วัดมหาธาตุ


โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดมหาธาตุเชียงคาน, วัดหลวงพ่อใหญ่

ที่ตั้ง : เลขที่ 22 ถ.ศรีเชียงคาน ม.2 บ้านเชียงคาน เทศบาลตำบลเชียงคาน

ตำบล : เชียงคาน

อำเภอ : เชียงคาน

จังหวัด : เลย

พิกัด DD : 17.895495 N, 101.657328 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในตัวอำเภอเชียงคาน ในเขตเทศบาลตำบลเชียงคาน ริม ถ.ศรีเชียงคาน (ทางหลวงหมายเลข 211) ซ.14 และ ถ.ชายโขง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดมหาธาตุเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงคาน เป็นพุทธศาสนสถานสำคัญของคนในพื้นที่และของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงคาน

หมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ 080-762-1822

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดมหาธาตุ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดมหาธาตุเป็นโบราณพุทธศาสนสถานที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมน้ำโขงซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

218 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมน้ำโขงซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 22-ปัจจุบัน

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดมหาธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในอำเภอเชียงคาน สร้างขึ้นพร้อมๆกับการก่อตั้งเมืองเชียงคาน ชาวบ้านเรียกวัดหลวงพ่อใหญ่ เป็นโบราณสถานสำคัญที่แสดงศิลปกรรมท้องถิ่นรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-24 ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ในประวัติวัดกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2197 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2219

ในอดีตพื้นที่ภายในวัดมหาธาตุยังเคยถูกใช้เป็นที่ทำการเมืองเชียงคาน โดยเมื่อครั้งที่ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยที่อยู่ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้อพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคานหรืออำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า เมืองเชียงคานใหม่ มีที่ทำการอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายที่ทำการไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ.2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาใน พ.ศ.2484 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบัน

โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ วิหาร ถาน (ส้วมของพระ)

วิหาร ตั้งอยู่บริเวณกลางวัด ศิลปกรรมสถาปัตยกรรมโดยรวมเป็นศิลปะแบบล้านช้างผสมกับอยุธยาตอนปลาย

ลักษณะอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก ฐานวิหารยกสูง เครื่องบนพังทลายลงหมด ปัจจุบันทางวัดทำเป็นหลังคาจั่วมุงด้วยสังกะสี มีปีกนกยื่นออกทั้ง 2 ข้าง

ตัวอาคารมีระเบียงยื่นด้านหน้า มีบันไดทางขึ้นสู่ระเบียง 3 บันได คือ ตรงกลาง 1 บันได และอีก 2 บันไดที่ด้านซ้าย-ขวา (ทิศเหนือและใต้) ด้านหน้าของตัววิหารที่ต่อกับระเบียงมีช่องประตู 3 ช่อง เหนือประตูกลางเป็นซุ้มทรงปราสาท ผนังอาคารด้านนอกบริเวณด้านหน้าวิหารมี “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตรกรรมพื้นถิ่น โทนสีแดง น้ำตาล เหลือง เขียว ฟ้า เขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก และเขียนลายพันธุ์พฤกษาที่ซุ้มประตู เพดานระเบียงเป็นแผ่นไม้ทาสีแดง วาดดาวเพดาน (สภาพเริ่มผุพัง) พื้นส่วนระเบียงปูด้วยแผ่นดินเผา (สภาพบางส่วนแตกหลุดร่อน)

นอกจากนี้ยังมีประตูเข้าสู่ตัววิหารอีก 2 ประตู ที่ด้านท้ายวิหาร เบื้องซ้าย-ขวา (ทิศเหนือและใต้) ของพระประธาน ส่วนช่องหน้าต่างมี 4 ช่องที่ด้านยาว (ด้านเหนือและใต้) ของตัววิหาร ด้านละ 2 ช่อง ลักษณะเป็นช่องหน้าต่างขนาดเล็ก หรือช่องแสง

ทั้งนี้ เนื่องจากวิหารชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ทางวัดจึงทุบผนังวิหารด้านทิศใต้ออกเพื่อเชื่อมกับศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ทำให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวิหารถูกทำลายลง

เสาที่ระเบียงและภายในวิหารเป็นไม้กลม ผนังด้านนอกและในทุกด้าน (3 ด้าน คือ ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันตก ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันออก และด้านข้างหรือด้านทิศเหนือ) ทาด้วยสีขาว แต่ส่วนบนของผนังด้านหลังมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ พื้นวิหารปูด้วยแผ่นกระเบื้องสมัยปัจจุบัน เพดานภายในวิหารเป็นแผ่นไม้ทาสีแดง วาดดาวเพดานเหมือนกับส่วนระเบียง

พระประธานในวิหาร คือ หลวงพ่อใหญ่ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย สวมกรองศอ หุ้มด้วยแผ่นทองหรือปิดทอง แต่แผ่นทองทั่วทั้งองค์เริ่มหลุดร่อน

นอกจากนี้ภายในวิหารยังประดิษฐานพระแผงไม้ และพระพุทธรูปไม้อีกหลายองค์ รวมทั้งธรรมาสน์ไม้สลักลวดลายงดงาม ตู้พระธรรมลงรักปิดทอง หีบพระธรรม บานหน้าต่างไม้แกะสลักและประดับกระจกสีลายพันธุ์พฤกษา เสมาไม้ (?) มีร่องรอยลงรักปิดทองหรือเขียนสีเป็นรูปบุคคล (เทวดา?)

อุโบสถ หรือ สิม ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของวิหาร ลักษณะเป็นรูปแบบสิมอีสานที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างเป็นลักษณะของสิมทึบ ก่ออิฐถือปูน ฐานเตี้ย ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก

หลังคาทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น มีปีกนกยื่นออกมาทั้ง 2 ข้าง รับปีกนกด้วยคันทวยไม้แกะสลักอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยสมัยปัจจุบัน ประดับหลังคาด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันและด้านหน้าระเบียงประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลักสวยงาม ลายพันธุ์พฤกษา พญานาค เทวดา และพานบายศรีหรือเจดีย์

ตัวอาคารมีระเบียงยื่นด้านหน้า มีบันไดทางขึ้นสู่ระเบียง 3 บันได คือ ตรงกลาง 1 บันได และอีก 2 บันไดที่ด้านซ้าย-ขวา (ทิศเหนือและใต้) ด้านหน้าของตัวอุโบสถที่ต่อกับระเบียงมีช่องประตู 3 ช่อง เหนือช่องประตูทั้งสามมีภาพวาดจิตรกรรมเรื่องทศชาติ (วาดขึ้นในสมัยปัจจุบัน) พื้นระเบียงปูด้วยแผ่นดินเผา

นอกจากนี้ยังมีประตูเข้าสู่ตัววิหารอีก 2 ประตู ที่ด้านท้ายอุโบสถ เบื้องซ้าย-ขวา (ทิศเหนือและใต้) ของพระประธาน ส่วนช่องหน้าต่างมี 4 ช่องที่ด้านยาว (ด้านเหนือและใต้) ของตัววิหาร ด้านละ 2 ช่อง ลักษณะเป็นช่องหน้าต่างขนาดเล็ก หรือช่องแสง

สภาพโดยทั่วไปของอุโบสถได้รับการบูรณะจนมีสภาพมั่นคงแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ขณะสำรวจไม่สามารถเข้าไปภายในอุโบสถได้ เนื่องจากผู้ถือกุญแจไม่อยู่

ถาน หรือ ส้วมของพระ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรป ลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 3x3 เมตร ฐานยกสูง หันด้านหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้าด้านเดียว เป็นบันไดคอนกรีต ซึ่งจะขึ้นสู่ส่วนระเบียนก่อนที่จะถึงส่วนที่เป็นห้องสุขา ช่องทางเดินเข้าสู่ถานและช่องหน้าต่างที่ระเบียงด้านหน้าทำเป็นวงโค้ง

ภายในแบ่งเป็นห้องสุขา 2 ห้อง บานประตูห้องสุขาเป็นบานประตูไม้ทาสีฟ้า สลักลวดลายใบไม้ดอกไม้ ด้านหลังภายในห้องสุขาแต่ละห้อง มีช่องแสงสูงแคบห้องละ 2 ช่อง

ตามประวัติถานหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยพระยาศรีอรรคฮาตเป็นเจ้าเมือง ที่บริเวณวัดมหาธาตุเป็นที่ทำการเมืองเชียงคาน โดยถานหรือห้องน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ต้อนรับคนต่างชาติที่เข้ามาติดต่อราชการ

ปัจจุบันไม่มีการใช้งานถานแล้ว สภาพโดยทั่วไปได้รับการดูแลให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่ผิวผนังปูนและสีด้านนอกเริ่มแตกร้าวและหลุดร่อน

นอกจากวิหาร อุโบสถ และถานแล้ว ยังมีเจดีย์ย่อมุมตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่ปรากฏแน่ชัด ลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปกรรมภาคกลางและท้องถิ่น เจดีย์องค์นี้เชื่อกันว่าสร้างขึ้นทับรูพญานาค

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี