พัทยา สายหู

ศาตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู เป็นผู้ผลักดันให้ก่อตั้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งทำให้องค์ความรู้วิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อาทิ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์เพื่อวิจัยสังคมชนบทภาคกลาง เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของสังคมชนบทไทยจากสนธิสัญญาเบาริ่ง

3464 views | มานุษยวิทยา, สังคมวิทยา


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

ศาสตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาปรัชญา-รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์และ อักษรศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้รับราชการตำแหน่งอาจารย์ สังกัดจุฬาลงกรณ์มาหาวิทยาลัย ต่อมาได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ในระหว่างที่เป็นอาจารย์ประจำประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น ศาสตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู ได้เป็นผู้ผลักดันให้ก่อตั้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบัน ด้วยคุณูปการต่างๆ ที่สร้างให้แก่สังคมไทยอย่างเชิงประจักษ์ ศาสตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

คุณูปการทางวิชาการและสังคม

นับตั้งแต่ที่ ศาตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู ได้รับราชการเป็นอาจารย์ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เป็นผู้ผลักดันให้องค์ความรู้วิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อาทิ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์เพื่อวิจัยสังคมชนบทภาคกลาง เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของสังคมชนบทไทยจากสนธิสัญญาเบาริ่ง ด้วยการใช้แนวคิดโครงสร้างการหน้าที่ที่กำลังเป็นที่นิยมในอังกฤษและอเมริกาขณะนั้น นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ยังเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมวิทยาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป ๒ เรื่อง คือ กลไกของสังคม และ โลกสมมติ (๒๕๑๖) ซึ่งต่อมาเป็นผลงานที่สำคัญสำหรับนักสังคมในเบื้องต้น

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์พัทยา ยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้ง สถาบันวิจัยสังคม ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ เพื่อเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ในมิติวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาให้แก่สังคมไทย ทั้งทางด้านเอกสาร และวงเสวนาวิชาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนะแนวทาง ตีแผ่ และเสนอข้อบกพร่อง ข้อคิดที่ได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ให้แก่สาธารณชนได้เข้าใจอยู่ต่อเนื่อง

ด้วยความสามารถทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของอาจารย์พัทยา ทำให้อาจารย์ได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการในการวางแผนทางด้านสังคมต่างๆ อาทิ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (๒๕๐๓ – ๒๕๒๐) กรรมการฝ่ายสังคมศาสตร์และฝ่ายวัฒนธรรมของสหประชาชาติ กรรมการบัญญัติศัพท์สังคมวิทยาของราชบัณฑิตสถาน อนุกรรมการร่างแผนพัฒนาด้านสังคมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแผนที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๑๕ - ๒๕๑๙) และแผนที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕ - ๒๕๒๙) เป็นต้น

ประสบการณ์วิจัยและการทำงานที่กล่าวมานี้ ได้สร้างคุณูปการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในมิติ ของการแสดงให้เห็นกลไกทางสังคมไทยที่เป็นอยู่ ตลอดจนมิติความเป็นอยู่ของคนในสังคม ดังเช่นงานวิจัยที่สำคัญ เรื่อง ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของเศรษฐกิจการทำสวนยางของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (๒๕๒๑) และ สู่ความเข้าใจวัฒนธรรม (๒๕๓๓) ที่ชี้ให้เห็นถึงพลวัตรเชื่อมโยงระหว่าง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และมานุษยวิทยา ทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจสภาพสังคมมากขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภายใต้แนวคิดแบบไทยให้แก่วงการศึกษาไทย อาจารย์ผลักดันให้วงวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเห็นถึง ผลของการใช้แนวคิดและทฤษฎีแบบตะวันตกมาใช้อย่างตรงไปตรงมา ที่อาจารย์เรียกคำว่า “ต้นไม้พลาสติก” หมายความว่า “การอธิบายว่าองค์ความรู้ที่เกิดจากการหยิบยืมความรู้ฝรั่งมาใช้ในสังคมไทยนั้นไม่อาจเติบโต และเจริญงอกงามได้ ฉันใด ต้นไม้พลาสติกก็ไม่มีวันงอกงามได้ฉันนั้น” ซึ่งเป็นประเด็นความคิดที่ทำให้นักวิชาการไทยหันกลับมาวิเคราะห์ ใช้ และเสนอแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่หาคำตอบให้กับสังคมไทยมากขึ้น

ประวัติการศึกษา

ปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ปริญญาตรี สาขาวิชาปรัชญา-รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจสังคมวิทยา มานุษยวิทยา
ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
หัวเรื่องหลักมานุษยวิทยา, สังคมวิทยา
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)