พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ


ที่อยู่:
47/1 ม.14 ถ.เชียงราย-เชียงของ(หมายเลข 1020) ต. ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย 57140
โทรศัพท์:
089-8385724
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2558
ของเด่น:
ผ้าทอลวดลายแบบไทลื้อครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ลื้อในพื้นที่ต่าง ๆ เรือนและพื้นที่ใช้สอยภายในเรือน ร้านกาแฟที่มีทิวทัศน์ของบ้านศรีดอนชัย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ

ลื้อ กลุ่มชาติพันธ์ไทจากสิบสองพันนามาสู่ศรีดอนชัย
ลาย ศิลปะการทอเส้นฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้าอันวิจิตร
คำ มีคุณค่าประดุจทองคำอันควรรักษาสืบไป


ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ ได้นิยามถึงที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์ไว้แต่เบื้องแรก เพื่อให้ผู้ที่มาเยือนเล็งเห็นความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ และแสดงนัยถึงสิ่งจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์ นั่นคือผ้าทอฝ้ายอันวิจิตรของชาวไทลื้อ

ตั้งแต่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับความวิจิตรของชื่อพิพิธภัณฑ์ที่ประดิษฐ์ด้วยการประยุกต์การเขียนตัวธรรมล้านนา และเข้าสู่พื้นที่ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ พื้นที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ ในบ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยอาคารหลักพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเรือนไม้สองชั้นที่ปรับปรุงจากเรือนที่พักอาศัยเดิมสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ ถัดจากอาคารหลักเป็นข่วงวัฒนธรรม ที่เป็นลานสำหรับการจัดแสดงวัฒนธรรมและการสาธิตสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทลื้อ รวมถึงการจำลองกาดหมั้วครัวฮอมในวาระสำคัญ ๆ ในบริเวณข่วงวัฒนธรรมดังกล่าว ยังมีอาคารไม้ชั้นเดียวอันเป็นสถานที่จำหน่ายสิ้นค้าพื้นเมือง ได้แก่ผ้าทอ ประเภทผ้าวิ่น เสื้อปั๊ดซึ่งเป็นเสื้อขนาดพอดีตัวกับสตรีผู้สวมใส่ ชุดเครื่องแต่งกายแบไทลื้อและของที่ระลึกอื่น ๆ ในส่วนสุดท้าย เป็นร้านกาแฟ ได้รับการขนานนามว่า “ซังวาคาเฟ่”

การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 ผู้เขียนพบกับคุณเสาวลักษณ์ วงศ์ชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ หรืออีกในฐานะพี่สาวของคุณสุริยัน วงศ์ชัย ผู้ดูแลและเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพิ่งเปิดให้บริการมาเพียง 2 ปีนับจากวันเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 แต่ได้รับความสนใจจากผู้มาเยือน จากทั้งการบอกต่อกันปากต่อปากและจากสื่อสังคมออนไลน์ จำนวนผู้มาเยือนหลายพันคนในแต่ละเดือนอาจจะเป็นสิ่งที่การันตีความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์นี้ได้เป็นอย่างดี

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยชั้นล่างและชั้นบน ในพื้นที่ชั้นล่าง มีห้องฉายภาพยนตร์บอกเล่าเกี่ยวกับชาวลื้อศรีดอนชัย นับเป็นส่วนที่ผสานเข้ากับนิทรรศการหลักในอีกส่วนหนึ่ง ที่บอกเล่าความเป็นมาของชนไทลื้อบ้านศรีดอนชัยและลื้อในที่อื่น ๆ ประวัติของหมู่บ้านศรีดอนชัยที่ได้รับการบอกกล่าวในนิทรรศการมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ดังกล่าวได้รับการเรียกขานจากสถานที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นภูมิประเทศเป็นลุ่มดอน จึงมีการขนานนามชื่อเรียกของหมู่บ้านว่า “ดอน” ส่วนคำว่า “ศรี” นั้นมาจากต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พบในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวไทลื้อเรียกชื่อต้นไม้ดังกล่าวว่า “ศรีมหาโพธิ์” ส่วนคำว่า “ชัย” นั้นมาจากนามสกุลของคนในหมู่บ้านที่มักลงท้ายด้วยคำว่า “ชัย” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า ศรีดอนชัย

เนื้อหาต่าง ๆ นำเสนอในรูปแบบของคำอธิบายสลับกับภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงบางส่วน สิ่งที่น่าสนใจคือ ภาพถ่ายเก่า ซึ่งเป็นสิ่งสะสมของท่านเจ้าอาวาสรูปเดิมของวัดศรีดอนชัย ที่ได้บันทึกภาพวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเอาไว้ และกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นการดำเนินชีวิต การแต่งกาย และกิจกรรมภายในชุมชน ดังเช่นภาพชุดของการช่วยเหลือของชาวบ้านในการสร้างโบสถ์ให้กับวัดศรีดอนชัย

ในส่วนบริเวณชั้นบน เมื่อผู้ชมขึ้นสู่พื้นที่ชั้นบน พื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน หนึ่ง พื้นที่จำลองรูปแบบการใช้ชีวิต โดยชั้นพื้นที่ดั้งเดิมของบ้าน และจัดเรียงฉากให้เห็นการจัดวางเสื่อ หมอน และมุ้งแขวนไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ภายในบริเวณเดียวกัน ปรากฏสิ่งสะสมอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ในบริเวณต่อมาเป็นพื้นที่ใช้สอยกลางของเรือนเดิม เช่น ทานอาหาร รับแขก พื้นที่ดังกล่าวใช้จัดแสดงเครื่องแต่งกายของชนชาวลื้อในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเน้นการนำเสนอเครื่องแต่งกายของชายและหญิงที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เครื่องแต่งกายจัดอยู่ในหุ่นและมีป้ายอธิบายถึงลื้อในแต่ละพื้นที่ เช่น ไทลื้อในจังหวัดน่าน เชียงราย พะเยา รวมทั้งลื้อในสิบสองปันนา ซึ่งลวดลายผ้านั้นแตกต่างจากผ้าซิ่นของลื้อที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ในบริเวณที่ 3 ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของชั้นบน จัดแสดงผ้าซิ่น เครื่องแต่งกาย และเครื่องใช้ที่ทำจากผ้า เช่น ย่าม วัตถุต่าง ๆ ได้รับการจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน สำหรับเครื่องแต่งกายมีการนำเสนอทั้งเครื่องแต่งกายของเด็กสาวชาวลื้อ หญิงสาวที่เป็นโสและที่แต่งงาน แสดงให้เห็นรูปแบบการนุ่งผ้าไว้ให้ผู้ที่มาเยือนได้เรียนรู้รูปแบบของการนุ่งซิ่น ส่วนคอลเลคชั่นที่เป็นผ้าทอ การแสดงลวดลายของผ้าที่ช่างอาศัยเทคนิคการเกาะ ล้วง ในระหว่างการทอจนก่อให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายต่าง ๆ หรือการแสดงย่าม ก็จะแสดงให้เห็นความวิจิตรของลวดลายผ้าที่ได้รับการคัดสรรมาตกแต่งย่ามให้มีสีสันที่น่าสนใจ เครื่องแต่งกาย ผ้าซิ่น และย่ามนำเสนออยู่ในตู้กระจกไม้ที่สอดประสานเข้ากับเรือนไม้ ที่ต่อเติมมาจากเรือนดั้งเดิม เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดง

นอกจากเหนือจากการจัดแสดงผ้าและเนื้อหาประวัติของไทลื้อในบ้านศรีดอนชัยภายในอาคารแล้ว ผนังชั้นล่างนอกอาคารยังแสดงให้เห็นลวดลายที่มีการประยุกต์ใช้ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งลวดลายผ้า ตัวอย่างของลวดลายได้รับการคัดสรรและบรรจงใส่กรอบกระจก เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ได้เปรียบเทียบและซึมซับกับวัฒนธรรมการทอผ้าที่ส่งทอดมาระหว่างชั่วอายุคน คุณเสาวลักษณ์กล่าวถึงการส่งทอดการทอผ้าไว้อย่างน่าสนใจ “เด็กรุ่นใหม่เริ่มกลับมายังบ้าน แม้เมื่อก่อนจะออกไปทำงานตามเมืองใหญ่ ๆ ต่อเมื่อบ้านศรีดอนชัยได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เด็กสาวกลับมาและเรียนรู้การทอผ้าจากแม่ เริ่มจากลวดลายที่ไม่ซับซ้อน สู่การทอผ้าเป็นผืน เรียกได้ว่า การทอผ้าเริ่มกลายเป็นรายได้หลักให้กับครอบครัว พอ ๆ กับการทำเกษตรกรรม”

ถึงเวลานี้ บ้านศรีดอนชัย เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไทลื้ออย่างเต็มรูปแบบ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำเป็นหนึ่งในเส้นทางวัฒนธรรมที่ผู้มาเยือนสามารถมาเรียนรู้เอกลักษณ์ของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีเฮือนคำแพง หรือข่วงวัฒนธรรมไทลื้อศรีดอนชัยที่มีเรือนพัก การบริการขันโตกและการแสดงวัฒนธรรมไทลื้อ รวมทั้งบ้านโบราณที่จัดแสดงเครื่องใช้ในครัวเรือน ศูนย์ทอผ้าของกลุ่มสตรีศรีดอนชัยและกลุ่มผ้าทอไตลื้อ ครูดอกแก้ว ที่เปิดให้ผู้มาเยือนซื้อหาผ้าฝ้ายผ้าทอไทลื้อแบบดั้งเดิม และชมการสาธิตการทอผ้า “เฮือนเอื้อยคำ” ซึ่งเป็นบ้านอายุร้อยปีที่แสดงสถาปัตยกรรมเฮือนไต วัดท่อข้ามศรีดอชัยที่สามารถเข้าสักการะหลวงพ่อพระพุทธสุพรรณสี และชมเฉือนไทลื้อโบราณ

ในช่วงหลังออกพรรษา ผู้สนใจงานประเพณีมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อยังสามารถเข้าร่วมงานบุญสำคัญของชุมชนที่จะได้เห็นและร่วมทำบุญในงานดังกล่าว ประเพณีจะแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ การปลูกฝ้าย ซึ่งเป็นการเตรียมฝ้ายสำหรับการทอถวายเป็นพุทธบูชาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จากนั้น วาระต่อมาเป็นการกล่อมฝ้าย หรือการบำรุงให้ฝ้ายเจริญด้วยความศรัทธา ก่อนจะถึงในวาระสุดท้าย ได้แก่ การเก็บฝ้ายและการถวายจุลกฐินในช่วงออกพรรษา คณะศรัทธาจะร่วมกันนำดอกฝ้ายมาดีด กรอ ทอ ตัด เย็บ และย้อมเป็นผืนผ้าไตรจีวร เพื่อน้อมถวายแต่พระภิกษุสงฆ์ ผู้จำพรรษาครบไตรมาส

เส้นทางวัฒนธรรมไทลื้อสายนี้เป็นเส้นทางที่ผู้มาเยือนสามารถใช้เวลาในระยะสั้น เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สืบทอดจากคนรุ่นต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำเป็นทั้งจุดเริ่มต้นเส้นทาง จุดแวะเยี่ยมชม หรือจุดสรุปเนื้อหาต่าง ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทลื้อได้เป็นอย่างดี

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560
ชื่อผู้แต่ง:
-