โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โบราณสถานบ่ออีกา

ที่ตั้ง : ต.เสมา อ.สูงเนิน

ตำบล : เสมา

อำเภอ : สูงเนิน

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.92263 N, 101.79792 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล, ลำตะคอง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยไผ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมา ด้านทิศเหนือของบ่ออีกา [ดู เมืองเสมา]

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา ได้รับการดูแลรักษาและปรับปรุงภูมิทัศน์ค่อนข้างดี มีป้ายบอกข้อมูลโบราณสถานของกรมศิลปากรแต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม คำบรรยายค่อนข้างเลือนราง

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน คือ วัดธรรมาจักรเสมารามซึ่งประดิษฐานพระนอนและธรรมจักรศิลาสมัย     ทวารวดี ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ซึ่งเป็นโบราณสถานแบบเขมร

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ เล่ม 69 ตอนที่ 60 วันที่ 30 กันยายน 2495

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาชั้นใน ทางด้านทิศเหนือของบ่ออีกา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร สภาพก่อนการขุดแต่งมีป่าไม้ขึ้นปกคลุม ตรงกลางของพื้นที่เป็นเนินดินสูง มีร่องรอยของการลักลอบขุดหาสมบัติ สภาพปัจจุบันได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยกรมศิลปากรอยู่ในสภาพค่อนข้างดี 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

220-222 เมตร

ทางน้ำ

ลำตะคอง, แม่น้ำมูล, ลำน้ำสาขา ได้แก่ ห้วยไผ่

สภาพธรณีวิทยา

[ดู เมืองเสมา]

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15-18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากรทำการสำรวจ ทำผัง และปักหมุดโบราณสถานภายในเมืองเสมาพร้อมทั้งขุดทดสอบทางโบราณคดี จำนวน 1 หลุม ขนาด 3x3 เมตร บริเวณเมืองชั้นในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ชื่อผู้ศึกษา : หจก. ปุราณรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก. ปุราณรักษ์ได้ทำการขุดแต่ง บูรณะและเสริมความมั่นคงให้แก่โบราณสถานภายในเมืองเสมาจำนวน 9 แห่ง และได้ขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 1 หลุม พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : เขมิกา หวังสุข

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

เขมิกา หวังสุข เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา” โดยศึกษาพัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณเมืองเสมาและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนโบราณเมืองเสมากับชุมชนโบราณร่วมสมัยในบริเวณลุ่มน้ำมูล จากหลักฐานข้อมูลทุกประเภท ได้แก่ โบราณวัตถุประเภทต่างๆ โบราณสถาน และเอกสาร จารึก

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา เป็นปราสาทในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร ก่อด้วยอิฐและหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 45 x 50 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ สภาพเหลือเพียงส่วนฐานสูงประมาณ 1 เมตร ประกอบด้วย ปราสาทประธาน 1 หลัง วิหาร 2 หลัง ฐานอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ 1 หลังและกำแพงแก้ว

- ปราสาทประธาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 8.8 x 22 เมตร  มีสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน ซึ่งเป็นฐานบัวก่อด้วยอิฐ ด้านทิศใต้ซึ่งเป็นประตูทางเข้า-ออกของปราสาทประธานมีอันตลาระเชื่อมกับมณฑปรูปกากบาท มีบันไดทางขึ้น-ลง 3 ด้าน คือ ด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก โดยทางขึ้น-ลงด้านทิศใต้มีฉนวนก่ออิฐเชื่อมกับโคปุระของกำแพงแก้ว ขั้นบันไดทางขึ้น-ลงด้านข้างของมณฑปทำด้วยหินทราย  ภายในห้องด้านหน้านี้พบชิ้นส่วนกรอบประตูทำด้วยหินทรายหลายชิ้นวางอยู่ตรงหน้าบันไดทางขึ้น-ลง

ส่วนห้องครรภคฤหะก่อเป็นห้องยกฐานสูงขึ้นผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ภายในประดิษฐานแท่นประติมากรรมซึ่งพบจากการขุดแต่ง บนพื้นห้องมีท่อโสมสูตรเป็นแนวยาวเริ่มจากใต้แท่นฐานประติมากรรมไปทางด้านทิศตะวันออก

- วิหาร ด้านทิศตะวันตกและตะวันออกของปราสาทประธานขนาบข้างด้วยวิหารห่างไปประมาณ 4 เมตร ในแนวเดียวกัน สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานก่อด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6 x 12.30 เมตร ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาและมีทางเข้า-ออก 2 ทาง

- ฐานอาคารทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวิหารด้านทิศตะวันออกห่างไปประมาณ 10 เมตร สภาพชำรุดเหลือเพียงฐานก่อด้วยอิฐ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3.8 x 5 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะเป็นฐานเรียบ

- กำแพงแก้ว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 43.40 x 48.60 เมตร หนา 1.20 เมตร กำแพงแก้วด้านทิศใต้ก่อด้วยอิฐเหลือเฉพาะส่วนฐานบัวซึ่งก่อบนฐานเขียงที่ทำจากหินทราย จากการขุดแต่งพบว่าฐานเขียงบางส่วนทำจากศิลาจารึกในสมัยก่อนหน้า ตรงกึ่งกลางของกำแพงแก้วมีซุ้มโคปุระในผังรูปกากบาท สภาพชำรุดเหลือเฉพาะส่วนฐานซึ่งก่อด้วยหินทรายรองรับส่วนผนังก่อด้วยอิฐ มีบันไดทางขึ้น-ลง ทำด้วยหินทราย ด้านหน้าของโคปุระนอกกำแพงแก้วมีฉนวนก่อด้วยอิฐต่อยื่นออกไป ด้านข้างของซุ้มโคปุระทั้ง 2 ด้านห่างออกไปประมาณ 4 เมตร ในแนวตรงกับวิหาร มีบันไดทางขึ้น-ลง ทำด้วยหินทราย ส่วนกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกไม่พบทางเข้า-ออก

บริเวณมุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6.80 x 20 เมตร ยาวต่อเนื่องไปตามแนวกำแพง มีบันไดขึ้น-ลงตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้พบที่กำแพงแก้วของปราสาทเมืองแขกซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร

จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพหินทรายเป็นรูปวงกลมคล้ายฐานบัว จำนวน 2 ชิ้น ชิ้นส่วนเทวรูป ชิ้นส่วนโคนนทิ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่ถูกนำมาทำเป็นฐานกำแพงแก้ว ลักษณะประทับยืน จีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย พระพาหายกขึ้นแต่ส่วนพระกรหักหายไป ลักษณะคล้ายคลึงพระพุทธรูปแบบ  ทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ศิลาจารึก เครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น ชิ้นส่วนกลีบขนุนหินทราย ชิ้นส่วนฐานบัวขนาดใหญ่  

เทคนิคการก่อสร้าง โบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา ทุกหลังใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบเดียวกัน คือ การปรับถมดินให้แน่นแล้วนำเศษหินทรายสีม่วงก้อนเล็กและทรายมาถมเป็นแกนกลาง แล้วนำอิฐหรือหินทรายมาก่อเป็นขอบและพื้นก่อนจะก่อเป็นอาคารขึ้นมา โดยใช้อิฐเนื้อค่อนข้างละเอียดไม่มีแกลบข้าวปนแบบอิฐที่ใช้สร้างโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร โดยไม่สอปูนแล้วฉาบปูนทับผนังอิฐ ในส่วนของโครงสร้างที่รับน้ำหนัก เครื่องประดับตกแต่งอาคารบางส่วนทำด้วยหินทราย เช่น วงกบประตู หน้าต่าง กลีบขนุน ฐานบัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามพบว่าแนวอิฐชั้นล่างด้านในของฐานประสาทประธานมีการใช้อิฐก้อนใหญ่มีแกลบข้าวปนเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นอิฐแบบที่ใช้ในวัฒนธรรมทวารวดี

บริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา พบจารึกที่เกี่ยวข้องกับปราสาท ได้แก่

จารึกบ่ออีกา พบบริเวณบ่ออีกาซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของโบราณสถาน อักษรขอม ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุพ.ศ. 1411 มีเนื้อหากล่าวถึงพระราชาแห่งอาณาจักรศรีจนาศะทรงอุทิศปศุสัตว์และทาสทั้งหญิงและชายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนด้านที่ 2 กล่าวสรรเสริญพระอิศวรและอังศเทพผู้ได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไปนอกกัมพุเทศ และเป็นผู้สร้างศิวลึงค์ขึ้นถวายเทพเจ้า (กรมศิลปากร 2529 : 23-29)

จารึกเมืองเสมา พบบริเวณเมืองเสมา อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ระบุมหาศักราช 893 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1514 เริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม พระอุมา และพระสรัสวดี จากนั้นกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบาทบรมวีรโลกว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมัน และทรงสืบเชื้อสายมาจากจันทรวงศ์ และกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 สุดท้ายกล่าวถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปไว้หลายองค์ พร้อมทั้งถวายทาสและสิ่งของต่างๆ แด่ศาสนสถาน (กรมศิลปากร 2529 : 42-49)

จารึกพบใหม่ระหว่างการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้ โดยจารึกถูกนำมาเป็นฐานของกำแพงแก้ว อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ยังไม่มีผลของการอ่านและแปล ระบุมหาศักราช 849 ตงกับพ.ศ.1470 (เขมิกา หวังสุข 2543 : 42)

จากหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจารึกที่พบบริเวณใกล้กับโบราณสถานทำให้สันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข 1 เมืองเสมา สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย โดยคงมีการปรับเปลี่ยนจากพุทธสถานมาเป็นเทวสถานเมื่อศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ และคงสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับปราสาทเมืองแขก และปราสาทโนนกู่ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของเมืองเสมา โดยปราสาททั้งสองหลังนี้กำหนดอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15 ตรงกับศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์  (ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุรสวัสวดิ์ 2537 : 62) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

อมรรัตน์ พิยะกูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.

เขมิกา หวังสุข. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมในลุ่มแม่น้ำมูล : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีเมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

ปุราณรักษ์, หจก. รายงานการขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. รายงานเสนอต่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา, 2542. (อัดสำเนา)

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย : ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง