วัดพระธาตุศรีดอนคำ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดศรีดอนคำ, วัดพระธาตุศรีดอนคำ, สหรีดอนคำปงอ้อ, วัดพระธาตุห้วยอ้อ, วัดหลวงฮ่องอ้อ, วัดล้องอ้อ, วัดศรีดอนคำหนองอ้อ

ที่ตั้ง : ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง

ตำบล : ห้วยอ้อ

อำเภอ : ลอง

จังหวัด : แพร่

พิกัด DD : 18.075661 N, 99.829381 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยแม่กาง, ห้วยแม่อ้อ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระธาตุศรีดอนคำอยู่เลยที่ว่าการอำเภอไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 1023 โดยสามารถนั่งรถโดยสารประจำทางสายลอง-แพร่ จากตลาดชมพูมิ่ง หรือเดินทางมาเองด้วยรถส่วนตัวก็ได้ โดยเส้นทางคือจากถนนเส้นลอง-แพร่ เดินทางตรงมาอย่างเดียว เมื่อผ่านอำเภอ และคิวรถลอง-แพร่ (บริเวณหน้าธนาคารเอเชียเดิม) ก็จะพบวัดพระธาตุศรีดอนคำอยู่ทางด้านขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระธาตุศรีดอนคำเป็นโบราณปูชนียสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าสักการะและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระธาตุศรีดอนคำ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานทั่วทั้งพระอารามในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 42 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 และประกาศเพิ่มเติมในเล่ม 97 ตอนที่ 167 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2436 

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดพระธาตุศรีดอนคำอยู่ใจกลางเมืองลอง และอยู่บนแอ่งเมืองลอง จึงภูมิประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา เช่น ม่อนขาตุ้ย ดอยขุนจืม ดอยแม่แขม ดอยหนองม้า ดอยผาหิ้ง ดอยหลวง ดอยผาน้ำต้น ม่อนกระทิง ดอยหน้าบาก ดอยปลาก่อ ดอยผาคำ ฯลฯ ซึ่งลักษณะแอ่งนี้มีภูเขาล้อมรอบถึง 4 ด้าน (มีพระธาตุศรีดอนคำเป็นศูนย์กลาง) และทำให้แม่น้ำยมกว้างขึ้นก่อนที่จะผ่านบริเวณซอกเขาและหุบเขาเข้าสู่แอ่งที่ราบลุ่มในเขตวังชิ้น  บริเวณแอ่งเมืองลองนี้เป็นที่ราบสำคัญในการคมนาคมขนส่ง และการเดินทัพ ระหว่างกลุ่มแคว้นทางตอนเหนือของประเทศอย่างล้านนา และทางตอนกลางของประเทศคือ อยุธยา และสุโขทัย โดยเมืองในแอ่งลองจะเป็นเมืองหน้าด่านแรก หากทำการรบพุ่งกับกองทัพที่มาจากทางด้านใต้ และด้วยความสำคัญทางชัยภูมินี้เอง ทางรัฐล้านนาต้องส่งแม่ทัพผู้มีฝีมือเข้ามาปกครองเพื่อป้องกันการรุกรานของอยุธยาและสุโขทัย(ซึ่งถูกผนวกกับรัฐอยุธยาแล้ว) และด้วยอยู่ระหว่างนครลำปาง กับนครแพร่ และสุโขทัยนี่เอง ทำให้เมืองลองรับอิทธิพลทางความคิดและศิลปะเข้ามาในแว่นแคว้นในหลายๆ รูปแบบ (ศรีศักร วัลลิโภดม และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2551)

สภาพทั่วไปมีแม่น้ำแม่ลานไหลผ่าน หุบเขาทางเหนือมาสบแอ่งเมืองลองกินพื้นที่ตั้งแต่บ้านนาสารในหุบแม่ลาน ที่ลำน้ำแม่ลานไหลผ่านบ้านปินลงไปสบกับแม่น้ำยมในบริเวณอำเภอลอง นอกจากน้ำแม่ลานแล้ว ยังมีน้ำแม่กาง และห้วยแม่อ้ออยู่ใกล้ๆ บริเวณแหล่งอีกด้วย แอ่งเมืองลองเป็นที่ราบขนาดใหญ่ จึงมีแม่น้ำสาขาที่ไหลรวมลงกับแม่น้ำยมถึง 300 สาย ซึ่งลำน้ำเหล่านี้ใช้ในการคมนาคมขนส่งในกลุ่มเมืองบริเวณนี้ไม่ไกลนัก เนื่องจากแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ของแม่น้ำสาขาเหล่านี้ไม่เหมาะแก่การสัญจรทางน้ำในระยะทางไกล เพราะแม่น้ำยมมีเกาะแก่ง ซึ่งเป็นอันตรายหลายจุด และมีความตื้นเขินกว่าแม่น้ำหลักสายอื่นๆ เช่นแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน เป็นต้น (ศรีศักร วัลลิโภดม และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ  2551)

ทางน้ำ

อยู่ในเขตอิทธิพลของลุ่มน้ำยม ทางน้ำสายรองคือ ห้วยแม่กาง และห้วยแม่อ้อ

สภาพธรณีวิทยา

วัดพระธาตุศรีดอนคำ ตั้งอยู่ในแอ่งเมืองลอง เป็นหินชุดราชบุรี (Ratburi formation) เป็นหินชุดที่อายุเก่ากว่าหินลำปางประกอบด้วยหินปูน หินดินดาน และหินดินดานเนื้อหยาบ อยู่บริเวณตะวันตกของอำเภอลอง ทั้งนี้ในด้านตะวันออกของจังหวัดแพร่ หรือฝั่งขวาของแม่น้ำยม มักจะพบกลุ่มหินดอนชัย ได้แก่พวกหินดินดาน (Shale) Quartzite และ Schist ซึ่งเกิดขึ้นในยุค Silurian (ประมาณ 400 ล้านปีมาแล้ว) นับว่าอายุมากกว่าบริเวณอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีหินชุดแม่ทา โดยมีหินดินดาน และหินทรายเป็นพื้นฐาน และมีหิน Andesite Rhyolite Tuff และ Aggiomerate กระจายอยู่เป็นแห่งๆ (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2542)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 22

อายุทางตำนาน

พ.ศ.1078 (ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำ กล่าวว่าพระนางจามเทวีหลงทางมายังเมืองลองและได้สร้างไว้)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สายกลาง จินดาสุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สรุปผลการศึกษาในเรื่อง “อิทธิพลทางวัฒนธรรมภายนอกที่ปรากฏในเมืองแพร่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21” ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เมืองแพร่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมภายนอกคือสุโขทัย และล้านนาซึ่งทั้งสองกลุ่มวัฒนธรรมได้มีการส่งอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมเข้ามาสู่เมืองแพร่ด้วย โดยสำหรับกลุ่มเจดีย์ทรงบัวถลาแปดเหลี่ยมในเมืองแพร่ น่าจะเป็นอิทธิพลของศิลปกรรมแบบล้านนาที่เข้ามาปรากฏในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22

ชื่อผู้ศึกษา : วรวรรษ เศรษฐธนสิน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษากลุ่มเจดีย์บัวถลาเจ็ดชั้น และเจดีย์บัวถลาแปดเหลี่ยมในจังหวัดแพร่ โดยแบ่งกลุ่มเจดีย์ตามรูปแบบศิลปกรรมและกำหนดอายุสมัยออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ กลุ่มเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่มีฐานปัทมลูกแก้วอกไก่รองรับชุดบัวถลา กำหนดอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21, กลุ่มเจดีย์บัวถลาเจ็ดชั้น กำหนดอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 และกลุ่มเจดีย์บัวถลาสิบชั้น กำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งเป็นพัฒนาการของกลุ่มเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษาแบ่งกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังล้านนาตามรูปแบบศิลปกรรมและอายุสมัย โดยกำหนดให้เจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดบัวถลาในศิลปะล้านนาเป็น “เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาระยะหลัง” มีอายุสมัยอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป เช่น พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์วัดเชษฐา เจดีย์วัดอุโมงค์อารยมณฑล เจดีย์วัดหัวข่วง เจดีย์วัดหม้อคำตวง และเจดีย์วัดนางเหลียว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้น “พระธาตุช่อแฮ” อันเป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมในเมืองแพร่ก็ถูกจัดให้อยู่ในศิลปกรรมกลุ่มนี้ด้วย4 ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงกลุ่มเจดีย์รูปแบบนี้ในเมืองแพร่เกือบทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ชื่อผู้ศึกษา : ภูเดช แสนสา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานเมืองลอง พบว่า หลังจากที่ย้ายศูนย์กลางของเมืองลองมาอยู่บริเวณบ้านห้วยอ้อ ตั้งแต่สมัยพญาชื่นสมบัติเจ้าเมืองลอง(พ.ศ. 2318) ได้สถาปนาให้วัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นวัดหลวงกลางเมือง จึงทำให้ปริมณฑลส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของการปกครอง และศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของเมืองลองควบคู่กันไป

ชื่อผู้ศึกษา : พลวัตร อารมณ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมแบบเมืองแพร่ ที่เกิดขึ้นและสร้างอยู่ในเมืองแพร่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยที่เมืองแพร่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นงานศิลปกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะของงานช่างท้องถิ่นเมืองแพร่ได้เป็นอย่างดียิ่ง และจากการที่รูปแบบของเจดีย์ดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่าง“พระธาตุช่อแฮ” จึงน่าจะมีส่วนที่ช่วยตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของรูปแบบเจดีย์ได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความนิยมในการจำลองหรือสร้างเจดีย์เลียนแบบพระธาตุช่อแฮกันเป็นจำนวนมากในแถบเมืองแพร่ ซึ่งความนิยมดังกล่าวนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทาให้“พระธาตุช่อแฮ” กลายเป็นสัญลักษณ์แทนเจดีย์ของเมืองแพร่ และทำให้เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมกลายเป็นเจดีย์ทรงเอกลักษณ์ของเมืองแพร่ไปด้วยนั่นเอง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ประวัติศาสตร์วัดพระธาตุศรีดอนคำ

- พ.ศ. 2169 (เจ้าเมืองลอง คือ พระยาจอมหัวคำ) พระสังฆราชาแห่งวัดยอดชัยเมืองแพร่ ได้ชักชวนคณะศรัทธาทั้งหลายและขอที่ดินสร้างวัดจากเจ้าเมืองนครลำปางคือ พระยาศรีสองเมือง (แต่เดิม อ.ลอง ขึ้นกับจังหวัดลำปาง) ซึ่งก็ได้รับที่ดินทางทิศใต้ 100 วา ทิศเหนือ 100 วา ทิศตะวันออกติดขอบหนองเปือย ทิศตะวันตกติดขอบหนองร่องอ้อ พร้อมกับได้รับครอบครัวอีกสี่ครอบครัวเอาไว้แผ้วถางดูแลบริเวณพระธาตุ แต่การลงมือสร้างวัดพระธาตุศรีดอนคำยังไม่ได้กระทำกันจริงจัง เพราะพระยาน่านมีศึกติดพันกับพระยาจากเมืองใต้(อยุธยา)  เจ้าเมืองนครลำปางจึงให้พระยาจอมหัวคำยกทัพไปช่วยพระยาน่านสู้ศึก ซึ่งในช่วงนี้เมืองลองมีศูนย์กลางเมืองอยู่ที่เวียงเหล่าเวียง (บ้านนาหลวง พ.ศ. 2030-2318) ก็ได้เริ่มมีการสร้างพระธาตุศรีดอนคำพงอ้อและวัดขึ้นใน ปีพ.ศ. 2169 พร้อมกับพญาศรีสองเมืองเจ้าเมืองลำปางได้กัลปนาพื้นที่วัด ที่นา และข้าวัดจำนวน 8 ครัวเรือน(ปัจจุบันเชื้อสายข้าวัดพระธาตุศรีดอนคำอยู่ในตระกูล “ยะจอ”) (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- พ.ศ. 2193 เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองแพร่ พระสังฆราชา วัดดอนไฟ เมืองลำปาง(ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) ร่วมกันนำสร้างและบูรณะพระธาตุศรีดอนคำ (ภูเดช แสนสา, 2554)

 

- พ.ศ. 2201 เจ้าฟ้าหลวงลายข้า เจ้าเมืองลำปางกัลปนาเขตพระอุโบสถวัดพระธาตุศรีดอนคำ ดังคำจารึกแผ่นไม้เจ้าฟ้าหลวงลายข้ากัลปนาเขตสีมาพระอุโบสถวัดพระธาตุศรีดอนคำ เมืองลอง ว่า

  “รอมอุโบสถทังมวลมี 52828 รอมยามทังมวลมี 6339496 รอมนาทีทังมวลมี 47546220 นาที เมื่อเช่นเจ้าฟ้าหลวงเมืองลายข้า ตนเปนลูกเจ้าฟ้าหลวงเสือก่อนฟ้า เปนหลานเจ้าฟ้าหลวงเสือจ้อได้มากินเมืองนคร(ลำปาง) บังเกิดพระราชสัทธายินดีในแก้วทังสาม จิ่งหื้อข้าในตนชื่อชั้นใน เปนอุปทูต หมื่นหละจิตรสารเปนอนุทูต จำทูลอาชญามาเวนที่หื้อเปนทานแก่สังฆเจ้าในเมืองลอง ลวงกว้างมี 27 วา ลวงยาวมี 35 วา ได้ตั้งเสาเขตรสี่เสาในแจ่งวัดทังสี่ พระสังฆเจ้าทังมวลมีแปดพระองค์ ก็ได้หื้อทานแล้วบอระมวลวันนั้นแล” (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- พ.ศ. 2202 เจ้าเมืองนครลำปางกับพระยานครแพร่ ก็มาช่วยกันสร้างจนแล้วเสร็จ

- พ.ศ. 2215 พระยาชัยมีหนังสือถึงเจ้าเมืองนครลำปางและเจ้าเมืองแพร่ ขออนุญาตโบกปูนกับสร้างกุฏิ ให้มหาเถรเจ้าสุทธนะเป็นประธานภายใน ให้หมื่นชินธาตุเป็นอาจารย์อุปถัมภ์  และเนื่องจากในระยะหลังทางน้ำแม่กางเริ่มเปลี่ยนกระแสทำให้น้ำท่วมเวียงเหล่าเวียงบ่อยครั้ง อีกทั้งเมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงขยายชุมชนออกมาทางบริเวณห้วยอ้อมากขึ้น  ศูนย์กลางเมืองลองในระยะหลัง (พ.ศ. 2318-2442) จึงย้ายมาอยู่ห้วยอ้อ อันมีพระธาตุศรีดอนคำอยู่กลางเมือง(ภูเดช  แสนสา, 2554, 64) และด้วยความที่เมืองลองในช่วงนี้ไม่มีการตั้งเป็นเวียง คือไม่มีการสร้างคูน้ำคันดิน จึงมีการแบ่งปริมณฑลของเมืองออกเป็น หัวเมือง กลางเมือง และหางเมือง ซึ่งกลางเมืองมีความสำคัญมาก ซึ่งพระธาตุศรีดอนคำก็เป็นพระธาตุอยู่ใจกลางเมืองด้วย ดังจะพบจากจารึกท้ายคัมภีร์ต่างๆ เช่น

  คัมภีร์สุวรรณชิวหาลิ้นคำ “...วัดสรีดอนคำหนองอ้อ กลางเมืองลองวันนั้นแล...”

  คัมภีร์สุวรรณขางคำชาดก พ.ศ. 2401 “...มหาอุรุงคธาตุเจ้าดอนคำพงอ้อ กลางเมืองเววาทพาสี...” (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- พ.ศ. 2236 ก็สร้างอุโบสถเล็ก กว้าง 4 วา ยาว 8 วา โดยลาดพื้นและผูกสีมาขึ้น (อุโบสถหลังนี้พึ่งรื้อเสียเมื่อพ.ศ. 2477) พร้อมกับใช้มีดอีโต้หรือทางเหนือเรียก “พร้าโต้” แกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูปเรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้”

- พ.ศ. 2318/2320 เมื่อพญาชื่นสมบัติ เจ้าเมืองลองย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งที่บ้านห้วยอ้อ จึงได้สร้างรั้วเหล็ก(รั้วลำต้าย) ซึ่งเป็นเหล็กจากบ่อเหล็กลอง และหอประจำ 4 ทิศล้อมพระธาตุศรีดอนคำพงอ้อ เพื่อสถาปนาเป็นพระมหาธาตุกลางเมือง มีการฝังเขตแดนของวัด และได้จัดระบบผีให้มีความซับซ้อนขึ้น โดยพระธาตุศรีดอนคำ มีผีอารักษ์เจ้ากุมภัณฑ์และผีอารักษ์เจ้าชินธาตุ (ซึ่งหมื่นชินธาตุร่วมกับครูบามหาเถรเจ้าสุทธนะนำชาวเมืองลองสร้างพระธาตุศรีดอนคำจนสำเร็จ เมื่อพ.ศ. 2215) รักษาอยู่ (ภูเดช  แสนสา, 2554) ซึ่งจากทิศอยู่ของเจ้ากุมภัณฑ์นี้อยู่ทางทิศใต้ และอีก 3 ทิศประดับพระพุทธรูป แสดงถึงความเป็นแกนกลางเขาพระสุเมรุ เนื่องจากท้าววิรุฬหกเป็นผู้รักษาทางทิศใต้ โดยมีเหล่ากุมภัณฑ์เป็นบริวาร โดยมีการเลี้ยงผีเจ้ากุมภัณฑ์ โดยในอดีตมีการพลีกรรมด้วยสัตว์ บางครั้งก็มีมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังมีการสถาปนาเจ้าเลาคำ อดีตเจ้าเมืองลองและบรรพบุรุษของเจ้าเมืองลองขึ้นเป็นผีอารักษ์กลางเมืองชั้นใน นอกจากนี้ต้นสหรีลังกา(ต้นโพธิ์) บริเวณใกล้พระธาตุอันเป็นต้นไม้ทางพระพุทธศาสนา ก็มีผีพอหนานคำปันหรือเจ้าสหรีลังการักษาอยู่ เป็นการนำพุทธ และผีมารวมเข้าด้วยกัน และให้ความสำคัญกับวัดพระธาตุศรีดอนคำอย่างยิ่งว่าเป็น พระธาตุหลวงกลางเมือง(ช่วงนี้ไม่มีการสร้างเวียงลอง) (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- พ.ศ. 2326 มีการสร้างศาลาไว้ด้านทิศเหนือและทิศใต้ โดยการฝังหลักกลางทางระหว่างทางเป็นหลัก ทั้ง 2 ทิศ(เมื่อก่อนทางเดินจากนครลำปาง มาแยกกันที่ตรงทางบอกไฟ เหนือบ้านนาม้อ สายไปทางบ้านแม่ลาน นาทุ่งงิ้วไปเมืองแพร่ สายไปทางบ้านนาแกไปนครลำปาง สายทางวัดศรีดอนคำไปสุโขทัย และเมืองด้ง

- พ.ศ. 2386 ครูบาหลวงชัยเป็นเจ้าอาวาส(สมัยพระยาเววา) มีการสร้างกุฏิและทำกลองหลวงสะบัดชัย

- พ.ศ. 2391 ครูบาวิชัยเจ้าอาวาสได้สร้างกุฏิกับทำธรรมาสน์ไว้

- พ.ศ. 2394 ครูบาอินทปัญญาวิชาเพียร วัดบ้านปิน สร้างจองเบิกถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำ วัดพระธาตุแหลมลี่ และ วัดพระธาตุลำปางหลวง

- พ.ศ. 2398 ครูบาสิทธิยศ จากวัดนาหลวงได้ช่วยสร้างกำแพงรอบวัด

- พ.ศ. 2398 ปีเดียวกัน พระยาขันสีมาเป็นเจ้าเมือง จึงให้นายเสนจัดแจงสร้างกลองยาวหรือกลองอืดขึ้นสองอัน

- พ.ศ. 2409 เจ้าหลวงวรญาณรังษี สร้างระฆังถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำ

- พ.ศ. 2415 (สมัยพระยาวังใน) ครูบาคำวงศา เจ้าอาวาสสร้างบ่อน้ำไว้ในวัด

- พ.ศ. 2426 ครูบาอินทวิชัยแห่งวัดดอนมูล ได้สร้างหอกลองแล้วเก็บกลองมโหระทึก(มาจากวัดพูทับ) กับพระพุทธรูปจากวัดร้างหลายแห่งมาไว้ที่วัดศรีดอนคำ

- พ.ศ. 2441 (พระยาราชสมบัติเป็นเจ้าเมือง) ครูบาอภิชัย(คำฝั้น) จากเมืองน่านเป็นเจ้าอาวาส สร้างบ่อน้ำ กุฏิ กำแพง รวบรวมตำนานคัมภีร์ต่างๆ ซ่อมแซมวิหาร ผูกสีมา สร้างโรงเรียนนักธรรม เนื่องจากในสมัยโบราณบุตรหลานบุคคลทั่วไปไม่สามารถเรียนต่อได้สูงเนื่องจากต้องเสียค่าเล่าเรียน จึงมีการนิยมบวชเรียน วัดพระธาตุศรีดอนคำจึงตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมครั้งแรก และแยกวัดกับโรงเรียนในปีพ.ศ. 2473 โดยการนำของหลวงสุนทรพิทักษ์(โต๊ะ ธุวะนุติ) นายอำเภอลอง โดยจัดตั้งโรงเรียนบ้านห้วยอ้อขึ้นมา (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- พ.ศ. 2470-2473 มีการสร้างหอไตรขึ้น หลังจากนั้นก็มีการบูรณะกันเรื่อยมา กระทั่งกลายเป็นวัดที่สวยงามดังในปัจจุบันนี้

- พ.ศ.2504-2523 มีการสร้างถนนมากมาย หนึ่งในนั้นก็มีการสร้างทางเชื่อมระหว่างบ้านห้วยอ้อผ่านพื้นที่กัลปนา(ธรณีสงฆ์) วัดพระธาตุศรีดอนคำ(สุเจตน์  ลายดี  และ เกษม อินทราวุธ,  2523)

 

ความสำคัญของวัดพระธาตุศรีดอนคำ

- วัดพระธาตุศรีดอนคำนั้น ได้รับการให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ในฐานะหนึ่งในพระธาตุพระเจ้าห้าพระองค์ และระยะต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางของเมืองลองมาอยู่ห้วยอ้อ (โดยไม่มีการสร้างเวียงลองขึ้นมา) วัดพระธาตุศรีดอนคำก็ถูกชูขึ้นมาในฐานะ “วัดหลวงกลางเมือง” ซึ่งจะพบข้อความในชั้นหลังดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นในส่วนของประวัติศาสตร์

- นอกจากนี้ยังมีให้ความสำคัญในการแบ่งพื้นปริมณฑลแห่งอำนาจของเมือง มีการแบ่งพื้นที่คือ หัวเมือง กลางเมือง และหางเมืองอย่างชัดเจน มีเขาที่ล้อมรอบ 4 ทิศ เป็นเหมือนกำแพงจักรวาล และมีพระธาตุศรีดอนคำอยู่กลางเมือง เป็นเสมือนศูนย์รวมจักรวาล   จะสังเกตว่าทิศมงคลสำหรับชาวล้านนา มักจะเป็นทิศเหนือ และทิศตะวันออก เช่น เวียงเชียงใหม่ ใช้ประตูช้างเผือกทิศเหนือ เป็นเดชเมือง เวียงลำพูนใช้ประตูช้างสีทิศเหนือ เป็นประตูมงคล เวียงแพร่ ใช้ประตูไชยทิศตะวันออกเป็นประตูมงคล และเมืองลองแม้ว่าในช่วงสุดท้ายจะไม่มีการสร้างเวียงแต่ก็ให้ความสำคัญกับทิศ โดยเจ้าเมืองลองก็จะเข้าเมืองทิศเหนือ แวะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดหลวงกลางเมือง คือพระธาตุศรีดอนคำก่อน เสร็จแล้วไหว้ผีเมือง และอื่นๆ กว่าจะได้เข้าประทับยังคุ้มหลวง ซึ่งสิ่งนี้เน้นย้ำความสำคัญของวัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นอย่างมาก (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- วัดพระธาตุศรีดอนคำยังมีความสำคัญคือเป็นที่ถือน้ำสัจจา ในสมัยที่เมืองลองกับเมืองลำปางมีปัญหากัน ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากทางเมืองลำปางได้เข้ามากดขี่เมืองลองในด้านต่างๆ เจ้าเมืองลองจึงไม่ยอมเป็นเมืองบริวารของเมืองลำปางต่อไป จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเปลี่ยนเมืองลองยกระดับให้เป็นเมืองนครประเทศราชโดยไม่ขึ้นกับลำปาง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แต่ต่อมาเจ้าหลวงลำปางผลัดแผ่นดินมาเป็นเจ้าหลวงวรญาณรังษี ซึ่งพระองค์มิได้เบียดเบียนกดขี่เมืองลองแต่อย่างใด ทำให้ความสัมพันธ์เมืองลองกับเมืองนครลำปางกลับมาเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเช่นเคย สังเกตจากการสร้างระฆังถวายวัดพระธาตุศรีดอนคำของเจ้าหลวงวรญาณรังษี เมื่อ พ.ศ. 2409  (ภูเดช  แสนสา, 2554)

- นอกจากนี้ วัดพระธาตุศรีดอนคำในช่วงล้านนาจารีต (ก่อนการถูกผนวกเข้ากับรัฐไทย) ยังเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือชาวบ้านด้านต่างๆ เช่น ช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 เนื่องด้วยที่วัดมีนาวัด ข้าวัด เป็นวัดที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยเก็บผลประโยชน์จากพืชผลจากไร่นาและแรงงานของข้าวัด และถือของเหล่านี้ไม่สามารถเรียกคืนหรือซื้อขายได้ตราบสิ้นอายุพระพุทธศาสนา 5,000 ปี ซึ่งนาของวัดพระธาตุศรีดอนคำ ซึ่งอยู่บริเวณทุ่งเหยี่ยน บ้านนาม้อ หมู่ที่ 6 ทุ่งนาขาม บ้านดอนทราย หมู่ที่ 7 และทุ่งหลวง บ้านห้วยอ้อ หมู่ที่ 8 เมื่อชาวบ้านขาดแคลนโดยเฉพาะข้าวจึงยืมจากนาวัดมาบริโภคก่อน  (ภูเดช  แสนสา, 2554)

วัดพระธาตุศรีดอนคำในฐานะหนึ่งในพระธาตุพระเจ้าห้าพระองค์

- จะพบว่าวัดพระธาตุศรีดอนคำจะถูกกล่าวถึงพร้อมๆกับพระธาตุอีก 4 องค์ ในเมืองลองเสมอๆ ในฐานะพระธาตุประจำพระเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ในภัทรกัปนี้ โดยกวีๆหลายคนได้รจนาบทประพันธ์ถึงวัดพระธาตุเหล่านี้ เช่น

พระ    สวาสดาตนเลิศล้ำ         ทรงธรรม

บาท    พระเหยียบเหนือผางำ    แทบฝั่งน้ำ

ยาง     เลาเกิดเทียมทำ            สูงส่ง  ลำแล

หอย    อยู่ในแม่น้ำ                 ที่ปากถ้ำ  ผาชำ

 

ล้อง     น้ำงามชู่ก้ำ                จดชำ

อ้อ      ยอดเขียวซอนลำ         สูงล้ำ

แหลม  ไหลส่งซอนชำ            สูงส่ง  ลำแล

ลี่        เรืองเหลืองซ้อนซ้ำ      ชู่ก้ำ  จดชำ

 

ขวย    สูงมุงมืดหน้า              อาภา

ปู       เกิดกับเทียมมา           ทั่วหล้า

ภู       เขาแก่นอาณา            สมสาก  งามแล

ทับ     เทียมใช่ช้า                เลิศหล้า  สืบมา

 

พระ   มุนีผายโผดไว้เป็นไม้ไต้   ส่องโลกา

กับ     แต่งตามเทียมมา          ใช่ช้า

พระ   ทัยอ้างโผดสัตตา          มวลมาก  มาแล

พิมพ์   ตราไว้ถ้า                   กว่าห่างช้า  ทางนิพพาน

 

       ต้นฉบับเดิมของโคลงคือ พ่อหานพรหมวงศ์ ก้อนสมบัติ ภูมิลำเนาบ้านดอนไชยพระบาท ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา เมืองน่าน (สนั่น ธรรมธิ,  2553) โดยโคลงสี่บทนี้พบว่ามีการคัดลอกต่อกันมาในหลายๆสำนวน ซึ่งพบอยู่ในเมืองแพร่ เมืองน่าน และอาจจะมีในเมืองอื่นๆอีกซึ่งยังมีอีกหลายสำนวน เช่น โคลงร้อยกลอนฉบับวุตโต แต่งเป็นโคลงโบราณกล่าวยอคุณพระธาตุองค์ต่างๆ ในเมืองลอง

ร่อง     ล้ำชู่กล้ามาก            หากจดจำ

อ้อ      ยอดเขียวซอนลำ       ส่งล้ำ

แหลม  ไหลเผียบผิวคำ          ใสสว่าง  งามแล

ลี่        เลิศดีใช่ช้า               เปนที่ขราบไหว้วันทา

 

ขวย    สูงมุ่งอาจหน้า            เหลือตา

ปู       เกิดกับเดิมมา             เลิศหล้า

พู       เขาแก่นอาสา             สามารถ  เล่าเอย่

ทับ     แทบเทียมเทียกไว้        เปนที่ไหว้ปูชา

 

เมือง   ตนดูเลิศล้น               หลายหน

กาง    เกิดกับริมชน              แต่ต้น

ยาง    พรายอยู่ไพรสณฑ์       ชนเมฆ  งามแล

หอย   ล่องลอยน้ำล้น           น้ำปั่นต้องเปนวน

 

พระ    สัตถาเปนปิ่นเกล้า       ในโขง

กับ      ไว้ศาสนาทรง            จอดจั้ง

พระ     ใฝ่มักเพื่อประสงค์      โผดโลก  มวลแล

พิมพ์    คีบถอนถอดเสี้ยน      มุ่งเมี้ยน  นิพพานพลัน

(ภูเดช  แสนสา, 2554)

 

        ทั้งนี้จากโคลงกระทู้ข้างต้นทำให้ทราบว่า พระธาตุที่อยู่ในเมืองลองปัจจุบันเหล่านี้ มีความสำคัญต่อความเชื่อของชุมชนมาตั้งแต่อดีต โดยสังเกตว่ากวีได้แต่งจากพระธาตุอันมีชื่อเสียง เช่น  แหลมลี่ ปูตั๊บ(ภูทับ) ห้วยอ้อ(ล้องอ้อ ฮ่องอ้อ ศรีดอนคำพงอ้อ) พระกัป พระพิมพ์  แสดงถึงความสำคัญของพระธาตุศรีดอนคำและพระธาตุต่างๆ ต่อชาวเมืองลองเท่าเทียมพอๆ กับพระธาตุช่อแฮของชาวเมืองแพร่ ก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระธาตุศรีดอนคำจะเป็นธาตุหลวงกลางเวียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัดพระธาตุศรีดอนคำจะเป็นวัดที่มีศักดิ์สูงที่สุด หากพิจารณาตั้งแต่ครั้งอดีต เริ่มแรกเมืองลองได้อยู่บริเวณรอบๆวัดพระธาตุไฮสร้อย(วัดยางหอย) เช่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระธาตุศรีดอนคำจะสำคัญที่สุด และเมื่อมาพิจารณาตำนานแล้วจะพบว่า “ในเมืองลองมีพระธาตุสำคัญ 5 องค์ พระธาตุและองค์บรรจุส่วนต่างๆของพระพุทธเจ้าคือ พระธาตุไฮสร้อย(มันสมอง) พระธาตุแหลมลี่(กระดูกกระหม่อม) พระธาตุขวยปู(กระดูกจอมบ่าซ้าย) พระธาตุปูตั๊บ(กระดูกจอมบ่าขวา) และพระธาตุศรีดอนคำ (กระดูกอก) ซึ่งนำมาสู่การจัดลำดับความสำคัญคือ พระธาตุแหลมลี่ อันบรรจุกระดูกกระหม่อมซึ่งเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุด (ภูเดช  แสนสา, 2554)

        ตำนานพระธาตุเป็นสื่อสำคัญที่นิยมคัดลอกกันแพร่หลาย เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องอานิสงส์การทานธรรมที่กระทำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในเมืองลองนี้ตามตำนานกำหนดให้เป็นคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ คือ พระธาตุไฮสร้อย(พระกกุสันธะและโกนาคมนะ) พระธาตุปูตั๊บ(พระศรีอาริย์) พระธาตุแหลมลี่(พระโคตม) พระธาตุขวยปู(พระกัสปะ) เป็นการจัดพระธาตุให้เป็นระบบตามคติพระเจ้าห้าพระองค์ที่จะเสด็จตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ และยังสื่อถึงพระธาตุของเมืองลองว่าสำคัญเหนือกว่าเมืองอื่นๆ  “...ต่อเท้าชุมนุมธาตุเจ้าสาสนาเสี้ยงมีหั้นชะแล เมื่อดั่งอั้นมหาธาตุเจ้าลัมพางแลมหาธาตุละพุนชื่อหริภุญไชยนั้นจักห่างสูญเสียชะแล เท่ามีแต่มหาธาตุเจ้าที่นี้รุ่งเรืองกาละเมื่อซ้อย มีหั้นชะแล...” (ภูเดช  แสนสา, 2554)

     ซึ่งพระธาตุทั้งหมดนี้ยังไม่ครบ กลุ่มผู้ปกครองเมืองจึงได้สร้างพระธาตุศรีดอนคำเพิ่มขึ้นเพื่อสอดรับกับตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ จึงได้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2169 แต่ก็มีความล่าช้าเพราะสงครามกับอยุธยา แต่เมื่อบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติสุข ก็เริ่มสร้างต่อเติมจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2215 จึงมีการแต่งตำนานพระธาตุศรีดอนคำและสรุปตอนท้ายว่า “...กรียาอันกล่าวแก้ไขยังตำนานธาตุห้าหลังในเมืองลอง ค็สมเร็จสระเด็จแล้วเท่านี้ก่อนแล” (ตำนานเมืองลอง ฉบับตรวจสอบ ปีพุทธศักราช 2550) ซึ่งคติความเชื่อเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ทำให้เกิดคติการสร้างพระหมู่จำนวน 5 องค์ เช่นพระประธานวัดพระธาตุศรีดอนคำ พระเจ้าพร้าโต้ เป็นต้น (ภูเดช  แสนสา, 2554) ซึ่งตำนานนี้เองทำให้เมืองลองกลายเป็นเมืองแห่งการจาริกแสวงบุญ โดยจะสังเกตจากการกล่าวถึงพระธาตุต่างๆในล้านนา ซึ่งจะมีพระธาตุในเมืองลองรวมอยู่ด้วยเสมอ เช่น ตำนานพระเจ้าตนหลวงเมืองพะเยา ตำนานพระธาตุสบแวน เมืองเชียงคำ ปรากฏในคำไหว้พระบาทพระธาตุที่ใช้ในเชียงใหม่และลำพูน (คำไหว้พระบาทพระธาตุของครูบาเจ้าศรีวิไชย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หรือโวหารแผ่กุศลอย่างม่วนที่สืบทอดกันมาของครูบาโสภา โสภโณ วัดป่าโป่ง เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งพระธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อเมืองลองเป็นอย่างมาก เมืองลองจึงเป็นที่จาริกแสวงบุญของผู้คนจากเมืองต่างๆ เช่น พระมหาสังฆราชา วัดฟ่อนสร้อย เมืองเชียงใหม่ มาไหว้พระธาตุขวยปู ปูตั๊บ แหลมลี่ (พ.ศ. 2142) เกิดตำนานการทำนายว่า “ยังมีพระธาตุอีกแห่งหนึ่งนอกจากวัดพระธาตุเหล่านี้คือ วัดศรีดอนคำ”  ต่อมาพระสังฆราชา วัดยอดไชย เมืองแพร่ เจ้าเมืองลอง จึงได้สร้างพระธาตุวัดศรีดอนคำ ในปีพ.ศ. 2169 เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองแพร่ พระสังฆราชา วัดดอนไฟ เมืองลำปาง(ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) ร่วมกันนำสร้างและบูรณะพระธาตุศรีดอนคำในพ.ศ. 2193   นอกจากนี้ยังมีการบูรณะวัดพระธาตุแหลมลี่ ปูตั๊บ ขวยปู ไฮสร้อย จากเจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองแพร่ พระสงฆ์ ชาวไทเหนือ เชียงตุง ม่าน เงี้ยว ยาง ศรัทธาจาก เมืองแพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ทำให้เมืองลองเป็นเมืองแห่งมหาธาตุ หรือ เมืองบรมธาตุ (ภูเดช  แสนสา, 2554)

       จะสังเกตว่ามีการยกความสำคัญพระธาตุต่างๆขึ้นมา โดยอธิบายลักษณะตำนาน ซึ่งทำให้พระธาตุมีความสำคัญสามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจ และความคุมพฤติกรรมทางสังคมของคนในสังคมนี้ได้ ทำให้เกิดประเพณี 12 เดือนของเมืองลองขึ้น

เดือนเกี๋ยง (ตรงกับเดือน 11 ภาคกลาง) กินข้าวสลาก วัดดอนมูล เป็นหัววัดสุดท้าย

เดือนยี่ ขึ้นพระธาตุหลวงฮ่องอ้อ (ไหว้พระธาตุศรีดอนคำ)

เดือน 3 เข้าบ่อเหล็ก (เลี้ยงผี)

เดือน 4 ขึ้นพระธาตุไฮสร้อย ทานข้าวใหม่น้ำใหม่ และทานหลัวหิงหนาวพระเจ้า

เดือน 5 ขึ้นพระธาตุขวยปู และขึ้นพระธาตุปูตั๊บ

เดือน 6 ขึ้นพระธาตุแหลมลี่ (ล่องวัดเดือน 6 )

เดือน 7 เลียงผีปู่ย่า ผีเจ้าบ้าน สรงน้ำพระธาตุองค์ต่างๆ จิบอกไฟ(จุดดอกไม้ไฟแบบล้านนา) และปีใหม่ไทย (วันปากปีสรงน้ำพระธาตุหลวงฮ่องอ้อ และวันปากเดือนสรงน้ำพระเจ้าแก้ว)

เดือน 8 ขึ้นไหว้สาพระธาตุองค์ต่างๆ และเป็นช่วงบวชพระ

เดือน 9 หับบ่อเหล็ก(เลี้ยงผีเมือง) เลี้ยงผีขุนน้ำ ขึ้นผีฝาย

เดือน 10 11 เข้าพรรษา พาลูกหลานวัดฟังธรรม

เดือน 12 กินข้าวสลากวัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นหัววัดแรก

 

        เหล่านี้แสดงความสำคัญของพระธาตุที่เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อ เช่น บริเวณวัดพระธาตุแหลมลี่เคยเป็นไร่ของเจ้าเมืองลอง วัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นที่นาของเจ้าเมืองลอง วัดพระธาตุไฮสร้อยเคยเป็นวัดหลวงกลางเวียงลองช่วงแรก และ พระธาตุศรีดอนคำก็เป็นพระธาตุหลวงกลางเมืองลองในปัจจุบัน (ภูเดช  แสนสา, 2554)

        วัดพระธาตุศรีดอนคำยังมีประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่พญาชื่นสมบัติเจ้าเมืองลอง (พ.ศ. 2318) ได้สถาปนาให้วัดพระธาตุศรีดอนคำเป็นวัดหลวงกลางเมือง คือให้ชาวบ้านได้ตักบาตรและทำบุญร่วมกันภายในวัดทุกวันพระ (ขึ้น 8 ค่ำ 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ 15 ค่ำ หรือ ดับ 14 ค่ำ) โดยจะกระทำตลอดทั้งปี และประเพณีนี้ยังปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ปริมณฑลส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของการปกครอง และศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของเมืองลองควบคู่กันไป (ภูเดช  แสนสา, 2554)

 

รูปแบบศิลปกรรมประวัติศาสตร์ศิลปะ ของวัดพระธาตุศรีดอนคำ

พระธาตุศรีดอนคำ มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ

        ส่วนฐาน : ฐานล่างเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจานวน 3 ชั้น โดยฐานเขียงชั้นที่สามมีการประดับประดับประติมากรรมสิงห์นั่งเอาไว้ที่มุมทั้งสี่ด้วย ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังยกเก็จขนาดใหญ่ จนมีลักษณะคล้ายฐานบัวย่อมุมไม้สิบสอง

        ส่วนกลาง : ใช้ชุดบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมซ้อนกันจานวน 6 ชั้น เป็นส่วนรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัวปากระฆังที่ประดับด้วยแถวกลีบบัวตั้ง แล้วต่อด้วยองค์ระฆังขนาดเล็กในผังแปดเหลี่ยม

        ส่วนยอด : เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง ต่อด้วยก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลี และประดับฉัตรตามลำดับ

        จากรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุศรีดอนคำจะสังเกตได้ว่า ส่วนฐานบัวมีลักษณะเป็นฐานบัวยกเก็จขนาดใหญ่ ทำให้ฐานดังกล่าวมีรูปแบบคล้ายกับฐานบัวย่อมุมไม่สิบสองทำหน้าที่เป็นส่วนฐานรองรับองค์พระธาตุเจดีย์ โดยระเบียบของฐานบัวนี้จะเห็นว่ามีความแตกต่างไปจากฐานบัวของเจดีย์นางแก๋ว นางแมนอย่างค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้เชื่อว่าพระธาตุศรีดอนคำองค์นี้น่าจะเป็นพัฒนาการทางศิลปกรรมที่สืบต่อมาจากเจดีย์นางแก๋วนางแมน(เจดีย์ในวัดพระธาตุจอมแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ (วรวรรษ เศรษฐธนสิน, 2547) อย่างแน่นอน โดยช่างคงปรับปรุงรูปแบบให้ความความเรียบง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นสำหรับส่วนรองรับองค์ระฆังจะเห็นว่าการซ้อนชั้นบัวถลาจำนวนมากในขณะที่องค์เจดีย์มีขนาดเล็ก ทำให้องค์พระธาตุเจดีย์มีรูปทรงที่สูงเพรียวมาก โดยลักษณะดังกล่าวนี้คือรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมแบบเมืองแพร่ที่นิยมสร้างกันสืบมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งพัฒนาการทางด้านรูปแบบของเจดีย์ในระยะนี้จะเห็นว่าสอดคล้องกันกับช่วงเวลาในการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานเอกสารว่า สร้างในช่วงปี พ.ศ.2169-2196 หรือจัดอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แล้ว(พลวัตร อารมณ์, 2555, 50-52)

 

ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 – ปลายพุทธศตวรรษที่ 23

        ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรล้านนาได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้ว ซึ่งจากงานการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ของ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล พบว่านโยบายการปกครองล้านนาของพม่าในช่วงเวลานี้ถูกแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ สมัยแรก (พ.ศ.2101-2207) ซึ่งอยู่ในสมัยที่พระเจ้าบุเรงนองทรงปกครองพม่าเป็นสำคัญ ในช่วงเวลานี้พม่ายังคงให้สิทธิแก่เจ้านายและบ้านเมืองในล้านนามีอำนาจและมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองอยู่ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับและยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าของกษัตริย์พม่า ส่วนในสมัยที่สอง (พ.ศ.2207-2317) พม่ามีนโยบายในการปกครองล้านนาที่เข้มงวดขึ้น โดยฐานะของล้านนาในขณะนั้นคือแคว้นหนึ่งของพม่าโดยแท้จริง พม่าจึงส่งขุนนางจากราชสานักลงมาปกครองล้านนาโดยตรง เจ้านายและขุนนางท้องถิ่นมีบทบาทน้อยลง และพม่าก็จัดเก็บผลประโยชน์จากล้านนามากขึ้นด้วย ทำให้ในเวลาที่พม่าเกิดปัญหาการเมืองภายใน บ้านเมืองต่างๆ ในล้านนาจึงพยายามตั้งตนเป็นอิสระอยู่เป็นระยะ เมื่อพม่าจัดการปัญหาภายในได้แล้วก็จะกลับมาปราบปรามล้านนาอีกที โดยจะเห็นว่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 พม่าซึ่งปกครองโดยราชวงศ์คองบองได้ทำการกวาดต้อนชาวล้านนาไปอยู่ที่พม่าจำนวนมาก และทำให้หลายๆ เมืองมีสภาพกลายเป็นเมืองร้าง เช่น เมืองเชียงใหม่ที่ถูกพม่าตีแตกครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2306 ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายที่พม่าต้องการทำลายเมืองเชียงใหม่อันเป็นศูนย์กลางของล้านนาอย่างแท้จริง

        ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่างานศิลปกรรมเกี่ยวกับพระธาตุเจดีย์ในล้านนาระยะสุดท้าย น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงที่พม่าปกครองล้านนาในสมัยแรก (พ.ศ.2101-2207) เพราะเมืองต่างๆ ในล้านนายังคงมีอิสระในตัวเองอยู่มากพอสมควร ส่วนในสมัยที่สอง (พ.ศ.2207-2317) การสร้างกลุ่มงานสถาปัตยกรรมเหล่านี้คงจะมีน้อยลงจนแถบไม่มีเลย เพราะอำนาจทางการปกครองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้านายและขุนนางล้านนาเป็นหลักอีกต่อไป ประกอบกับการที่พม่าเรียกจัดเก็บผลประโยชน์จากล้านนาเพิ่มมากขึ้น น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองในล้านนาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศิลปกรรมต่างๆ ในล้านนาขณะนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้ยากขึ้น และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การพัฒนารูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ในล้านนาหยุดชะงักลง โดยส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นผลกระทบจากสมัยแรกด้วย ที่พระเจ้าบุเรงนองทรงให้เกณฑ์ไพร่และช่างชั้นดีสาขาต่างๆ ในเชียงใหม่ไปรับใช้ราชสานักพม่าที่หงสาวดี จึงน่าจะทำให้กลุ่มงานช่างหลวงของล้านนาไม่มีการสร้างสรรค์งานแบบใหม่ขึ้นอีกต่อไป งานศิลปกรรมในสมัยหลังลงมาจึงเป็นงานช่างเฉพาะถิ่นที่สร้างสืบทอดหรือเลียนแบบมาจากงานรุ่นเก่าเท่านั้น

        ตัวอย่างสำคัญของเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมแบบเมืองแพร่ ที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้แก่ พระธาตุศรีดอนคำ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นต้น  ซึ่งน่าจะมีอายุสมัยอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถ้าหากจะมองว่าเจดีย์กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มรูปแบบหนึ่งก็เห็นจะไม่ผิดนัก เนื่องจากในอดีตเมืองลองเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่งในล้านนา ซึ่งไม่ได้ขึ้นตรงต่อเมืองแพร่มาก่อนแต่อย่างใด แต่ทว่าจากรูปแบบศิลปกรรมขององค์เจดีย์จะเห็นว่า เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ใช้ชุดบัวถลาแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันมีรูปทรงสูงเพรียว มีองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลี่ยมเช่นเดียวกันและตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังย่อมุมขนาดใหญ่ ที่น่าจะพยายามเลียนแบบฐานบัวยกเก็จแบบล้านนา ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่างานศิลปกรรมเจดีย์ดังกล่าว น่าจะสืบมาจากกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมในเมืองแพร่ ประกอบกับประวัติการบูรณะพระธาตุศรีดอนคำยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่า มีพระยาแพร่และพระยานคร (ลำปาง) ร่วมกันเป็นประธานในการบูรณะองค์พระธาตุศรีดอนคำด้วยในปี พ.ศ.21965 จึงเป็นหลักฐานที่ช่วยสนับสนุนได้ว่า รูปแบบของพระธาตุศรีดอนคำ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมแบบเมืองแพร่อย่างแน่นอน โดยเจดีย์กลุ่มนี้คงเป็นสายช่างที่พัฒนาต่อมาจาก“เจดีย์นางแก๋ว นางแมน” ซึ่งน่าจะสร้างมาแล้วตั้งแต่ช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แต่จากการที่พระธาตุศรีดอนคำสร้างในสมัยหลังลงมาแล้วช่างอาจจะไม่มีความเข้าใจหรือความชำนาญมากพอที่จะสร้างส่วนฐานยกเก็จแบบล้านนาให้เหมือนกับสมัยก่อนหน้าก็เป็นได้

        ทว่าเมื่อรูปแบบเจดีย์ดังกล่าวนี้ถูกนำไปสร้างเป็นพระธาตุสำคัญของเมืองลอง คือ “พระธาตุศรีดอนคำ” จึงน่าจะเป็นปัจจัยและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในแถบเมืองลองนิยมสร้างเจดีย์ที่มีรูปแบบคล้ายกันกับองค์พระธาตุศรีดอนคำ และต่อมาได้กลายเป็นเจดีย์รูปทรงเอกลักษณ์ของเมืองลองไปในที่สุด ส่วนในเขตเมืองแพร่นั้นยังไม่พบหลักฐานพระธาตุเจดีย์ที่เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นอยู่ในช่วงเวลานี้อย่างชัดเจน ดังนั้นจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดีและประวัติศาสตร์ดังกล่าวอาจพอสันนิษฐานได้ว่า วัดพระธาตุศรีดอนคำถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายของพุทธศตวรรษที่ 22 (พลวัตร อารมณ์, 2555, 87-89)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กฤษกร วงค์กรวุฒิ. (2549). แพร่. กรุงเทพฯ : สารคดี.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2542)

        วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดแพร่ .

        กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ.

ตำนานพระธาตุวัดศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ) และประวัติเมืองลอง. (2495). ม.ป.ท. ม.ป.พ.

พลวัตร อารมณ์. (2555). เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมในเมืองแพร่ความสัมพันธ์กับกลุ่มเจดีย์ทรงระฆัง

        แบบล้านนารุ่นหลังช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22.  สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต คณะโบราณคดี

        มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ภูเดช แสนสา. (2554). ประวัติศาสตร์เมืองลอง หัวเมืองบริวารในล้านนาประเทศ.เชียงใหม่. :

       นพบุรีการพิมพ์.

วรวรรษ เศรษฐธนสิน. (2547). การศึกษาเจดีย์บัวถลาเจ็ดชั้นที่พบในจังหวัดแพร่เพื่อนำมา

        เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองแพร่กับอาณาจักสุโขทัยและล้านนา.

        สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สนั่น ธรรมธิ. (2553). โคลงร้อยกลองล้านนา. เชียงใหม่. สุเทพการพิมพ์

สายกลาง จินดาสุ. (2547). การศึกษาอิทธิพลทางวัฒนธรรมภายนอกที่ปรากฏในเมืองแพร่

      ในช่วงพุทธศตวรรษที่19-21. สารนิพนธศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี

        มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุเจตน์ ลายดี และ เกษม อินทราวุธ. (2523). เมืองแพร่เมืองงาม. เชียงใหม่ : ระมิงค์การพิมพ์.

สุวิภา จำปาวัลย์, วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ และสุรชัย จงจิตงาม, (2550). รายงานฉบับสมบูรณ์       

        ผลกระทบทางวัฒนธรรมจากรูปแบบ “พระอุโบสถเพื่อทำแบบก่อสร้างต่างจังหวัด”

        ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแพร่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2546). ศิลปะล้านนา. เอกสารคำสอนรายวิชา 317405 ศิลปะในประเทศไทย

        ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-21. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2551). นครแพร่จากอดีตมาปัจจุบัน : ภูมินิเวศ วัฒนธรรม

        ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

        (สกว.).

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่. (2550). ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ (ฉบับ พ.ศ.2550).แพร่ :

        องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง