ปากจั่น


โพสต์เมื่อ 17 มิ.ย. 2022

ที่ตั้ง : ม.11 บ้านปากจั่น ต.ปากจั่น อ.กระบุรี

ตำบล : ปากจั่น

อำเภอ : กระบุรี

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 10.52601 N, 98.835227 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : กระบุรี

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหลีก, คลองจั่น

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองระนองมาตามถนนเพชรเกษม เข้าสู่อำเภอกระบุรี เมื่อถึงแยกอำเภอกระบุรี (สีแยกไฟแดง) ตรงเข้าสู่ตำบลปากจั่น ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงอบต.ปากจั่น จากนั้นเดินทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร โดยผ่านคลองหลีก ถึงสามแยกศาลาแดง จะถึงบริเวณแหล่งโบราณคดีปากจั่น ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 538 – 539 ซึ่งแหล่งโบราณคดีปากจั่นพบโบราณวัตถุกระจายตัวอยู่บริเวณหมู่ที่ 3, 4,7,10 และ 11 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ลักษณะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย คือ คลองหลีก และคลองจั่น ส่วนทางด้านทิศตะวันตกติดกับคลองกระบุรี จึงทำให้สามารถเดินทางไป-มาออกสู่ทะเลอันดามันได้อย่างสะดวก ปัจจุบันมีการปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในบางจุด ชุมชนโบราณแห่งนี้กระจายตัวอยู่ทั้งสองด้านของถนน เพชรเกษม ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 537-538 และอยู่ในบริเวณที่ทางรถไฟเก่าของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัดผ่าน ทางรถไฟนี้ยังคงเหลือสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ในบางจุดเช่นกัน 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

14 เมตร

ทางน้ำ

เป็นพื้นที่บรรจบของคลองหลีก (ลำน้ำย่อยของคลองจั่น) กับคลองจั่น (ลำน้ำย่อยของแม่น้ำกระบุรี)

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่แหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่บรรจบของคลองหลีก (ลำน้ำย่อยของคลองจั่น) กับคลองจั่น (ลำน้ำย่อยของแม่น้ำกระบุรี) เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาและตะกอนตะพักลำน้ำ หินพื้นฐานเป็นหินตะกอน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กรมศิลปากร นำทีมโดย ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ในบริเวณหมู่ที่ 3,4,7,10 และ 11 พบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ลูกปัดแก้วสีเดียวหลากสี เช่น สีเหลือง เขียว แดง ฟ้า และทองเป็นต้น ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต เศษภาชนะดินเผา ทั้งเนื้อดิน เนื้อแกร่งและเครื่องถ้วยจีนรุ่นหลัง กระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณหมู่ที่ 11 ซึ่งในบริเวณดังกล่าวยังพบแนวคันดินที่ถมเพื่อสร้างทางรถไฟ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม พ.ศ.2553 สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญของบ้านปากจั่น จึงทำการสำรวจอีกครั้งพร้อมกับดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 2 หลุมขุดค้น เพื่อศึกษาหาอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีนี้

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, เส้นทางเดินทัพ, แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดินและเนื้อแกร่ง แสดงให้เห็นถึงมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในบริเวณนี้ และพบหลักฐานประเภทลูกปัดแก้วสีเดียว(อินโด-แปซิฟิก) ลูกปัดหิน(คาร์เนเลียนและอาเกต) และเครื่องประดับที่ทำจากทอง ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่นิยมในสมัยอินโด-โรมันนั้น ประกอบกับมีเส้นทางน้ำที่อำนวยความสะดวกในการคมนาคม   แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก  สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 แล้ว

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือ เนื่องจากชุมชนโบราณปากจั่น มีเส้นทางน้ำที่สามารถออกสู่ทะเลอันดามันได้ ชุมชนโบราณแห่งนี้อาจมีฐานะเป็นเมืองท่าการค้าทางฝั่งตะวันตก ที่สามารถเชื่อมต่อเมืองท่าการค้าทางฝั่งตะวันออก เช่นแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรได้ เนื่องจากการพบหลักฐานที่ร่วมสมัยกันและตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สั้นและแคบที่สุด นอกจากนี้ยังพบหลักฐานสมัยอินโด-โรมัน กระจายตัวอยู่ตามแหล่งโบราณคดีชายฝั่งอันดามันอีกหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านนาเหนือ แหล่งโบราณคดีเขากล้วย แหล่งโบราณคดีไร่ใน แหล่งโบราณคดีภูเขาทองและแหล่งโบราณคดีบางหว้า เป็นต้น  ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนหรือความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนภายในภูมิภาคได้อีกด้วย 

อายุสมัย:

1.สมัยที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์

จากการสำรวจพบลูกปัดหินอาเกต หินคาร์เนเลียน ลูกปัดแก้วหลากสี และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาในบริเวณนี้ อาจกล่าวได้ว่าบริเวณบ้านปากจั่น เคยเป็นชุมชนขนาดเล็กหรือจุดแวะพัก ซึ่งมีความสำคัญด้านการค้า จากคำบอกเล่าว่าในอดีตเคยพบท่าเรือในบริเวณหลังสถานีตำรวจภูธรตำบลปากจั่น  โดยใช้คลองหลีกเป็นเส้นทางเดินเรือจากแม่น้ำกระบุรี เข้าสู่บ้านปากจั่น  จากการสำรวจพื้นที่พบทางน้ำจริง แต่มีลักษณะที่เหือดแห้งมานาน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นทางน้ำใหญ่ถึงขนาดมีเรือเข้ามาจอดได้หรือไม่

2.สมัยอยุธยาตอนปลายสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

หลักฐานเมืองปากจั่นกลับมาปรากฏอีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าแต่เดิมชื่อบ้านประจัน เป็นเมืองหน้าด่านยามสู้รบกับพม่า จากหลักฐานที่พบเป็นกำแพงเมืองสามด้านล้อมรอบสถานีตำรวจภูธรตำบลปากจั่น และพบคูน้ำคันดิน ซึ่งห่างจากสถานีตำรวจไปทางทิศตะวันออกราว 10 กิโลเมตร คูน้ำนี้เชื่อมต่อระหว่างคลองจั่นและคลองหลีก ซึ่งอาจใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติ ในการป้องกันข้าศึกได้  ตามพงศาวดารพม่ารบไทย ได้กล่าวถึงกำแพงและคูเมืองนี้ เมื่อพ.ศ.2329 ในรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

3.สมัยรัตนโกสินทร์

เนื่องจากเส้นทางน้ำจากคลองหลีกเปลี่ยนสาย ไปรวมกับคลองจั่นและคลองเงินลงสู่แม่น้ำกระบุรี  ทางน้ำเดิมจึงเหือดแห้งตามกาลเวลา เป็นเพียงลำธารเล็กๆและร่องน้ำแห้งๆ เรียกว่าคลองตาย  บริเวณที่เป็นท่าเรือเมื่ออดีต ก็กลายสภาพเป็นเกาะเรียกบ้านเกาะกลาง ผู้คนเริ่มย้ายถิ่นฐานลงมาตั้งบ้านเรือนที่มะมุและทับหลีมากขึ้น  ประกอบกับการสงครามพม่า-ไทยสิ้นสุด เป็นผลให้บ้านปากจั่นลดฐานะบทบาททางด้านการค้าขายและเมืองหน้าด่านลง

4.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

            เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2433 พระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสแหลมมลายู ได้มาประทับแรมที่พลับพลาวังทู้ 1 ราตรี หรือปัจจุบันเรียกว่า "ดอนพลับพลา" ในหมู่ที่ 2 ตำบลปากจั่น และทรงจารึกศิลาจารึก จ.ป.ร. ที่แดนจังหวัดชุมพร-ระนองหรือที่บ้านท่าศาร

เมื่อ พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเป็นพระยุพราช ก็ได้เสด็จประทับที่พลับพลาวังทู้ 1 ราตรี เช่นกัน 

5.สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

คราวสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นได้ สร้างทางรถไฟจากฝั่งอ่าวไทยไปยังฝั่งอันดามันขึ้น เพื่อความสะดวกในการสร้าง จึงมีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำคลองหลีกเล็กน้อย ภายหลังทางรถไฟโดนรื้อ เหลือเพียงเนินดินและกรวด

            ในสมัยต่อมา เมื่อมีการสร้างสถานีตำรวจภูธรตำบลปากจั่นขึ้น  จึงทำลายกำแพงเมืองโบราณลง และสร้างรั้ว ขึ้นมาแทน 

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ

            -ลูกปัดแก้วสีเดียว หรือลูกปัดลมสินค้า(Trade Wind Bead)

            -เครื่องมือโลหะ

            -เมล็ดพืช

            -เครื่องถ้วยจีน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

เชาวณา ไข่แก้ว และคณะ. รายงานการขุดค้นเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีปากจั่น ต.ปากจั่น  อ.กระบุรี  จ.ระนอง ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน - 15 กรกฎาคม  พ.ศ. 2553 . ม.ป.ท., 2553?.

บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านปากจั่น. ภูเก็ต. สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต, 2550.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี