปรากฏสภาพให้เห็นอย่างชัดเจนทุกด้านและมีการขุดลอกแล้ว มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่ถูกรุกล้ำทำเป็นถนนและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ภายในตัวแหล่งระหว่างชายเนินของหมู่บ้านกับคันดินชั้นในด้านทิศเหนือมีหนองน้ำขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งเรียกว่า “หนองผือ” และตรงบริเวณระหว่างชายเนินวัดปราสาทแก้วกับคันดินชั้นในด้านทิศตะวันออกก็มีหนองน้ำขนาดใหญ่อีกแหน่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันหนองน้ำบางส่วนถูกถมเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่

ทางด้านทิศตะวันออกนอกเมืองมี “ลำห้วยระวี” ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านชิดคันดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลำห้วยแห่งนี้เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล

นอกจากนี้ เมืองพระปืดยังตั้งอยู่ห่างจากลำห้วยละหาน (เป็นน้ำที่แยกออกจากลำห้วยระวี) มาทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำชีมาทางทิศตะวันออกประมาณ 16 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำมูลมาทางทิศใต้ราว 35 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

158 เมตร

ทางน้ำ

ลำห้วยระวี, แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

เมืองโบราณมีลักษณะเป็นเนินดินบนพื้นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทร์นารี พื้นที่โดยรอยเป็นพื้นที่ราบมีลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย

ลักษณะดิน (กรมศิลปากร 2526 : 3-4 ; ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ 2545) เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi-Et Series) ค่อนข้างร่วน วัตถุต้นกำเนิดดินที่น้ำพัดพามาทับถมกันเป็นเวลานาน มีความลาดชันมากกว่า 2% ดินชุดนี้เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำเลว น้ำซึมผ่านได้ช้า มีการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า ตามปกติน้ำใต้ดินจะอยู่ลึก 3 เมตรในฤดูแล้ง ดินชั้นบนลึกไม่เกิน 25 เซนติเมตร เนื้อดินเป็นดินร่วนหรือร่วนเหนียวปนทรายแป้ง สีดินเป็นสีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาปนน้ำตาลอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลปนเหลือง หรือสีแดง มีค่า pH ประมาณ 5.2-5.8 เป็นกรดปานกลางถึงกรดแก่

ส่วนดินชั้นล่างที่ลึกกว่า 25 เซนติเมตรลงไปมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียว จนถึงดินเหนียว สีดินเป็นสีเทาปนน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาอ่อน มีขุดประสีน้ำตาลเข้ม สีแดงปนเหลือง หรือสีแดง มีค่า pH ประมาณ 5-5.6 เป็นกรดปานกลางถึงกรดแก่ นอกจากนี้ดินยังมีความเค็มซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของเกลือใต้ผิวดินอีกด้วย ผลการวิเคราะห์ดินทางเคมีพบว่ามีอินทรีย์วัตถุปนอยู่ค่อนข้างต่ำ มีฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก

ส่วนโดยรอบตัวแหล่งซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งนานั้นเป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi-Et Series) อันเป็นดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มีน้ำพัดพามาเช่นเดียวกับภายในตัวแหล่ง 

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : นิติ แสงวัณณ์, สุพจน์ พรหมมาโนช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

นิติ แสงวัณณ์ และสุพจน์ พรหมมาโนช สำรวจและจัดทำรายงานสำรวจเมืองโบราณบ้านพระปืด ในโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของกรมศิลปากร โดยกล่าวถึงชุมชนโบราณแห่งนี้พอสังเขปว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพิจารณาจากโครงกระดูกที่บรรจุอยู่ในภาชนะดินเผา ซึ่งเป็นประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 กำหนดอายุจากการเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีบ้านโนนยาง อ.ชุมพลบุรี ได้ประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีนำตาลดำ บ่งชี้ว่าชุมชนแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 (กรมศิลปากร 2526 : 9-10)

ชื่อผู้ศึกษา : สมบัติ พริ้งเพราะ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สถาบันราชภัฏสุรินทร์

ผลการศึกษา :

สมบัติ พริ้งเพราะ สถาบันราชภัฏสุรินทร์ ศึกษาและสัมภาษณ์เพื่อจัดทำประวัติหมู่บ้านพระปืด กล่าวว่าบ้านพระปืดเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นแล้วร้างไปในสมัยที่เขมรเสื่อมอำนาจ ต่อมามีชาวส่วยหรือกูย ชื่อตาพรหม อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านนี้อีกครั้ง (สมบัติ พริ้งเพราะ 2537 : 7)

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา พร้อมด้วยศึกษาธิการกิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ได้ตรวจสอบและรับมอบโบราณวัตถุที่ชาวบ้านพระปืดขุดพบภายในหมู่บ้าน รวม 7 รายการ ได้แก่ ประติมากรรมนางปรัชญาปารมิตาสำริด 2 องค์ ภาชนะสำริดทรงครึ่งวงกลม 3 ใบ สังข์สำริด 1 ชิ้น และฐานสำริด 1 ชิ้น (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา 2541) ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้เก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑืสถานแห่งชาติ สุรินทร์

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา สำรวจโบราณสถานปราสาทแก้ว เพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยลำดับความสำคัญโบราณสถานเป็นมรดกทางวัฒนธรรม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในวัฒนธรรมล้างช้าง หรือพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัยกับอยุธยา (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา 2545 : 3)

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา บูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทแก้ว วัดพระปืด ใน “โครงการงานบูรณะปราสาทแก้ว วัดพระปืด” ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 26 ธันวาคม 2545

ชื่อผู้ศึกษา : ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์, ศึกษาตำนาน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษาพัฒนาการชุมชนโบราณบ้านพระปืด ตำบลบ้านแร่ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์” โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อศึกษาประวัติและตำนาน โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพัฒนาการของชุมชนโบราณบ้านพระปืด

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

การศึกษาที่ผ่านมาของกรมศิลปากรและนายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ (2545) สรุปได้ว่าชุมชนโบราณบ้านพระปืด จ.สุรินทร์ ปรากฏร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏเนินดินที่มีขนาดสูงใหญ่ มีชั้นทับถมของเศษภาชนะดินเผาในระดับที่ลึกลงไปจากผิวดิน แสดงถึงการมีกิจกรรมการอยู่อาศัยของมนุษย์ซ้อนทับถมกันมาเป็นระยะเวลานาน

(ปืด เป็นภาษาส่วย แปลว่าใหญ่)

สมัยที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้นของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้ กำหนดอายุได้ประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยเหล็กหรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ลักษณะที่ตั้งของชุมชนเป็นเนินดินใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ อยู่ในที่ราบลุ่ม ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว มีการผลิตภาชนะดินเผารูปทรงเรียบง่าย มีการถลุงเหล็กเพื่อนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ มีประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 คือการนำกระดูกของผู้ตายบรรจุลงในภาชนะดินเผาแล้วฝังลงดินอีกครั้ง และมีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ภายนอก ในขณะที่พื้นที่แถบนี้ได้ปรากฏแหล่งชุมชนโบราณในสมัยเดียวกันหลายแห่งตลอดลำห้วยระวี ที่สำคัญคือแหล่งโบราณคดีบ้านแร่ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่จากกิจกรรมถลุงเหล็ก ปรากฏหลักฐานประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเยียดยาวและฝังในภาชนะดินเผา จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานที่บ้านแร่นี้ก่อนที่จะอพยพขยายชุมชนออกมาอยู่ที่บ้านพระปืด

สมัยที่ 2 ชุมชนโบราณบ้านพระปืดอาศัยอยู่ต่อเนื่องมาจากระยะที่ 1 แต่ชุมชนมีการขยายใหญ่ขึ้น เป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการขุดคูน้ำและสร้างคันดินล้อมรอบที่อยู่อาศัยเพื่อการอุปโภคบริโภคและป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากตั้งอยู่ริมลำน้ำ ในระยะนี้ถือว่าเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว อายุราว 1,500 ปีมาแล้ว ในขณะที่วิถีชีวิตด้านอื่นๆยังคงสืบเนื่องมาจากสมัยที่ 1 ทั้งการถลุงเหล็ก เพาะปลูกข้าว ทำภาชนะดินเผา ประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 แต่ชุมชนแห่งนี้อาจไม่มีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองและวัฒนธรรมมากนัก

ลักษณะแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศตะวันอกอเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ประกอบไปด้วยคูน้ำ 2 ชั้น และคันดิน 3 ชั้น โดยชั้นนอกสุดเป็นคันดินชั้นนอก ถัดเข้ามาเป็นคูน้ำชั้นนอก คันดินชั้นกลาง คูน้ำชั้นใน และคันดินชั้นใน ตามลำดับ โดยมีลำห้วยระวีซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลประชิดคูเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคูเมืองและยังเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญเนื่องจากไหลเชื่อมกับลำห้วยละหานและแม่น้ำมูล

สมัยที่ 3 เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมดินแดนแถบนี้ ดังปรากฏโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง ประติมากรรมรูปเคารพในพุทธศาสนาแบบมหายาน สิ่งของเครื่องใช้ และภาชนะดินเผาแบบเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยสิ่งของบางอย่างก็สามารถผลิตขึ้นเองได้ภายในชุมชน เช่น การหล่อสำริด และการทำพระพิมพ์ ในขณะที่บางอย่างต้องมีการนำเข้าจากภายนอก เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเคลือบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชุมชนภายนอกเพิ่มมากขึ้น ในสมัยนี้อาจมีศาสนสถานดังจะเห็นได้จากซากโบราณสถานที่ปราสาทแก้วหรือปราสาทพระปืดสร้างซ้อนทับ

สมัยที่ 4 ช่วงระยะเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-22 เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมเขมรเสื่อมลงไปและชุมชนคงถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง หรืออาจมีชุมชนอาศัยสืบต่อมาจากสมัยที่ 3 แต่ไม่มีการสืบทอดวัฒนธรรมเขมร และหันกลับไปดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบชุมชนเกษตรกรรม โบราณสถานที่สำคัญในสมัยนี้ได้แก่ ปราสาทแก้ว หรือปราสาทพระปืด

สมัยที่ 5 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมล้างช้างเจริญขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน สันนิษฐานว่าชุมชนพื้นเมืองแถบนี้เป็นชาวส่วยหรือกูย จึงรับเอาวัฒนธรรมแบบใหม่เข้ามา มีการนับถือพุทธศาสนาเถรวาท แตกต่างออกไปจากกลุ่มคนในภาคอีสานตอนบน จึงมีการสร้างศาสนสถานปราสาทแก้ว และพระพุทธรูปคือพระปืดและพระเสี่ยงทาย ที่ได่รับอิทธิพลล้านช้างบางส่วนมาผสมสผสานกับลักษณะท้องถิ่น จึงกลายมาเป็นศิลปะแบบพื้นถิ่น ซึ่งมีปราสาทหลายในจังหวัดสุรินทร์ที่มีศิลปกรรมในรูปแบบนี้

สมัยที่ 6 หลังจากการตั้งถิ่นฐานในสมัยที่ 5 ชุมชนบ้านพระปืดและปราสาทแก้วคงถูกทิ้งร้างไปช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งชุมชนใหม่ที่มีวัฒนธรรมแบบเขมรพื้นถิ่นได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว มีการดัดแปลงปราสาทแก้วให้เป็นอุโบสถ ตั้งเป็นวัดปราสาทแก้ว จนกระทั่งปัจจุบัน

ตำนานที่เกี่ยวข้อง

บ้านพระปืด แต่เดิมมีชื่อว่า บ้านประปืด ซึ่งสันนิษฐานว่า  คำว่า “ประปืด” คงเพี้ยนมาจากคำว่า “เปรียะปืด” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างภาษาพื้นเมืองเขมรกับกูย เพราะคำว่า “เปรียะ”  ในภาษาพื้นเมืองเขมร แปลว่า “พระพุทธรูป” คำว่า “ปืด” เป็นภาษากูย แปลว่า “ใหญ่”

คำว่า  บ้านประปืด  ได้ใช้เรียกกันมานานแล้ว  แต่ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนเป็น  "บ้านพระปืด"  เพื่อให้เรียกง่ายเข้า และแปลตรงตัวจากภาษาไทยปนกับภาษาพื้นเมืองกูย ซึ่งเข้าใจว่าคงจะให้สอดคล้องกับตำนานปาก  เกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน  ที่เล่าขานมานานแล้วก็ได้

จากตำนานคำบอกเล่าที่เป็นที่มาของ บ้านพระปืด

ตำนานที่ 1 นานมาแล้วมีชาวกวยบ้านจอมพระไปขุดเผือกขุดมันในป่าแล้วมีตัวอะไรมาเลียแผ่นหลัง  ชาวบ้านคนนั้นตกใจจึงขว้างเสียมไปถูกสัตว์นั้นวิ่งหนีไป  มองไวๆ เห็นเป็นกวางขนทอง (บ้างเล่าว่ามีกระดิ่งทองผูกคอด้วย) จึงวิ่งตามไป หว่าเห็นแต่รอยเลือด เมื่อแกะรอยไปเรื่อยๆ ผ่านไปหลายหมู่บ้าน (เช่นบ้าน ซแรออร์) จนใกล้เที่ยงจึงหยุดกินข้าว (ต่อมาได้ชื่อ “บ้านฉันเพล”)  แล้วตามไปจนถึง “บ้านเมืองที” จากนั้นรอยเลือดนั้นก็หายไปบริเวณป่าแห่งหนึ่ง  เขาก็ไม่ย่อท้อ  สู้บุกฟันป่าเข้าไป  ในที่สุดก็พบปราสาท  เมื่อเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ข้างใน  เขาก็พลันร้องขึ้นด้วยความประหลาดใจว่า “เปรี๊ยะ! ปืดๆๆ” เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เขาเห็นเลือดซึมออกมาจากพระชงฆ์ (แข้ง) ขวา  จึงเชื่อว่ากวางทองก็คือพระพุทธรูปองค์นี้นั่นเอง

เปรียะปืด เป็นภาษากวย  แปลว่า พระใหญ่  เชื่อกันว่าคำอุทานของชาวกวยนี่เองคือที่มาของชื่อหมู่บ้านพระปืด

ตำนานที่ 2 เมื่อราว พ.ศ. 2300 “เชียงปุม” กับ “เชียงปืด” สองพี่น้องชาวกวยได้มาตั้งหมู่บ้านเมืองที  ต่อมาเชียงปุมช่วยจับช้างเผือกส่งคืนให้กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา  กระทั่งได้รับบำเหน็จเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก เมื่อหมู่บ้านเมืองทีมีคนหนาแน่นมากขึ้น  ตาพรหม (สันนิษฐานว่าเป็นลูกของเชียงปืด) จึงนำครัวบางส่วนอพยพมาอยู่ที่บริเวณปราสาทพระปืด  ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนมาก่อนนั่นเอง  ดังนั้นชุมชนปัจจุบันน่าจะสืบเนื่องมากจากคนรุ่นตาพรหม  คะเนอายุน่าจะตกประมาณ 200-250 ปี เป็นอย่างต่ำ บ้านพระปืดจึงอาจจะมาจากชื่อ “เชียงปืด” อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณบ้านพระปืด ต.เขวาสินรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์. โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร เล่ม 21/2526. (เอกสารอัดสำเนา), 2526.

กฤช เหลือลมัย. “เรื่องเก่าๆ ที่วัดพระปืด.” เมืองโบราณ 26, 1 (มกราคม-มีนาคม 2543) : 12-14.

ทิวา ศุภจรรยา. แหล่งชุมชนโบราณมรดกทางวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องสุรินทร์มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศ วันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2536. (เอกสารอัดสำเนา), 2536.

ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. “การศึกษาพัฒนาการชุมชนโบราณบ้านพระปืด ตำบลบ้านแร่ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

สมบัติ พริ้งเพราะ. ประวัติหมู่บ้านพระปืด. สุรินทร์ : เอกสารประกอบการพัฒนาหมู่บ้าน สถาบันราชภัฏสุรินทร์, 2537.

สมมาตร์ ผลเกิด. “การศึกษาปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา. บันทึกข้อความ ที่ ศธ.0708.16/พิเศษ วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 เรื่องการตรวจและรับมอบโบราณวัถตุ. (เอกสารอัดสำเนา), 2541.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา. รายงานประกอบการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทแก้ว บ้านพระปืด ต.บ้านแร่ กิ่ง อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์. (เอกสารอัดสำเนา), 2545.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านฝาง ตำบลบ้านฝาง กิ่งอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย. เอกสารทางวาการลำดับที่ 1/2540 ของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2540.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี