แหล่งหินตัด


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : แหล่งหินตัด อำเภอสีคิ้ว

ที่ตั้ง : ถ.มิตรภาพ ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว

ตำบล : ลาดบัวขาว

อำเภอ : สีคิ้ว

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.85672 N, 101.67604 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล, ลำตะคอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

แหล่งหินตัดโบราณ ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206-207 ข้างวัดเขาทองวนารามหรือวัดภูเขาทอง ตรงข้ามสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอสีคิ้ว หรืออยู่ห่างจากต่างระดับสีคิ้วไปทางทิศตะวันตก (หรือไปทางอำเภอปากช่อง) ตามถนนมิตรภาพประมาณ 2.5 กิโลเมตร ก่อนถึงวัดเขาทองวนารามหรือวัดภูเขาทอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แหล่งหินตัดหรือแหล่งตัดหินโบราณ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งความรู้ทางประวัติโบราณคดีและธรณีวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งในอำเภอสีคิ้ว แหล่งโบราณคดีได้รับการอนุรักษ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ถูกรบกวนน้อย มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับเนินเขาคือ ลานจอดรถ ป้ายนิทรรศการให้ความรู้ ศาลานั่งพักผ่อน และบันไดขึ้นลงเนินเขา ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2556 ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม  

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

เนินเขา

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่ของแหล่งหินตัดโบราณอำเภอสีคิ้วมีลักษณะเป็นเนินเขาหินทรายขนาดเล็กริมถนนมิตรภาพ เนินเขาสูงจากถนนมิตรภาพประมาณกว่า 10 เมตร (เป็นหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช) ห่างจากลำตะคองมาทางทิศใต้ประมาณ 1.8 กิโลเมตร จากภาพถ่ายทางอากาศ ด้านทิศตะวันออกของเนินเขามีร่องรอยทางน้ำโบราณที่ไปเชื่อมกับลำตะคองได้ 

สภาพบนเนินเขาส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาวเทาที่โผล่พ้นดิน (outcrop) บางส่วนเป็นพื้นดิน มีไม้ยืนต้นและวัชพืชขึ้นอยู่ประปราย พื้นที่ด้านในมีการกั้นรั้วลวดหนาม บริเวณพื้นหินทรายบนเนินเขาด้านทิศเหนือ (ริมถนนมิตรภาพ) ปรากฏร่องรอยการสกัดหินทรายออกเป็นก้อน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

279 เมตร

ทางน้ำ

ลำตะคอง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นเนินเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช  

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15-18

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งผลิต, แหล่งวัตถุดิบ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งหินตัดอำเภอสีคิ้วเป็นแหล่งวัตถุดิบหินทรายที่สำคัญแห่งหนึ่งของมนุษย์ในอดีตสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเฉพาะปราสาทในวัฒนธรรมเขมรในเขตอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทหัวสระ ปราสาทโนนกู่ เป็นต้น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18

ร่องรอยการสกัดหินที่ปรากฏบนเนินเขามีร่องรอยการสกัดหินทรายออกเป็นก้อน ส่วนใหญ่เป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบางก้อนที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือลูกบาศก์ บางส่วนปรากฏเป็นร่องสกัดแนวยาวต่อเนื่องกัน (ยังไม่มีการสกัดเอาก้อนหินทรายออกไป) ในขณะที่บางส่วนมีการสกัดเอาก้อนหินทรายออกไปแล้ว ที่พื้นผิวด้านข้างของก้อนหินทรายที่ถูกสกัดมีร่องรอยเครื่องมือที่ใช้การสกัด นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือเหล็กประเภทสิ่ว

ร่องที่เกิดจากการสกัดหินทรายที่แหล่งนี้ อยู่ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้และแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวแตกตามธรรมชาติของหินทรายบริเวณนี้ที่นักธรณีวิทยาศึกษาพบว่ามีแนวแตกอยู่ 2 ทิศทาง คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้เป็นแนวหลัก และแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้เป็นแนวรอง โดยวางตัวตัดการเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายลักษณะรูปหลังเต่า (กรมทรัพยากรธรณี 2557)

ที่พื้นหินทรายบนเนินเขา นอกจากจะปรากฏร่องรอยการตัดหินของมนุษย์สมัยโบราณแล้ว ยังมีร่องรอยของปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา คือ กุมภลักษณ์ (pot hole) มีลักษณะเป็นหลุมลึกลงไปในพื้นหิน รูปร่างภายในคล้ายทรงหม้อตาล โดยปากหลุมกว้างและค่อยๆสอบเข้าไปยังก้นหลุม ผิวผนังหลุมเรียบ กุมภลักษณ์นี้เกิดจากการกระทำของน้ำและเม็ดกรวด โดยกระแสน้ำได้พัดพาเม็ดกรวดไหลเป็นกระแสน้ำวนภายในภายในรูนับร้อยนับพันปีจนหลุมขยายตัวกว้างขึ้น ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกชื่อหลุมนี้ว่า กุมภลักษณ์ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายหม้อ (กรมทรัพยากรธรณี 2557)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาจังหวัดนครราชสีมา [ออนไลน์], มปป. เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.dmr.go.th/download/article/article_20110209133746.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี