เมืองโบราณพระเวียง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระเวียง

ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : นครศรีธรรมราช

พิกัด DD : 8.394141 N, 99.972943 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าเรือ

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองคูพาย, คลองสวนหลวง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองโบราณพระเวียงตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง โดยผู้สนใจสามารถเดินทางจากถนนราชดำเนินมาตามทางหลวงหมายเลข 408  ห่างจากวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนสายนี้มีรถสองแถวให้บริการ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันชุมชนโบราณพระเวียงได้ถูกปรับเปลี่ยนจากเดิมเนื่องจากมีการอาศัยของคนที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของคูน้ำคันดินเดิมถูกปรับเปลี่ยนทับถมเหลือให้เห็นเพียงบางส่วน ส่วนวัดภายในเมืองบางแห่งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เอกชนและพื้นที่ราชการ นอกจากวัดร้างต่างๆแล้ว ภายในเมืองพระเวียงยังเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โดยเป็นสถานที่รวบรวมเก็บโบราณวัตถุที่พบภายในเมืองนครศรีธรรมราชรวมถึงเมืองโบราณพระเวียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลา 9.00 – 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น. วันพุธ – อาทิตย์ ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย  30 บาท คนต่างชาติ 150 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์, เทศบาลนครนครศรีธรรมราช

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

สันทราย

สภาพทั่วไป

เมืองพระเวียง หรือเมืองกระหม่อมโคกตามคำเรียกของคนท้องถิ่น เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนสันทรายเก่านครศรีธรรมราช ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 450 เมตร ยาว 1110 เมตร วางตัวในแนวทิศเหนือใต้ โดยมีคลองสวนหลวงและคลองคูพายขนาบทิศเหนือและใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสวนหลวง วัดเพชรจริก บ้านศรีธรรมราชของกรมประชาสงเคราะห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชและสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

จากการศึกษาพบว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีความสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19

ผังอาณาเขตของเมืองโบราณพระเวียงในปัจจุบัน

ทิศเหนือ ติดคลองสวนหลวงซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยใดๆ

ทิศใต้ ติดคลองคูพายเป็นคลองธรรมชาติ ปัจจุบันเหลือเพียงร่องรอยทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเหลือแนวคันดินทางทิศตะวันออก

ทิศตะวันออก เป็นคลองขุดพบคันดินตั้งแต่คลองคูพายถึงคลองสวนหลวง มีคันดินสูงประมาณ 1 -1.50 เมตร กว้างประมาณ 3 -5 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร อยู่ทั่วไปตลอดแนวและเหลือคันดินชั้นนอกบ้าง

ทิศตะวันตก มีคลองหัวหว่อง บริเวณหลังณาปนสถานวัดเพชรจริก พบคันดินกว้าง 3 เมตร สูง 1 -1.50 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร

สภาพของเมืองพระเวียงถูกบุกรุกทำลายเนื่องจากเป็นที่อาศัยของคนในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนของคูเมืองตื้นเขินเหลือเพียงร่องน้ำหรือคูระบายน้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

4-5 เมตร

ทางน้ำ

อิทธิพลเขตลุ่มแม่น้ำคลองท่าเรือ

ทางน้ำรอง คือ คลองคูพายและคลองสวนหลวงที่ไหลจากทิวเขานครศรีธรรมราช ผ่านขนาบทางทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองพระเวียงและไหลลงสู่คลองท่าเรือ  (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, 2542,3309)

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนพื้นที่ตะกอนสันทรายที่เกิดจากการกระทำของน้ำทะเลและลมขึ้นเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นหาดสันทรายเก่า (ชาคริต สิทธิฤทธิ์, 2554, ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยศรีวิชัย

อายุทางตำนาน

ตำนานพระบรมธาตุกล่าวว่าเมืองพระเวียงสร้างขึ้นราวศักราช 1200

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : นิคม สุทธิรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

เสนอบทความเรื่อง “เมืองพระเวียง (ทางโบราณคดี)” กล่าวถึงชื่อเมืองพระเวียงที่ปรากฏในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ว่าตั้งอยู่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกวัดพระเวียงในปัจจุบัน โดยเป็นเมืองของพระเจ้าจันทรภานุผู้ครองอาณาจักรตามพรลิงค์ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังในจารึกหลักที่ 24 (จารึกวัดเวียง สุราษฎร์ธานี) เมืองพระเวียงน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18

ชื่อผู้ศึกษา : ศรีศักร วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศรีศักร วัลลิโภดม นำนักศึกษาชุมนุมศึกษาวัฒนธรรมโบราณคดี คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรมาสำรวจจซากโบราณสถานในเมืองพระเวียง พบฐานสถูปจำนวน 11 แหล่ง พระพิมพ์ เศษภาชนะดินเผา ภาชนะเครื่องถ้วยสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : พิสิฐ เจริญวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช ทำการขุดค้นบริเวณที่ทำการหน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช (วัดสวนหลวงตะวันออกร้าง) พบภาชนะดินเผากุณฑีและคนโฑดินเผาศิลปะศรีวิชัย

ชื่อผู้ศึกษา : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ภาชนะดินเผาในภาคใต้” กล่าวว่า ภาชนะรูปทรงกุณฑีทีและกุณฑีที่พบจากชุมชนโบราณท่าเรือ – เมืองพระเวียงกับภาชนะดินเผาที่พบที่ชุมชนปะโอในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา และที่แหล่งโบราณคดีวัดเวียงไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีมีลักษณะ คล้ายคลึงกัน

ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

พิริยะ ไกรฤกษ์ วินิจฉัยว่าหม้อปากภายมีเชิง ตกแต่งลายเส้นสลักเบาลายก้านขดเครือเถา ที่พบที่แหล่งโบราณคดีเมืองพระเวียง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ชื่อผู้ศึกษา : ผาสุข อินทราวุธ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บความเรื่อง “ความสัมพันธ์ด้านเครื่องถ้วยในภาคใต้เกี่ยวข้องกับศรีวิชัยเน้นเฉพาะเครื่องถ้วยพื้นเมือง” สันนิษฐานว่าภาชนะแบบกุณฑีในภาคใต้ รวมทั้งที่พบที่ชุมชนโบราณท่าเรือ เมืองพระเวียงน่าจะได้รับอิทธิพลหรือเลียนแบบมาจากหม้อน้ำโลหะที่ชาวอินเดียนำเข้ามา

ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

ตีพิมพ์บทความเรื่อง สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรประเทศไทย กล่าวว่า เจดีย์ที่วัดสวนหลวงในเมืองพระเวียง เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานจัสตุรัส เป็นเจดีย์ฐานเตี้ย อันเป็นอิทธิพลสุดท้ายในสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ 19

ชื่อผู้ศึกษา : สุดาพร มณีรัตน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดทำหนังสือ “นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช” โดยแสดงโบราณวัตถุและโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชและกล่าวถึงเมืองพระเวียง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำรวจภายในเมืองในปี พ.ศ.2549 ทำการขุดค้นภายในเมืองพระเวียงจำนวน 3 หลุม และขุดตรวจตรงคันดินจำนวน 1 หลุม โบราณวัตถุที่พบได้แก่ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง หยวน หมิง,เครื่องถ้วยเวียดนาม,เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย – ศรีสัชนาลัย, เครื่องถ้วยจากเตาบางปูน จ.สุพรรณบุรี, ปล่องบ่อน้ำ เป็นต้น กำหนดสันนิษฐานว่าเมืองโบราณพระเวียงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนโบราณกลุ่มคลองท่าเรือ สรุปว่าเมืองพระเวียงอาจพัฒนาจากเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์และกลายเป็นเมืองท่าค้าขายกับชุมชนภายนอกและภายในประเทศในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19

ชื่อผู้ศึกษา : มัณฑนา เพ็ชร์คง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จัดทำสารนิพนธ์ เรื่อง "การใช้พื้นที่มืองโบราณนครศรีธรรมราชโดยทำการสำรวจทั้งในตัวเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพระเวียง"

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน, แหล่งค้าขาย/เมืองท่า/ตลาด

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองโบราณพระเวียง เป็นชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 450 เมตร ยาว 1110 เมตร โดยมีคลองคูพายและคลองสวนหลวงขนาบทางทิศเหนือและทิศใต้ ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเมืองพระเวียงราวศุกราช  1200 แต่หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบภายในเมือง

สันนิษฐานว่ามีการสร้างชุมชนตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 19 และมีการใช้ต่อเนื่องเรื่อยมา 

ภายในตัวเมืองพระเวียง มีวัดที่สำคัญ ได้แก่ วัดสวนหลวงตะวันออก(ร้าง) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราชและสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

วัดสวนหลวงตะวันตกและวัดเสด็จ (ร้าง)ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของวัดส่วนหลวงตะวันออก ปัจจุบันคือที่ตั้งห้องสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช นอกจากนี้มีวัดเพชรจริกตะวันออก (ร้าง) ,วัดเพชรจริกตะวันตก ,วัดบ่อโพง (ร้าง), วัดพระเวียง (ร้าง)และวัดกุฎิ (ร้าง) เป็นต้น

ตัวอย่างโบราณวัตถุที่พบในเมืองพระเวียง ได้แก่ พระพิมพ์กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18, เหรียญชวา,ประติมากรรมสำริดรูปผู้หญิง, ภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองที่มีลวดลายคล้ายศิลปะภาคกลางกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ,กุณฑีดินเผาแบบมีเชิง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปี พ.ศ.2550ได้แก่ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่งถึงหยวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 -19) ตลอดจนภาชนะดินเผาแบบพื้นเมืองในปริมาณมากและค่อนข้างหนาแน่น, เครื่องถ้วยเวียดนาม,เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย – ศรีสัชนาลัย, เครื่องถ้วยจากเตาบางปูน จ.สุพรรณบุรี,  ปล่องบ่อน้ำ

เป็นต้น

จากการศึกษาสันนนิษฐานว่าชุมชนโบราณเมืองพระเวียง มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนโบราณกลุ่มคลองท่าเรือ เนื่องจากคลองคูพายและคลองสวนหลวงไหลลงสู่คลองท่าเรือที่อยู่ห่างทางทิศใต้ไปราว 3 กม. โดยพบว่าโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกันและแหล่งโบราณคดีต่างตั้งอยู่บนสันทรายเดียวกัน

จากหลักฐานจึงทำให้สรุปว่าเมืองพระเวียงอาจพัฒนาจากเมืองแรกเริ่มประวัติศาสตร์และกลายเป็นเมืองท่าค้าขายกับชุมชนภายนอกและภายในประเทศในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -19

 

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กล่าวถึงเมืองพระเวียง ว่า “ เมื่อพระยาศรีธรรมโศกราชถึงแก่กรรมศักราช 1200 ปี พระญาจันทรภาณุเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระญาพระญาจันทราภาณูตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง.... ต่อมาพระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง....หลังจากนั้นก็เกิดการรบกับพระญาชวา จนกระทั่งเมืองเกิดไข้ห่าเป็นเมืองร้าง.... (กรมศิลปากร, 2503)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. (2503). ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช.พระนคร.

ชาคริต สิทธิฤทธิ์.(2554). การขุดค้นทางโบราณคดีเมืองพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช.นครศรีธรรมราช : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช

ชาคริต สิทธิ์ฤทธิ์.(2554). “การขุดค้นทางโบราณคดีเมืองพระเวียง ต.ในเมือง อ.เมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ศิลปากร 54 (3) พฤษภาคม – มิถุนายน , หน้า 4 -19

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ.(2542). “ท่าเรือ – เมืองพระเวียง : ชุมชนโบราณ” ในสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : ธนาคารทหารไทยพานิชย์, หน้า 3301 - 3311

ธราพงศ์ ศรีสุชาติ .(2523). ภาชนะดินเผาในภาคใต้.ในหนังสือ เครื่องถ้วยในประเทศไทย . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร

ผาสุข อินทราวุธ. (2525). “ความสัมพันธ์เครื่องถ้วยในภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับศรีวิชัยเน้นเฉพาะเครื่องถ้วยพื้นเมือง” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎรธานี วันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร

นิคม สุทธิรักษ์. (2509). “เรื่องเมืองพระเวียง (ทางโบราณคดี)” ศิลปากร. 10 (1) พฤษภาคม, หน้า 53 - 61

มัณฑณา  เพ็ชร์คง. (2554). “การใช้พื้นที่เมืองโบราณนครศรีธรรมราช” สารนิพนธ์ของปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร

สุดาพร มณีรัตน์. (2543). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช . กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล.( 2526). “สถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัยในคาบสมุทรประเทศไทย” ศิลปากร, 27 (3) กรกฎาคม. หน้า 17 - 25

ข่าวที่เกี่ยวข้อง