วัดพระบรมธาตุไชยา


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระธาตุไชยา, ไชยา

ที่ตั้ง : ม.3 ต.เวียง อ.ไชยา

ตำบล : เวียง

อำเภอ : ไชยา

จังหวัด : สุราษฎร์ธานี

พิกัด DD : 9.384551 N, 99.184365 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ไชยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองไชยา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อำเภอไชยาอยู่ห่างจากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีประมาณ 68 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี มีรถประจำทางสองแถวละรถตู้ อำเภอเมือง – ไชยาแ สามารถลงในตัวอำเภอเมืองไชยาได้สะดวก การเดินทางโดยรถไฟสามารถลงที่สถานีไชยาได้โดยสะดวก ส่วนการเดินทางโดยรถส่วนตัว เดินทางจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีบนทางหลวงหมายเลข 41 ที่มุ่งหน้าไปอำเภอชุมพร ประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณก.ม. 134 ผ่านสวนโมกข์ และเลี้ยวขวาอีกครั้งตรงสี่แยกโมถ่ายหรือตามถนนทางหลวงหมายเลข 4011 ตรงไปราวประมาณ 2 กิโลเมตรจะเห็นวัดพระบรมธาตุไชยาอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพระบรมธาตุไชยา ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางสักการะพระบรมธาตุเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในตัวอำเภอไชยา โดยเปิดให้เข้าชมในวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม 20 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระบรมธาตุไชยา, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479

ภูมิประเทศ

สันทราย

สภาพทั่วไป

วัดพระบรมธาตุไชยา, วัดพระธาตุไชยาหรือวัดพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร  ตั้งอยู่เลขที่ 50 ต.เวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร เนื้อที่ของวัด มีพื้นที่ 42 ไร่ 1งาน 

อาณาเขตของวัด

ทิศเหนือ จรดถนนรักษ์นะกิจ

ทิศใต้ติดคลองไชยา

ทิศตะวันออก จรดถนนสาธารณะ

ทิศตะวันตก จรดคลองไชยา

วัดพระบรมธาตุไชยา จัดเป็นแหล่งโบราณคดีตามแนวลำน้ำ โดยมีคลองไชยาไหลผ่านทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก  จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีการใช้พื้นที่ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 จากนั้นมีการเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในสมัยอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 -22 และมีการบูรณปฎิสังขรณ์อีกหลายครั้งในสมัยหลัง

ทางน้ำ

คลองที่มีความสัมพันธ์กับวัดพระบรมธาตุไชยาคือ คลองไชยา ไหลผ่านทางทิศใต้และทิศตะวันตกของวัด

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาของสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีเกิดการงอกของแผ่นดินจากตะกอนของแม่น้ำ การพัดพาของลมและน่ำทะเลทำให้เกิดที่ราบล่มแม่น้ำและริ้วสันทรายหลายแห่งโดยเป็นริ้วสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราวในช่วง Holocene มีอายุประมาณ 11,000 ปีมาแล้ว (โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2526,1-4)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยศรีวิชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 14 ถึงปัจจุบัน

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปราโมกข์ (หนู)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2439

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2439-2444 พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปราโมกข์ (หนู) ได้ชักชวนเจ้าอาวาสปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเมืองไชยา โดยได้บันทึกลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาโดยปรากฏใน “รายงานเสนอพระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงเทศาชุมพร” เมื่อเดือนกันยายน ร.ศ.129 ว่า องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐาน ตอนต่อจากพื้นฐานขึ้นไปถึงหอระฆังลดชั้นมีหน้ามุขหน้าบันและบราลีทุกชั้น แต่บราลีทำเป็นรูปเจดีย์เล็กๆ กำแพงระเบียงทำเป็นสี่เหลี่ยมจัสตุรัสและตามระเบียงมีพุทธปฎิมากรศิลาล้อมรอบนับได้ 180 องค์ โครงสร้างเป็นอิฐไม่ใช้ปูนสอแต่เป็นลักษณะอิฐป่นเป็นบายสอ สันนิษฐานว่าก่อนการบูรณะในครั้งนี้มีการบูรณะในสมัยโบราณมาแล้ว 2 ครั้ง

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2440

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2440 -2454 ในการเสด็จตรวจราชการมณฑล ณ ปักษ์ใต้ สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้นำประติมากรรมรูปพระโพธิ์สัตว์จากโบสถ์พราหมณ์บริเวณนอกกำแพงวัดพระบรมธาตุไชยา ชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามายังกรุงเทพฯ

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2446

วิธีศึกษา : ทำผัง, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

ทรงศึกษาตำนานท้องถิ่นและเขียนลงใน จดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการแหลมมาลายู ร.ศ. 121 วินิจฉัยว่าเมืองโบราณก่อนการตั้งพระบรมธาตุไชยา อยู่บริเวณต้นน้ำคลองไชยา เหนือปากหมากตรงเขาเพลา พบกำแพงทำด้วยหิน แล้วยกจากวัดพระธาตุไปตั้งบ้านสงขลาแล้วจึงไปพุมเรียง จากนั้นได้ทำผังวัดพระบรมธาตุไชยาและบันทึกโบราณวัตถุในพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : E.E.Lunet de Lajonquiére

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2452

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2452-2455 ทำการสำรวจโบราณสถานและโบราณวัตถุภาคใต้และตีพิมพ์ผลงานใน Bulletin de la commission Archéologique de I’Indochine เรื่อง “La Domaine Archéologique du Siam” และ “Essai d’Inventaire Archéologique du Siam” กล่าวว่าชุมชนโบราณไชยาน่าจะคือ อาณาจักร “พัน-พัน” ส่วนพระบรมธาตุไชยา มีเทคนิคคล้ายสถาปัตยกรรมของจามและเขมร พระพุทธรูปศิลาแดงในวัดพระบรมธาตุไชยาเป็นศิลปะกลุมไทย ส่วนประติมากรรมจากวัดเวียงจัดอยู่ในศิลปะอินเดีย – เขมร

ชื่อผู้ศึกษา : George Coédes

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2471

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Les Collections Archéologique du Musée National de Bangkok” ใน Ars Asiatica,1982,XII จัดโบราณวัตถุที่พบในไชยาว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยศรีวิชัย และวินิจฉัยว่าพระโพธิสัตว์หินที่วัดศาลาทึงเป็นประติมากรรมใกล้เคียงศิลปะทวารวดี ส่วนพระโพธิสัตว์สำริดที่พบที่วัดพระบรมธาตุไชยามีลักษณะใกล้เคียงศิลปะจาม

ชื่อผู้ศึกษา : Jean Yves Claeys

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2472

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

Jean Yves Claeys ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาโบราณวัตถุที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง เขาน้ำร้อน วัดใหม่ชลธาร วัดประสบ วัดป่าเลไลย์ วัดศาลาทึงกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จากนั้นได้ขุดตรวจสอบฐานของโบราณสถานวัดเวียงและวัดหลง เปรียบเทียบกับวัดแก้ว เสนอแนวความคิดลงใน L’Archéeologie du Siam ในปี ค.ศ. 1931 กล่าวว่าโบราณสถานอิฐวัดแก้วคล้ายกับเจดีย์ในเมืองจาม ส่วนโบราณสถานที่วัดหลงและวัดเวียงเป็นศาสนสถานฐานสี่เหลี่ยม มีการบูรณะในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าเป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุริภัณฑ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2473

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พบโบราณวัตถุในไชยาเพิ่มเติม เช่น พระพุทธรูปหินลงรักปิดทองแบบทวารวดีในพระบรมธาตุไชยา 1 องค์,พระพุทธรูปหินประทับนั่งศิลปะทวารวดีในซุ้มหน้าพระบรมธาตุไชยา 1 องค์ , พระพุทธรูปหินศิลปะศรีวิชัยจากระเบียงพระบรมธาตุไชยา 2 องค์ เทวรูปพระนารายณ์หินจากวัดใหม่ชลธารและพระสถูปหินทรงระฆังบนฐาน 6 ชั้นจากวัดประสบ

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับชุมชนโบราณไชยาในสาส์นสมเด็จว่าบรรดาเมืองในภาคใต้เมืองโบราณไชยาถือเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด (รวมเมืองเวียงสระ) พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ในสมัยศรีวิชัยมีลักษณะศิลปะแบบหลังคุปตะ พระพุทธรูปที่พบที่เมืองไชยานิยมสร้างด้วยหินทรายแดงเพราะมีภูเขาหินทรายแดงใกล้เมืองกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายสมัยศรีวิชัยร่วมสมัยขอมตอนปลาย

ชื่อผู้ศึกษา : พุทธทาสภิกขุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2491

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” สันนิษฐานว่าแต่เดิมชนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่บริเวณเขาเพลา ต้นน้ำคลองไชยาและเคลื่อนย้ายมาผสมกับชาวอินเดียโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยทวารวดีพบพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่วัดพระบรมธาตุไชยา วัดเววน วัดแก้ว วัดเวียง และวัดโพธาราม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นประติมากรรมที่นำเข้ามาจากนครปฐมสมัยนี้ชุมชนโบราณไชยานับถือเถรวาท ต่อมาในช่วงสมัยศรีวิชัยที่ปกครองโดยกษัตริย์ไศเลนทร์วงศ์ เมืองไชยามีภูเขาน้ำร้อนเป็นภูเขาประจำราชวงศ์ ถือเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญและทำการรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในเมืองไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : H.G.Quaritch Wales

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2494

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Making of Greater India: a study in South-East Asian culture change” วินิจฉัยว่าพระพุทธรูปหินจากแหล่งโบราณคดีวัดแก้ว (พระพุทธรูปหินประทับยืนไม่มีเศียร)และพระพุทธหินประทับรูปนั่งจากแหล่งโบราณคดีวัดเววน จัดอยู่ช่วงสมัยคุปตะ ราวพุทธศตวรรษที่ 8-11 ส่วนสถาปัตยกรรมวัดแก้วและพระบรมธาตุไชยาอยู่ในศิลปะปาละราว พ.ศ.1193 – 1443 อันเป็นศิลปะอินเดียผ่านชวา

ชื่อผู้ศึกษา : หลวงบริบาลบุริภัณฑ์, Alexander B.Griswold

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2493

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือ “ประติมากรรมแห่งคาบสมุทรสยามในสมัยอยุธยา” ใน Journal of the Siam Society เล่ม XXXVIII หน้า III ทำการจัดประติมากรรมที่พบในไชยาให้อยู่สมัยศรีวิชัย ส่วนเทวรูปวิษณุเป็นศิลปกรรมพราหมณ์ก่อนเขมรและพระพุทธรูปหินทรายแดงเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง

ชื่อผู้ศึกษา : Pierre Dupont

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “L’Archéologie Mône de Drāravati” จัดพระพุทธรูปปางสมาธิจากวัดพระบรมธาตุไชยาและพระพุทธรูปหินประทับยืนจากวัดแก้วให้อยู่ในหมวดพระพุทธรูปแบบทวารวดี

ชื่อผู้ศึกษา : Jean Boisselier

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย” (เขียนร่วมกับศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์) และ “Recherches archéologiques en Thailand II : Rapport sommaire de la misson 1965” ใน Arts Asiatique XX กล่าวถึงศิลปะสมัยศรีวิชัย โดยกำหนดหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดพระบรมธาตุไชยา สำหรับเจดีย์ที่วัดแก้วเป็นส่วนผสมระหว่างศิลปะจาม ปราสาทเขมรก่อนเมืองพระนครและศิลปกรรมชวา กำหนดอายุอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 14

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2516

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “สถูปในประเทศไทย” กล่าวถึงสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาและเจดีย์วัดแก้วว่าเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสอยางไม้สนิท การเรียงอิฐไม่เป็นระบบแต่เทคนิคคล้ายปราสาทขอมรุ่นแรกแบบเดียวกับปรางค์แขกลพบุรี ลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงมณฑปคล้ายกับจันทิเมนดุในชวาซึ่งเป็นศิลปกรรมศรีวิชัย ส่งผลต่อเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมทรงสูงในสุโขทัย เชียงใหม่และเชียงแสน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พ.ศ.2519-2523 กองโบราณคดี หน่วยศิลปากรที่ 14 กรมศิลปากร ทำการขุดแต่งโบราณคดีวัดแก้ว พบผังเป็นแกนกากบาทมีเทคนิคขัดสอดินแบบพระบรมธาตุไชยา ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเจดีย์รูปจัสตุรัสย่อมุม พบโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปหินประทับนั่งไม่มีเศียร บนฐานมีลายวัชรคู่และรูปสิงห์พบอยู่ทางซุ้มเล็กด้านทิศตะวันออกขององค์วัดแก้วเป็นรูปของพระเจ้าอักโษภยะหรือพระพุทธรูปชินะกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 15

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2520

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “ประวัติพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร จ.สุราษฎร์ธานีและบทความเรื่องอาณาจักรศรีวิชัย” โดยกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดและรวบบทความต่างๆที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : ธรรมทาส พานิช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “วิหารพราหมณ์ในไชยา” กล่าวถึงร่องรอยซากศาสนสถานที่วัดศาลาทึง วัดพระบรมธาตุไชยา วัดใหม่ท่าโพธิ์(หรือวัดใหม่ชลธาร) วัดเวียง และวัดโพธาราม

ชื่อผู้ศึกษา : ฉวีงาม มาเจริญ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “พระบรมธาตุไชยา” กล่าวถึงประวัติของวัดพระบรมธาตุไชยา โดยพิมพ์เน่องในโอกาสประกอบพิธียกฉัตรพระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ศิลปะโบราณที่สุราษฎรธานี” วินิจฉัยว่าพระสุริยเทพหินจากวัดศาลาทึงเป็นประติมากรรมฝีมือช่างไชยาโบราณ (ช่างท้องถิ่น) มีลักษณะทางศิลปะคุปตะกำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 ส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงเป็นศิลปกรรมราวพุทธศตวรรษที่ 19 หรือต้นสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : เกียรก้อง อมรกูร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “เจดีย์เอวคอดในสถาปัตยกรรมศรีวิชัยที่เจดีย์พระบรมธาตุไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี” โดยศึกษารูปแบบศิลปะตัวเจดีย์พระบรมธาตุไชยา

ชื่อผู้ศึกษา : เด่นดาว ศิลปานนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการครองหนังกวางของพระโพธิ์สัตว์อวโลติเกศวรอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี” เปรียบเทียบการครองหนังกวางของพระโพธิ์สัตว์อวโลติเกศวรที่พบในอำเภอไชยา 3 องค์กับพระโพธิสัตว์ในประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สรุปผลว่าพระโพธิสัตว์ที่พบที่วัดศาลาทึงได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียใต้แบบหลังคุปตะกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 -13 ส่วนพระโพธิสัตว์ศิลาจากพระบรมธาตุไชยาได้รับอิทธฺพลจากศิลปะอินเดียภาคใต้ซึ่งผ่านมาจากจามและศิลปะศรีวิชัยในสุมาตราหรือหมู่เกาะอินโดนีเซีย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 และพระโพธิสัตว์สำริดจากวัดพระบรมธาตุไชยา ได้รับอิทธิพลของศิลปะอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือในศิลปะปาละคล้ายที่พบในศิลปกรรมของชวาภาคกลาง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 (เด่นดาว, 2544,62 -73)

ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “การออกแบบศาสนสถานสกุลช่างทวารวดี เขมรและชุมชนภาคใต้ไชยาในประเทศไทย” ได้สรุปรูปแบบศิลปะโบราณสถานที่พบในไชยาว่า เป็นสถูปหรือเจดีย์ที่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นได้ส่งอิทธิพลต่อเจดีย์ในภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น เจดีย์ตรงระเบียงคดของวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช หรือฐานเจดีย์ของวัดสทิงพระจังหวัดสงขลา (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, 2549,21 -40)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดเดียวกับพระราชวรวิหาร โดยพระบาทสมเด็จภูมิพลมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2419 มีพระนามว่า “วัดพระธาตุไชยา” ต่อมาเลื่อนฐานะเป็นพระบรมธาตุไชยาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวีวิหารและพระราชทานนามใหม่ว่า “พระบรมธาตุไชยา” เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

ประวัติการสร้างวัดพระบรมธาตุไชยาไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างแน่ชัด จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 -18  พร้อมวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง ต่อมาวัดพระบรมธาตุไชยาร้างมาระยะหนึ่งจนพระครูโสภณเจสิการาม (หนู ติสโส) เป็นหัวหน้าชักชวนบรรดาเจ้าอาวาสวัดต่างๆบูรณะพระอารามแห่งนี้ใน พ.ศ.2439 – 2453

สิ่งก่อสร้างภายในวัดพระบรมธาตุไชยาที่สำคัญ ได้แก่

1.                   พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดสถูป เรือนธาตุมีผังเป็นรูปกากบาท มีจัตุรมุขทั้ง 4 ยืนออกมาจากกลางด้านผนังเรือนธาตุ ด้านตะวันออกมีบันไดเข้าสู่โถงกลาง ความสูงจากฐานถึงเรือนยอดประมาณ 24 เมตร มีส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ดังนี้

-                      ฐาน ฐานเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 2 ชัน ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วผังจัตุรัสตกแต่งด้วยเสาติดผนังลดเหลี่ยม 1 ชั้น ขนาดฐานทิศเหนือถึงใต้ยาว 10 เมตร (ปัจจุบันทางวัดได้ทำการขุดบริเวณโดยรอบให้เห็นตัวฐานเดิมของโบราณสถาน)  ส่วนบนของฐานบัวลูกแก้วเป็นลานประทักษิณ มีสถูปจำลองประดับที่มุมทั้ง 4 ด้าน

-                      เรือนธาตุเจดีย์ มีฐานบัวลูกแก้วรองรับเรือนธาตุอีก 1 ชั้น มุมเรือนธาตุทำเป็นเสาหลอกติดผนังตรงกลางเซาะร่อง มุขทางด้านตะวันออกมีบันไดทางขึ้นสามารถเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ ห้องภายในมีขนาด 2x2 เมตร ปัจจุบันมีมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป 8 องค์ ผนังเรือนธาตุก่ออิฐไม่สอปูนลดหลั่นกันไปถึงยอด มุขอีกสามด้านทึบ มุมของมุขแต่ละด้านทำเป็นเสาติดผนัง เหนือมุขมีกุฑุหรือซุ้มหน้าบันประดับปูนปั้นรูปวงโค้งคล้ายเกือกม้า ด้านในกุฑุมีลายปูนปั้น รูปตราแผ่นสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดจากการซ่อมแซมในสมัยหลัง

-                      ส่วนยอด เป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยสถูปจำลองชั้นละ 8 องค์ ส่วนบนทำเป็นบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังรูป 8 เหลี่ยม บัลลังก์ 8 เหลี่ยม ปล้องไฉน 8 เหลี่ยมจำนวน 5 ชั้น บัวกลุ่มและปลียอดซึ่งเป็นการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความสำคัญของพระบรมธาตุไชยา คือ จากรูปแบบของเจดีย์ สันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นเดี่ยวกับโบราณสถานวัดเวียง วัดแก้วและวัดหลง ราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลเนื่องมาจากการบูรณะในหลายสมัย

2.                   เจดีย์ทิศ ตั้งอยู่รอบพระบรมธาตุไชยาเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน เจดีย์ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ชั้นล่างเป็นฐานบัวลูกแก้วทรงสูง ก่ออิฐฉาบปูนตำ รองรับฐานบัวลูกแก้วรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ส่วนเจดีย์อีก 3 องค์ทรงกลมทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานเขียงกลม รองรับมาลัยลูกแก้ว 8 แถว องค์ระฆังทรงกลมอยู่บนปากบัวระฆัง ส่วนยอดไม่มีบัลลังก์ มีก้านฉัตรและปล้งไฉนและปลียอดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์

3.                   พระวิหารหลวง อยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุไชยา ด้านหลังวิหารสร้างยื่นล้ำเข้ามาในเขตพระวิหารคด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา สกุลช่างไชยา

4.                   พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมธาตุไชยา สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2498 แทนอุโบสถหลังเก่าที่รื้ออกไป พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ปางมารวิชัยศิลปะสมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพัทธสีมาคู่ซึ่งของเดิมเป็นของพระอุโบสถเก่า สมัยอยุธยา  

5.                   ระเบียงคด วิหารคด หรือพระระเบียง เป็นระเบียงล้อมรอบองค์พระธาตุอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 38 เมตร สูง 4 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆรวม 180 ปาง  ชาวบ้านเรียกพระเวียน

6.                   พระพุทธรูปกลางแจ้ง ประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงขนาดใหญ่ 3 องค์ ศิลปะอยุธยา สกุลช่าง ไชยา

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบภายในวัด ได้แก่  พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริด 2 กร พบบริเวณสนามหญ้าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมธาตุไชยา อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ศิลปะคล้ายประติมากรรมของชวาภาคกลาง กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 14,พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริด 8 กร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14, พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรศิลา 2 กร ศิลปะจาม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15,พระพุทธรูปศิลาและปูนปั้น อิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและศิลปะทวารวดี, พระพทธรูปศิลาทรายแดงและปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ,ฐานโยนี เป็นต้น (นงคราญ ศรีชาย,2544,150-159)

ในส่วนด้านข้างตัว มีวัดมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาซึ่งเป็นที่เก็บรักษารวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในเมืองไชยาให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมและศึกษา

สรุปความสำคัญของวัดพระบรมธาตุไชยา  จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีการใช้พื้นที่ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 และมีการเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในสมัยสุโขทัยถึงอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 -22 และมีการบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5  ช่วง พ.ศ.2439 – 2453โดยพระครูโสภณเจสิการาม (หนู ติสโส)

ปัจจุบัน วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นสถานที่ศักสิทธิ์คู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

 

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “พ่อตาพัดหมัน” กล่าวว่า ปะหมอกับปะมัน สองคนพี่น้องเป็นชาวอินเดีย ใช้เรือเดินใบมาจนถึงเมืองไชยา ขึ้นบกด้วยข้าทาสบริวารที่บ้านนาค่ายตรงวัดหน้าเมืองในตำบลเลม็ด ปะหมอเป็นนายช่างมีความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้างถูกตัดมือตัดตีนเมื่อสร้างพระบรมธาตุเสร็จ และทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย ที่ปะหมอถูกตัดมือตัดตีนเนื่องจากเจ้าเมืองไม่อยากให้ปะหมอไปสร้างโบราณสถานแห่งอื่นอีก เมื่อปะหมอตายแล้ว จึงได้คิดหล่อรูปพระอวโลติเกวรไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัว ส่วนปะหมันได้ครองอยู่เกาะพัดหมันและตั้งรกรากอยู่กระทั้งเสียชีวิต สถานที่ปะหมันไปอาศัยอยู่นันเป็นพื้นที่ดอนน้ำไม่ท่วม มีนาล้อมรอบ เนือที่ 1 ไร่เศษ สมัยก่อนมีความศักสิทธิ์มาก ชาวบ้านเคารพนับถือ คณะมโนราห์เดินทางผ่านต้องรำถวาย

