เมืองปัว


โพสต์เมื่อ 20 ก.ย. 2021

ชื่ออื่น : เมืองพลัว, วรนคร

ที่ตั้ง :

ตำบล : ปัว

อำเภอ : ปัว

จังหวัด : น่าน

พิกัด DD : 19.183567 N, 100.915806 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : น่าน

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำปัว, ลำน้ำขว้าง, ลำน้ำยาว, ลำน้ำยาวอวน, ลำน้ำย่าง, ลำน้ำกูน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากเมืองน่านขึ้นไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1080 แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 300-500 ม. เข้าสู่ตัวอำเภอปัวและเมืองโบราณปัว

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, เนินเขา

สภาพทั่วไป

เมืองปัวตั้งอยู่ในเขตบ้านปัว (ปัจจุบันเป็นบริเวณของบ้านแก้ม หมู่ 5) ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอเมืองน่าน มีลักษณะเป็นที่ราบสลับเนินเขาทางด้านทิศตะวันตกของดอยภูคา บนแนวทิวเขาหลวงพระบาง ที่ราบลุ่มแคบๆระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำปัวที่ไหลผ่าน ทำให้พื้นที่มีสภาพเหมาะแก่การเกษตรกรรม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

200–500 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำน่าน, ลำน้ำปัว, ลำน้ำขว้าง, ลำน้ำยาว, ลำน้ำยาวอวน, ลำน้ำย่าง, ลำน้ำกูน

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่อำเภอปัว มีดอยภูคาเป็นต้นแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินโก่งตัวขึ้น น้ำทะเลใต้ดินระเหยไปเหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบในเขตอำเภอบ่อเกลือ และการค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี บนดอยภูแวที่บ้านค้างฮ่อ ตำบลสะกาด อำเภอปัว มีลักษณะเป็นหอยแครงสองฝา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พาลีโอคาร์ดิต้า สปีชี่ (Paleocardita Species) อายุ 195-205 ล้านปี จัดว่าอยู่ในยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย

แนวรอยเลื่อนปัว

แนวรอยเลื่อนที่ปรากฏให้เห็นทางตะวันออกของแอ่งอำเภอปัว มีลักษณะธรณีสัณฐาน หน้าผาสามเหลี่ยม ที่เห็นได้ชัดทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศ และจากการสำรวจในภาคสนาม โดยทั้งหมดขนานไปตามแนวรอยเลื่อน มีมุมเอียงเทระหว่าง 40-60 องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณฐานของหน้าผาที่ยังมีลักษณะเป็นเส้นที่ตรง ซึ่งบอกว่ารอยเลื่อนนั้นมีอายุไม่มาก นอกจากนั้นยังพบว่ามีลักษณะธรณีสัณฐานที่สำคัญอีกอย่างที่บอกถึงความเป็นรอยเลื่อนมีพลังก็คือ หุบเขารูปแก้วไวน์ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวดิ่ง(แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาจังหวัดน่าน. 2554)

พื้นที่อำเภอปัว พบแหล่งแร่ หลายชนิด เช่น ลิกไนต์ โครไมท์ โคโลไมท์ และแมกนีไซด์ ซึ่งมีปริมาณมากพอที่สามารถลงทุนได้ (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544, 10)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยล้านนา

อายุทางวิทยาศาสตร์

ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - พ.ศ.1992 (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดน่าน 2533 ; สรัสวดี อ๋องสกุล 2553 : 106-112)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2487

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจบริเวณและได้ขึ้นทะเบียนชุมชนโบราณเมืองปัวเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 ตอนที่ 65 ลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2487

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองปัวสมัยก่อนประวัติศาสตร์

        ในบริเวณพื้นที่อำเภอปัว มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการพบหลักฐานเครื่องมือหินสมัยหินกลางตอนปลายต่อเนื่องไปจนถึงเครื่องมาหินขัดในสมัยหินใหม่ (ราว 5,000 -3,000 ปีมาแล้ว) ประเภทขวานหินมีบ่าและไม่มีบ่า กระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว อำเภอแม่จริม และอำเภอบ่อเกลือ โดยพบแหล่งผลิตเครื่องมือหินขนาดใหญ่ที่เขาหินแก้วเขาชมพู และดอยปู่แก้ว ในเขตตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองและที่ดอยภูทอก บ้านทุ่งผา อำเภอเวียงสา(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. 2544, 35-36)

เมืองปัวสมัยประวัติศาสตร์

        ระยะแรกเริ่มสร้างเมืองปัว และเมืองน่าน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - พ.ศ.1992) เมื่อประมาณปี พ.ศ.1825 มีคนไทยกลุ่มหนึ่งในการนำของพระยาภูคา ได้ครอบครองพื้นที่ราบตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าอยู่บริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างใกล้เทือกเขาดอยภูคา ในเขตบ้านหาดเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เนื่องจากพบร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพระยาภูคาได้ขยายอาณาเขตของตนออกไป โดยส่งบุตรบุญธรรมสองคนไปสร้างเมืองใหม่ ทางตะวันออกบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง) ให้ขุนฟองผู้น้องไปสร้างเมืองวรนคร หรือเมืองปัว อยู่ไกลจากแม่น้ำน่านประมาณ 5,000 วา

        เมื่อขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อน ราชบุตรได้ครองเมืองน่าน และเมื่อพระยาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนได้ครองเมืองย่างแทน และให้ชายาคือแม่ท้าวคำปินดูแลรักษาเมืองปัวแทน เมืองน่านในระยะเริ่มก่อตั้งอยู่ที่เมืองปัว เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 และมีความใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบาง ในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง

        พญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยาได้ขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองเมืองน่าน นางพญาแม่ท้าวคำบินได้หลบหนีไปอยู่ที่บ้านห้วยแร้ง และได้คลอดบุตรชายชื่อ เจ้าขุนใส เมื่อโตขึ้นได้เป็นขุนนางอยู่กับพญางำเมือง และได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใส่ยศให้ไปครองเมืองปราด ต่อมาเมื่อมีกำลังมากขึ้นก็ได้ดิ้นรนจนพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมืองปัว ระหว่างปี พ.ศ.1865 - 1894 จึงพิราลัย เจ้าใสบุตรคนสุดท้องครองเมืองต่อมาได้สามปี ก็พิราลัย พญาการเมือง บุตรพญาผานองอีกคนหนึ่งได้ครองเมืองปัวต่อ (หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดน่าน, 2533 ; แผนที่ชุมชนเมืองเก่าน่าน, 2552, 7 ; กระทรวงวัฒนธรรม. 2555, 77)

       ลักษณะรูปทรงของเมือง จากการพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศพบว่า รูปร่างของชุมชนโบราณแห่งนี้มีลักษณะยาวรี มีความกว้างประมาณ 500 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร (วัดจากภาพถ่ายทางอากาศโดยวิธีเทียบ)

        จำนวนชั้นของคูเมืองเป็นแบบชั้นเดียว ในเอกสารบางฉบับได้กล่าวถึงร่อยรอยคูน้ำคันดินของกำแพงเมืองที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน อยู่ตรงบริเวณที่มีวัดพระธาตุเบ็งสกัดเป็นศูนย์กลาง จากการสำรวจพบเพียงร่องรอยของแนวคูน้ำคันดินซึ่งอยู่ถัดออกมาจากวัดพระธาตุเบ็งสกัด ทางด้านทิศใต้ประมาณ 500 เมตร(บริเวณหลังที่ว่าการอำเภอปัวในปัจจุบัน) ไม่พบร่องรอยของกำแพงเมืองที่สร้างด้วยอิฐแต่ประการใด ส่วนบริเวณวัดพระธาตุเบ็งสกัดเองก็ไม่พบร่องรอยหรือแนวของคูน้ำคันดินของกำแพงเมือง อาจเป็นเพราะขีดจำกัดด้านเวลาในการสำรวจ หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบางอย่าง เช่นคูน้ำคันดินอาจมีการตื้นเขินหรือถูกไถปรับพื้นที่

        ในส่วนของคูน้ำคันดินที่พบซึ่งน่าจะเป็นแนวคูเมืองทางด้านทิศใต้ หรือตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชนโบราณเมืองปัว ขนาดคูเมืองมีความกว้างประมาณ 3 - 4 เมตร ลึกประมาณ 2 - 3 เมตร ส่วนคันดินคงปรากฏเพียงแนวให้เห็นเพียงเล็กน้อยและมีความสูงไม่มากนัก

        หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ จากการสำรวจไม่พบหลักฐานอื่นใดนอกจากร่องรอยแนวคูน้ำคันดินทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชนโบราณ และบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนในอดีตแห่งนี้ คือวัดพระธาตุเบ็งสกัดซึ่งภายในวัดนี้มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ที่เชื่อกันว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และวิหารทรงพื้นเมืองที่มีส่วนประดับตกแต่งซุ้มประตูเป็นแบบศิลปะลาวล้านช้าง แต่สิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุภายในวัดไม่มีสิ่งใดที่จะมีอายุเก่าแก่เท่ากับช่วงเวลาที่ระบุไว้ในพงศาวดารเมืองน่าน คือในราวตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19

         จากการสำรวจได้พบชุมชนโบราณ 4 แห่ง ในพื้นที่อำเภอปัว คือชุมชนโบราณเมืองปัว และชุมชนโบราณบ้านสวนดอก ตำบลปัว ชุมชนโบราณบ้านศาลา ตำบลศิลาแลง และชุมชนบ้านดอยทุ่งกวาง(ทุ่งกวาว) ตำบลแงง ลักษณะของชุมชนโบราณทั้งสี่แห่ง มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ มีคูน้ำคันดินรูปวงกลมมน หรือวงรีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 400-600 เมตร(หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดน่าน, 2533)

         จากลักษณะรูปทรงของชุมชนจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าลักษณะรูปร่างชุมชนค่อนข้างกลม พบร่องรอยของคูน้ำคันดิน 1 ชั้น แต่ร่องรอยแนวคันคูดังกล่าวไม่ชัดเจนนัก บริเวณที่พบคูน้ำคันดินไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่จะช่วยในการศึกษาหรือตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับชุมชนโบราณแห่งนี้ได้ อย่างไรก็ตามจากการพบซากโบราณสถานซึ่งมีขื่อเรียกว่า “วัดน่าน” ที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของบริเวณที่พบแนวคูน้ำคันดินนี้ อาจเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงความเก่าแก่ของชุมชนบริเวณนี้รวมทั้งการพบพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ศิลปะล้านนา(น่านระยะที่ 2) ระหว่างครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 21 ฐานพระพุทธรูปจารึกด้วยอักษรไทยฝักขาม(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544, 87-89)

จารึกที่เกี่ยวข้อง

(1) จารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 (สท.1) อักษรไทยสุโขทัย พ.ศ.1835

ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 24-27 กล่าวถึงอาณาเขตของเมืองสุโขทัย ด้านทิศเหนือครอบคลุม เมืองปัวหรือเมืองพลัว ดังนี้ “เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล เมืองม่าน เมืองน.. เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว”(จารึกพ่อขุนรามคำแหง, 2546)

(2) จารึกวัดเขาสุมนกูฏ (สท.9) อักษรไทยสุโขทัย พ.ศ.1912

ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 19-20 กล่าวถึงอาณาเขตด้านทิศเหนือของเมืองสุโขทัยสมัยพระยาลิไทย จรดเมืองน่านเมืองพลัวของพระยาผากอง ดังนี้ “เบื้องเหนือน้ำน่านถีแดนเจ้าพระยาผากองเจ้าเมืองน่านเมืองพลัว…เบื้องใต้น้ำน่านถีแดนเจ้าพระยา”(จารึกวัดเขาสุมนกูฏ, 2546)

(3) จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด สท.15 อักษรไทยสุโขทัย พ.ศ.1935

ไม่ได้กล่าวถึงเมืองพลัวโดยตรงแต่มีข้อความสอดรับกับจารึกปู่สบถหลาน แสดงความเป็นพันธมิตรต่อกันระหว่างสุโขทัยและน่าน คือพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (ไสยลิไทย) ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน กระทำสัตย์สาบานเป็นไมตรีกับพญาคำตันแห่งเมืองน่าน ผู้มีศักดิ์เป็นปู่(จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด, 2546)

(4) จารึกนางแสนพลัวสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์ (นน.5) พ.ศ.2129

ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 8-11 กล่าวถึงคำว่า “พลัว” ในชื่อของผู้สร้างพระพุทธรูป ดังนี้ “มหาอุบาสิกานางแสนพลัวประกอบด้วยสัทธาสร้างพระพุทธปฏิมาองค์นี้ไว้เป็นที่ไหว้แห่งคนแห่งคนแล”(จารึกนางแสนพลัวสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์, 2546)

(5) จารึกคำปู่สบถ (นน.1) อักษรไทยสุโขทัย พศว.20

ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13-14 กล่าวถึงเมืองแพร่ เมืองงาว เมืองน่าน และเมืองปัวหรือเมืองพลัว ว่าเป็นเมืองในอาณาเขตของกษัตริย์น่าน ดังนี้“อันหนึ่งบ้านเมืองเราทั้(ง)หลายและเมืองแพร่เมืองงาว เ…(น่)านเมืองพลัว ปู่พระญาดูดังเดียว อันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระ”(จารึกคำปู่สบถ. 2546)

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ตำนานสร้างวัดพระธาตุเบ็งสกัด (ชัยวุฒิ บุญอเนก 2548 : 30)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กระทรวงวัฒนธรรม. ปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดน่าน. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (พิมพ์เนื่องในโอกาสถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระธาตุภูเพียงแช่แห้ง ต.ม่วงตึ๊ด อ.เมือง จ.น่าน วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2555), 2555.

กรมศิลปากร. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

จารึกพ่อขุนรามคำแหง, 2546. สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=47

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ. (2546). สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=201

จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด, 2546. สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 จากhttp://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=107

จารึกคำปู่สบถ, 2546. สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม  2556 จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=226

จารึกนางแสนพลัวสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์, 2546. สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 จากhttp://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=1538

ชัยวุฒิ บุญอเนก. วิหารไทลื้อเมืองน่าน : รูปแบบและคติความเชื่อ. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

เทศบาลตำบลปัว : ข้อมูลสภาพทั่วไป, 2551. สืบค้นวันที่12 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.nmt.or.th/nan/pua/Lists/List22/AllItems.aspx

พระธาตุเบ็งสกัด, 2552. สืบค้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 จากhttp://www.nanamulet.com/imgLoad/forum/reply/944927312_L180.jpg

แผนที่ชุมชนเมืองเก่าน่าน, 2552. สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.nan.go.th/webjo/attachments/052_แผนที่ชุมชนเมืองเก่าน่าน.pdf

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553.

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดน่าน. ชุมชนโบราณในจังหวัดน่าน. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม ท้องถิ่นจังหวัดน่าน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดน่าน โรงเรียนสตรีศรีน่าน : ม.ป.ท., 2533.

แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาจังหวัดน่าน, 2554. สืบค้นวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 จาก http://www.dmr.go.th/download/article/article_20110209141053.pdf