พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง


ที่อยู่:
ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง หมู่ที่ 13 ถนนสุทธิพงษ์ ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 41320
โทรศัพท์:
085-0018878 (คุณอังคนา), ‭061-9238893‬ (คุณประสิทธิ์)
วันและเวลาทำการ:
อังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
ประวัติไทยพวนบ้านเชียง, เครื่องมือทำมาหากิน, เครื่องมือการเกษตร, ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินฯ บ้านเชียง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียงตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แม้พิพิธภัณฑ์ไทยพวนที่อาศัยการปรับปรุงอาคารบริการในตลาดโอทอปของตำบลบ้านเชียงนี้ จะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2560 แต่พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียงมีประวัติการก่อนตั้งที่ย้อนไปถึงช่วงปลายทศวรรษ 2540 คุณอังคณา บุญพงษ์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง กล่าวถึงความตั้งใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านเชียง (ประชาเชียงเชิด)

ในครั้งนั้น อาจารย์อังคณาได้รับร่วมมือกับสมาชิกสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง สมาชิกในสภาวัฒนธรรม และชาวชุมชนที่ต้องการพัฒนาสถานที่จัดเก็บ รวบรวม และถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของบ้านเชียง แม้ในระยะเวลาดังกล่าวจะไม่มีงบประมาณสนับสนุน แต่ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดสระแก้วในการใช้สถานที่เพื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไทยพวน

อาจารย์ประสิทธิ์ จันทะสี รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณจากตำแหน่งครูให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วง พ.ศ.2547-2548 นั้น เมื่อหน่วยงานราชการอย่างกระทรวงวัฒนธรรมได้รับฟังพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมที่กำลังสูญหาย เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมาก จึงได้มีการน้อมนำพระราชดำรัสมาสู่การปฏิบัติและจัดตั้งเป็นสภาวัฒนธรรมในระดับตำบล ซึ่งในบ้านเชียงมีแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญในฐานะที่เป็นมรดกโลกอยู่แล้ว แต่ในท้องถิ่น ยังมีกลุ่มวัฒนธรรมไทยพวนที่มีการโยกย้ายมาจากเมืองเชียงขวางประเทศลาว เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน คนไทยพวนตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี นครนายก และในอุดรธานี ก็เป็นแหล่งที่ตั้งของไทยพวนด้วยเช่นกัน เช่นในบ้านผือ และบ้านเชียงแห่งนี้

ในระยะแรกในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไทยพวนภายในวัดสระแก้ว อาศัยการรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ และสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการอพยพ ภูมิหลัง นิสัยใจคม จนสามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นใช้สอนภายในโรงเรียนบ้านเชียง ในช่วงการเริ่มต้นได้ใช้อาคารเด็กเล็กเที่อยู่มุมหนึ่งของวัด ต่อมาท่านเจ้าอาวาสได้มอบกุฏิเพื่อให้สามารถเก็บข้างของต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ใช้งบประมาณล้านกว่าบาทในการปรับปรุงและบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ไทยพวนในระยะต่อมา อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดหลายประการ จึงทำให้พิพิธภัณฑ์ไทยพวนที่ตั้งในวัดสระแก้วไม่เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวนัก เพราะตั้งห่างจากชุมชนและสถานที่มีความคับแคบมากขึ้น จึงมีมติในสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียงขอใช้อาคารบริการสุขา ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลบ้านเชียงปรับปรุงในครั้งที่ 3 นี้ ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไทยพวนหลังปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียงเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560

การจัดแสดงเรื่องราวของท้องถิ่น

แม้อาคารพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียงหลังปัจจุบันไม่ใช่อาคารใหญ่โต แต่ภายในบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นท้องถิ่นบ้านเชียงในมิติต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อผู้ชมเข้าสู่อาคาร จะพบกับเนื้อหาในส่วนแรกกลางอาคารที่ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่เนื้อหาเป็นปีกซ้ายและปีกขวา รวมทั้งทำหน้าที่เป็นประธานของเรื่องราว เพราะกล่าวถึงภาพประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็นพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ เสด็จทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อ พ.ศ. 2515 ในตอนที่ชื่อว่า “ย้อนรอยอดีตพระบาทที่ยาตราแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง”

ในส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางปีกซ้ายของอาคาร บอร์ดนิทรรศหารให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประเทศและการตั้งถิ่นฐาน ประวัติคุ้มต่าง ๆ ซึ่งมีเพียงชื่อคุ้ม 2-3 แห่งเท่านั้นที่คงใช้เรียกกันในปัจจุบัน อาจารย์ประสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่นคุ้มกาเสือ เพราะเจอเสือ เรียกได้ว่าเป็นการเรียกชื่อคุ้มด้วยการอิงกับธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับห้วย หนอง คลอง บึง สระและบ่อน้ำ และประวัติต้นไม้ นับได้ว่าเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นเพของสถานที่อันเป็นที่ตั้งบ้านของคนไทยพวนบ้านเชียง นอกเหนือจากบอร์ดนิทรรศการ ยังปรากฏวัตถุจัดแสดง อันได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน ขลุ่ย ฯลฯ วัสดุพื้นบ้านเหล่านี้นำเสนอแยกไว้ตามประเภทของประโยชน์การใช้สอย เหนือแท่นแสดงวัตถุมีวีดิโอที่เล่าประวัติบ้านไทยพวนบ้านเชียงขนาดสั้น เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพรวม

จากนั้น เป็นส่วนการจัดแสดงที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ทางปีกขวาของอาคารประวัติบุคคลสำคัญของชุมชนไทยพวนบ้านเชียง ในส่วนนี้เน้นบุคคลตัวอย่าง เช่นคนบ้านเชียงที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นศึกษานิเทศก์ หัวหน้าศึกษาธิการอำเภอ หรือกำนันที่มีผลงานในการพัฒนาวัดและโรงเรียน เพื่อแสดงให้ลูกหลานเห็นว่า คนที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรและเป็นแบบอย่างให้กับอนุชน จากนั้นเป็นการเล่าประวัติโรงเรียน วัดสำคัญในพื้นที่ เช่น วัดโพธิ์ศรี ซึ่งภายในวัดยังพบแหล่งโบราณคดีกลางแจ้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในส่วนของประเพณี เป็นการนำเสนอเรื่องราวงานบุญสำคัญ เช่น สงกรานต์ไทยพวน บุญเบิกบ้าน ลอยกระทง เป็นต้น บางส่วนมีความคล้ายคลึงกับในหลายท้องถิ่นของไทย

ในส่วนของความเชื่อ บอกเล่าให้เห็นความเชื่อเกี่ยวกับคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้นมีความสำคัญในการดำเนินชีวิต รวมถึงความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นผีปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นครรลองสำคัญให้กับผู้คนในชุมชนประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม ส่วนในเรื่องของภาษา อาศัยการถ่ายทอดคำเรียกในภาษาไทย ภาษาอีสาน และภาษาพวนเปรียบเทียบกัน

ในส่วนที่ 4 จัดแสดงอยู่ภายนอกอาคาร โดยใช้พื้นที่รอบ ๆ อาคารนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น เกวียนในอดีตใช้บรรทุกข้าว เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในวัฒนธรรมการทำนา กี่หรือหูกทอผ้า พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ และประวัติย้อมผ้าคราม ครัวพร้อมเครื่องประกอบอาหาร ครกตำข้าวพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำนาเกษตรพอเพียง ทั้งอาจารย์อังคณาและอาจารย์ประสิทธิ์นั้นมีความกังวลอยู่ไม่น้อยกับวัตถุสิ่งของที่ตั้งแสดงภายนอกอาคาร เพราะมีโอกาสแดดและฝนทำให้ข้าวของนั้นเสียหายได้ ซึ่งอยู่ในโครงการที่ต้องการพัฒนากรอบ หรือตู้การจัดแสดงอย่างเหมาะสมที่จะช่วยปกป้องข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้น

เส้นทางในวันข้างหน้า

นอกเหนือจากเรื่องราวความเป็นมาที่ปรากฏในอาคารพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง หน่วยงานอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งใจทำโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งต้องการเชื่อมต่อมาถึงสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น การผลิตสินค้าจักสาน ผ้าย้อมคราม การทำโฮมสเตย์สร้างรายได้ให้ชุมชน สามารถทำให้ชุมชนเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ

ผู้สนใจยังสามารถเดินทางไปชมบ้านไทยพวนดั้งเดิม ซึ่งเป็นสมบัติดั้งเดิมของบรรพบุรุษของอาจารย์อังคณา ได้บริจาคให้กับราชการและในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร อาคารดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเคยเป็นสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนิน จึงได้รับการรักษาไว้เป็นสมบัติให้ผู้สนใจได้รู้จักลักษณะของเรือนพื้นถิ่น หรือเดินทางไปยังวัดโพธิ์ศรีสำหรับการเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีกลางแจ้ง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดให้บ้านเชียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับโลก

อย่างไรก็ตาม แม้พิพิธภัณฑ์ไทยพวนหลังปัจจุบันจะตั้งอยู่ในสถานที่ที่สะดวกในการเดินทางและมีผู้ให้ความสนใจ ตัวเลขของผู้ชมในปีแรกที่เปิดให้บริการนั้นสูงถึงหลักหมื่น แต่ทั้งประธานและรองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง กลับแสดงความกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะในเวลานี้ การทำงานต่าง ๆ คงอยู่ในมือของคนทำงานเพียงไม่กี่คน แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการในสภาวัฒนธรรมไว้หลายคน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่องานวัฒนธรรม หรือการดูแลพิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นสิ่งที่ทั้งสองพยายามให้คำตอบเพื่อความอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียงในอนาคต

 

อ้างอิง

คม ชัด ลึก, “ท่องเที่ยววัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวนบ้านเชียง”, วันที่ 3 มิถุนายน 2560 จากhttp://www.komchadluek.net/news /edu-health/280521, เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561.

ประสิทธิ์ จันทะสี, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง, ” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง, ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี.

อังคณา บุญพงษ์, “ความเป็นมาและเนื้อการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง,” สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง, ตำบลบ้านเชียง อำเภอหน

 

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คำสำคัญ: