สุมิตร ปิติพัฒน์

รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ สนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ไท จึงได้ทำงานวิจัยภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ ที่มีกลุ่มคนไทกระจายตัวอยู่ เช่น เวียดนาม ลาว จีน พม่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

1949 views | ไทศึกษา


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ เกิดที่จังหวัดนครพนม เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้ไปศึกษาด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุมิตรเริ่มสนใจทางด้านสังคมศาสตร์เนื่องด้วยเห็นว่า การเรียนด้านคณิตศาสตร์นั้นทำให้เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การเรียนคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องทำงานคนเดียว ต้องแก้ปัญหาโจทย์ ฉะนั้นจึงรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว หากจะต้องไปเป็นครูสอนหนังสือดังที่ตั้งใจไว้นั้นก็ควรจะต้องเกี่ยวข้องกับสังคมและทำความเข้าใจสังคมด้วย จึงตัดสินใจเรียนสังคมศาสตร์เพิ่มเติม โดยหันมาเรียนสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอมเริกา ที่นี่เอง ทำให้เกิดความสนใจในการวิจัยภาคสนาม ได้เข้าไปใกล้ชิดกับคนและปัญหา และได้หาคำตอบจากสิ่งที่ได้เผชิญมา

เมื่อกลับมาประเทศไทย อาจารย์สุมิตรได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ต่อมาอาจารย์สุมิตรได้ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาในขณะที่ศึกษาอยู่นั้น อาจารย์สุมิตรเห็นว่าการเรียนปริญญาเอกนั้นเป็นการเรียนที่อาศัยเวลามาก เพราะต้องเรียนทั้งแนวกว้างและลึก ซึ่งขณะนั้นอาจารย์สุมิตรในวัย 33 ปี มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ มีความคิดว่าอยากกลับมาทำงานเป็นอาจารย์มากกว่า จึงเลือกเรียนเฉพาะวิชาบังคับระดับปริญญาเอก ไม่ทำปริญญาเอกต่อ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจึงให้ปริญญาโทแก่อาจารย์ อย่างไรก็ตาม อาจารย์สุมิตรกล่าวว่า การมีโอกาสได้เรียนคละกับนักศึกษาต่างชาติ ทำให้อาจารย์ได้สัมผัสกับคนที่มาจากต่างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง

ย้อนไปเมื่ออาจารย์สุมิตรได้เริ่มเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ได้ทำงานสำรวจวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ศึกษาชีวิตของคนในเรือนแพที่จังหวัดพิษณุโลกและอุทัยธานี รวมไปถึงการสำรวจโบราณสถาน ศึกษาชุมชน ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง และไทดำในลาว ต่อมาเมื่ออาจารย์รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา จึงมีโอกาสได้ทำงานวิจัยตลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ความรู้เกี่ยวกับชนชาติไทยมากเกินกว่าที่เคยคิดไว้

ระหว่างปี พ.ศ. 2536-2542 เป็นช่วงเวลาเกือบสิบปีที่อาจารย์สุมิตรได้ทำงานสำรวจศึกษาชนชาติไทในลาว พม่า เวียดนาม จีน และอินเดีย โดยพยายามนำนักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ไปเก็บข้อมูลภาคสนามร่วมกัน เพื่อสัมผัสและศึกษาในสภาพสังคมที่มีวัฒนธรรม วิธีคิด วิธีทำงาน ระเบียบวิธี เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากประสบการณ์จริง

อาจารย์สุมิตรเห็นว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว การศึกษาทางมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยา จะเน้นศึกษาเฉพาะในประเทศไทย โอกาสที่จะไปทำงานในประเทศอื่นค่อนข้างมีน้อย โดยเฉพาะอาจารย์ที่ส่วนใหญ่มีภาระงานสอนมากเกินกว่าจะมีโอกาสไปทำงานภาคสนาม ส่วนนักศึกษาเองก็มีความสามารถจำกัดที่จะลงภาคสนามไปทำงานวิจัยที่ตัวเองสนใจ อาจารย์สุมิตรเห็นว่าควรมีการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีการฝึกฝนจากของจริงให้มากๆ มิใช่อ่านจากตำราหรือยึดแนวคิดทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการทำงานภาคสนามจะทำให้เกิดความก้าวหน้าและตามทันความเป็นจริงของสังคม

อาจารย์สุมิตรกล่าวว่า “ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับชนชาติไท อาจจะเป็นเพราะต้องการคำตอบบางอย่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย พฤติกรรมของคนไทย และก็คนไทที่อยู่ในที่อื่นๆ ที่ไม่มีรัฐ อยู่นอกประเทศไทย จะมีปัญหาคล้ายคลึงกับเราหรือเปล่าหรือแตกต่างกัน

ตั้งแต่ผมเรียนประวัติศาสตร์ว่าคนไทยเคยอยู่ที่นั่นที่นี่ก่อนที่คนไทยจะอพยพเข้ามา แล้วก็มีข้อโต้แย้งกัน ก็อยากรู้ เลยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยพยายามไปศึกษาเก็บข้อมูล เสนอวิธีการศึกษา เพื่อที่จะอธิบายการกระจายตัวของคนไท ความสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรม อยู่ในแต่ละประเทศที่เข้าไปอยู่ และก็อาจจะไปสุดท้ายในการเชื่อมโยงเข้าเป็นภาพรวมเกี่ยวกับพัฒนาการของคนไทยที่หลากหลาย ไม่ใช่ไทยเฉพาะในประเทศไทย เพราะว่าการที่คนไทที่อยู่แต่ละแห่งพูดภาษาเดียวกัน มีอะไรร่วมกัน ก็ย่อมแสดงว่าในอดีตเขามีความสัมพันธ์กัน ภาษาต้องไปกับคน วัฒนธรรมก็เช่นกัน มันลอยอยู่โดยอิสระไม่ได้ คนไทแต่ละสังคมย่อมต้องเรียนรู้ที่จะพูดภาษา เขาต้องถูกสอนที่จะเชื่อแบบมีวิธีคิด ฉะนั้นการแพร่ของวัฒนธรรมไท เรื่องภาษามันเป็นเครื่องบ่งบอกในอดีตว่ามีกิจกรรมสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มที่พูดภาษาเดียวกัน และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แล้วอดีตนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้ งานศึกษาที่เริ่มต้องใช้เวลานาน ผมก็อาจจะให้คำตอบได้บางอย่าง และก็อีกบางอย่างที่ต้องใช้เวลา อนาคตต่อไปจะเติมจิ๊กซอว์ที่หายไปในภาพรวมซึ่งยาวนานมากหลายพันปีได้ คงจะตอบไม่ได้ในการศึกษา 5 ปี 10 ปี แต่เราต้องมีความละเอียดอ่อนที่เอาข้อมูลเหล่านี้มาผูกเข้ากัน เป็นวิธีหาข้อเท็จจริงในเชิงตรรกและวิทยาศาสตร์ร่วมกัน”

ประวัติการศึกษา

ปริญญาโท (มานุษยวิทยา) Harvard University, สหรัฐอเมริกา

ปริญญาโท (สังคมศาสตร์) Michigan State University, สหรัฐอเมริกา

ปริญญาตรี (คณิตศาสตร์) The Ohio State University, สหรัฐอเมริกา

ตำแหน่งทางวิชาการรองศาสตราจารย์
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ, ไทศึกษา, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, ศิลปะและโบราณคดี
ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
หัวเรื่องหลักไทศึกษา
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผู้ร่วมงานอื่นๆ

ข้อมูลจาก - บทความวิชาการและความทรงจำ : เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ / บรรณาธิการ เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ซันต้า เพลส, 2546