บางตำนานก็กล่าวว่าชาวอินเดียที่มาไชยาในครั้งนั้นมี 4 คนพี่น้อง คือ ปะหมอ ปะหมัน ปะเว ปะหุม โดยปะหมอเป็นช่างฝีมือดีเป็นลูกของศรีวิชัย เมือสร้างพระบรมธาตุเสร็จ ถูกตัดมือตัดตีนและทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงตาย สิ่งก่อสร้างที่ปะหมอสร้างอีกได้แก่ วัดแก้วและวัดหลง วัดแก้วมีลายแทงและปริศนาว่า “วัดแก้วศรีธรรมโศกราชสร้างแล้ว ขุดแล้วเรืองรอง สี่เท้าพระบาท เหยียบปากพะเนียงทอง ผู้ใดคิดต้อง กินไม่รู้สิ้นเอย”

สถานที่อยู่อาศัยของปะหมอนั้น สันนิษฐานว่าคือบริเวณต้นสำโรงใหญ่ข้างวัดเวียง บริเวณที่ตั้งศาลปะหมอ  ถือเป็นสถานที่ศักสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน (ประทุม ชุมเพ็งพันธ์, 2519,20 -21)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. (2520). ประวัติพระบรมธาตุไชยาวรวิหาร จ.สุราษฎรธานีและบทความเรื่องอาณาจักรศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

เกียรก้อง อมรกูร. (2529). เจดีย์เอวคอดในสถาปัตยกรรมศรีวิชัยที่เจดีย์พระบรมธาตุไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : ภูมิสถาปัตยกรรม ม.ศิลปากร

Ito, Shoji. (เขมชาติ เทพไชย แปล). (2527, พฤศจิกายน). “ข้อสังเกตทางด้านประติมานวิทยาของพระโพธิสัตว์ที่พบที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี Remarks on the Iconography of  Bodhisattava Images found in Chaiya, Southern Thailand” ศิลปากร . 28 (5), 48 -55

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) กองโบราณคดี กรมศิลปากร. (2526).รายงานการสำรวจขุดค้นทางด้านโบราณคดี บริเวณแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.  

จันทร์จิรายุ รัชนี.(2527, สิงหาคม). Wมารู้เรื่องศรีวิชัยกันเสียที เรื่องอาณาจักรศรีวิชัย” ศิลปวัฒนธรรม. 5 (10), 62 – 73

ฉวีงาม มาเจริญ. (2525). พระบรมธาตุไชยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร

เด่นดาว ศิลปานนท์. (2544, มกราคม – กุมภาพันธ์). “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการครองหนังกวางของพระโพธิ์สัตว์อวโลติเกศวรอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี”. ศิลปากร. 47 (1) , 62 -73

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542). “ชุมชนโบราณไชยา” ใน สารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, หน้า 2195-2218

ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์.(2513). ไชยา – สุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯการพิมพ์

ผาสุข อินทราวุธ. (2554) . เอกสารประกอบการเรียนวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์ศรีวิชัย สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. เอกสารอักสำเนา ไม่ปรากฏเลขหน้า

นงคราญ ศรีชาย. (2543). โบราณคดีศรีวิชัย : มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน. นครศรีธรรมราช : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2526, กรกฎาคม). Wสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้” ศิลปากร. 27 (3), 17 – 25.         

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.(2549, ตุลาคม – ธันวาคม). “การออกแบบศาสนสถานสกุลช่างทวารวดี เขมรและชุมชนภาคใต้ไชยาในประเทศไทย” เมืองโบราณ. 27(4), 21 -40

ข่าวที่เกี่ยวข้อง