เมืองโบราณเวียงบัว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เวียงบัว, บ้านบัว, เวียงก๋า

ที่ตั้ง : บ้านบัว ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา

ตำบล : แม่กา

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : พะเยา

พิกัด DD : 19.037069 N, 99.954919 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : อิง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยแม่ต๋ำ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พะเยา - ลำปาง) ประมาณ 13 กิโลเมตร จะมีทางแยกด้านซ้ายมือเข้าบ้านแม่กาหลวง ซึ่งจะมีถนนลูกรังไปยังบ้านบัว อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงแหล่งโบราณคดี (กรมศิลปากร 2529 : 38)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, เนินเขา

สภาพทั่วไป

เวียงบัว ตั้งอยู่บนเขาที่ไม่สูงมากนั้น โดยจะเป็นลักษณะของเนินเขาที่ลาดเทลงมาจากเทือกเขาสูงทางด้านทิศตะวันตก เนินเขาเหล่านี้จะวางตัวสลับซับซ้อนกันไป และมีที่ราบหุบเขาคั่นอยู่บ้าง รวมทั้งมีลำห้วยไหลผ่านด้วย

จากการสำรวจแหล่งโบราณคดี พบลักษณะของเมือง 2 เมืองตั้งอยู่ใกล้กันและมีแนวคันดินเชื่อมติดต่อกัน นอกจากนี้บริเวณนอกเมืองห่างออกมาด้านทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร พบแหล่งโบราณคดี ที่อาจจะเป็นแหล่งเตาเผาภาชนะอีกด้วย (กรมศิลปากร 2529)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

450 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำอิง, ห้วยแม่ต๋ำ

สภาพธรณีวิทยา

บริเวณที่ราบลุ่มด้านตะวันตกนี้ถือว่าเป็นที่ราบที่สำคัญที่สุดของจังหวัด พะเยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ราบในเขตอำเภอเมืองพะเยา ซึ่งเป็นแอ่งกระทะ ทำให้เกิดเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ สำหรับบริเวณที่ราบด้านตะวันออกของกว๊านพะเยา เป็นแหล่งค้าขายและที่ตั้งของชุมชน บริเวณที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเมืองพะเยา ได้แก่บริเวณที่ราบทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกว๊านพะเยา ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลอนลาด(เป็นพื้นที่ที่มีเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป) บริเวณที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ (ธรณีสัณฐานจังหวัดพะเยา 2553)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12, พุทธศตวรรษที่ 20-21

อายุทางวิทยาศาสตร์

พ.ศ.1803-1943

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กำหนดอายุการตั้งเวียงอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21

ชื่อผู้ศึกษา : วราวุธ ศรีโสภาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

เวียงบัวมีสองส่วนคือ เวียงบัวสองสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งป้องกันข้าศึกศัตรูยามสงคราม ต่อมามีการสร้างเวียงบัวหนึ่งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นศูนย์การค้าและศูนย์การปกครอง

ชื่อผู้ศึกษา : เบญจพรรณ รุ่งศุภตานนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

ผลการศึกษา :

จากการสำรวจแหล่งเตาเผาต่างๆที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ คูเวียง และจุดเชื่อมเวียงบัวหนึ่งกับเวียงบัวสอง มีบางจุดบางบริเวณที่ยังไม่สามารถสรุปได้ถึงการเป็นแหล่งเตาเผาอย่างชัดเจน กล่าวคืออาจเป็นเพียงเนินดินที่มีเศษดินที่ถูกไฟเผา ตามเกณฑ์การเลือกพื้นที่สำรวจทุกพื้นที่มีสิทธิ์เป็นไปได้หมด แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงบัวในสมัยโบราณนั้น อาจเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของเมืองพะเยาในแง่ของเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณ

ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาการจัดการแหล่งโบราณคดี, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ลนิธิกรุงเทพประกันภัย, บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ผลการศึกษา :

มีการนำถ่านหน้าเตาเก๊ามะเฟืองมาหาค่าอายุด้วยวิธี radiocarbonฯ กำหนดอายุแหล่งเตาอยู่ในช่วง พ.ศ.1823-1843 (AD. 1280-1300) ช่วงค่าอายุที่ยอมรับได้ หรือ Interception of radiocarbon age with calibration curve อยู่ที่ราวพ.ศ. 1833 (AD. 1290) ตรงกับรัชสมัยพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, แหล่งผลิต

สาระสำคัญทางโบราณคดี

        เวียงบัว ลักษณะผังเมืองวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีรูปแบบคล้ายกับรูปหนึ่งใบโพธิ์ โดยส่วนปลายใบโพธิ์จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดของเมืองยาวที่สุดประมาณ 800 เมตร กว้างที่สุดประมาณ 400 เมตร

        คูเมืองด้านทิศเหนือ-ตะวันตกและตะวันออก มีเพียงชั้นเดียวและเฉพาะด้านทิศตะวันออกจะเป็นลักษณะของลำห้วยที่ไหลชิดผ่านคันดินกำแพง เมืองด้วยโดยคูเมืองจะกว้างประมาณ 10.50 เมตร คันดินกำแพงเมืองชั้นใน กว้างประมาณ 6.50 เมตร นอกจากนี้ยังพบลักษณะคันดิน นอกเมืองที่คงเกิดจากการขุดคูเมืองแล้วนำเอาดินส่วนหนึ่งมาถมเป็นคันดินด้านนอกด้วย แต่มีขนาดและปริมาณน้อยกว่าด้านในโดยจะกว้างประมาณ 5 เมตร

        ส่วนลักษณะของคูเมืองด้านทิศใต้ของเวียงบัวนี้ จะมีคูเมือง 2 ชั้น มีคันดินคั่นอยู่ระหว่างกลาง คูเมืองชั้นในกว้างประมาณ 8.20 เมตร คันดินกว้างประมาณ 7.80 เมตร และคูนอกกว้างประมาณ 9 เมตร แนวคูในชั้นนี้จะขุดอยู่บนเนินเขาสูงกว่าอีก 3 ด้าน และวางตัวเป็นเส้นตรงในแนวทิศตะวันออก- ตะวันตก ความลึกของคูเมืองทั้งหมดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร

        นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ของเวียงบัวนี้ ยังสามารถสังเกตเห็นแนวคันดินที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ จากเวียงบัวลงมา เชื่อมต่อกับเมืองอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงบัวนี้

        สภาพภายในเวียงบัว จะเทลาดจากด้านทิศใต้ เข้ามาภายในเมือง สภาพพื้นที่ภายในเมืองจะมีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขา แบบลอนลูกคลื่นที่ไม่มีความสูงต่างระดับกันมากนัก บริเวณต่ำสุดน่าจะอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายกับเป็นแอ่ง โดยมีคันดินกำแพงเมืองลดเป็นขอบสูงกว่า คันดินด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

        ในปัจจุบันภายในเวียงบัวเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านบัว มีทั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและโรงเรียน มีการทำไร่นา และสวนของชาวบ้านอยู่กระจัดกระจายเป็นแห่งๆ มีแนวถนนติดต่อกันเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวกำแพงเมือง แต่ละด้านถูกรุกล้ำทำลายลงไปเป็นอันมาก

        สำหรับเมืองอีกเมืองหนึ่ง ที่อยู่ด้านทิศใต้ ติดต่อกับเวียงบัวนั้นยังไม่มีชื่อเรียกที่แน่นอน ในที่นี้ขอเรียกว่าเป็น เวียงบัวสอง ซึ่งจะตั้งอยู่บนเนินเขาสูงกว่า เวียงบัวหนึ่ง พื้นที่ภายในเมืองจะมีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นขนาดใหญ่ ซ้อนๆกันอยู่ ไม่พบโบราณวัตถุภายในเมือง

        ลักษณะผังเมืองน่าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร คูเมืองด้านทิศเหนือที่ติดต่อกับเวียงบัวหนึ่ง นั้นพบคูเมืองชั้นเดียว กว้างประมาณ 9.70 เมตร คันดินกว้างประมาณ 7 เมตร

        ส่วนคูเมืองด้านทิศตะวันออก มีคูเมือง 2 ชั้นคูเมืองชั้นในกว้างประมาณ 11 เมตร คันดินกว้างประมาณ 8 เมตร คูเมืองชั้นนอกกว้างประมาณ 7 เมตร และคันดินกว้างประมาณ 4 เมตร ความลึกโดยเฉลี่ยประมาร 1.50 – 2.00 เมตร เช่นกัน

        คูเมืองเวียงบัวหนึ่ง ด้านทิศใต้และตะวันตก จะมีสภาพไม่สมบูรณ์เท่าใดนักเพราะพื้นที่บางส่วนถูกใช้ในการเกษตรกรรม มีการขุดตักหน้าดินไปบ้าง สภาพภายในเมือง มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่บ้างเป็นแห่งๆ ไม่พบโบราณวัตถุ ไม่มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย พื้นที่ค่อยๆเทลาดลงไปโดยรอบ

        เวียงบัวมีแผนผังเป็นรูปดอกบัวสองดอกอยู่ติดกัน หากมองจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศจะดูเหมือนตัวเต่า เพราะคูเวียงบัวหนึ่ง นั้นมีลักษณะเป็นดอกบัวตูมรูปร่างคล้ายหัวเต่า ส่วนคูเวียงบัวสอง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม เมื่ออยู่ใกล้กันจึงมองคล้ายเป็นรูปเต่า ปัจจุบันบ้านเวียงบัวได้กลายเป็นหมู่บ้านโดยชาวบ้านอาศัยที่นั้นส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อนในอดีตแห่งนี้เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ของเมืองพะเยาและมีความสำคัญต่อชุมชนในอดีต (เบญจพรรณ  รุ่งศุภตานนท์, 2550)

แหล่งเตาเผาโดยรอบ

        แหล่งเตาเผาภาชนะดินเผา ม่อนออม ตั้งอยู่นอกเวียงบัวหนึ่ง ด้านทิศใต้ ห่างประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะตั้งอยู่บริเวณเขาม่อนออม ด้านทิศเหนือของแหล่งเตาจะมีลำห้วยป่าเค้าไหลผ่านในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ลำน้ำในห้วยมีเฉพาะฤดูกาล ไม่มีตลอดเวลา

        บริเวณที่ตั้งของแหล่งเตาจะอยู่ระหว่างเชิงเขา ม่อนออมด้านทิศเหนือและห้วยป่าเค้าภายในพื้นที่มีแหล่งหินทรายอยู่ทั่วไป พบเศษภาชนะดินเผาตกกระจายเป็นกลุ่มๆ เต็มบริเวณ ลักษณะพื้นที่เป็นหลุมๆ อยู่ทั่วไปทั้งที่เกิดจากการลักลอบขุดหาภาชนะดินเผา หรืออาจจะเป็นลักษณะที่ตั้งของเตาด้วยก็ได้

        เนื่องจากในการสำรวจ พื้นที่บริเวณนี้แล้ว ไม่พบลักษณะร่องรอยของเตาเผาภาชนะเลย คงพบแต่เศษภาชนะตกอยู่ทั่วไป

        ดังนั้นจึงอาจจะสันนิษฐานได้ เป็น 2 ลักษณะ คือ

        เป็นลักษณะของเตาดินที่ขุดเป็นโพรงดินเข้าไปบริเวณเชิงเขา เช่นเดียวกับที่แหล่งเตา วังเหนือ จังหวัดลำปาง  หรือลักษณะของเตาหลุม ก็เป็นได้เช่นกัน เพราะไม่พบลักษณะชิ้นส่วนของผนังเตา ที่ถูกความร้อนเผา ตกอยู่ให้เห็นเลย   แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิประเทศได้เอื้ออำนวยให้พื้นที่บริเวณนี้สามารถตั้งแหล่งเตาได้เป็นอย่างดี เพราะมีลำห้วยขนาดไม่ใหญ่มากนักไหลผ่านและอีกด้านหนึ่งเป็นเชิงเขา มีป่าไม้อยู่ในบริเวณใกล้เคียง(กรมศิลปากร, 2529, 41-42)

 

หลักฐานทางโบราณคดี

        โบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีเวียงบัวนั้น เนื่องจากเวียงบัวมีพื้นที่กว้างขวางมาก ฉะนั้นการเก็บหลักฐานทางโบราณคดี จึงแยกพื้นที่ในการสำรวจเก็บโบราณวัตถุออกเป็น 3 แหล่ง คือ 

-          บริเวณภายในเวียงบัวโดยทั่วไป

-          บริเวณภายในเวียงบัว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

-          บริเวณแหล่งเตาเผาภาชนะดินเผา ม่อนออม

 

1.       บริเวณภายในเวียงบัวโดยทั่วไป   โบราณวัตถุที่พบ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผา ซึ่งจากลักษณะเนื้อดินแยกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ เนื้อเครื่องดิน และเครื่องหิน มีทั้งแบบเคลือบผิวและไม่เคลือบผิว พบทั้งส่วนขอบปาก-ส่วนตัว และก้นภาชนะ นอกจากนี้ยังพบก้อนอิฐดินเผา อีกก้อนหนึ่งด้วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.1    เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดินเคลือบ พบ 2 ชิ้น ส่วนตัวภาชนะมีลักษณะดังนี้

เนื้อดิน ค่อยข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยมือและใช้แป้นหมุน

สี  น้ำเคลือบไม่สมบูรณ์ (ยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว) สีน้ำตาลซีดมาก(10YR 

    7/3 VERY PALE BROWN)

สีเนื้อดินไส้ใน สีแดง(2.5 YR 5/6 RED)

การตกแต่ง

-          ผิวเรียบ

-          เคลือบขุ่นเฉพาะด้านในภาชนะ

รูปทรงสันนิษฐาน ชาม มีลักษณะปากบานออกขอบปากมน มีสันใต้ขอบปากด้านในภาชนะตัวโค้งสอบลงมาหาส่วนฐาน ก้นมีสันเตี้ยๆ หนา เฉลี่ย 0.4-0.8 ซม.

1.2    เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหิน พบ 2 ชิ้น เป็นชิ้นส่วนตัวภาชนะ มีลักษณะ

เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยมือและใช้แป้นหมุน

สี สีผิว มี

-          สีน้ำตาลแกมเทา (10 YR 5/2 GRAYISH-BROWN)

-          น้ำตาล (7.5 YR 5/2 BROWN)  สีน้ำดินไส้ใน  น้ำตาลแกมเทาเข้ม(7.5 YR 5/2 BROWN)

การตกแต่ง ผิวเรียบ

รูปทรงสันนิษฐาน 

ไห ปากบานออก คอคอด ลำตัวผาย โค้งสอบลงมาหาส่วนฐานก้นเรียบแบน หนาเฉลี่ย 0.5-0.6 ซม.

1.3    เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหินเคลือบ พบ 13 ชิ้น ทั้งส่วนตัวและส่วนก้นภาชนะ มีลักษณะดังต่อไปนี้

เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยมือ และใช้แป้นหมุน

สี

สีน้ำเคลือบใส

-          สีเขียวมะกอก(5 Y 4/4 OLIVE)

-          เทาจาง(5Y 7/2 LIGHT-GRAY)

-          เทาแกมเขียวมะกอกจาง(5Y 6/2 LIGHT OLIVE GRAY)

-          เทาแกมเขียวมะกอกเข้ม(DARK OLIVE GRAY) เหลืองซีด(5 YR 7/3 PALE YELLOW)

สีน้ำเคลือบด้าน

-          สีเหลือง(10 YR 7/6 YELLOW)

-          สีขาว(10 YR 8/1 WHITE) เทาจาง

-          (10 YR 7/1 LIGHT GRAY)

-          น้ำตาลแกมเทา(2.5 YR 5/8 GRAYISH BROWN)

สีเนื้อดินไส้ใน 

-          น้ำตาลแกมแดง(2.5 YR 5/4 REDDISH BROWN) 

-          แดงอ่อน(10 YR 4/3 WEAK RED)

-          เทาเข้ม(10 YR 4/1 DARK GRAY )

-           เทาเข้มมาก(10 YR 3/1 VERY DARK GRAY)

-          ดำ(5.5 YR 2/ BLACK)

-          ขาว(7.5YR N8 WHITE)

-           ผิวเรียบ เคลือบใสเฉพาะด้านในภาชนะ

การตกแต่ง ผิวเรียบทั้งเคลือบใสและเคลือบด้าน ทั้งด้านนอกและด้านในภาชนะยกเว้นส่วนก้นด้านนอก  ตกแต่งผิวใต้น้ำเคลือบขุ่น (น้ำเคลือบไม่สมบูรณ์ คือยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว สีขาว(10 YR 8/2 WHITE) ด้วยลายประทับรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วหันกลับ เรียงกันตามแนวนอน

รูปทรงสันนิษฐาน

ชาม ปากบานออก ขอบปากมน ตัวโค้งสอบลงมาหาส่วนฐาน ก้นมีสันเตี้ยๆ เส้นผ่านศูนย์กลางปาก 18 ซม. หนาเฉลี่ย 0.2-0.6 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางก้น 12 ซม. มีทั้งเคลือบใส และเคลือบขุ่น ด้านนอกและด้านในภาชนะยกเว้นส่วนก้นด้านนอก

ไห ปากบานออก คอคอด ลำตัวผายออก แล้วโค้งสอบเข้าหาส่วนฐาน ก้นเรียบแบน หนาเฉลี่ย 0.5-0.8 ซม.

อิฐ พบ 1 ก้อน สภาพสมบูรณ์มีลักษณะดังนี้

เนื้อดิน เนื้อเครื่องดินค่อนข้างหยาบ

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยการกดจากแบบแม่พิมพ์

สี สีเนื้อดินไส้ในและสีฟ้าสีเดียวกันคือ แดง (2.5 YR 5/6 RED)

การตกแต่ง ผิวเรียบ

รูปทรงและขนาด รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 15 ซม. ยาว 22 ซม. หนา 4 ซม.

2.       บริเวณภายในเวียงบัว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

         โบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแอ่งที่ต่ำที่สุดในเวียงบัว ปัจจุบันกลายเป็นที่นาของชาวบ้าน จากการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหินเคลือบ ทั้งส่วนปาก ตัว และก้นภาชนะ ทั้งหมด 27 ชิ้น ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหินเคลือบ

เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยมือ และใช้แป้นหมุน

สี

สีน้ำเคลือบใส

-          เขียวมะกอก(5Y 4/2 OLIVE)

-          เขียวมะกอกอมเทา(5Y 5/2 OLIVE GRAY)

-          เทาแกมเขียวมะกอกจาง (5Y 6/2 LIGHT OLIVE GRAY)

-          เขียวมะกอกซีด(5Y 6/23 PALE OLIVE)

สีน้ำเคลือบขุ่น(น้ำเคลือบไม่สมบูรณ์ยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว)

-          น้ำตาลแกมเทาเข้ม(10 YR 4/2 DARK GRAYISM BROWN )

-          น้ำตาลซีดมาก(10 YR 7/4 VERY PALE BROWN)

สีเนื้อดินไส้ใน

-          ดำ (2.5 Y N2/ BLACK)

-          เทาเข้มมาก (10 YR 3/1 VERY DARK GRAY)

-          แดงอ่อน(2.5YR 4/2 WEAK RED)

-          เทา(5 YR 5/1 GRAY)

-          เทาจาง(10 YR 7/1 LIGHT GRAY)

การตกแต่ง

-          ผิวเรียบ เคลือบทั้งด้านในและด้านนอก ยกเว้นก้นด้านนอก ด้านในภาชนะเคลือบใส สีเขียวมะกอก(5Y 4/3 OLIVE) ด้านนอกภาชนะเคลือบด้านสีน้ำตาลแกมเทาเข้ม(10 YR 4/2 DARK GRAYISH BROWN)

-          ตกแต่งผิวใต้เคลือบใสด้านในภาชนะมีลวดลาย ลายขุดเรียงกันตามแนวดิ่ง เป็นริ้วลูกคลื่น บริเวณลำตัวด้านใน ลายขุดเป็นลายก้านขด และลายวงกลม ตรงก้นด้านในน้ำเคลือบใส สีเขียวมะกอก เขียวมะกอกอมเทา

รูปทรงสันนิษฐาน

ชาม ปากบานออกขอบปากมน มีสันใต้ขอบปากด้านใน ลำตัวโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นมีสันเตี้ยๆ เส้นผ่านศูนย์กลางปากชาม 16-24 ซม.หนาเฉลี่ย 0.4-0.8 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางก้น 14-15ซม. สูง 5.5-7.5 ซม. เคลือบผิวทั้งด้านนอกและด้านใน ยกเว้นส่วนก้นด้านนอก ด้านในเคลือบใสสีเขียวมะกอก เขียวมะกอกอมเทา ขอบปากและด้านนอกเคลือบมัน สีน้ำตาลซีด น้ำตาลแกมเทาเข้ม

3.       บริเวณแหล่งเตาภาชนะดินเผาม่อนออม

โบราณวัตถุที่พบทั้งหมดเป็นเศษภาชนะดินเผาซึ่งพบเป็นจำนวนมาก ในการสำรวจเก็บตัวอย่างโบราณวัตถุจึงเลือกเฉพาะเก็บส่วนขอบปาก ส่วนตัว ทั้งแบบผิวเรียบและมีลวดลายที่แตกต่างกันไปบ้าง และส่วนก้นภาชนะซึ่งพบทั้งแบบเนื้อเครื่องดิน เครื่องหิน มีทั้งประเภทเคลือบและไม่เคลือบผิว เศษภาชนะดินเผาบางชิ้นน่าจะเป็นลักษณะการเผาก่อนเคลือบ แบบเนื้อเครื่องดินทั้งนี้อาจจะเนื่องจากการเผายังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างสม่ำเสมอ รายละเอียดดังต่อไปนี้

1 เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดินเคลือบ พบ 68 ชิ้น มีทั้งส่วนปาก ส่วนตัว และส่วนก้นภาชนะ มีลักษณะดังนี้

เนื้อดิน มีตั้งแต่เนื้อค่อนข้างหยาบ-เนื้อค่อนข้างละเอียด

เทคนิค  ขึ้นรูปด้วยมือและใช้แป้นหมุน

สี เคลือบขุ่น (น้ำเคลือบยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว) มีสีต่างๆดังนี้ 

-          น้ำตาลซีดมาก(10 YR 7/4 VERY PALE BROWN)

-           ขาว(10YR 8/2 WHITE)

-          ชมพู(7.5 YR 8/4 PINK)

สีเนื้อดินไส้ใน

-          เทาเข้ม(10YR 8/1 DRAK GRAY)

-          แดงจาง(2.5YR 6/6 LIGHT RED)

-          น้ำตาล(7.5YR 5/4 BROWN)

-          แดง(2.5YR 6/6 RED)

-          เหลือง(10YR 8/6 YELLOW)

-          น้ำตาลซีดมาก(10YR 7/4 VERY PALE BROWN)

การตกแต่ง

-          ผิวเรียบ เคลือบผิวด้วยน้ำเคลือบขุ่น (น้ำเคลือบยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว) มีดังนี้

-          เคลือบด้านในด้านเดียว

-          เคลือบด้านนอกและส่วนปากด้านใน ยกเว้นส่วนก้นด้านนอก

-          ตกแต่งลวดลายบนผิว ตกแต่งใต้เคลือบ ลายขุด ลายเส้นตรงตามแนวนอนและขุดเป็นร่องเรียงตัวกันตามแนวดิ่ง บริเวณลำตัวด้านใต้น้ำเคลือบขุ่นสีชมพู (7.5YR 8/4 PINK)  

-          ลายประทับ ลายสามเหลี่ยมหน้าจั่วหัวกลับ เรียงกันตามแนวนอนถัดลงมาจากลายเส้นตรงใต้น้ำเคลือบขุ่นสีชมพู (7.5YR 8/4 PINK)

รูปทรงสันนิษฐาน

ชาม ปากบานออกขอบปากมน ใต้ขอบปากด้านในเป็นสัน ตัวโค้งสอบเข้าหาส่วนฐาน ก้นมีสันเตี้ยๆ เส้นผ่านศูนย์กลางปากกว้าง 16-14 ซม. หนาเฉลี่ย 0.3 ซม. สูง 4-5 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางก้น 12-16 ซม.  เคลือบขุ่นด้านในด้านเดียว น้ำเคลือบยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว สีชมพู (7.5 YR 8/4 PINK) 

ไห ปากบานออก ขอบปากมน คอสั้น ลำตัวผายออกแล้วโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบแบน เส้นผ่านศูนย์กลางปาก 20 ซม. หนา 0.4 ซม. ตกแต่งใต้น้ำเคลือบด้วยลายขุดและลายประทับ รูปเส้นตรงและสามเหลี่ยมหน้าจั่วหัวกลับเรียงกันตามแนวนอนเคลือบขุ่นทั้งด้านนอกและด้านในใต้ขอบปาก ยกเว้นส่วนก้นด้านนอก  น้ำเคลือบสีชมพู(7.5 YR 8/4 PINK)

2. เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหิน พบ 26 ชิ้น มีทั้งส่วนปาก ส่วนตัว และส่วนก้นภาชนะ มีลักษณะดังนี้

เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยมือและใช้แป้นหมุน

สี

สีผิว

-          สีน้ำตาลแกมแดง (5YR 5/3 REDDISH BROWN) 

-          เทาแกมแดง(5YR 5/2 REDDISH GRAY)

-          เทา(2.5 YR N6/ GRAY)

-          เทา(5 YR 5/1 GRAY)

สีเนื้อดินไส้ใน

-          เทาเข้ม(5YR 4/1 DARK GRAY)

-          เทาจาง(10YR 7/1 LIGHT GRAY)

-          แดงแกมเหลือง(5YR 5/8 YELLOWISH RED)

-          น้ำตาลแกมแดง(5YR 4/3 REDDISH BROWN)

-          น้ำตาลแกมแดง(5YR 4/3 REDDISH BROWN)

การตกแต่ง ผิวเรียบ ตกแต่งผิวด้วยลายขุด(Excising) เป็นลายเส้นตรงขนานกันตามแนวนอน

รูปทรงสันนิษฐาน

ไห ปากบานออกมีทั้งขอบปากมน และขอบปากหักฉาก เป็นสันด้านนอกคอคลอดลำตัวผายออกแล้ว สอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบแบน เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 15-17 ซม. หนาเฉลี่ย 0.5-0.7 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางก้น 11-14 ซม.

ครก ปากบานออก ขอบปากม้วนกลมออกด้านนอก ลำตัวโค้งสอบหาส่วนฐาน ซึ่งเป็นเชิงเตี้ย ก้นเรียบแบน หนาเฉลี่ย 0.9 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางก้น 9 ซม.

อ่าง ปากตรง มีทั้งขอบปากมน และขอบปากม้วนเป็นสันออกด้านนอก ลำตัวโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบแบน เส้นผ่านศูนย์กลางปาก 20-24 ซม.  หนาเฉลี่ย 0.4-1 ซม.

3 เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องหิน เคลือบพบ 280 ชิ้นมีทั้งปาก ตัว และก้นภาชนะ มีลักษณะดังนี้

เนื้อดิน ค่อนข้างละเอียด

เทคนิค ขึ้นรูปด้วยดินและใช้แป้นหมุน

สี

สีน้ำเคลือบใส

-          สีเขียวมะกอก(5Y 5/3 OLIVE)

-          เทาจาง(5Y 7/2 LIGHT GRAY)

-          น้ำตาล(7.5YR 5/4 BROWN)

-          น้ำตาลแกมเทาเข้มมาก(2.5YR 3/2 VERY DRAK GRAYISH BROWN)

-          เขียวมะกอกซีด(5Y 6/3 PLAE OILVE)

สีเคลือบมัน

-          น้ำตาลแกมเทาเข้มมาก(.5YR 2.5/2 VERY DRAK REDDISH BROWN)

สีเคลือบขุ่น(น้ำเคลือบยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว) ชมพู(5YR 7/4 PINK)

สีเนื้อดินไส้ใน

-          แดงอ่อน(2.5YR 4/2 WEAK RED)

-          เหลืองแกมแดง(5YR 6/6 REDDISH YELLOW)

-          ดำ(2.5 YR 2/- BLACK)

-          เทาแกมแดง(5YR  5/2 REDDISH YELLOW)

-          เทา(10YR 5/1 GRAY)

การตกแต่ง

-          ผิวเรียบ เคลือบทั้งด้านในและด้านนอก ยกเว้น ส่วนปากและก้นด้านนอก  ด้านใน

-          เคลือบใส สีเขียวมะกอก

-          ด้านนอกเคลือบมัน สีเทาเข้มมาก

-          เคลือบใสด้านนอกและด้านใต้ขอบปาก  ยกเว้นก้นด้านนอกสีน้ำตาล

-          เคลือบใสด้านในด้านเดียว สีเขียวมะกอก

-          เคลือบขุ่น (น้ำเคลือบยังไม่หลอมตัวเป็นแก้ว) ด้านในด้านเดียวสีชมพู

ตกแต่งลวดลายใต้เคลือบ

-          ลายขุด(Excising)ขุดเป็นร่องในแนวดิ่ง เรียงกันโดยรอบบริเวณลำตัวด้านใน

-          ลายสลับฟันปลาในกรอบเส้นโค้งคู่ขนาน

ลายขีด (INCISINS) ลายโค้งรูปคลื่นขนาดกันแนวนอน

ลายประทับ (STAMPING) ลายรูปปลาคู่ด้านในภาชนะส่วนก้น

ลายประทับรูปสามเหลี่ยมเรียงกันตามแนวนอน

ลายปั้นแปะ(APPLIQUE) เป็นรูปคล้ายหูภาชนะแต่เล็กกว่า มักตกแต่คู่กับรายขีดรูปเส้นโค้งรูปขึ้น

รูปทรงสันนิษฐาน

ไห

-          ปากบานออกขอบปากมน คอคอดสั้น ลำตัวผายออกแล้วโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบตรง เส้นผ่านศูนย์กลาง 12-14 ซม. หนาเฉลี่ย0.6-0.8 ซม. เคลือบด้านในส่วนปาก และด้านนอกยกเว้นด้านนอก น้ำเคลือบใสสีน้ำตาล

-          ปากตรง 2 ชิ้น ขอบปากมนคอคลอดลำตัวภายออกแล้วโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบตรง เส้นผ่าศูนย์กลางปาก 13.8 ซม. หนาเฉลี่ย 0.6 ซม.

ชาม

-          ปากบานออก ขอบปากมน ด้านในเป็นสัน ลำตัวโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นมีสันเตี้ยๆ เส้นผ่านศูนย์-กลางปาก 15-19 ซม. หนา 0.4-0.7ซม. สูง 4-7 ซม. การเคลือบมี

-          เคลือบทั้งด้านนอกและด้านในยกเว้นด้านนอก  ด้านในเคลือบใสสีเขียวมะกอก

-          ด้านนอกเคลือบมันสีน้ำตาลแกมเทาเข้มมาก

-          เคลือบด้านในด้านเดียวน้ำเคลือบขุ่นสีชมพู

กระปุก

-          ปากบานออกขอบปากมน คอคอด ลำตัวผายออกแล้วโค้งสอบลงหาส่วนฐาน ก้นเรียบแบน หนา 0.8 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางก้น 4.2 ซม. น้ำเคลือบใส สีน้ำตาลแกมแดงจาง และเทาแกมเขียวมะกอก เคลือบทั้งด้านนอกด้านใน

 

        แหล่งโบราณคดีบ้านเวียงบัว อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจและมีความสำคัญมากที่สุดแหงหนึ่งของจังหวัดพะเยา เพราะนอกจากจะมีลักษณะของ “เมือง” โบราณอยู่ถึง 2 แห่งแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับเวียงบัวนี้ด้วย

        จากตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีแต่ละแห่งและจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบและนำมาศึกษาเปรียบเทียบกันแล้วนั้น ทำให้อาจจะกล่าวได้ว่า

        แต่เดิมนั้นแหล่งโบราณคดีเวียงบัว ได้ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาสูง โดยการขุดคูน้ำ-คันดิน ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งปัจจุบัน คือ เวียงบัวสอง นั่นเอง และเวียงบัวสองนี้ คงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพียงชั่วคราวแล้วแต่กรณี เช่น ในเมื่อเกิดศึกสงคราม เป็นต้น ตามปรกติแล้วชุมชนจะตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยรอบนอกเวียงบัวตามที่ราบลุ่มที่สามารถทำการเกษตรกรรมได้อย่างสะดวก ฉะนั้นในการสำรวจทั่วไปจึงไม่พบโบราณวัตถุภายในเวียงบัวสองนี้เลย หรือถ้าจะมีก็อาจจะมีในปริมาณที่น้อยมากแต่ในการสำรวจในปี พ.ศ. 2529 นั้นไม่พบโบราณวัตถุเลย

        หลังจากนั้นเมื่อชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก่อนเกิดการขยายตัวใหญ่ขึ้น มีการอยู่อาศัยของคนเพิ่มมมากขึ้น ความจำเป็นในการต้องการ “เมือง” เพื่อการพักอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจาก เวียงบัวหนึ่งและสอง นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กอยู่บนเนินเขาสูงการขึ้นลงลำบาก ฉะนั้นการสร้างเวียงบัวหนึ่งคือเวียงบัวที่มีผังเมืองเป็นรูปใบโพธิ์ ก็นับเป็นความจำเป็นสำหรับชุมชน ณ ที่แห่งนี้

        และจากการขยายสร้างเวียงบัวขึ้นมาใหม่อีกแห่งหนึ่งนั้นทำให้ผังเมืองครอบคลุมลงมาเกือบถึงพื้นที่ราบที่เคยใช้เป็นที่ทำมาหากินแต่เดิม ฉะนั้นจึงทำให้เกิดมีการเข้ามาอยู่อาศัยอย่างถาวรภายในเมืองใหม่แห่งนี้ ของชุมชนบางกลุ่ม แต่ก็คงมีการเข้ามาอยู่อาศัยอย่างถาวรภายในเมืองใหม่แห่งนี้ ของชุมชนบางกลุ่ม แต่ก็คงมีการอยู่อาศัยนอกเมืองอยู่ด้วย เพราะได้พบเศษภาชนะดินเผาภายในเวียงบัวหนึ่งนี้เป็นจำนวนมากพอสมควร

        ในขณะเดียวกัน แหล่งผลิตภาชนะดินเผาที่ม่อนออมก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วงขณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับการสร้างเวียงบัวหนึ่ง ขึ้นมาด้วยเช่นกัน เพราะจากลักษณะและรูปแบบของภาชนะดินเผาที่พบนั้นมีรูปแบบลวดลายที่เหมือนกับแสดงให้เห็นถึงการนำเอาผลผลิตจากแหล่งเตา เข้ามาใช้ภายในเวียงบัวนี้ด้วย

        ผลผลิตจากแหล่งเตาม่อนออมนี้ อาจจะใช้อยู่ภายในเวียงบัวหรือบริเวณใกล้เคียงกันนี้ แต่จากปริมาณของเศษภาชนะดินเผาที่พบ มีเป็นจำนวนมาก อาจจะแสดงให้เห็นถึงกำลังการผลิตของแหล่งเตาที่น่าจะมีปริมาณพอสมควร และน่าจะส่งออกไปค้าขายกับกลุ่ม “เมือง” ใกล้เคียงในบริเวณนี้ด้วย ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบนั้นจะได้ดำเนินการต่อไป

        การหยุดผลิตภาชนะดินเผาของแหล่งเตาม่อนออมนี้ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับลำน้ำห้วยป่าเค้าที่ไหลผ่านแหล่งผลิตด้วย เพราะมีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งน้ำนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำภาชนะดินเผา ฉะนั้นถ้าน้ำเริ่มขาดแคลนปัญหาในการผลิตภาชนะดินเผาก็เริ่มเกิดขึ้นและน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ การผลิตของแหล่งเตาม่อนออมนี้ต้องหลุดไป

        ต่อมาในปีพ.ศ. 2533 ได้มีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของ วราวุธ  ศรีโสภาค  ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกลุ่มชุมชนโบราณที่มีคู-คันดินล้อมรอบในบริเวณเมืองพะเยา ได้ข้อสันนิษฐานว่า เวียงบัวนี้คงเป็นเวียงที่ตั้งอยู่ในบริเวณพันนาคม(หน่วยในการปกครองที่มีขนาดรองลงมาจากเมือง) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของตำบลแม่กา และตำบลจำป่าหวายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำของห้วยแม่ต๋ำที่ไหลไปทางเหนือสู่กว๊านพะเยาตรงใกล้ๆกับเวียงพะเยา ลำน้ำสายนี้คงเป็นลำน้ำหลักของพันนานี้ และอาจเป็นเส้นทางติดต่อพันนานี้กับเวียงพะเยา ในลักษณะคันดินเรียบลำน้ำ ลักษณะพื้นที่ของพันนานี้เป็นบริเวณที่สูงปานกลางที่อยู่ระหว่างที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ของเมืองพะเยา กับเทือกเขาทางทิศใต้ ที่เป็นเขตของเมืองพะเยา พื้นที่จึงเป็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกับที่ราบหุบเขาแคบๆอยู่ทั่วไป โดยเนินเขาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลงมาทางใต้ และที่ราบก็จะน้อยลง อย่างไรก็ตามก็มีบริเวณที่เป็นช่องทางไปติดต่อกับหุบเขาของอำเภองาว จังหวัดลำปางได้ ปัจจุบันถนนพหลโยธินก็ตัดจากงาวผ่านพันนานี้เข้าสู่เมืองพะเยา ดังนั้นพันนานี้จึงเป็นปากทางเข้าสู่เมืองพะเยา

        จากความสำคัญดังกล่าวคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พันนานี้มีการสร้างเวียงขึ้นเป็นครั้งแรก มีจุดประสงค์ใช้เป็นป้อมปราการยามสงคราม จึงได้เลือกสร้างเวียงขึ้นบนเนินเขาสูง คือ เวียงบัวสอง แต่เวียงนี้คงไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร ผู้คนจะอพยพมารวมกันอยู่ในเวียงเฉพาะยามศึกสงคราม ส่วนเวลาปกติคงอาศัยทำมาหากินตามที่ราบ ตั้งเป็นหมู่บ้านต่างๆอยู่นอกเวียง จะเห็นได้ว่าไม่มีหลักฐานการอยู่อาศัยภายในเวียงบัวสองเลย ทั้งนี้คงเพราะพื้นที่เป็นเนินเขาไม่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน

       ความสำคัญอีกประการหนึ่งของพันนานี้ คือเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามของเวียงพะเยา พบแหล่งเตาเผาใกล้กับลำห้วยแม่ต๋ำ และคงอยู่ในขอบเขตของพันนาเดียวกันนี้ แสดงว่าการผลิตเครื่องถ้วยชามคงเป็นอุตสาหกรรมใหญ่พอสมควร และประชากรจำนวนไม่น้อยของพันนานี้คงมีอาชีพหลักในการผลิตเครื่องถ้วยชาม ทั้งนี้จะเห็นว่าจะพบผลิตภัณฑ์ของแหล่งเตาเหล่านี้ ได้ทั่วไปในเมืองต่างๆของล้านนา แสดงว่าเป็นการผลิตเพื่อการค้าอย่างแท้จริง

        ความเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องถ้วยชามนี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการสร้างเวียงอีกเวียงขึ้นมา คือ เวียงบัวหนึ่ง โดยขยายจากเวียงบัวสองที่ตั้งอยู่บนเขา มาสร้างเวียงใกล้ที่ราบเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างถาวรได้ อย่างไรก็ตามประชากรส่วนใหญ่ของพันนาที่ประกอบอาชีพผลิตเครื่องถ้วยชามหรือทำนา ทำไร่ ก็คงจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตนนอกเวียงเช่นเดิม ภายในเวียงคงเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ปกครองพันนา หรือเป็นชุมชนที่มีหน้าที่ในการควบคุมการผลิตเครื่องถ้วยของพันนานั

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง