ฉลาดชาย รมิตานนท์

อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จบการศึกษาด้าน Cultural Anthropology จาก Cornell University สหรัฐอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกและผลักดันแนวคิดด้านสตรีศึกษาในประเทศไทย ผลงานที่สำคัญ อาทิ มานุษยวิทยากับการศึกษาการเมือง, มนุษย์: วัฒนธรรม อำนาจและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

3288 views | วัฒนธรรมศึกษา


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา ศูนย์การศึกษาทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาแล้ว อาจารย์ฉลาดชายเลือกมาทำงานที่เชียงใหม่ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อาจารย์ฉลาดชายมีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันก่อตั้ง “ศูนย์สตรีศึกษา” เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ภายหลังเปลี่ยนฐานะเป็นภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ท่านได้ทุ่มเทพลังในการศึกษาเรียนรู้แนวคิดและการวิจัยด้านสตรีศึกษา อาจารย์ยังคงทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง แม้เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางวิชาการ ทั้งแก่นักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาทางสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบ

คุณูปการทางวิชาการและสังคม

อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เริ่มต้นการสอนวิชาสังคมวิทยาการเมือง สอนทฤษฎีและแนวคิดที่เป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น โดยเน้นการพยายามตั้งคำถามกับระบบ ด้วยเหตุที่อาจารย์ฉลาดชายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ชายขอบ ห่างไกลจากศูนย์อำนาจและความเจริญ ทำให้เปิดพื้นที่ความรู้ใหม่ ๆ ต่างจากความรู้กระแสหลัก เกิดเป็นความรู้ใหม่ในแนวสังคมศาสตร์วิพากษ์

อาจารย์ฉลาดชาย ให้ความสำคัญกับสตรีศึกษา มีส่วนร่วมและผลักดันพัฒนาโครงการสตรีศึกษาให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ จนเกิดเป็นศูนย์สตรีศึกษา และบุกเบิกหลักสูตรบัณฑิตศึกษาด้านสตรีศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ได้ช่วยพัฒนาพื้นทางการวิจัยด้านสตรีศึกษาให้มีมิติหลากหลายมากขึ้น

อาจารย์ฉลาดชายเริ่มทำงานวิจัยภาคสนาม โดยเข้าร่วมเครือข่ายวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการพัฒนาชนบท เป็นความพยายามทางวิชาการครั้งแรก ๆ ในสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์สนใจปัญหาการพัฒนาชนบทมากขึ้น จากนั้น อาจารย์ได้ศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยา เกี่ยวกับความคิดความเชื่อการนับถือผีของชาวบ้านภาคเหนือ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ทันสมัย จนมีผลงานวิจัยชิ้นสำคัญคือ ผีเจ้านาย ต่อมาอาจารย์ได้เปลี่ยนพื้นที่การศึกษาเป็นพื้นที่ป่า ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และชาวบ้านจำนวนมากพึ่งพาอาศัยกัน ผลงานสำคัญคือ ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชุมชน ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิการครอบครองและควบคุมทรัพยากรป่า ถือเป็นนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ท่านแรก ๆ ที่ศึกษาแบบบูรณาการ ข้ามสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์กับนิเวศวิทยาป่าไม้ รวมทั้งเสนอให้ประชาชนในป่ามีส่วนร่วมในการจัดการป่ามากขึ้น

ต่อมา อาจารย์ฉลาดชายได้ร่วมกับนักวิชาการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนชายขอบในพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง เช่น วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในป่า (๒๕๓๕) และ การศึกษาป่าชุมชนในภาคเหนือ (๒๕๓๖) จนประมวลเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในมิติวัฒนธรรม เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน และเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันพระราชบัญญัติดังกล่าว

ประสบการณ์วิจัยที่กล่าวมานี้ ช่วยยกระดับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่ถูกมองว่าเป็นเพียงการศึกษาเพื่อประดับปัญญา เป็นการวิจัยเพื่อสังคมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ดังเช่นเรื่องคนชายขอบ ที่ไม่ได้เป็นชายขอบแห่งความรู้ หากแต่มีทั้งพลังความคิดและภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากร นำมาปรับใช้ในการพัฒนาได้แม้ในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ อาจารย์ฉลาดชายได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้สังคม ผ่านบทความหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย มุ่งเน้นปัญหาการพัฒนาในชนบท และความเชื่อมโยงของปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมือง และมุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชายหญิง

ตลอดชีวิตวิชาการของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ถือว่าท่านเป็น “นักวิชาการเพื่อสังคม” ทุ่มเทแรงกายแรงใจศึกษาทำความเข้าใจปัญหาชาวบ้านและผู้คนในชนบท ท่านร่วมเคลื่อนไหวผลักดันให้แก้ไขชีวิตความเป็นอยู่แก่ผู้คนเหล่านั้นอย่างเป็นธรรม และเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ในสังคมไทย คือ “ป่าชุมชน” จนแพร่หลายในแวดวงพัฒนาและวิชาการด้านสังคมศาสตร์ นับเป็นคุณูปการทางวิชาการอย่างยิ่งต่อวิชาการและสังคมไทยอย่างแท้จริง

ประวัติการศึกษา

ปริญญาโท สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology) จาก Cornell University สหรัฐอเมริกา

ปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตำแหน่งทางวิชาการอาจารย์
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจสตรีศึกษา, วัฒนธรรม/ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ทรัพยากรในมิติทางวัฒนธรรม
ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
หัวเรื่องหลักวัฒนธรรมศึกษา
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)